คิดถึงเสมอ งานฉายแสงอีกเล่มของ ‘ฉมังฉาย’/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

มีเกียรติ แซ่จิว

 

คิดถึงเสมอ

งานฉายแสงอีกเล่มของ ‘ฉมังฉาย’

 

หนึ่งในนักเขียนที่อยากกล่าวถึงในวันนี้ คือ ‘ฉมังฉาย’ ที่แม้ปัจจุบันจะผันตัวมาทำยูทูบ ‘คิดเช่นเอ๋ Channel’ (เกี่ยวกับเรื่องการทำอาหารมังสวิรัติที่หลายเมนูหน้าตาน่ารับประทาน) แต่เขาก็ยังคงทำงานเขียนสม่ำเสมอมาอย่างต่อเนื่อง (และกวาดรางวัลใหญ่ๆ มาแล้วแทบทุกเวทียกเว้นซีไรต์)

ผู้เขียนสนับสนุนเพื่อนนักเขียนด้วยกันโดยสั่งซื้อหนังสือ ‘คิดถึงเสมอ’ รวม 76 เรื่องสั้น-สั้นที่ฉมังฉายลงทุนจัดพิมพ์และได้อ่านจนจบ เลยอยากนำมาแบ่งปันเล่าสู่กันฟังว่าภาพรวมของรวมเรื่องสั้นชุดนี้เคลื่อนไหวคล่องแคล่วคล่องตัวอย่างไร

เรื่องสั้น-สั้น ที่มาพร้อมกับหลักคิดซึ่งยึดแนวทางการใช้ชีวิตที่ผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวของผู้เขียน ตั้งแต่การเริ่มหันมายึดหลักปฏิบัติตามแนวพุทธศาสนา การกินอาหารมังสวิรัติ การมองโลกอย่างคนเข้าใจชีวิต ตระหนักถึงการกินเพื่อดำรงอยู่ การไม่เบียดเบียนสัตว์ การช่วยเหลือผู้อื่น การเฝ้ามองสิ่งละอันพันละน้อยรอบตัว เรื่องของกรรม วิบากกรรม กิเลส ตัณหา ความเชื่อ ความงมงาย

ตลอดจนการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์อย่างฉันมิตร

ฉมังฉายบอกแก่เราในเบื้องต้นว่า “พอผมได้แรงบันดาลใจ ผมก็จะ ‘คิดถึงเสมอ’ ว่า จะเขียนเป็นสไตล์ POSTCARD และเมื่อเขียนเสร็จ ผมก็ ‘คิดถึงเสมอ’ ว่าผู้อ่านต้องได้อ่าน จึงนำลงไว้ในเพจ” ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะรวมรวบจัดพิมพ์เป็นเล่มขึ้นมา

โดยในหลายๆ เรื่องผู้เขียนจะพุ่งเป้าพูดถึง ‘ข้อดี’ ของการ ‘รับประทานอาหารมังสวิรัติกับการดื่มน้ำปัสสาวะตนเอง’

ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องสั้น REGARDING ที่ว่า “การดื่มน้ำปัสสาวะนั้นรักษาโรคได้มากมาย” (หน้า 15)

เรื่อง ‘ฌาปนกิจกบ’ ซึ่งเล่าที่มาที่ไปของการที่เขาและภรรยาหันมากินอาหารมังสวิรัติ “กระนั้นเราก็ยังกินไข่ และผลิตภัณฑ์จากนมสัตว์ต่อ แต่ตั้งเป้าว่าไม่นานเราจะเลิกทั้งหมด หันมาเป็นวีแกน” (หน้า 87)

เรื่อง ‘เบากายแต่หนักปาก’ ที่ถูกเพื่อนเก่าสมัยเรียนประถมทักว่า ไม่สบายหรือเปล่า เนื่องจากเห็นว่าเธอผอมไป แต่คนพูดนั้น “สูงแค่หนึ่งร้อยห้าสิบกว่า แต่แบกน้ำหนักเฉียดหนึ่งร้อยกิโลกรัม” (หน้า 128)

แม้เธอจะบอกว่าเลิกกินเนื้อสัตว์ แต่เพื่อนก็ท้วงว่า ใครๆ ก็กินเนื้อสัตว์กันทั้งนั้น เธอจึงคิดว่าการจะไปอธิบายว่าเธอเป็นมังสวิรัตินั้นคงไม่มีประโยชน์ “เธอยิ้ม พลางมองร่างกายของเพื่อน ซึ่งโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เก๊าต์ มะเร็งตับอ่อน ไตหรือโรคอื่นรอมาเยือน หรือว่าคงซุกอยู่นานแล้ว โดยเจ้าตัวยังมิทราบ (หน้า 129)

และในเรื่อง ‘พรหมสามหน้า’ ที่เหมือนจะย้ำให้ฟังกันอีกครั้งเกี่ยวกับเรื่องการหันมาใส่ใจดูแลเรื่องอาหารการกินโดยการรับประทานอาหารมังสวิรัติกับการดื่มน้ำปัสสาวะตนเอง และอยากบอกต่อผู้อื่นถึงข้อดีที่ตนกับภรรยาได้รับ

“โดยเฉพาะคนที่เริ่มป่วยด้วยโรคร้ายแรง เช่น เบาหวาน ความดัน มะเร็ง หรือเส้นเลือดหัวใจตีบ ต้องการให้เขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” (หน้า 141)

 

หรือในชุดความเชื่ออย่าง ‘บ้านหลังน้อยทับบ้านหลังใหญ่’ ก็ว่าด้วยเรื่องการรื้อศาลพระภูมิเก่าออก แต่ก็เกรงสิ่งที่มองไม่เห็นจนใจประหวั่นพรั่นพึงกว่าจะทำใจรื้อศาลฯ ได้สำเร็จก็ต้องพึ่งคำพระสอนเตือนสติ ก่อนนำประสบการณ์ของตนมาสอนใจหลานสาวที่เกิดกลัวการรื้อศาลพระภูมิในแบบเดียวกัน

“จริงๆ แล้วศาลฯ น่ะถอนไม่ยากหรอก…ที่ยากคือถอนความเช่าเก่าๆ ออกจากสมอง” (หน้า 77)

หรือจะในเรื่อง ‘ปล้น’ ที่กล่าวถึงปัจจุบันขณะของชีวิตแสนสั้น ที่ความคิดหนึ่งกำลังชั่งน้ำหนักถึงจำนวนเงินที่ได้รับน้อยกว่าที่คิดไว้เมื่อนำสร้อยคอทองคำมาขายที่ร้าน แต่ฉับพลันก็ถูกโจรบุกกระหน่ำยิงตายและกวาดทองออกไป

หรือที่กล่าวถึงการทำ ‘ศัลยกรรม’ ในเรื่อง ‘เด็กสาวในร่างหล่อน’ ก็ให้คมคิดอันว่าด้วยกิเลสตัณหาที่ไม่มีวันสิ้นสุดของสาวสังคมชั้นสูงอายุเจ็บสิบที่ไปทำสวยมาจนเหมือนกลับไปเป็นเด็กสาววัยต้นยี่สิบอีกครั้ง และอยากจะมีบทรักกับเด็กหนุ่มร่างกำยำดังที่ปรารถนา แต่ถึงที่สุดแล้วสังขารก็มิอาจอำพรางสัจธรรม เป็นเรื่องสั้นที่อ่านแล้วให้ความรู้สึกทั้งชวนสงสารและปลงสังเวชไปพร้อมกัน

เช่นเดียวกับเรื่องที่ว่าด้วยรูปรอยสักในเรื่อง ‘มังกร’ เรื่องของนายธนาคารกับหญิงสาวที่มาใช้บริการฝากเงิน เธอมีรอยสักรูปมังกร “เหนือก้นกบของเธอ โดยเห็นเฉพาะส่วนหางที่โผล่ออกมาจากชายเสื้อ” (หน้า 154) ในเวลาต่อมาเขากับเธอสานสัมพันธ์กัน ไม่นานนักเขาขอเธอดูรอยสัก เธอเลิกชายเสื้อให้ดูนิดหน่อย “ภาพที่เขาได้เห็น เป็นแค่ท่อนหางของมังกร ซึ่งตัวมังกรนั้นซ่อนสูงขึ้นไปตามแผ่นหลัง” (หน้า 154)

เขาฝันถึง จินตนาการถึง แต่สุดท้ายเมื่อวันหนึ่งเธอมาบอกลา รอยสักที่เขาเคยเห็นเพียงส่วนหางของมังกรที่ขยับได้ก็หายไป เรื่องสั้นดังกล่าวให้ภาพของการ ‘ฝันค้าง’ ของนายธนาคารที่ไม่สามารถ ‘เห็น’ หรือ ‘สัมผัส’ เนื้อตัวของมังกรบนแผ่นหลังของหญิงสาว (การร่วมรัก) ได้อย่างที่ใจปรารถนาจนเธอจากไป (พร้อมกับรอยสักที่หายไป)

ซึ่งน่าจะเป็นเพียงเรื่องเดียวที่ฉีกออกมาจากเรื่องทั้งหมด ทั้งคมคายด้วยสัญลักษณ์และงดงามด้านวรรณศิลป์

 

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงบางส่วนที่หยิบยกมาพูดถึง (โปรดอย่าลืมว่ามีตั้ง ’76 เรื่อง’) ด้วย “คิดถึงเสมอ” ว่า อยากแนะนำให้ลองอ่านกันดู ประหนึ่งพลิกหลังโปสการ์ดอ่านเรื่องเล่าสั้นๆ ได้ข้อคิด มีสาระ ซึ่งพอเหมาะพอดีกับยุคที่ ‘รีบเลื่อน-รีบไถล’ และจดจ่ออย่างสั้นกระชับเป็นอย่างมาก

ซึ่งหากเราเพียงผ่อนพักสายตาจากอุปกรณ์สื่อสารมาจับหนังสือ พักสายตาจากแสงสีฟ้าบนหน้าจอสมาร์ตโฟนมาอ่านตัวหนังสือบนหน้ากระดาษ โดยอาจจะเริ่มต้นอย่างง่ายๆ เพียงแค่ 5 นาทีต่อวันต่อเรื่องก่อนก็น่าจะเป็นประโยชน์

เป็นการเริ่มต้นที่ดีในการอ่านเรื่องสั้น-สั้น หรือ Short-Short Story ในรูปเล่มที่พกพาสะดวกเล่มนี้ หนึ่งในงาน ‘ฉายแสง’ อีกเล่มของนาม ‘ฉมังฉาย’ ที่ไม่อยากให้พลาดหรือละเลยมองข้ามกันไป