100 ปีแห่งความยืดหยุ่นคงทนของพรรคอมมิวนิสต์จีน (1)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

100 ปีแห่งความยืดหยุ่นคงทนของพรรคอมมิวนิสต์จีน (1)

 

วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) ได้จัดเฉลิมฉลองการก่อตั้งพรรคครบหนึ่งศตวรรษ พคจ. ใช้เวลา 28 ปีเพื่อเข้ายึดอำนาจรัฐ และผ่านมาอีก 72 ปีก็ยังคงครองอำนาจอยู่ ถึงแม้ พคจ.จะยังอยู่ในอำนาจรัฐได้ไม่นานเท่าพรรคโซเวียตรุ่นพี่ (74 ปีจาก 1917-1991) แต่ พคจ.ก็รู้จักสรุปบทเรียนจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตจนยืนทนทายาดมาได้ถึงทุกวันนี้

เราจะอธิบายความยืดหยุ่นคงทน (resiliency) และสมรรถวิสัยในการปรับตัวของ พคจ.จนอยู่มานานถึง 100 ปีได้อย่างไรบ้าง?

พคจ.ปกครองประเทศจีนเช่นใด?

เอาเข้าจริงเลขาธิการพรรคและประธานาธิบดีสีจิ้นผิงมีอำนาจเหนือพรรคและสังคมจีนทุกวันนี้แค่ไหนเพียงใดกันแน่?

ลองมาฟังทรรศนะของเสี่ยวหง เสี่ยว-แปลนส์ นักวิชาการเชื้อสายจีนในฝรั่งเศสผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์จีนร่วมสมัยและศาสตราจารย์กิตติคุณแห่งมหาวิทยาลัยในสังกัดสถาบันภาษาและอารยธรรมบูรพาแห่งชาติ (l’Inalco) เจ้าของผลงานประวัติศาสตร์สาธารณรัฐประชาชนจีนจากเหมาเจ๋อตงถึงสีจิ้นผิง (2018) ซึ่งเธอเขียนร่วมกับอาแลง รูส์ (http://www.inalco.fr/enseignant-chercheur/xiao-hong-xiao-planes)

เสี่ยวหง เสี่ยว-แปลนส์ & หนังสือประวัติศาสตร์สาธารณรัฐประชาชนจีนจากเหมาเจ๋อตงถึงสีจิ้นผิง

พคจ.ถูกสร้างขึ้นโดยองค์การโคมินเทิร์น (หรือองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่สาม 1919-1943) และคงเป็นส่วนหนึ่งในสังกัดโคมินเทิร์นโดยขาดความเป็นอิสระอยู่นาน พคจ.พยายามปลุกระดมให้ลุกขึ้นสู้ในเมืองแต่ไม่สำเร็จ จึงหันเข้าสู่พื้นที่ชนบทดำเนินสงครามจรยุทธ์ พคจ.ประสบชัยชนะโดยอาศัยคุณูปการจากสงครามจีน-ญี่ปุ่น หาก ปราศจากสงครามรุกรานของญี่ปุ่นแล้ว พคจ.ก็จะไม่มีวันช่วงชิงยึดครองจีนได้ ตามที่เหมาเจ๋อตงยอมรับออกมาเองต่อหน้านายกฯ คาคุเอ ทานากะ ของญี่ปุ่นเมื่อฝ่ายหลังไปเยือนปักกิ่งปี 1972 (Richard McGregor, Asia’s Reckoning : The Struggle for Global Dominance, 2017, pp. 55-62, 331-332)

เหมาเจ๋อตงได้การสนับสนุนจากโคมินเทิร์นในปี 1938 และจากนั้นเหมาก็ปรุงแต่งลัทธิมาร์กซ์-เลนิน-สตาลินให้กลายเป็นแบบจีน

ระหว่างปี 1942-1944 เหมาจัดเคลื่อนไหวรณรงค์ “ปรับปรุงท่วงทำนองการทำงาน” ของพรรคเพื่อกวาดล้างการก่อตัวของแนวทางโซเวียตซึ่งตอนนั้นยังทรงเกียรติภูมิอยู่ให้สิ้นซาก

เหมาเผยแพร่นิพนธ์ของตัวเองให้เป็นรากฐานแห่ง “ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน” ของจีน เปิดฉากรณรงค์เล่นงานพวกคัดค้านแนวทางของตน และจำหลักจารึกความคิดเหมาเจ๋อตงไว้ในธรรมนูญของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ขอให้สังเกตว่าสีจิ้นผิงทำสิ่งเดียวกันกับเหมาเผงเมื่อขึ้นสู่อำนาจ กล่าวคือ สมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 19 ในปี 2017 ได้ลงมติรับเอา “ความคิดสีจิ้นผิงว่าด้วยสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะของจีนสำหรับยุคใหม่” เข้าไว้ในธรรมนูญของพรรค

(John Garrick and Yan Chang Bennett, “Xi Jinping Thought : Realisation of the Chinese Dream of National Rejuvenation?”, China Perspectives, 2018/1-2 (2018), 99-105)

 

ในระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน (1966-1976) เหมาต้องการทำลายทีมแกนนำเก่าของพรรคลงไป เพื่อทวงคืนอำนาจของตนมาหลังความล้มเหลวขั้นหายนะและทุพภิกขภัยของการรณรงค์ “ก้าวกระโดดไกล” ที่ตนเองริเริ่มชี้นำผลักดันจนคนจีนอดตายไปราว 45 ล้านคน (Frank Dik?tter, Mao’s Great Famine : The History of China’s Most Devastating Catastrophe, 1958-1962, 2010)

เติ้งเสี่ยวผิงก็ตกเป็นเหยื่อโดนเล่นงานจากการปฏิวัติวัฒนธรรมด้วย

มาชั้นหลัง เมื่อเติ้งเสี่ยวผิงเจ้าของสมญา “ขวดเล็ก” (ชื่อตัวว่าเสี่ยวผิง ?? ของสหายเติ้งออกเสียงเหมือนศัพท์จีนที่แปลว่าขวดเล็ก 小瓶 http://www.standoffattiananmen.com/2008/04/so-it-starts-with-smashed-little-bottle.html) กลายเป็นผู้นำสูงสุดของพรรคในทางเป็นจริงหลังเหมาตาย เขาจึงคัดเลือกเหล่าผู้ปฏิบัติงานอายุเยาว์กว่าขึ้นมารับผิดชอบการนำ ผลักดันโละบรรดาผู้นำเก่าเฒ่าชะแรแก่ชราทั้งหลายให้เกษียณอายุเสีย ปัดวิวาทะทางอุดมการณ์ทั้งหลายทิ้งไป (ด้วยคำขวัญปฏิบัตินิยม “ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ก็คือแมวที่ดี” https://www.blockdit.com/posts/5d91e51aeb00b90cc2bf5698) และเปิดประเทศรับการค้าการลงทุนเทคโนโลยีทุนนิยมจากโลกภายนอก

ประดาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 มีมูลเหตุนานัปการ ความขัดแย้งมากมายเกิดขึ้นจากการเปิดประเทศ ซึ่งทำให้บรรดาเยาวชนหนุ่ม-สาว ปัญญาชนและนักศึกษารู้สึกเร่าร้อนกระตือรือร้น การปฏิรูปทางเศรษฐกิจก็ได้ทำให้ความเหลื่อมล้ำและการคอร์รัปชั่นปรากฏขึ้นแล้ว มันยังได้สร้างความตื่นกลัวเนื่องจากเงินเฟ้อขึ้นมาด้วย ประชาสังคมเริ่มถือกำเนิดขึ้นด้วยบุคลิกลักษณะขบถต่อภาวะที่เป็นอยู่

อย่างไรก็ตาม ระบบการเมืองการปกครองจีนตอนนั้นหาได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปในขั้นมูลฐานไม่

ในปี 1987 ทางการรัฐ-พรรคจีนรับเอาโครงการปฏิรูปการเมืองชุดหนึ่งมา ทว่าไม่ได้นำไปประยุกต์ปฏิบัติ กลุ่มอำนาจเก่าซึ่งถูกปัญหาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นท่วมทับ หันไปยับยั้งมันไว้แทน

อย่างไรก็ตาม พวกเขาคิดถึงการกระจายอำนาจทั้งแนวราบ (ให้กับฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ) และแนวตั้ง (ให้กับองค์การปกครองท้องถิ่นระดับต่างๆ)

แต่ตอนที่เกิดเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมินขึ้นนั้น กลุ่มพลังฝ่ายค้าน เช่น กลุ่มนักศึกษา ปัญญาชน และคนงาน ถูกถือเป็นพวกบ่อนทำลาย เหล่าสหายผ่านศึกอาวุโสซึ่งรายรอบเติ้งเสี่ยวผิงอยู่จึงแข็งขืนยืนกรานไม่ยอมอ่อนข้อ

 

ต่อมาในปี 1991 การพังทลายกำแพงเบอร์ลินและการล่มสลายของค่ายโซเวียตส่งผลให้ชนชั้นนำรัฐ-พรรคจีนยิ่งหวาดระแวง ด้วยแรงสนับสนุนจากกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนและสหายเจียงเจ๋อหมินซึ่งถูกเสนอชื่อให้เป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 1989 หลังการปราบปรามสังหารหมู่เทียนอันเหมิน เติ้งเสี่ยวผิงก็หันไปเดินหน้ารื้อฟื้นสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศใหม่ในทางสากล ส่วนเลขาฯ เจียงเองก็เปิดฉากปฏิรูปเศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปทางการเมืองถูกปัดออกจากระเบียบวาระ ทว่าในปี 2001 เจียงก็ยอมเปิดกว้างประตูพรรคคอมมิวนิสต์ออกต้อนรับชนชั้นอื่นๆ ทางสังคมนอกจากกรรมกรชาวนาเข้ามาเป็นสมาชิกโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นนายทุน

คำที่เจียงใช้คือ “เชื้อมูลทางสังคมที่โดดเด่น” อันได้แก่ ผู้ประกอบการเอกชน, ผู้ประกอบวิชาชีพ, ช่างเทคนิค และผู้จัดการจากบริษัทเอกชนและบรรษัทข้ามชาติ ท่ามกลางเสียงฮือฮาคัดค้านของนักอุดมการณ์พรรคทั้งหลาย

(Zheng Yongnian, “Interest Representation and the Transformation of the CCP”, Copenhagen Journal of Asian Studies, 16, 2002, 57-85)