จรัญ พงษ์จีน : สูตรเลือกตั้งจัดสรรปันส่วน-นายกคนนอก

จรัญ พงษ์จีน

ผลสืบเนื่องมาจาก “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560” ตามมาตรา 264 กำหนดว่า ให้คณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เป็นคณะรัฐมนตรีต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่หลังการเลือกตั้งทั่วไป

โดยอนุโลม ให้นำมาตรา 263 วรรคเจ็ด ที่ระบุว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องลาออกจากตำแหน่งภายใน 90 วัน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้ “มาบังคับแก่การลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ ครม.-คสช. ด้วย”

“รัฐธรรมนูญ 2560” ประกาศใช้ลงราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 6 เมษายน 2560 ครบ 90 วันเต็มเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา

“แม่น้ำ 5 สาย” มีเฉพาะ สปท. เท่านั้นที่ตัดสินใจตบเท้าลาออกจากตำแหน่ง เพื่อหลบช่องมาตรา 263 เตรียมผันตัวเองสู่เวทีเลือกตั้งกันอีกครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีอะไรตื่นเต้น เพราะอยู่ในจุดคาดหมายอยู่แล้ว

ก่อนถึงเส้นตาย 4 กรกฎาคม ถนนทุกสายโฟกัสไปที่ “บิ๊ก คสช.” โดยเฉพาะ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่สวมหมวก 2 ใบในฐานะหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี “เต็งหนึ่ง” ว่าที่ผู้นำภาค 2 ว่าจะผันตัวเองสู่เวทีการเมืองเต็มตัวหรือไม่

เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีทางตรง ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนพลเมือง ชิงลาออก เพื่อปลดล็อกมาตรา 263 ก่อนครบ 90 วัน และ “พล.อ.ประยุทธ์” ได้ไขข้อกระจ่างสะเด็ดน้ำไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า

“หนังสือพิมพ์ ทีวี วุ่นวายอยู่กับเรื่องของผมจะลงเลือกตั้งหรือไม่ ไม่บ้าบอคอแตก จะเป็นจะตาย อย่าไปสนใจ เลือกตั้งมันเรื่องของผม ตอบชัดแบบนี้แล้วอย่ามาถามผมอีก ถามกันอยู่ได้”

จบไปแล้ว ว่าไม่มีเรื่องลาออก เพื่อพึ่งพาพลังพลเมืองก้าวย่างลงสู่ถนนสายประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นใหญ่

แต่นั่นมิได้หมายความว่า “บิ๊กตู่” จะลดละผละลงจากหลังเสือ เตรียมอำลาสมรภูมิแห่งอำนาจแบบถาวรตลอดกาล เพราะยังมี “ตัวช่วย” ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เปิดทางสะดวกให้ สามารถแอสซิสต์ผ่านด้วย “วิธีอื่น” อีกหลายทาง

 

“บันไดขั้นแรก” ลงเอยตามกรอบแห่ง “บทเฉพาะกาล” มาตรา 272 ที่บัญญัติว่า ในวาระเริ่มแรก เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อ ที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ให้ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชี ตามที่พรรคการเมืองแจ้งไว้

ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตามมาตรา 159

“โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้”

เป็นการเปิดทาง “สายเอก” ไว้ต้อนรับอาคันตุกะ “คนนอก” ได้เริ่ดสะแมนแตนเป็นอย่างมาก และน่าจะ “ล็อกสเป๊ก” ไว้เพื่อใช้บริการ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” มากกว่าใครอื่น

“บันไดขั้นที่สอง” ย้อนกลับไปลากลายแทง ตาม “มาตรา 83” หมวดสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 500 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 350 คน ซึ่งมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง 150 คน

ด้วยระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ “จัดสรรปันส่วนผสม” ทุกเสียงทุกสิทธิ์ มีความหมาย ส.ส.เขตเลือกตั้งไม่มีปัญหา วัดวากันตามเนื้อผ้าขึ้นอยู่กับฐานเสียงและกระแสนิยมของแต่ละพรรคนั้นๆ

จุดเปลี่ยนของเกมเลือกตั้งใหม่ จะอยู่ที่วิธีคิดคำนวณ “ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์” 150 ที่นั่ง เพื่อนำมา “จัดสรรปันส่วนผสม”

โดยนำคะแนนที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศมาเป็นตัวตั้ง หารด้วย 500 ตามสัดส่วนของ ส.ส. 2 ระบบ นำผลลัพธ์ไปหารด้วยจำนวนรวมที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคได้

ถอดรหัสออกมาเป็น “ที่นั่งพึงมี” และนำ ส.ส. ที่แต่ละพรรคพึงมี หักลบด้วยจำนวน ส.ส.เขตของพรรคนั้น

“ถ้าพรรคใดมี ส.ส.เขต เท่ากับหรือมากกว่าจำนวนที่ ส.ส. ของพรรคที่พึงมี พรรคนั้นจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ถ้าพรรคใดมีจำนวน ส.ส. ที่พึงมีมากกว่า ส.ส.เขต พรรคนั้นจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อตามอัตราส่วน”

เต็งหนึ่งคือ “พรรคเพื่อไทย” จะกลายเป็นเสือลำบาก ดังแต่ท่อล้อไม่หมุน เนื่องเพราะเมื่อได้รับเลือกตั้ง ส.ส.เขตเลือกตั้งมาจำนวนมากแล้ว เกณฑ์เฉลี่ยของ “คะแนนพึงมี” ชนเพดาน

ยกตัวอย่างเป็นคณิตศาสตร์ว่า บทสมมุติฐานคะแนนรวมที่พรรคเพื่อไทยได้รับคือ 15 ล้านเสียง “คะแนนพึงมี” จะตกอยู่ราว 220 เสียง

กรณีที่ได้ ส.ส.เขตเลือกตั้งมาแล้ว 210 เสียง เท่ากับว่า เพื่อไทยคะแนนเต็มตุ่มจากบัญชีรายชื่อ ตามสัดส่วนของ “คะแนนพึงมี” แค่ 10 ที่นั่ง

โอกาสแห่งชัยชนะทั้งสองภาคส่วนแบบถล่มทลาย คือเขตเลือกตั้ง และ “ปาร์ตี้ลิสต์” เหมือนปี พ.ศ.2554 ไม่มีอีกแล้ว

“ปาฏิหาริย์มีจริง” จะเกิดขึ้นได้ มีอยู่สถานเดียวสำหรับเพื่อไทยคือ ต้องแลนด์สไลด์ ชนะ ส.ส.เขตเลือกตั้งเกิน 250 เสียงทั่วประเทศ ซึ่งเป็นไปได้ยาก

จึงเข้าแก๊ป “บันไดขั้นที่สาม” พรรคใหญ่สุดในรัฐสภาคือ “พรรค ส.ว.” 250 เสียง จะจับมือกับพรรคลำดับถัดไป-พรรคขนาดกลาง-ขนาดเล็ก ทอดสะพานส่งเทียบเชิญ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” กลับสู่ตึกไทยคู่ฟ้าเป็นสมัยที่ 2

โดย “ภูมิใจไทย” จะเป็นอะไหล่ตัวยืน

สำหรับ “ประชาธิปัตย์” โปรดรอสักครู่ ดูกำลังภายในว่า “ลุงกำนัน” จะสามารถยึดหัวหาด…จัดแถวได้หรือไม่

แนวโน้มจะเป็นตัวประกอบ รับบทแค่ “พระรอง” อีกครั้งสูงมิใช่น้อยๆ