วิกฤตินิเวศ : เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (35)/วิกฤติศตวรรษที่21 อนุช อาภาภิรม

วิกฤติศตวรรษที่21

อนุช อาภาภิรม

 

วิกฤตินิเวศ

: เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (35)

 

ความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

เชิงเศรษฐกิจ-การเมือง-ความมั่นคง

ระบบเศรษฐกิจ-การเมือง-ความมั่นคงโลกขณะนี้อยู่ในโครงสร้างใหญ่ของ “อารยธรรมโลกาภิวัตน์” ที่มีความขัดแย้งกันในตัว อารยธรรมโลกาภิวัตน์ประกอบด้วย 2 ส่วน

ส่วนแรก ได้แก่ อารยธรรมอุตสาหกรรม ได้แก่การแปรการผลิตสินค้าและบริการทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นการเกษตรอุตสาหกรรมและการบริการเป็นเชิงอุตสาหกรรมโดยมีการยึดติด เชิงพื้นที่ เช่น ให้ความสำคัญต่อการคิดผลผลิตมวลรวมประชาชาติหรือจีดีพี

ส่วนที่สอง ได้แก่ ลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่เน้นการค้าการผลิตข้ามพรมแดน การสร้างโซ่อุปทานและโซ่มูลค่า อำนวยความสะดวกรวดเร็วในการทำธุรกรรมการลงทุนข้ามพรมแดน

ประเทศต่างๆ ปฏิบัติอารยธรรมโลกาภิวัตน์ที่ขัดแย้งกันในตัวนี้ตามทางของตน

เช่น ในประเทศไทยมีการเคลื่อนไหวชัตดาวน์กรุงเทพฯ หรือประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการเพิ่มอัตราการส่งออกและจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามา

 

อารยธรรมโลกาภิวัตน์นี้เกิดขึ้นจากวิกฤติและความจำเป็นทับถมกันมา โดยในช่วงทศวรรษ 1970 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ในหมู่ประเทศพัฒนาแล้ว จึงได้สร้างลัทธิเสรีนิยมใหม่มาแก้ไข เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานทั่วโลกถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้ผล แต่ก็มีวิกฤติการเงินเป็นระยะ

ในปี 2008 ได้เกิดวิกฤติการเงินใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้วอีกครั้งและลามไปทั่วโลก

หลังจากนั้นก็คิด “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” หรือ “อุตสาหกรรม 4.0” เพื่อแก้ปัญหา

ที่รุนแรงกว่านั้นได้แก่ การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งกระทบทั้งประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนา นักคิดในขบวนโลกาภิวัตน์เสนอทางออกด้วย “การปรับตัวใหญ่” (The Great Reset) ได้แก่ การสร้างเศรษฐกิจสำหรับผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด การยึดถือหลักการ “ความคงทน ความเป็นธรรม ความยั่งยืน” ในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารการปกครอง และการส่งเสริมนวัตกรรมในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ เป็นต้น

ดังนั้น อารยธรรมโลกาภิวัตน์จึงไม่สมบูรณ์เหมือนช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เกิดการเอาตัวรอดทางประชาชาติและทางชนชั้นกันอย่างเด่นชัด เช่น วิกฤติโควิด-19 ควรจะใช้เป็นโอกาสในการสร้างความร่วมมือกันระหว่างประเทศ

แต่ที่เห็นได้แก่ “ชาตินิยมทางวัคซีน” นอกจากนี้ ยังพบว่าขณะที่ประชาชนชาวรากหญ้าเดือดร้อนทุกข์ระทม บรรดาเศรษฐีโลกพากันร่ำรวยขึ้น เหล่านี้มีส่วนให้การระบาดยืดเยื้อ จนถึงเดือนกรกฎาคม 2021 ก็ยังรุนแรงอยู่มาก

 

อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางความไม่สมบูรณ์ กระบวนโลกาภิวัตน์ก็ยังคงมีพลัง ผู้คนตั้งความหวังว่าอะไรจะกลับไปเหมือนเดิม หรือคล้ายเดิม นั่นคือฟื้นการผลิตและการค้าข้ามพรมแดนขึ้นมาอีก

ระบบทั้งหลายโดยธรรมชาติต้องการรักษาสมดุลและรักษาสถานะเดิมของตน อนุญาตให้มีการเปลี่ยนแปลงบ้าง โดยไม่กระทบต่อโครงสร้างของระบบ

ดังนั้น ข้อเท็จจริง ผลการศึกษา และการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ เมื่อผ่านการกรองของระบบแล้ว จะมีลักษณะนุ่มนวล เป็นที่ยอมรับกว้างขวาง หรือมีทางออกที่ดูดี ไม่ใช่ถึงทางตัน ที่เป็นอันตรายต่อตัวระบบ แต่การปฏิบัติเช่นนี้ ในหลายด้านกลายเป็นการกลบเกลื่อนปัญหา เกิดความหมักหมม จนกระทั่งเมื่อปรากฏขึ้นมาอีกครั้ง กลายเป็นเรื่องสายเกินแก้ หรือยากมากที่จะแก้

ตัวอย่างการพยายามกำหนดมาตรการแก้ปัญหาที่ไม่ประสบความสำเร็จตามคาด และเป็นเหมือนการหน่วงเวลา ทำให้ปัญหาโลกร้อนถูกซุกซ่อนไว้ภายใต้ความหวังที่เลื่อนลอย ที่ควรกล่าวถึงมีอยู่ 2 ประการ

ทั้ง 2 เกิดจากความตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศระหว่างประเทศ 2 ครั้ง ได้แก่ พิธีสารเกียวโต (ลงนามปี 1997) และความตกลงปารีส (ลงนาม 2015) จะได้กล่าวเป็นลำดับไป

 

1)ตลาดคาร์บอน จากพิธีสารเกียวโตที่บังคับใช้ในปี 2005 เป็นแผนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยผ่านกลไกตลาดทั้งภายในและระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังอาศัยกลไกอื่นได้แก่ เทคโนโลยี ภาษี แรงจูงใจ และกฎระเบียบอื่นๆ

มีเป้าหมายว่าระหว่างปี 2008-2016 จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงร้อยละ 5 จากปี 1990 เมื่อครบกำหนดก็ไม่ได้ผลตามคาด และไม่มีการต่ออายุการปฏิบัติไปอีก สหรัฐก็ออกจากพิธีสารนี้ตั้งแต่ปี 2001

แผนการก็คือ กำหนดให้แต่ละประเทศได้รับสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับหนึ่ง ชาติใดที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ถึงเกณฑ์ที่ได้รับอนุญาต ก็สามารถนำสิทธิในการใช้นี้ขายให้แก่ชาติอื่นที่ต้องการจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าที่ได้รับอนุญาต ทุกๆ ปีแต่ละชาติจะได้รับอนุญาตปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงเล็กน้อย

ดังนั้น แต่ละชาติจะมีแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อที่จะมีเครดิตคาร์บอนเหลือออกมาขาย และชาติที่ใหญ่กว่าและมั่งคั่งกว่าสามารถช่วยเหลือชาติที่เล็กและยากจนกว่า โดยซื้อเครดิตคาร์บอนจากประเทศเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ก็คาดหวังว่าประเทศที่มั่งคั่ง ก็จะค่อยๆ ลดการปล่อยคาร์บอนจากการพัฒนาเทคโนโลยี เป็นต้น (ดูบทอธิบายของ Will Kenton ชื่อ Carbon Trade ใน investopedia.com 28/04/2021)

เมื่อตลาดการค้าคาร์บอนเปิดตัวใหม่ๆ ได้มีการประโคมข่าวครึกโครมว่า เป็นความหวังใหม่ในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน แต่ไม่นานก็มีนักวิชาการจากสถาบันดั๊ก ฮัมมาร์โชลด์ได้ออกมาชี้ว่า ตลาดคาร์บอนล้มเหลว ซึ่งความล้มเหลวใหญ่มี 3 ประการคือ

ก) ไม่ได้เปลี่ยนวิธีการเข้าถึงและใช้พลังงานของมนุษย์ ขณะที่มีความต้องการอย่างเร่งรัดในการปฏิรูปการเข้าถึงและการใช้พลังงานนี้

ข) เอื้ออำนวยต่อชาติที่ก่อมลพิษ ให้สามารถก่อมลพิษได้ต่อไป โดยการซื้อเครดิตคาร์บอนจากชาติที่ยากจน

ค) เกิดความไม่เป็นธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (ดูงานศึกษาของ Tamra Gilbertson และเพื่อน ชื่อ Carbon trading-How it works and why it fails ใน daghammarskjold.se พฤศจิกายน 2009)

ในปี 2021 ตลาดคาร์บอนคึกคักขึ้นอีกครั้ง เมื่อจีนผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงสุดในโลก จัดตั้งตลาดคาร์บอนของตน มีสมาชิกเป็นบรรษัทนับจำนวนพัน ต้องดูต่อไปว่า มันจะเป็นการผ่าทางตัน หรือเป็นการเสียเวลามีความหวังไปเปล่าๆ ปลี้ๆ เหมือนอย่างที่เคยเป็น แต่สื่อตะวันตกเช่นบลูมเบิร์กได้วิเคราะห์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะไม่ช่วยยับยั้งการ ปล่อยคาร์บอนของจีนได้ในระยะใกล้

 

2)การปล่อยคาร์บอนสุทธิเท่ากับศูนย์ในปี 2050 (Net zero 2050) และปล่อยก๊าซคาร์บอนติดลบหลังจากนั้น ทั้งนี้ เป็นไปตามเป้าประสงค์ของความตกลงปารีส องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA สำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปารีส) ได้ออกโรดแม็ปของการไปถึงเป้าหมายนั้นมี 5 ประการสำคัญคือ

ก) การลงทุนในการติดตั้งโรงไฟฟ้าหมุนเวียนเพิ่มขึ้น 3 เท่าในปี 2030

ข) การเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลต้องดำเนินไปอย่างเป็นธรรม

ค) การลงทุนในพลังงานสีเขียวจะเกิดประโยชน์ในระยะใกล้ ทั้งต่อเศรษฐกิจและสุขภาพของผู้คน

ง) การดักจับและเก็บคาร์บอนช่วยการลดการปล่อยคาร์บอน แต่ไม่ใช่วิธีเดียว

จ) การใช้พลังงานชีวภาพอาจขัดกับความต้องการของมนุษย์และระบบนิเวศในทางอื่น เช่น ด้านอาหาร (ดูคำอธิบายของ Jennifer Layke ชื่อ 5 things to know about the IEA’s roadmaps to net zero 2050 ใน wri.org 21/05/2021

แต่มีผู้รวบรวมงานศึกษานักวิทยาศาสตร์จากหลายสำนักทั่วโลกชี้ว่า แผนการที่จะลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2050 เป็นการช้าเกินไปมาก เช่น คณะหนึ่งกล่าวว่า ภาวะโลกร้อนเป็นไปอย่างรวดเร็ว ภายในปี 2030 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกก็จะสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียสเทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรม ดังนั้น เวลาที่จะลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ไม่ควรเกินปี 2030 (ดูบทรายงานรวบรวมของ Pip Hinman ชื่อ Scientists say net zero by 2050 is too late ใน greenleft.org.au 10/11/2020)

เยาวชนนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน เกรต้า ธันเบิร์ก ถากถางว่า เหมือนกับคน (คือผู้นำโลก) ที่ตื่นมากลางดึก เห็นไฟไหม้บ้าน แต่กลับตัดสินใจว่าจะรอไปอีก 10, 20, 30 ปีแล้วจึงค่อยเรียกรถดับเพลิงมา

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการแก้ปัญหาโลกร้อนอื่นที่สร้างความหวังและการหน่วงเวลาไปพร้อมกัน