วิกฤตินิเวศ เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (34)/วิกฤติศตวรรษที่21 อนุช อาภาภิรม

วิกฤติศตวรรษที่21

อนุช อาภาภิรม

 

วิกฤตินิเวศ

เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (34)

 

ความเข้าใจ

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

เชิงข้อเท็จจริง

 

ความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเชิงข้อเท็จจริงมีหลายประการด้วยกัน ด้านหลักมาจากงานวิจัยนับพันของนักวิทยาศาสตร์จำนวนนับหมื่นจากหลายสาขาวิชาทั่วโลก รวมทั้งการสร้างตัวแบบทางคณิตศาสตร์ โดยเฉพาะที่เป็นตัวแบบทางคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เข้าใจเรื่องภูมิอากาศ คาดหมายแนวโน้ม และแนวทางในการแก้ปัญหา

ขั้นตอนในการสร้างตัวแบบที่ปฏิบัติกันได้แก่

1) การระบุปัญหา

2) การรวบรวมข้อมูล

3) การวิเคราะห์ข้อมูล

4) การตั้งสมมุติฐาน ซึ่งมีความผิดพลาดได้สูง

5) การสร้างตัวแบบ ซึ่งยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้นไปอีก

6) การตีความหมาย อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างตัวแบบกับปัญหาจริง

7) การเปรียบเทียบค่าการคาดคะเนของตัวแบบกับข้อมูลที่ได้มา

8) การรายงานผลและการนำไปใช้

จะเห็นได้ว่าจากข้อที่ 1 ถึงข้อที่ 5 มีแนวโน้มที่จะเกิดความเสี่ยง ผิดพลาดมากขึ้นโดยลำดับ

จากลำดับที่ 6 ถึง 8 เป็นเหมือนการทบทวนตรวจสอบความแม่นยำถูกต้องของตัวแบบ ลดทอนความเสี่ยงนั้นลงได้บ้าง (ดูแผนการเรียนชื่อ “การสร้างตัวแบบเชิงคณิตศาสตร์” ใน elearning.nsru.ac.th)

กระนั้นปรากฏว่าตัวแบบทั้งหลายล้วนมีความผิดพลาดและข้อบกพร่องด้วยกันทั้งนั้นมากบ้างน้อยบ้าง แต่ตราบเท่าที่มันทำให้ดูดี และเป็นเครื่องมือในการวางแผนหรือกำหนดยุทธศาสคร์ในการแก้ปัญหา เหล่านี้ย่อมก่อเกิดความนิยมสร้างตัวแบบเชิงคณิตศาสตร์อย่างกว้างขวาง ในวงการบริหารตั้งแต่ธุรกิจถึงรัฐกิจ

ขั้นตอนของการสร้างตัวแบบดังกล่าว ความจริงมีการปฏิบัติทั่วไปในชาวบ้านทั่วไป แม้ในท้องถิ่นที่ห่างไกล เพียงแต่ไม่เข้มงวดและกว้างขวางครอบคลุมเท่าที่สำคัญ คือไม่มีการเปลี่ยนปัญหาเป็นสมการทางคณิตศาสตร์ แต่เปลี่ยนให้เป็นแบบการปฏิบัติทางสังคม เกี่ยวกับประเพณีและพิธีกรรม เป็นต้น

ซึ่งแม้ว่าจะมีจุดอ่อนทางกระบวนการเชิงวิทยาศาสตร์ แต่ก็มีจุดแข็งที่เป็นตัวแบบที่สร้างขึ้นโดยชนพื้นเมือง เป็นของชนพื้นเมืองและเพื่อชนพื้นเมือง

พบว่านักวิจัยมักได้รับข้อเท็จจริงและบทเรียนอย่างใดอย่างหนึ่งจากปราชญ์ชาวบ้านเสมอในการเข้าใจและอนุรักษ์ธรรมชาติเพื่อการหาอยู่หากินของชาวบ้าน

 

กลับมาสู่ตัวแบบการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือสภาพโลกร้อนที่สร้างและนำเสนอมากมาย พบว่า มีความผิดพลาดสำคัญ 3 ด้านด้วยกัน

ด้านแรก ได้แก่ การประเมินความรุนแรงของปรากฏการณ์โลกร้อนน้อยเกินไป เช่น เห็นกันว่ากว่าโลกจะร้อนต้องใช้เวลาเป็นร้อยปี

ข้อต่อมา ได้แก่ เห็นทางแก้ปัญหาง่ายเกินไป เช่น การออกพันธบัตรคาร์บอน หรือการกำหนดเวลาการปล่อยคาร์บอนสุทธิเท่ากับศูนย์ (Net Zero) ในอีกเป็นสิบปีข้างหน้า

ข้อสุดท้าย ได้แก่ การสร้างบรรยากาศการเข้าใจปัญหาในแง่ดีหรือเป็นเชิงบวก ด้วยกลยุทธ์ต่างๆ ที่สำคัญคือการโจมตีนักวิชาการหรือการเคลื่อนไหวที่ออกเป็นเชิงลบว่าเป็นพวก “ตื่นตูม”

อย่างไรก็ตาม ควรถือว่านักวิทยาศาสตร์และงานวิจัยของพวกเขาและเธอ ได้มีคุณูปการอย่างใหญ่หลวง ทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิอากาศของโลก กลไกการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สัญญาณอันตรายของการเปลี่ยนแปลง ภาวะจุดพลิกผัน และอื่นๆ อีกมาก หากไม่แล้วเรายังคงอยู่ในความดำมืดของความไม่รู้ไปอีกยาวนาน

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมีที่ควรกล่าวถึง 4 ประการด้วยกันได้แก่

 

1)อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นจริง

อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกปี 2019 สูงกว่าก่อนยุคอุตสาหกรรมราว 1.1 องศาเซลเซียส สาเหตุหลักเกิดจากการกระทำของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น สู่บรรยากาศ จากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลมากเกินไป

ข้อเท็จจริงเรื่องอุณหภูมิสูงขึ้นมากเกินคาดนี้ ทำให้ความตกลงภูมิอากาศปารีส (2015) ที่มีจุดมุ่งหมายให้ประเทศภาคีสมาชิกทั้งหลายได้ร่วมมือกันจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม ถึงขั้นอยู่ในระดับเพียง 1.5 องศาเซลเซียล

โดยให้ประเทศทั้งหลายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร็ว จนกระทั่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเท่าศูนย์ตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 21 เป็นเพียงละครไม่สมจริง

ทั้งนี้เพราะในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกก็จะสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสอยู่แล้ว นักอุตุนิยมวิทยาบางคนให้คะแนนความสำเร็จของความตกลงนี้ว่าอยู่ในเกณฑ์อ่อนหรือสอบตก

 

2)ภูมิอากาศของโลกมีลักษณะเฉพาะของดาวเคราะห์โลก และเป็นไปตามยุคและสมัยทางธรณีกาล การย้อนดูอดีตช่วยทำให้เราเข้าใจความเป็นไปของภูมิอากาศในปัจจุบันดีขึ้น

แต่การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศปัจจุบันไม่จำต้องเป็นไปตามแบบรูปในสมัยโบราณ

ทั้งนี้เพราะว่าเหตุปัจจัยของภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นรังสีจากดวงอาทิตย์ บรรยากาศ แผ่นเปลือกโลก มหาสมุทร และหิมะภาคหรือไครโอสเฟียร์ ล้วนเป็นพลวัต เปลี่ยนแปลงโดยมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน

เช่น รังสีจากดวงอาทิตย์เมื่อโลกเพิ่งอุบัติขึ้น ก็อ่อนกว่าในปัจจุบันถึงราวร้อยละ 30

สำหรับบรรยากาศ มีบางการศึกษาพบว่าบรรยากาศเริ่มแรกในโลกประกอบด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เกือบทั้งหมด นอกนั้นได้แก่ไนโตรเจน คล้ายกับบรรยากาศของดาวศุกร์และดาวอังคารในปัจจุบัน

น้ำในมหาสมุทรที่มีมากในโลกเนื่องจากขนาดและการอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะ ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เหล่านี้ไปเป็นอันมาก (ดูบทความของ liz Thompson ชื่อ Unlocking the secrets of Earth’s early atmosphere ใน ant.gov 27/04/2021)

จากนี้มีแบคทีเรียชนิดหนึ่งได้มีวิวัฒนาการขึ้น มีชีวิตด้วยการอาศัยพลังงานจากด้วยอาทิตย์และคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในน้ำ และผลิตออกซิเจนเป็นของเสีย ดังนั้น ปริมาณของออกซิเจนในบรรยากาศจึงเพิ่มขึ้น และคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง

ส่วนโมเลกุลแอมโมเนียในบรรยากาศนั้นถูกทำลายโดยแสงอาทิตย์ แตกตัวเป็นไนโตรเจนและไฮโดรเจน ไฮโดรเจนเกือบทั้งหมดหลุดสู่อวกาศ

แบคทีเรียบางชนิดและพืชมีส่วนช่วยสร้างบรรยากาศที่เราใช้หายใจในปัจจุบัน

มนุษย์เป็นสัตว์ที่รู้จักใช้ไฟในการควบคุมธรรมชาติ เพื่อใช้เป็นแหล่งหากินอยู่อาศัยมานับแสนปีแล้ว และบัดนี้การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อขับเคลื่อนอารยธรรมโลกาภิวัตน์ ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ในองค์ประกอบของบรรยากาศ

แต่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศอย่างคาดไม่ถึง

เป็นการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาแห่งมนุษย์ หรือแอนโทรโปซีน ซึ่งมีลักษณะเฉพาะคือความรวดเร็วยิ่ง

 

3)การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

ที่ปรากฏและประสบกันทั่วไปได้แก่ ภาวะลมฟ้าอากาศสุดขั้ว ประกอบด้วย อุณหภูมิและความชื้นที่สูงขึ้นอย่างเร็ว เกิดคลื่นความร้อนบนดินและในมหาสมุทร เกิดไฟป่า หิมะและน้ำแข็งละลาย พายุลมแรง น้ำท่วม ดินโคลนถล่ม ในอีกทางหนึ่งเกิดภาวะภัยแล้ง น้ำในแหล่งน้ำสำคัญแห้ง

ภาวะลมฟ้าอากาศสุดขั้ว ทำให้โลกนี้ไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัยสำหรับมนุษย์ในหลายประการด้วยกัน เช่น

ก) ความเสียหายจากภัยธรรมชาติอันเนื่องจากลมฟ้าอากาศสูงขึ้น

ข) ค่าใช้จ่ายในการสร้างและบำรุงรักษาสิ่งก่อสร้าง และโครงสร้างพื้นฐานสูงขึ้น

ค) พืชและสัตว์เลี้ยงล้มตาย เกิดคลื่นผู้อพยพเนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงอูมิอากาศ

ง) การระบาดของโรคจากเขตร้อนไปเขตอุบอุ่น

จ) พรรณพืชและสัตว์ที่ปรับตัวไม่ทันพากันล้มตาย สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

4)

ทฤษฎีโลกระอุ (Hothouse Earth)

จากการที่อุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้นรวดเร็ว เกิดการป้อนกลับเชิงบวก และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ทำให้นักวิทยาศาสตร์คณะหนึ่งใช้ตัวแบบระบบโลก (คือมองโลกแบบระบบซับซ้อนเชิงพลวัต) เสนอทฤษฎีโลกระอุ ชี้ว่าเมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นถึงขีดหนึ่ง เช่น 2 องศา เซลเซียส โลกก็จะเข้าสู่จุดพลิกผันที่ไม่หวนกลับ ไม่ว่าผู้คนจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงใด อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกและระดับน้ำทะเลจะพุ่งสูงกว่าครั้งใดในรอบ 1.2 ล้านปี

(ดูบทความของ W. Steffen และคณะ ชื่อ Trajectories of the Earth System in the Anthropocene ใน pnas.org 14/08/2018)

ทฤษฎีนี้เป็นที่อ้างอิงอย่างสูง และสื่อกระแสหลักตะวันตกรายงานอย่างกว้างขวางสะท้อนอารมณ์ทางสังคมที่เริ่มตระหนักในความรุนแรงและรวดเร็วของภาวะโลกร้อน

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเชิงเศรษฐกิจ-การเมือง-ความมั่นคง