‘โทนี่’ รุก ลั่นกลับบ้าน ‘พิธา’ โชว์บทบาท ‘นายกฯ ทิพย์’ เขย่า ‘นายกฯ จริง’ ในภาวะ ‘ลุงตู่’ เผชิญวิกฤตศรัทธา/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

‘โทนี่’ รุก ลั่นกลับบ้าน

‘พิธา’ โชว์บทบาท

‘นายกฯ ทิพย์’ เขย่า ‘นายกฯ จริง’

ในภาวะ ‘ลุงตู่’ เผชิญวิกฤตศรัทธา

 

ในสภาวะ ‘วิกฤตศรัทธาผู้นำ’ เกิดขึ้นกับ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ในการแก้ปัญหาวิกฤตโควิด ผ่านมาราว 1 ปีครึ่ง ที่ทั่วโลกเผชิญวิกฤตครั้งนี้ ทว่าในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา พัฒนาการของเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ รวมทั้งความบอบช้ำทางเศรษฐกิจ ทำให้ปี 2564 สถานการณ์หนักกว่าปีที่แล้วอย่างมาก การแก้ปัญหาของ พล.อ.ประยุทธ์กลายเป็นว่า ‘ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง’ หรือเรียกว่า ‘ลิงแก้แห’

ในวิกฤตเช่นนี้เปิดเกมให้ฝ่ายตรงข้ามกระทุ้ง ‘ภาวะผู้นำ’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ทันที นำโดย ‘พี่โทนี่’ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ใช้คลับเฮาส์ในการสื่อสารกับเอฟซีและมวลชน ถึงแนวทางการแก้ไขสถานการณ์วิกฤต เฉลี่ย 2 สัปดาห์ต่อครั้ง โดยมีกุนซือคือ ‘กลุ่มแคร์’ ดำเนินการ

โดยแต่ละสัปดาห์จะมีหัวข้อต่างกันไป เช่น โทนี่สอนน้อง, ล็อกดาวน์ แล้วยังไงต่อ เป็นต้น

ทั้งนี้ ‘ทักษิณ’ รีแบรนด์ตัวเองเป็น ‘พี่โทนี่ วู้ดซัม’ ลดช่องว่างกับผู้ร่วมคลับเฮาส์ เจาะมวลชนคนรุ่นใหม่ไปในตัว

โดยประกาศกลางคลับเฮาส์ครั้งล่าสุดว่า พร้อมให้คำปรึกษา พล.อ.ประยุทธ์ โดย ‘เวิร์กฟรอมดูไบ’ ไม่ต้องเป็นนายกฯ ก็ยินดีช่วย

ซึ่งคำว่า ‘เวิร์กฟรอมดูไบ’ มีที่มาที่ไป เพราะก่อนจัดคลับเฮาส์ราว 2-3 วัน ‘พิชัย นริพทะพันธุ์’ แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้ชงผ่านเฟซบุ๊กว่ามีคนส่งข้อความมาหาว่า อยากให้ทักษิณกลับมา ถ้ากลับมาไม่ได้ก็เป็น ‘นายกฯ ออนไลน์’ แล้ว ‘เวิร์กฟรอมดูไบ’ คนไทยต้องรอด

และล่าสุด โทนี่กล่าวในคลับเฮาส์เมื่อคืนวันที่ 13 กรกฎาคม หลังมีผู้สอบถามว่าจะกลับประเทศไทยเมื่อใด ปรากฏว่า โทนี่กล่าวตอบว่า กลับแน่ จะบอกเวลาอีกที

“ยังไงไปสุวรรณภูมิออกประตูหน้า ไม่ใช่ประตูหลัง” คือเสียงจากโทนี่ สร้างความฮือฮาให้แวดวงการเมือง

เพราะดูเหมือนจะท้าทายผู้นำปัจจุบันอย่าง พล.อ.ประยุทธ์โดยตรงทีเดียว

 

ขณะที่ขั้วพรรคก้าวไกล-คณะก้าวหน้า เดิม ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ประธานคณะก้าวหน้า จะเป็นผู้ออกมาชี้ถึงแนวทางแก้วิกฤต ผ่านการเฟซบุ๊กไลฟ์เป็นหลัก

แต่หากสังเกตจะพบว่า ‘ธนาธร’ ลดบทบาทหน้าจอลงไปในระยะนี้ ดูเหมือนจะให้แสงส่องไปยัง ‘ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อย่างเต็มที่ ไม่ว่าผ่านเวทีอภิปรายในสภาและพื้นที่สื่อต่างๆ บนโจทย์ที่ว่า “ถ้าผมเป็นนายกฯ” จะแก้ไขอย่างไร

ซึ่ง ‘ทิม พิธา’ ก็สามารถจัดลำดับความคิดและนำเสนอออกมาได้ชัดเจน

โดยเบื้องหลัง ‘ทิม พิธา’ เมื่อมีกำหนดการต้องอภิปรายในสภาจะเตรียมตัวเป็นอย่างมาก ในการ ‘ปรับข้อมูล’ ให้ล่าสุดเสมอ รวมทั้งคำนวณเวลา ทำความเข้าใจ ซักซ้อมการนำเสนอ จัดลำดับต่างๆ โดยยึดหลัก ‘ติดกระดุมทีละเม็ด’ เพื่อทำสมาธิเป็นเวลานับชั่วโมง หากอยู่ที่สภาจะนั่งในห้องทำงานและปิดห้องอยู่คนเดียวหรืออยู่กับทีมงาน

ส่วน ‘พี่โทนี่’ จะมีทีมงานกลุ่มแคร์ที่เตรียมประเด็นนำพูดคุย ส่วนช่วงถาม-ตอบนั้น ‘ทีมแคร์’ จะให้อิสระผู้ร่วมคลับเฮาส์ได้ซักถาม ซึ่งแทบทุกครั้งจะถูกโยงเรื่องการเมือง แต่ด้วย ‘สไตล์ทักษิณ’ เป็นคนกล้าได้กล้าเสีย จึงตอบทุกคำถามเช่นกัน ซึ่งโมเดลในการนำเสนอก็ไม่ต่างจาก ‘ทิม พิธา’ ที่ขับเน้นว่า ถ้าตัวเองเป็นนายกฯ จะแก้ปัญหาอย่างไร

แต่สิ่งที่ ‘ทักษิณ’ ได้เปรียบ เพราะพูดในฐานะ ‘อดีตนายกฯ’ ที่ผ่านเหตุการณ์วิกฤตมาหลายครั้ง จึงมีประสบการณ์ถ่ายทอด แต่สิ่งที่เป็นจุดอ่อนคือ ยิ่งตอกย้ำว่าพรรคเพื่อไทยไร้ตัวชูโรงใหม่ๆ แต่ ‘ก้าวไกล’ กำลังจะมี ‘ผู้นำพรรค’ ที่แกร่งขึ้น

ในสภาวะเช่นนี้ ทำให้ระหว่าง ‘พรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล’ ชิงการนำกลายๆ โดยสวมบทเป็น ‘นายกฯ ทิพย์’ เหมือนกัน

ในสภาของพรรคเพื่อไทยก็เตรียมยื่น ‘ญัตติซักฟอกรัฐบาล’ ส่วน ส.ส.ก้าวไกลก็ทำหน้าที่ในสภา โดยเฉพาะการกระทุ้งปมวัคซีน ทั้งสัญญาการจัดหาและประสิทธิภาพต่างๆ เป็นต้น

 

มากันที่ ‘นายกฯ ตัวจริง’ ที่อยู่ในสภาวะบอบช้ำ และเป็น ‘เป้าหมายรวม’ ของพรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล ในการวิจารณ์การทำงาน และถูกนำมาเปรียบเทียบกับ ‘2 นายกฯ ทิพย์’ ไปพร้อมๆ กัน เพราะแค่เพียงวิกฤตโควิดที่ว่าหนักแล้ว กลับต้องเผชิญกับ ‘วิกฤตศรัทธาผู้นำ’ จึงทำให้ ‘นายกฯ ทิพย์’ ได้เฉิดฉาย โกยเรตติ้ง เมื่อ ‘บิ๊กตู่’ ขยับเมื่อใด มักถูกจับผิดเสมอ นับจากเหตุการณ์ ‘นะจ๊ะเอฟเฟ็กต์’ และ ‘ชูสองนิ้วผิดจังหวะ’ ในสถานการณ์ที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก

ต่อด้วยเหตุการณ์เมื่อครั้งไปเปิดโครงการ ‘ภูเก็ตแซนด์บอกซ์’ ก็กลับไปพูดถึงเรื่อง ‘ปราสาททราย’ จึงถูกล้อกับการแปลผิดความหมายของคำว่า ‘แซนด์บอกซ์’ ที่ไม่ได้แปลว่า ‘กระบะทราย’ โดยตรง แต่เป็นศัพท์เทคนิคทางคอมพิวเตอร์ที่เป็นพื้นที่ไว้ทดสอบระบบต่างๆ ที่มีระบบรองรับชัดเจน เมื่อเกิดปัญหาจะไม่กระทบส่วนที่ใช้งานหลัก

ต่อด้วยภาพนั่งพักริมทะเลกับรัฐมนตรีที่ลงพื้นที่ร่วมกัน ในลักษณะกินลมชมวิว ท่ามกลางวิกฤตในประเทศ จึงเป็นภาพที่ ‘บาดใจสังคม’ ถูกวิจารณ์อย่างหนัก

ทั้งนี้ ผลพวงที่ พล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่ครั้งนั้น ได้ไปใกล้ชิดประธานหอการค้า จ.สุรินทร์ ที่มาขอถ่ายภาพเซลฟี่ ซึ่งต่อมาเจ้าตัวติดเชื้อโควิด ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องกักตัว 14 วัน ตามมาตรการ สธ.

แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะกักตัวทำงานอยู่ที่บ้าน แต่ก็ถูกเพ่งเล็งด้วยเรื่องเดิมๆ หลังมีการเผยแพร่รูป พล.อ.ประยุทธ์นำประชุมผ่านระบบออนไลน์ เมื่อส่องไปที่โต๊ะทำงาน พล.อ.ประยุทธ์ ด้านหลังมีภาพพระพุทธรูปหันหลัง และมีทองคำเปลวปิดอยู่ สื่อถึงการ “ปิดทองหลังพระ” มีภาพม้าวิ่ง 8 ตัวตามความเชื่อชาวจีน โดยเลข 8 เป็นเลขมงคลชาวจีน และม้าสื่อถึงความรวดเร็ว ว่องไว แข็งแรง และรูปภาพตนเอง 1 ภาพ

ซึ่งภาพที่เป็นประเด็นคือ ภาพปิดทองหลังพระ ที่กลับนำมาออกสื่อ ทำให้ถูกนำไปกระทบกระเทียบในโลกโซเชียล และมีการนำไปตัดต่อเป็นรูปภาพอื่นๆ แทน พร้อมทั้งมีการนำไปเปรียบเทียบกับผู้นำประเทศต่างๆ รวมทั้ง ‘2 นายกฯ ทิพย์’ ด้วย

 

ทว่ายังไม่จบเพียงเท่านี้ ในขณะที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤตโควิด ก็เกิดเหตุเพลิงไหม้ถี่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะโรงงานย่านกิ่งแก้ว จ.สมุทรปราการ ที่ทำให้พื้นที่โดยรอบได้รับผลกระทบจำนวนมาก ไม่สามารถกลับเข้าที่พักได้ รวมทั้งเป็นมลพิษทางอากาศในพื้นที่จังหวัดโดยรอบทั้งหมด ในช่วงเกิดเหตุไฟไหม้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ปิ๊งไอเดียทำฝนหลวงขึ้นมา

ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์เป็นอย่างมาก เพราะจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม ซึ่งต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งยกเลิกการทำฝนหลวง เพราะเกรงจะเกิดผลกระทบตามมา

ตกช่วงดึก ‘ทิม พิธา’ สอนมวยขณะลงพื้นที่ศูนย์พักพิงชั่งคราว โดยออกมาย้ำถึงแผนเฉพาะหน้าและการฟื้นฟู โดยเสนอให้ตั้งศูนย์บัญชาการ ระดมสรรพกำลังต่างๆ ผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน รับมือกับสารเคมีที่เพลิงไหม้ ซึ่งต้องอาศัยชุดความรู้เฉพาะทาง เพราะสารเคมีบางชนิดใช้น้ำไปดับไม่ได้

ซึ่งในช่วงท้ายการสัมภาษณ์ ‘ช่อ’ พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า ที่ลงพื้นที่กล่าวสมทบว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ทั้งหมดนี้ไม่เกิดขึ้น เพราะ ‘ทิม พิธา’ ไม่ได้เป็นนายกฯ

เรื่องฝนหลวงยังไม่ทันจาง ตามมาด้วยกรณี ‘อนุชา บูรพชัยศรี’ โฆษกรัฐบาล ตอบคำถามสื่อมวลชนแทนนายกฯ ภายหลังการประชุม ครม.เมื่อ 6 มีนาคมที่ผ่านมา ถึงกรณีมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในประเทศหลายเหตุการณ์ นายกฯ มีความคิดทำบุญประเทศหรือไม่ ว่า ขณะนี้นายกฯ กำลังพิจารณาวิธีที่เหมาะสมอยู่ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณา

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยใช้วิธีการรูปแบบออนไลน์ ที่ไม่ต้องการให้ประชาชนมาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน เพราะมียังมีความสุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ แต่หากเป็นกรณีที่จะทำให้จิตใจสบาย มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้น นายกฯ ก็พร้อมที่จะดำเนินการสิ่งต่างๆ เหล่านั้น

 

ทั้งหมดนี้สะท้อน ‘วิธีคิด’ ของ ‘ผู้นำ-บุคคลทางการเมือง’ ในตอนนี้ โดยเฉพาะการเล่นบท ‘นายกฯ ทิพย์’ ของ ‘โทนี่-พิธา’ ที่หวังเข้าตาประชาชนถึงการมองเห็นทางออกและมีความหวังในวิกฤตประเทศตอนนี้

แต่ ‘นายกฯ ตัวจริง’ อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ กลับอยู่ในสภาพเมาหมัด ประชาชนเชื่อมั่นผู้นำตัวจริงน้อยลง

ดังนั้น วิกฤตครั้งนี้จึงเป็นเดิมพันครั้งสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาล หากสถานการณ์หลังล็อกดาวน์ดีขึ้นตามลำดับ และมาตรการเยียวยาที่ ครม.ไฟเขียวออกมา สามารถกระจายอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว ก็ไม่ยากที่ พล.อ.ประยุทธ์จะพ้น ‘มนต์ดำนายกฯ ทิพย์’ กลับมาเป็น ‘นายกฯ ตัวจริง’ อีกครั้ง

หรือจะสายไปเสียแล้ว?