E-DUANG : มาตรการ สร้างภัย จากเฟคนิวส์ มาตรการ คุกคาม จากความกลัว

ถามว่าอะไรคือเป้าหมายของการปล่อยกระบวนการข่มขู่คุกคามด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ออกมาผ่านยุทธการ”เฟคนิวส์”เป็นชุดๆอย่างเป็นระบบ อย่างเป็นกระบวนการ

ไม่ว่าจะออกจาก”ทำเนียบรัฐบาล” ไม่ว่าจะออกจาก”พลังประชารัฐ”

คำตอบที่ตรงเป้าหมายและเด่นชัดที่สุดคือก่อให้เกิดความกลัว

เริ่มจากการจับกุมและดำเนินมาตรการ”คุมขัง”ทั้งๆที่ยังไม่มีการดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม ด้วยความหวังที่จะทำให้ไม่มีใครกล้าออกมาต่อต้านและเคลื่อนไหวชุมนุม

ไม่ว่าจะเป็นการกระทำต่อ นายอานนท์ นำภา ไม่ว่าจะเป็นการกระทำต่อ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำต่อ น.ส.ปภัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นต้น

คำถามก็คือคนเหล่านี้หวาดกลัวตามการข่มขู่คุกคามหรือไม่

คำถามก็คือ การงัดเอาอาวุธว่าด้วย”เฟคนิวส์” ก่อให้เกิดอาการหัวหดอย่างชนิดตดหายหรือไม่

ถามว่าสถานการณ์การชุมนุมเคลื่อนไหวตลอดปี 2563 ของเยาวชนคนรุ่นใหม่หายไปจากท้องถนนอย่างสิ้นเชิง หรือว่ายิ่งมีการคุกคามยิ่งมีการคิดค้นรูปการเคลื่อนไหวอย่างพิสดารเป็นทบเท่า

การยกระดับข้อกล่าวหาจากที่เคยเริ่มต้นด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 แทบไม่มีความหมาย

จึงจำเป็นต้องงัดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขึ้นมา

แต่เมื่อบรรดาเยาวชนคนรุ่นใหม่น้อยใหญ่มีความมั่นใจในเป้า หมายและเจตจำนงของการปฏิรูปสถาบันโดยบรรจุไว้เป็นเสมือนกับ จินตนาการและความฝันใฝ่อันแสนงาม

พวกเขาก็ยังดำรงจุดมุ่งหมายของ”การปฏิรูป”ด้วยความแน่วแน่ไม่แปรเปลี่ยน

จนเมื่อเข้าสู่สถานการณ์”โควิด”ก็เผชิญกับการคุกคาม”ใหม่”

มาตรการยิ่งเข้มข้นยิ่งทำให้เห็นถึงความผิดพลาดและความล้มเหลว กับการเผชิญประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดว่ากำลังเข้าสู่ภาวะอับจน

แทนที่จะแก้ที่ต้นเหตุคือการบริหารจัดการกลับสร้างความกลัว

ความกลัวจากสภาวะที่รับไม่ได้กับการวิพากษ์วิจารณ์จึงต้องงัดเอามาตรการ”เฟคนิวส์”เข้ามาสยบกำราบ

คำถามก็คือคนในโลก”ออนไลน์”มีความหวาดกลัวหรือไม่