ใครเป็นผู้ทำให้ ‘ประชาชนหวาดกลัว’ กันแน่?/กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

ใครเป็นผู้ทำให้ ‘ประชาชนหวาดกลัว’ กันแน่?

 

ถ้ารัฐบาลไม่รู้ความแตกต่างระหว่างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามสิทธิของประชาชนรัฐบาลกับ “ข่าวปลอม”

ถ้าผู้มีอำนาจไม่รู้ว่า “ความมั่นคงของรัฐบาล” ไม่ใช่เรื่องเดียวกับ “ความมั่นคงของรัฐ”

และถ้าผู้นำประเทศเหมาเอาว่า “ความกลัว” จะสูญเสียอำนาจมาจากการแพร่ข้อมูลและความเห็นนั้นจะทำให้เกิด “ความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน”

ก็วิเคราะห์ได้ไม่ยากว่ารัฐบาลแพ้สงครามการสู้รบกับโควิด-19 แน่นอน

 

เมื่อคนมีอำนาจอ้างว่าข่าวสารและความเห็นที่สะท้อนถึงความเป็นจริงแห่งภาวะสงครามกับโรคระบาด “อาจจะทำให้ประชาชนหวาดกลัว” จึงต้องใช้อำนาจของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินในภาวะโควิดเพื่อข่มขู่, คุกคาม, ลิดรอนเสรีภาพการแสดงความเห็นอย่างสุจริตตามสิทธิภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็เท่ากับเป็นการสร้าง “บรรยากาศแห่งความกลัว” ให้กับประชาชนเสียเอง

ความกลัวมีหลากหลายมิติ

แต่ในบรรดาความกลัวทั้งหลายในวันนี้ที่น่าจะอันตรายที่สุดสำหรับประชาชนคือ “ความกลัวจะสูญเสียอำนาจ”

แต่ก็ซ่อนความกลัวนั้นไว้ภายใต้ข้ออ้างที่ว่าผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาลกำลังจะสร้าง “ความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน”

ทั้งๆ ที่สิ่งที่รัฐบาลทำหลายเรื่องนั้นเองเป็นเหตุของการสร้างความหวาดกลัวให้กับชาวบ้านอย่างน่าหวาดหวั่น

ประชาชนกลัวรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพ

ประชาชนกลัวความไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลในการแก้ปัญหาวิกฤตของชาติ

ประชาชนกลัวว่าผู้มีอำนาจจะไม่ยอมรับความจริงว่าไม่สามารถบริหารประเทศได้อีกต่อไป

 

เมื่อประชาชนยืนยันสิทธิ์ที่จะแสดงความเห็นอย่างเสรีและตรงไปตรงมาในภาวะที่การระบาดของโควิดกำลังสร้างความเสียหายทั้งชีวิตทรัพย์สินและวิถีชีวิต ผู้มีอำนาจก็เริ่มหวั่นไหวและสั่นคลอน

ความกลัวที่จะตอบคำถามประชาชนไม่ได้ ทำให้รัฐบาลแยกไม่ออกระหว่างการแสดงออกซึ่งความสงสัยคลางแคลงต่อสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่

เมื่อตอบไม่ได้หรือไม่ชอบสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ก็ตีขลุมว่าเป็น Fake News หรือ “ข่าวปลอม”

เพื่อจะได้ใช้อำนาจทางกฎหมายในการสกัดไม่ให้ข้อมูลที่สะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพนั้นกลายเป็นอาวุธที่จะสร้างความสั่นคลอนให้กับเสถียรภาพทางการเมืองของตน

เป็นที่มาของการติดป้าย Fake News ให้กับเนื้อหาสาระที่เป็นข้อเท็จจริงที่สะท้อนถึงความล้มเหลวของการบริหารวิกฤต

 

คําถามต่อมาก็คือ หากรัฐบาลเชื่อว่าเป็น “ข่าวปลอม” จริงในความหมายที่สมเหตุสมผล ไฉนจึงไม่ใช้กฎหมายมากมายหลายฉบับที่มีอยู่จัดการกับข่าวปลอมข่าวบิดเบือนทั้งหลายทั้งปวง?

ไม่มีความจำเป็นใดๆ เลยที่รัฐบาลจะต้องอาศัย “อำนาจฉุกเฉิน” เมื่อมาขัดขวางการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนอาชีพหลายสำนักที่ดูเหมือนจะเป็นเป้าของปฏิบัติการครั้งนี้

รัฐบาลสำเหนียกหรือไม่ว่าการออก “ข้อกำหนด” ที่ว่านี้เป็นการละเมิดมาตรา 26, 34 และ 35 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ปัจจุบัน

แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนอาจจะถูกจำกัดได้บ้างในภาวะไม่ปกติ แต่ผู้มีอำนาจก็ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่ในอันที่จะไม่ออกกฎเกณฑ์อะไรที่จะกระทบถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่จะตรวจสอบและกำกับดูแลการทำงานของรัฐบาล

รัฐบาลเข้าใจหรือไม่ว่าการจะออกกฎกติกาใหม่นั้นจะต้องตระหนักว่าไม่อาจจะทำได้หากมีเนื้อหาที่ผิดไปจากหลักการของกฎหมายสูงสุดของประเทศ

ผู้บริหารประเทศคงลืมไปว่าท่านเป็นผู้อาสามาทำหน้าที่รับใช้ประชาชน

ดังนั้น ประชาชนจึงมีสิทธิเต็มที่ที่จะตรวจสอบการทำงานของท่าน

 

การตั้งคำถามและแสดงความเห็นและเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลและรายละเอียดของการทำงานในด้านต่างๆ นั้นเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

มิใช่เป็นการบั่นทอน “ความมั่นคงของรัฐ” อย่างที่มักจะชอบกล่าวอ้างกันเสมอๆ

จึงเป็นที่มาของการรณรงค์ของ 6 องค์กรสื่อในประเทศในอันที่จะแสดงจุดยืนอย่างมุ่งมั่นดั่งที่คนทำสื่อได้ทำมาตลอดประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

นั่นคือการยืนหยัดในหลักการสากลที่ว่า

เสรีภาพของสื่อคือเสรีภาพของประชาชน

เพราะสื่อคือกระจกเงาและเสียงสะท้อนของประชาชน

ผมจึงขอนำเอา “จดหมายเปิดผนึก” ของ 6 องค์กรสื่อที่จ่าหน้าถึงนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามาให้ได้อ่านกันอีกครั้งเพื่อเป็นบันทึกประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ของประชาชนเพื่อปกปักรักษาสิทธิและเสรีภาพของการแสดงออกอีกครั้งหนึ่ง

 

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ยกเลิกข้อความในข้อที่ 11 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 27) และข้อกำหนดในฉบับที่ 29

ตามที่ท่านได้ออกข้อกำหนดตามมาตรา 9(3) แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 27 ข้อ 11 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 และฉบับที่ 29 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ระบุข้อความว่า ในลักษณะเดียวกันว่า “การเสนอข่าวหรือการทําให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทําให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักร” ตามความทราบแล้วนั้น

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กรได้ปรึกษาหารือกันจนมีข้อสรุปว่า ถ้อยคำตามข้อกำหนดดังกล่าว สุ่มเสี่ยงที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในมาตรา 34 และมาตรา 35 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. ข้อกำหนดดังกล่าว ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการเอาผิดแม้เพียงแค่ “ข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” โดยปราศจากหลักเกณฑ์หรือขอบเขตของการใช้อำนาจที่ชัดเจน ดังนั้น แม้ประชาชนและสื่อมวลชนที่เผยแพร่ข้อเท็จจริงหรือความจริงก็อาจถูกดำเนินคดีหรือคุกคามจากหน่วยงานของรัฐได้ เพียงเพราะใช้วิจารณญาณว่าเป็นการทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว

2. ข้อกำหนดทั้ง 2 ฉบับนี้ มีเนื้อหาแตกต่างจากข้อกำหนดในลักษณะเดียวกันที่เคยมีการประกาศก่อนหน้านี้ในข้อกําหนดฉบับที่ 1 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 ข้อ 6 ซึ่งระบุไว้ความชัดเจนว่า จะห้ามเสนอข่าวฯ ได้ ต้องเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และต้องเป็นการเสนอข่าวหรือทำให้เผยแพร่ข้อความอันไม่เป็นความจริง รวมทั้งระบุให้เจ้าหน้าที่ต้องเตือนให้ระงับหรือสั่งให้แก้ไขข่าวเสียก่อน

3. ตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลพร้อมทั้งขอให้รัฐบาลทบทวนการออกข้อกำหนดข้างต้น หรือจัดทำแนวปฏิบัติจากข้อกำหนด และแถลงถึงเจตนารมณ์ในการบังคับใช้ให้เกิดความชัดเจน เพื่อมิให้มีการนำข้อกำหนดดังกล่าว ไปเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการทำหน้าที่เสนอข่าวสารของสื่อมวลชนและการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตของประชาชน จนกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน แต่กลับถูกเพิกเฉย อีกทั้งได้มีการออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ซ้ำอีกครั้ง โดยมีการขยายขอบเขตการใช้อำนาจในการจำกัดเสรีภาพการแสดงความเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนให้กว้างขวางออกไปอีก

ด้วยเหตุผลที่ระบุมาข้างต้น องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กร จึงขอเรียกร้องให้มีการยกเลิกข้อความในข้อที่ 11 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 27) รวมทั้งข้อกำหนดฉบับที่ 29 (ทั้งฉบับ) โดยทันที เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนมากไปกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งจะให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เลวร้ายลงไปอีก

ทั้งนี้ หาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรียังคงเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องตามจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กรจะเพิ่มมาตรการในการกดดันให้รัฐบาลต้องพิจารณายกเลิกข้อกำหนดดังกล่าว ทั้งมาตรการทางด้านกฎหมายและมาตรการทางสังคมต่อไปจนถึงที่สุด

ก้าวต่อไปของรัฐบาลในประเด็นนี้จะเป็นตัวชี้ขาดว่าจะเคารพในสิทธิของประชาชนที่จะวิพากษ์, วิเคราะห์และตรวจสอบผู้อาสามาทำงานให้ประชาชนมากน้อยเพียงใด