ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 กรกฎาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | กรองกระแส |
เผยแพร่ |
กรองกระแส
บทบาท ก้าวไกล
กับปัจจัย ‘ใหม่’ ในสังคม
เปล่ง กัมมันตะได้
สภาพที่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบการเลือกตั้งที่ย้อนกลับไปยังที่เคยปฏิบัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา
ก่อให้เกิด “ปม” ทางการเมืองอันลึกซึ้ง แยบยล
เมื่อพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ มีท่าทีเห็นพ้องต้องกับข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่พรรคก้าวไกลแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างเด่นชัด
คล้ายกับระบบเลือกตั้งจะเป็นโทษกับพรรคก้าวไกล
คล้ายกับระบบเลือกตั้งในแบบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 จะเป็นคุณให้กับพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ มากกว่า
รอยร้าวในทางความคิดระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลจึงบังเกิด
กลายเป็นประเด็นแห่งการถกแถลงและอภิปรายอย่างกว้างขวางถึงอนาคตของพรรคเพื่อไทยและอนาคตของพรรคก้าวไกล
ประหนึ่งว่าพรรคเพื่อไทยรุ่งโรจน์ ประหนึ่งว่าพรรคก้าวไกลจะหมดสิ้นหนทาง
ต้องยอมรับว่า รูปธรรมความสำเร็จจากการเลือกตั้งระบบบัตร 2 ใบจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 สร้างความมั่นใจในทางการเมือง
ไม่เพียงแต่พรรคเพื่อไทย หากแม้กระทั่งพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์
พรรคเพื่อไทยมากด้วยความมั่นใจอย่างแน่นอน เพราะนี่คือปรากฏการณ์อันพรรคไทยรักไทยเคยสร้างขึ้นตั้งแต่เลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548
กลายเป็นอานิสงส์ในเดือนธันวาคม 2550 และเดือนกรกฎาคม 2554
พรรคพลังประชารัฐซึ่ง “ถอดแบบ” ความสำเร็จมาจากพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน เมื่อประสานกับการอยู่ในฐานะกุมกลไกอำนาจรัฐ ยิ่งมากด้วยความมั่นใจ
พรรคประชาธิปัตย์ก็หวังอาศัย “บุญเก่า” จากรากฐานเมื่อเดือนเมษายน 2489
ขณะที่พรรคก้าวไกลแม้จะอาศัยอานิสงส์จากที่เคยได้มาในยุคแห่งพรรคอนาคตใหม่ในการ เลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 แต่ก็มากด้วยความเปราะบาง
จะสามารถ “ต่อยอด” และ “พัฒนา” ได้หรือไม่ ยังน่าสงสัย
การทะยานขึ้นมาอย่างรวดเร็วของพรรคอนาคตใหม่อาศัย 2 ปัจจัยทั้งในด้านตัวบุคคลและสถานการณ์ของสังคมมาเป็นองค์ประกอบ
นั่นก็ขึ้นอยู่กับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อาจถูกมองว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีฐานทางเศรษฐกิจแข็งแกร่งและปรากฏขึ้นเหมือนกับกรณีของนายทักษิณ ชินวัตร
แต่บทบาทของนายปิยบุตร แสงกนกกุล ในเชิง “ความคิด” ก็มิอาจมองข้าม
ความแหลมคมอย่างที่สุดของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล ก็คือ ความเข้าใจต่อแนวโน้มใหม่ในสังคมโลก สังคมประเทศไทย
นี่คือจุดแข็งของพรรคอนาคตใหม่อันต่อเนื่องมายังพรรคก้าวไกล
ตราบใดที่ปัจจัย “ใหม่” ในทางสังคมยังเกิดขึ้นและดำรงอยู่ ตราบใดที่พรรคก้าวไกลมีความเข้าใจและสมานตนเป็นหนึ่งเดียวกับปัจจัย “ใหม่” นี้ได้อย่างแนบแน่น ทรงพลัง
ตราบนั้น บทบาทและความหมายของ “ก้าวไกล” ก็ดำเนินไปอย่าง “ก้าวหน้า”
การเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นการต่อสู้ระหว่างพรรคการเมืองในแบบพรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์อย่างแน่นอน
แต่จะปฏิเสธบทบาทของ “พรรคก้าวไกล” ที่เคียงข้างกับ “คณะก้าวหน้า” ได้อย่างไร
การขับเคลื่อนอย่างมากด้วยกัมมันตะอันมาจากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ คือความพยายามสถาปนาบทบาท ความหมายและความชอบธรรมในนามของพรรคก้าวไกล
หาก “คณะก้าวหน้า” หนุนเสริมอย่างสอดรับย่อมเปล่งประกายอย่างแน่นอน