“รัสเซีย 2018” “บอลโลก” ที่คนไทย (อาจจะ) ไม่ได้ดู!!! [เปลี่ยนผ่าน]

14 มิถุนายน-15 กรกฎาคม ปีหน้า ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายจะวนกลับมาอีกครั้งในวงรอบ 4 ปี โดยมีรัสเซียเป็นสังเวียนฟาดแข้ง

เรื่องดีอย่างยิ่งคือ พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของรัสเซียที่ค่อนมาทางเอเชีย ทำให้เวลาแข่งขันเหมาะสมกับเวลาดูบอลของคนไทย ไล่ตั้งแต่ 19.00 น., 22.00 น. และคู่ดึก 01.00 น.

บางวันที่เตะ 4 คู่ ก็จะได้ดูตั้งแต่เย็นจนดึก 17.00 น., 20.00 น., 23.00 น. และ 02.00 น.

ส่วนเรื่องไม่ดี คือ คนไทยอาจจะไม่ได้ดูการถ่ายทอดสดทางจอทีวีเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี!!!

ปัญหาใหญ่ที่ไม่มีใครซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกในครั้งนี้ประกอบขึ้นจากหลายปัจจัย

หนึ่ง คือ ราคาลิขสิทธิ์ที่พุ่งพรวดแบบก้าวกระโดด

ถ้าย้อนกลับไปตอนปี 2002 และ 2006 ยุค “ทศภาค” ซื้อบอลโลกมาให้คนไทยดูฟรี มีเบียร์ช้างเป็นสปอนเซอร์ ค่าลิขสิทธิ์รวม 2 สมัย ประมาณ 7.5 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นค่าเงินตอนนั้น 300 ล้านบาท

อีก 2 ครั้งถัดมา 2010 และ 2014 ยุคอาร์เอส ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขชัดๆ แต่ประเมินว่าน่าจะมากกว่าเดิมประมาณ 1 เท่าตัว

ส่วนลิขสิทธิ์ของปี 2018 ที่รัสเซีย ตามข้อมูล อัพไปสูงถึง 50 ล้านเหรียญ

หรือราว 1,700 ล้านบาท!!!

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ คือ ประกาศของ กสทช. ที่เรียกกันว่า กฎ “must have”

กำหนดให้ 7 ชนิดกีฬา ที่ไม่ว่าใครจะซื้อลิขสิทธิ์มา ก็ต้องฉายทางฟรีทีวีทั้งหมด ห้ามกั๊กไปขายกล่องหรือเก็บเงินค่าดูแบบ “เพย์เพอวิว” โดยมี “ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย” รวมอยู่ด้วย

ถ้ายังจำกันได้ ก่อนฟุตบอลโลก 2014 อาร์เอส เจ้าของลิขสิทธิ์ในไทย ประกาศจะถ่ายทอดสดให้ชมทางฟรีทีวี 22 จาก 64 คู่ ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ขั้นต่ำของฟีฟ่า

ส่วนที่เหลือถ้าอยากชมต้องซื้อ “กล่องฟุตบอลโลก” ที่บริษัทผลิตออกวางจำหน่าย

ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในตอนนั้น เพราะคนไทยเคยดูฟุตบอลโลกฟรีมาโดยตลอด

หากย้อนประวัติศาสตร์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในบ้านเราแบบย่นย่อ ก็จะพบพัฒนาการน่าสนใจ

ปี 1970 มีการถ่ายทอดสดเฉพาะคู่ชิง “บราซิล -อิตาลี”

ปี 1974 ถ่ายนัดเปิดสนามและคู่ชิงชนะเลิศ

ปี 1986 กระแสฟุตบอลโลกมาแรง จน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น สั่งด่วนให้ทีวีพูลถ่ายทอดสดเกมการแข่งขันเพิ่มเติม ตั้งแต่รอบ 8 ทีมสุดท้ายจนถึงนัดชิง

ปี 1990 ถ่ายทอดสดเกือบทุกนัด ยกเว้นแมตช์ที่เตะพร้อมกัน ส่วนปี 1998 ก็เข้าสู่การถ่ายทอดสดทุกแมตช์เต็มตัว เสริมด้วยเทคนิคเจาะจอเล็กตอนตัดเข้าโฆษณา เพื่อมิให้คนดูเสียอรรถรสระหว่างรับชมเกม

และตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา คือ ยุคดูครบทุกคู่แบบไม่มีโฆษณาคั่น โดยทศภาค 2 ครั้ง และอาร์เอสอีกครั้งในปี 2010

ก่อนอาร์เอสจะปรับแผนการบริหารลิขสิทธิ์ในปี 2014

ทว่า กสทช. โดย พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน ได้โดดเข้าขวางนโยบายดังกล่าว และสั่งห้ามขายกล่องด้วยเหตุผล ฟุตบอลโลกนั้นเคยถ่ายทอดสดให้ชมฟรีมาโดยตลอด และคนส่วนมากให้ความสนใจ

เรื่องไปถึงชั้นศาลปกครอง ปรากฏว่าอาร์เอสเป็นฝ่ายชนะ เพราะซื้อลิขสิทธิ์มาตั้งแต่ปี 2548 ส่วนกฎ “must have” ออกในปี 2555

เท่ากับว่ากฎนี้บังคับใช้ไม่ทัน แต่ครั้งต่อไป (ซึ่งหมายถึง ฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย) ต้องถ่ายทอดสดทางฟรีทีวีครบทุกคู่

สุดท้าย คสช. ที่เข้ามาควบคุมอำนาจก่อนฟุตบอลโลก 2014 จะเริ่ม ได้สั่งให้ กสทช. จ่ายเงินแก่อาร์เอส เพื่อให้เลิกขายกล่องและถ่ายทอดสดให้ดูฟรีครบทุกคู่ โดยตกลงราคากันที่ 427 ล้านบาท

ภายหลัง กสทช. ประชุมประเมินตัวเลขใหม่ และตัดสินใจจ่ายเพียง 369 ล้านบาท จนอาร์เอสฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง เรียกเงินอีก 57 ล้านบาทที่เหลือ แต่แพ้คดี

ด้วย 2 เหตุผล หนึ่งคือ ค่าลิขสิทธิ์แพง และสองคือ ซื้อมาแล้วต้องฉายให้ดูฟรี ห้ามเก็บเงินผู้ชม

ส่งผลให้เอกชนไม่ว่ารายใด ต่างก็ถอยกรูดไปตามๆ กัน

“วรวุฒิ โรจนพานิช” หนึ่งในคนไทยผู้รู้เรื่องลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกดีที่สุด จากการเป็นผู้ซื้อและบริหารลิขสิทธิ์ 4 ครั้ง หลังยุคทีวีพูล ตั้งแต่ปี 2002-2014 บอกว่าด้วยสภาพการเมือง-เศรษฐกิจปัจจุบัน รวมทั้งราคาที่ตั้งเอาไว้ เป็นเหตุผลสำคัญที่ไม่มีใครกล้าซื้อ

จากประสบการณ์ วรวุฒิมองว่าเรื่องราคาอยู่ที่ความสามารถในการต่อรอง แม้บริษัท “อินฟรอนต์ สปอร์ต แอนด์ มีเดีย” ตัวแทนฟีฟ่าจะตั้งราคาไว้สูง โดยประเมินจากความสามารถในเรื่องกำลังซื้อ และความนิยมของแต่ละประเทศ แต่ตัวเลขที่เขาคำนวณว่าฝ่ายผู้ซื้อน่าจะบริหารไหวคือ 17 ล้านเหรียญ

อาจจะห่างจากราคาเต็ม 50 ล้านเหรียญอยู่มาก ทว่า ถ้าตั้งใจจะซื้อจริงก็ต้องลองเจรจา!

ขณะที่ความเป็นจริงในตอนนี้ คือ ไม่มีใครกล้าที่จะลงทุน ทั้งที่เวลาตัดสินใจเหลืออีกไม่มาก

“สกล วรรณพงษ์” ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) น่าจะเป็นเพียงคนเดียวที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ด้วยการประกาศจะให้สถานีทีวีดาวเทียม “ทีสปอร์ต” ในสังกัด เป็นตัวกลางในการลงทุน โดยจะขอเงินรัฐบาลมาซื้อลิขสิทธิ์ก่อน และค่อยขายต่อให้ช่องอื่นๆ รวมทั้งหาสปอนเซอร์มาสนับสนุน

พร้อมประกาศให้ความมั่นใจว่า คนไทยได้ดูบอลโลก 2018 แน่นอน และจะไม่มีปัญหาจอดำ

คำถามคือเงินที่จะเบิกมาใช้จ่ายก่อนนั้นมาจากงบประมาณส่วนไหน? จะมีผู้คัดค้านหรือไม่ในการเอาเงินรัฐมาใช้จ่ายแบบนี้? โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่ดูบอล

ยังไม่รวมว่าถ้าได้ลิขสิทธิ์มาแล้วจะบริหารจัดการอย่างไรให้ขาดทุนน้อยที่สุด? ในภาวะที่มืออาชีพอย่างภาคเอกชนยังไม่กล้าจะโดดลงมาเล่นเกมนี้

หรือจะต้องกลับไปเอาเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ของ กสทช. ซึ่งเป็นเงินก้อนเดียวกับเมื่อครั้งที่เคยจ่ายให้อาร์เอสมาใช้อีก เพื่อแก้ปมที่ กสทช. ผูกเอาไว้เอง

มุมมองของกูรูด้านสิทธิประโยชน์กีฬาอย่างวรวุฒิเห็นว่า ในระยะยาว ปัญหาเรื่องนี้จะต้องแก้ที่ต้นตอ คือ กฎ “must have” ซึ่งควรจะต้องถูกยกเลิก เพื่อเปิดให้ภาคเอกชนที่ลงทุนซื้อลิขสิทธิ์มาแพง สามารถนำโปรแกรมการแข่งขันบางส่วนไปขายแบบเพย์เพอวิว เพื่อจะได้คุ้มกับเงินที่ควักจ่ายไป

โดยผู้ชมก็ยังได้ชมการถ่ายทอดสดบางส่วนผ่านฟรีทีวี (กรณีฟุตบอลโลก คือ 22 คู่)

เพราะถ้าไม่มีใครกล้าซื้อลิขสิทธิ์มาฉาย ก็เท่ากับว่าคนไทยจะไม่ได้ชมบอลโลกผ่านจอทีวีเลยแม้แต่คู่เดียว!

นี่คือทิศทางที่จะเกิดขึ้นต่อไปหลัง “ยุคดูฟรี” ซึ่งสร้างความเคยชินให้แก่คนไทยมาเนิ่นนาน

ด้าน พ.อ.นที เคยกล่าวถึงเรื่องนี้เมื่อ 3 ปีก่อนว่า แม้จะมีกฎ “must have” แต่เชื่อว่าจะอย่างไรก็ต้องมีคนซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมาอยู่ดี และให้สัมภาษณ์อีกครั้งเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2560 โดยยังมองแง่บวกว่ากฎ “must have” ไม่ได้เป็นอุปสรรค แต่จะเป็นหลักเกณฑ์ให้เอกชนไทยนำไปเจรจาต่อรอง และไม่ถูกผู้ขายลิขสิทธิ์เอาเปรียบ ด้วยการตั้งราคาสูงจนเกินไป

เหลืออีกไม่ถึงปี แฟนบอลไทยกำลังรอลุ้นด้วยความระทึกในดวงหทัยพลัน ว่าจะมีฟุตบอลโลกขึ้นจอทีวีให้ดูหรือไม่?

ถ้าไม่ คอบอลกำลังปรับทุกข์กันว่าลิงก์เถื่อนทางอินเตอร์เน็ตที่ดูฟรีกันอยู่ทุกวันนี้จะเหลือรอดจากการถูกไล่ลบหรือไม่?

 

รับชมรายงานพิเศษประเด็นนี้ “#เป็นเรื่องข่าวสด”