สงครามใหญ่ของรัฐไทย! วิชาทหารในสงครามโควิด/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

สงครามใหญ่ของรัฐไทย!

วิชาทหารในสงครามโควิด

 

“ไม่ว่านายทหารคนนั้นจะมีความสามารถสักเพียงใดก็ตาม แต่ถ้ากำลังพลได้สูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเขาแล้ว มั่นใจได้เลยว่า ไม่ช้าก็เร็ว หายนะจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน”

General Robert E. Lee (1863)

 

ผมไม่แน่ใจว่า ถ้าเราสามารถย้อนเวลากลับไปก่อน 22 พฤษภาคม 2557 ได้จริงแล้ว น่าลองถามใจผู้นำรัฐประหารว่า พวกเขาจะยังตัดสินใจยึดอำนาจหรือไม่…

หรือพวกเขาจะเชื่อแต่บรรดากองเชียร์และชนชั้นนำที่ต้องการให้กองทัพใช้กำลังทหารล้มรัฐบาลที่พวกเขาไม่ต้องการ เพราะพวกเขาเชื่อเสมอว่า อำนาจของทหารจะเป็นหลักประกันของการแก้ปัญหาทุกอย่างให้สำเร็จได้

จริงหรือที่อำนาจที่ผู้นำทหารมีจะแก้ปัญหาทุกอย่างของสังคมไทยได้

แน่นอนว่าชนชั้นนำและบรรดากลุ่มขวาจัดที่สนับสนุนการยึดอำนาจมักจะตกอยู่ใน “ภวังค์ความคิด” ของหนังสือ “เทพนิยาย” ว่า ผู้นำทหารจะเป็น “อัศวินม้าขาว” เข้ามาแก้ปัญหาทุกอย่าง และพาสังคมไทยไปสู่อนาคตที่รุ่งเรือง

แต่การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังสะท้อนภาพอีกด้านให้เห็นถึงการไร้ขีดความสามารถของผู้นำทหารในการแก้ปัญหาของประเทศ

ในขณะเดียวกันความเชื่อมั่นของสังคมต่อการแก้ปัญหาของพวกเขากำลังลดต่ำลงทุกขณะ

จน “ดัชนีความเชื่อมั่น” ในตัวผู้นำรัฐบาลกำลังเป็น “วิกฤตศรัทธา” ที่มาพร้อมกับคำถามว่า “เราจะยังคงใช้ผู้นำทหารแก้ปัญหาของประเทศอีกหรือ?”

 

ทุกขลาภของผู้นำทหาร!

การเข้ามีอำนาจของ “รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง” กลายเป็นทุกขลาภสำหรับผู้นำทหารอย่างคาดไม่ถึง ใครเลยจะคิดว่าหลังจากจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในปี 2562 แล้ว ผู้นำทหารจะเผชิญกับปัญหาขนาดใหญ่ที่เกิดจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปลายปี 2563 จนต้องถือว่าเป็น “อภิมหาวิกฤต” สำหรับรัฐบาล

ขณะเดียวกันการระบาดครั้งนี้ก็ต้องถือเป็น “อภิมหาวิกฤต” ชุดใหญ่ของสังคมไทยด้วย

ฉะนั้น หากมองในอีกมุมหนึ่งด้วยหลักของวิชาชีพทหารแล้ว เราอาจจะเปรียบเทียบได้ว่า การระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้นจากเชื้อโควิด-19 ครั้งนี้ เป็นเสมือนหนึ่งว่าสังคมไทยกำลังเผชิญกับภาวะสงคราม

เพราะถ้าดูจากยอดคนติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในแต่ละวันแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเรากำลังอยู่ในภาวะสงคราม

แต่ไม่ใช่สงครามที่ผู้นำทหารคุ้นเคย และไม่ใช่ “สงครามตามแบบ” ที่ผู้นำทหารชอบ อันเป็นโอกาสให้กองทัพทุ่มงบประมาณไปจัดซื้ออาวุธได้มากขึ้น

วันนี้รายการซื้ออาวุธของรัฐบาลทหารในยุครัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นรถถัง เรือดำน้ำ และอาวุธอื่นๆ ที่ดำเนินการสั่งซื้อจากจีน ไม่ได้สะท้อนอะไรมากไปกว่า “ลัทธิอาวุธนิยม” ที่ครอบงำจิตใจของผู้นำทหารไทยมาในทุกสมัย

แต่สถานการณ์จริงในวันนี้ ประเทศกำลังเผชิญกับ “สงครามโรคระบาด” ซึ่งกำลังท้าทายอย่างมากว่า ทหารที่เป็นผู้นำรัฐบาลมีขีดความสามารถเพียงพอในการแก้ปัญหาของประเทศหรือไม่

และถ้ามองในชุดความคิดที่ว่า สังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาปัจจุบันที่เป็นดังสงครามแล้ว พวกเขามี “หลักวิชาทหาร” มากพอที่จะช่วยสร้างให้รัฐไทยมีขีดความสามารถในการรับมือกับสงครามชุดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

หากพิจารณาจากผลของการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เราอาจจะต้องถือว่า “สงครามโควิด-19” ครั้งนี้ พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความล้มเหลวของผู้นำรัฐบาลที่เป็นทหารต่อการขาดความเข้าใจในหลักการพื้นฐานของสงคราม ซึ่งอาจจะเป็นเพราะผู้นำทหารไทยหมดสิ้นความเป็น “ทหารอาชีพ” ไปนานแล้ว

กองทัพไทยอยู่กับการมีอำนาจในการเมืองมาอย่างยาวนาน จนขาดความตระหนักในหลักการทางยุทธศาสตร์ทหารที่ว่า “ถ้าไม่มีข้าศึก ก็ไม่มีสงคราม” และฝ่ายข้าศึกก็เป็นผู้นิยามสงคราม และกำหนดแบบแผนการรบที่เกิดขึ้นด้วย

เพราะในสนามรบไม่ได้มีแต่เราเพียงฝ่ายเดียว ที่จะเป็น “ผู้ครอบครองสนามรบ” เท่านั้น

หากเปรียบเทียบในทางการเมือง หลักการทางทหารข้อนี้คือ “ข้าศึกก็มีสิทธิ์ออกเสียงได้” เช่นกัน (หรือที่กล่าวในทางยุทธศาสตร์ว่า “The enemy too has a vote”)

ผู้นำทหารที่ดีจะต้องไม่คิดว่ามีแต่ฝ่ายเราเท่านั้นที่จะเป็นผู้ออกเสียงได้ (ในสนามรบ) หรือคิดแบบด้านเดียวในทางยุทธศาสตร์ว่า ฝ่ายเราเท่านั้นที่เป็นผู้กำหนดเงื่อนไขสงคราม และนักการทหารที่พาประเทศเข้าสงครามโดยปราศจากความเข้าใจข้าศึกคือ “ความพ่ายแพ้”

ดังนั้น “สงครามโควิด-19” ของสังคมไทยในครั้งนี้ จะเห็นได้ว่าข้าศึกเปิดเข้าตีไทยแต่ต้นปี 2563 แล้วในเวลาต่อมาทุกฝ่ายดูจะมั่นใจอย่างมากว่า เราเอาชนะข้าศึกได้แล้วในตอนกลางปี 2563 จากการที่เราควบคุมการระบาดได้ และจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตไม่สูงมาก จนเสมือนหนึ่ง “เราชนะแล้ว!”

ทหารที่เป็นผู้นำรัฐบาลจึงอาจจะละเลยหลักการพื้นฐานว่า “ถ้าชนะแล้ว ฝ่ายเราจะสถาปนาชัยชนะอย่างไร” หรือในระดับทางยุทธวิธีคือ “เราจะควบคุมพื้นที่ที่ชนะแล้วได้อย่างไร ที่ข้าศึกจะไม่เล็ดลอดกลับเข้ามาก่อเหตุอีก?”

การขาดมุมมองเช่นนี้จึงทำให้รัฐบาล “ปล่อยเวลาและโอกาส” ให้ผ่านเลยไปโดยไม่มีการเตรียมการเท่าที่ควรในการรับมือกับการเข้าตีของข้าศึกระลอกใหม่

จนเสมือนหนึ่งรัฐบาลอยู่กับความเชื่อที่ว่า ข้าศึกแพ้ไปแล้ว และไม่มีขีดความสามารถในการเข้าตีฝ่ายเราอีก ฝ่ายเราจึงไม่มีความจำเป็นแต่ประการใดที่จะต้องเตรียมตัว

ซึ่งการคิดเช่นนี้ต้องถือว่าเป็น “ความประมาทในวิชาชีพทหาร” และเห็นชัดว่าจากกลางปี 2563 เป็นต้นมาแล้ว ผู้นำทหารในรัฐบาลขาดการเตรียมการในเรื่องเช่นนี้เป็นอย่างยิ่ง เสมือนข้าศึกไม่สามารถทำการรบได้อีกแล้ว

 

ต้องรู้จักข้าศึก!

อย่างไรก็ตาม หลักคำสอนในวิชาชีพทหารจึงกล่าวเตือนว่า ผู้บังคับบัญชาจะต้องนำเอาข้าศึกมาเป็นข้อพิจารณาเสมอ

เพราะข้าศึกไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งและเคลื่อนไหวไม่ได้

อีกทั้งการต่อสู้ไม่ได้วัดจากขีดความสามารถของเราฝ่ายเดียว แต่เกิดจากศักยภาพของฝ่ายข้าศึกที่จะตอบโต้เราด้วย

ผู้บังคับบัญชาทางทหารในระดับสูงจึงต้องเข้าใจหลักการเช่นนี้ให้ได้ หรือเป็นดังที่เคลาเซวิตซ์ (Clausewitz) นักปรัชญาการสงครามชาวปรัสเซีย กล่าวเตือนใจในคำสอนทางทหารเสมอว่า สิ่งที่เรียกร้องให้ผู้บังคับบัญชาในระดับสูงต้องมีคือ “ปัญญา”

สงครามโรคระบาดครั้งนี้เป็นความน่ากลัวอย่างมาก เรากำลังต่อสู้กับ “ข้าศึกที่มองไม่เห็น” และเป็นข้าศึกในแบบที่ผู้นำทหารอาจ “ขาดปัญญา” ในการทำความเข้าใจ

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ “นักอาวุธนิยม” ส่วนหนึ่งยังแสวงหาช่องทางและโอกาสในการซื้ออาวุธไม่ต่างจากเดิม

เสมือนหนึ่ง “ผู้นำทหารหัวเก่า” เหล่านี้ ไร้ปัญญาในการทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทั้งในระดับโลกและในระดับไทย และไม่ตระหนักถึงความรุนแรงของสงครามโรคระบาด

แต่ความน่ากลัวมากที่สุดเกิดจากคำถามว่า แล้วผู้นำทหารในรัฐบาลไทยมี “ศักยภาพและปัญญา” ที่จะรบในสงครามชุดนี้ได้จริงเพียงใด

หากเปรียบเทียบเป็นการรบ เราจะเห็นตัวอย่างของการขาดการเตรียมการทางยุทธการอย่างชัดเจน เช่น รัฐบาลไทยตัดสินใจไม่เข้าร่วมในโครงการแจกจ่ายวัคซีนขององค์การอนามัยโลก (จะด้วยเหตุผลและคำอธิบายอะไรก็แล้วแต่)…

รัฐบาลไม่จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนงานความมั่นคงด้านสาธารณสุข แต่ยังยึดติดอยู่กับการจัดซื้ออาวุธ…

รัฐบาลไม่สร้างระบบ “คลังสำรองวัคซีน” ซึ่งเปรียบเทียบได้กับ “ระบบคลังอาวุธสำรอง” ในทางทหาร…

รัฐบาลไม่สนับสนุนการแสวงหาวัคซีนอื่น นอกเหนือจากวัคซีนสองยี่ห้อที่รัฐบาลเลือก…

รัฐบาลไม่แสดงออกเท่าที่ควรต่อความพยายามของภาคเอกชนที่จะยื่นมือเข้ามาช่วย…

รัฐบาลขาดชุดความคิดในการบริหารจัดการวิกฤตและการระบาด… รัฐบาลขาดการสื่อสารทางการเมืองที่ดีกับประชาชน

เราอาจกล่าวสรุปในแบบวิชาทหารได้ว่า เมื่อประเทศต้องเผชิญกับสงคราม ผู้นำกองทัพจะต้องมี “แผนการทัพ” (campaign plan) ที่ดีรองรับ

ดังนั้น การรบกับสงครามโควิดของประเทศไทยภายใต้การนำของผู้นำทหารในครั้งนี้ แทบจะเป็นการ “ถอยร่น” ในทุกแนวรบ

จนต้องถือว่าเป็นความล้มเหลวในการเตรียมแผนการทัพ (อันมีนัยมากกว่าการคิดในระดับของแผนยุทธการ)

และยังไม่สนใจต่อระบบส่งกำลังบำรุงอีกด้วย จนเป็นเสมือนการละเลยคำเตือนที่ว่า “ข้าศึกมีสิทธิ์ออกเสียง” ได้ในสงครามไม่ต่างจากเรา

ทำให้เมื่อเชื้อโควิด-19 เปิดการโจมตีระลอกสองจากเดือนธันวาคม 2563 ต่อเข้าต้นปี 2564 และการโจมตีระลอกสามจากสงกรานต์ 2564 เรื่อยมา รัฐบาลไทยดูจะเป็น “ฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ” ในสนามรบอย่างมาก และยังมองไม่เห็นชัยชนะแต่อย่างใด

ในการเรียนวิชาทหารนั้น ข้าศึกเข้าตีสองระลอกใหญ่ ก็เป็นเรื่องหนักหนาสาหัสมากแล้ว

แต่ครั้งนี้ ข้าศึกเข้าตีเป็นระลอกสามอย่างต่อเนื่อง และเป็นระลอกสามที่ยังไม่มีความชัดเจนว่า ข้าศึกจะยุติการเข้าตีเมื่อใด อีกทั้งน่ากลัวอย่างมากต่อการเข้าตีของ “ข้าศึกกลายพันธุ์” ในระลอกสี่ที่คาดเดาไม่ได้

นายทหารไทยในยุคปัจจุบันที่เรียนเรื่องการเข้าตีของกำลังรบข้าศึกชุดใหญ่ในแบบที่เป็น “ละรอก” นั้น เราเรียนจากตำราทหารอเมริกันในช่วงปลายยุคสงครามเย็น คือ “คู่มือราชการสนาม 100-5” (FM 100-5) ที่กองทัพของฝ่ายตะวันตกเตรียมแผนการยุทธ์เพื่อรับการเข้าตีของข้าศึกตามหลักนิยมของกองทัพแดง ที่อาจทุ่มกำลังเข้าตียุโรปตะวันตกด้วยกำลังขนาดใหญ่ที่เป็นระลอกทางทหาร

ซึ่งการรับมือจะเป็นการยุทธ์ร่วมในแบบการใช้กำลังทาง “อากาศและบก” ร่วมกัน (หรือแนวคิด “AirLand Battle”)

แต่พ้นจากจินตนาการในตำราทางทหารอเมริกันชุดนี้แล้ว ทหารไทยไม่เคยมีชุดความคิดที่จะมองการเข้าตีของข้าศึกเป็น “ระลอกทางทหาร” แต่อย่างใด

ขณะเดียวกันข้าศึกทางทหารในบริบทของไทยก็ไม่เคยมีกำลังขนาดใหญ่ที่จะเปิดการเข้าตีเป็นระลอกได้จริง

การเข้าตีของกำลังรบข้าศึกที่เป็นระลอกใหญ่ในทางทหารจึงอยู่เพียงในแบบฝึกหัดการยุทธ์ของนายทหารนักเรียน และที่สำคัญกว่า ในประวัติศาสตร์สงครามของไทยก็ไม่เคยมีประสบการณ์ในการรับมือกับการเข้าตีของข้าศึกที่มีกำลังมาก

แต่ในสงครามโรคระบาดวันนี้ ข้าศึกเข้าตีไทยถึงสามระลอกแล้ว และสังคมก็เกิดความปั่นป่วนและความสูญเสียอย่างมาก เพราะอาวุธในสงครามครั้งนี้คือ “วัคซีน” ไม่ใช่อาวุธสงครามที่ “ผู้นำทหารหัวเก่า” อยากซื้อ

แต่ประเทศกลับประสบปัญหาความขาดแคลนวัคซีน หรือมีปัญหาใหญ่จากการบริหารจัดการวัคซีน…

อาจไม่ต่างกับภาวะที่ไทยกำลังเผชิญกับสงคราม แต่ประเทศกลับขาดแคลนอาวุธ ขาดระบบส่งกำลังบำรุงที่ดี

และที่แย่มากกว่านั้นคือ ผู้นำที่เป็นทหารกลับแสดงให้เห็นถึงการขาดมิติของการบริหารจัดการอาวุธ (วัคซีน) ทั้งยังขาดแผนการทัพในการรบ (การบริหารจัดการวัคซีน)

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยที่ผู้คนในสังคมไทยจะรู้สึก “หงุดหงิด” อย่างมากกับทั้งตัวแม่ทัพใหญ่ และแม่ทัพรอง

เมื่อแม่ทัพอ่อนด้อยในการสงคราม ขาดปัญญาในการเตรียมแผนการทัพ และขาดความสามารถในการบริหารการสงครามแล้ว สิ่งที่รออยู่เบื้องหน้ามีเพียงประการเดียวคือ “ความพ่ายแพ้” ประวัติศาสตร์สงครามชี้ให้เห็นเสมอว่า

ไม่มีกองบัญชาการใหญ่ (High Command) ใดยอมให้แม่ทัพเช่นนี้บัญชาการรบต่อแน่นอน!