นักธุรกิจ นักวิชาการ ถึงชาวนา กู่ร้องไม่เอา โมเดลอู่ฮั่น คุมโควิด/เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ

 

นักธุรกิจ นักวิชาการ ถึงชาวนา

กู่ร้องไม่เอา โมเดลอู่ฮั่น คุมโควิด

 

เศรษฐกิจไทยตั้งแต่พบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 เรียกได้ว่าตื่นเต้นยิ่งกว่าเล่นรถไฟเหาะตีลังกา

เพราะหลังจากไทยต้องล็อกดาวน์ประเทศเพื่อควบคุมเชื้อโควิดในช่วงไตรมาส 2/2563 สถานการณ์ทุกอย่างเหมือนจะเริ่มคลี่คลายมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4/2563

แต่ทุกอย่างที่ฝันไว้ก็พังทลายอีกครั้ง เนื่องจากพบการระบาดของโควิดระลอกใหม่เริ่มก่อนเทศกาลปีใหม่ 2564

เป็นการระบาดของโควิดระลอก 3 ในตอนนั้นที่ใครๆ เชื่อว่า สาธารณสุขของไทยสามารถควบคุมอยู่และผ่านไปได้เหมือน 2 ครั้งก่อนหน้านั้น

แต่ฝันนั้นต้องสลายลงเมื่อโควิดเจ้ากรรมกลับมาระบาดรอบนี้ ทวีความรุนแรง เชื้อแพร่กระจายขยายวงกว้างเข้าถึงชุมชน องค์กร และเข้าครอบครัวแล้วในวันนี้

แม้ระบบสาธารณสุขภาครัฐ สาละวนกับการจัดหาวัคซีนเพื่อเร่งฉีดให้ประชาชน ก็อยู่เหมือนลุ่มๆ ดอนๆ

 

นานวันเข้าเดือนที่ 7 ของปี การแพร่ระบาดและการบริหารจัดการที่ยังไม่ชัดเจน อะไรจะหนักกว่ากัน!!

ปัจจัยต่างๆ ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แข่งกันทำสถิติแย่สุดต่ำสุด ตั้งแต่การท่องเที่ยว การลงทุนเอกชน การบริโภคภาคเอกชน และกำลังไล่ทุบภาคส่งออก

จึงทำให้ทุกสำนักด้านพยากรณ์ตัวเลขทางเศรษฐกิจ ทยอยออกมาปรับลดคาดการณ์ตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) จากเดิมที่เห็นดีเห็นงามกับตัวเลขจีดีพี 4% ของทีมเศรษฐกิจรัฐบาล “ประยุทธ์” ประกาศออกมา ซึ่งมุมมองต่อจีดีพีใหม่ อยู่ที่ 0-2%

อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าโควิดระบาดรอบนี้แย่สุดกระทบจีดีพีถึง 0.8-2%

ทุกสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจประเมินบนเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดับหมด คงเหลือแค่การอัดงบประมาณรัฐบาลต่อการเยียวยาช่วยเหลือเฉลี่ยต่อเดือน 3 แสนล้านบาท แต่หากเทียบกับความเสียหายสะสมจากโควิดระบาดจากไม่สามารถทำการค้าได้ปกติ อยู่เดือนละ 1.5-2.5 แสนล้านบาท กับภาคส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี

ล่าสุดสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผยตัวเลขการส่งออกไทยเดือนมิถุนายน 2564 มีมูลค่า 23,699 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึง 43.82% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นอัตราขยายตัวสูงสุดรอบ 11 ปี

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีกว่าที่คาด จะหนุนส่งออกไทยโตถึง 11.5% โตดีทั้งสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมและเกษตรแปรรูป แม้จะติดขัดเรื่องขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือที่แพงที่เป็นผลสะสมจากโควิดระบาดทั่วโลก

ภาคเอกชนอย่างคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ถึงกับขยับเพิ่มคาดการณ์ส่งออกจาก 5-7% เป็น 8-10% คงมีกระทรวงพาณิชย์มองไว้ 4%

เมื่อตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรอบใหม่พุ่งเกิน 15,000 คนต่อวัน จำนวนการเสียชีวิตก็มีอัตราก้าวหน้า เป็นสถานการณ์ที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้เกิดคำถามว่ามาตรการยกระดับความเข้มข้นสูงสุดในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโควิด จะไม่มีประสิทธิผลเพียงพอแล้วหรือไม่

หากจำนวนไต่ไปเรื่อยจนเกิน 20,000 คน หรือเกือบ 30,000 คนในทั่วประเทศ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. จะเลือกใช้โมเดลอู่ฮั่น หรือการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ

หากเป็นเช่นนั้นแม้ภาคการส่งออกของไทยที่ว่ายังเข้มแข็งก็ต้องกระเทือนหนัก

 

แค่มีคำถามถึงโมเดลอู่ฮั่นเท่านั้น ก็เกิดปฏิกิริยาที่หลากหลายทันที

เกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สะท้อนถึงความกังวลต่อภาคส่งออกว่า

“หากยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดให้มีผู้ติดเชื้อน้อยลงได้ จนมีผลทำให้ ศบค.ขยายการล็อกดาวน์ยาวนานกว่าที่รัฐบาลตั้งใจไว้ หรือลากยาวไป 1-2 เดือน และกระจายไปเข้าพื้นที่มากกว่า 13 จังหวัดที่ใช้มาตรการคุมเข้มสูงสุดแล้ว ยิ่งส่งผลหนักต่อระบบเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากที่กำลังแย่จะแย่ลงไปอีก ก่อนหน้านี้ ศบค.เคยชี้แจงว่าจะเลือกใช้มาตรการจากเบาไปหนัก ประเมินสถานการณ์ทุก 2 สัปดาห์ หากคุมไม่ได้อาจประกาศใช้โมเดลอู่ฮั่น ย่อมสร้างความเสียหายอย่างมากต่อทุกภาคและเศรษฐกิจปีนี้ติดลบ”

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ย้ำว่า “หากรัฐนำโมเดลอู่ฮั่นกลับมาใช้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมากแน่นอน เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกอย่างต้องโดนปิดหมด ซึ่งก็ต้องติดตามว่ารัฐจะนำโมเดลเหมาทั่วประเทศหรือแค่บางจังหวัด ถ้าคุมเข้มแค่บางจังหวัดอาจจะไม่กระทบมาก แต่ถ้าปิดทั่วประเทศหรือมากกว่า 10 จังหวัด เป็นเรื่องใหญ่ต่อภาคเศรษฐกิจแน่นอน ดังนั้น การแก้ไขปัจจุบันคือเอกชนอยากให้รัฐบาลเร่งนำเข้าวัคซีนที่มีคุณภาพและเร่งฉีดให้ประชาชน อีกทั้งรีบแยกประชาชนที่มีเชื้อและไม่มีเชื้อออกจากกันให้เร็วที่สุด เพื่อคุมสถานการณ์ไม่แพร่ระบาดเร็ว”

เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้ความเห็นเรื่องเดียวกันว่า

“โมเดลอู่ฮัน หากไทยจะใช้ อาจต้องพิจารณาให้มากที่สุด เนื่องจากภาวะการดำเนินชีพของคนไทยแตกต่างจากคนจีนสูงมาก ทั้งพื้นฐานการใช้ชีวิต ความสามารถการหารายได้ รูปแบบการทำงาน โดยเฉพาะมีข้อจำกัดการเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อมีการใช้มาตรการเข้มงวดมากขึ้นในการควบคุมการระบาดโควิด จะเห็นว่ามาตรการช่วยเหลือเยียวยาไม่ได้ออกมาพร้อมกัน ทำให้เห็นการเรียกร้องความช่วยเหลือออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากประชาชนและเอกชน”

 

บรรยากาศในวันนี้ หลังรัฐประกาศใช้มาตรการยกกระดับควบคุมการแพร่ระบาดสูงสุด ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเข้มข้นขึ้นเช่นกัน

ดูจากการจำหน่ายสินค้าตามชั้นวางของตามร้านค้าริมถนน พบว่าสินค้าลดลง ชั้นวางสินค้าว่างเปล่า การจัดส่งวัตถุดิบเข้าร้านอาหารและเครื่องดื่มเริ่มสะดุด ผู้ผลิตสินค้าออกกังวลเรื่องขาดแคลนวัตถุดิบเพื่อการผลิต และการกระจายสินค้าได้น้อยลงจากเคอร์ฟิว และความกังวลเดินทางเพื่อจัดส่งกระจายสินค้า หลายโรงงานลดเวลาปิดหรือถูกปิดโรงงานจากเจอแรงงานติดเชื้อ หรือเดินทางข้ามจากที่พักเข้าโรงงานหรือโรงงานกลับที่พักไม่ได้ตามปกติ

ดังนั้น ในช่วงนี้จะได้ยินเสียงโอดครวญจากกลุ่มงานหาเช้ากินค่ำ ผู้มีรายได้รายวัน แค่รัฐยังไม่ล็อกดาวน์ 100% คนเหล่านี้ยังเจอผลกระทบเต็มร้อยแล้ว

อีกปัญหาที่กำลังคืบเข้ามาแต่ยังไม่มีพูดถึงมากนัก คือ ภาคเกษตร ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเป็นส่วนใหญ่ กำลังเกิดความกลัวของเกษตรกรและแรงงานภาคเกษตรที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเป็นส่วนใหญ่

ขณะที่การเข้าไปดูพืชนาพืชไร่ และการเก็บเกี่ยวที่ต้องร่วมมือกันจำนวนมากเหมือนในอดีต กำลังเริ่มก่อตัวเป็นปัญหาได้ในอีก 1-2 เดือนจากนี้!!

 

วิชัย ศรีนวกุล ประธานชมรมโรงสีภาคอีสาน แสดงความกังวลแล้ว “ค้าขายชาวนาตอนนี้นิ่งมาก ในพื้นที่ต่างจังหวัดกลัวต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการที่ยังเข้าไม่ถึงวัคซีน ทำให้เจ้าของกิจการและแรงงานกังวลต่อการเปิดค้าขาย รับซื้อข้าวหรือส่งมอบข้าวได้อย่างปกติ เพราะกลัวการติดเชื้อกันไปหมด สะท้อนจากราคาข้าวในประเทศตกมาก

อุตสาหกรรมข้าวเรากังวลหากผลผลิตข้าวรอบใหม่ที่จะเริ่มเก็บเกี่ยวปลายสิงหาคมนี้ และโควิดยังระบาดอยู่ จะทำกันอย่างไร ใช้ล็อกดาวน์ ก็เชื่อว่าจะเสียหายหนัก ความเชื่อมั่นจะทำให้คนมั่นใจออกไปทำกิน คือเร่งฉีดวัคซีน”

ได้แต่ภาวนา จากการเคลื่อนย้ายกลุ่มเสี่ยงโควิดกลับบ้านเกิด จะไม่ก่อตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มอีกเท่าตัว

กลายเป็นแรงส่งให้รัฐบาลคว้าโมเดลอู่ฮั่นล็อกธุรกิจ ล็อกประเทศ