ชีวิตที่เดินทางไกล-ยาวนาน นั่นแหละ “มนุษย์ต่างดาว” : ฟ้า พูลวรลักษณ์

ฟ้า พูลวรลักษณ์

หนังสือเรียนสำหรับเด็ก (๑๗๖)

เช้านี้ฉันดูหนังเรื่องหนึ่ง มันเป็นหนังน่ารัก ขำๆ เบาๆ เกี่ยวกับชีวิตของหนุ่มสาวในช่วงปี 1970 ทันใดนั้นเอง ฉันก็ถูกดูดเข้าไปในอดีต รู้สึกเศร้าๆ เพราะในวันนั้นฉันเป็นวัยรุ่น รู้สึกเหมือนไม่นานเท่าไร แต่คิดอีกที ก็ร่วมห้าสิบปีแล้ว ความรู้สึกคล้ายนาน คล้ายไม่นานนี้แปลกดี มันเกิดขึ้นกับช่วงเวลาประมาณนี้พอดี

เมื่อวานฉันไปตรวจสายตา ที่คลินิกที่ฉันเคยไปทำเลสิก จำไม่ได้ว่าตอนนั้นคือปีไหน ถามข้อมูลเดิมจากพนักงานในนั้น ว่าฉันเคยมาทำปีไหน เธอบอกว่า 1999 เท่ากับว่าสิบแปดปีมาแล้ว

นับจากวันนั้นมา ฉันไม่เคยมาตรวจสายตาอีกเลย เมื่อเดินเข้าไป ความรู้สึกแรกก็คือว่า คลินิกนี้เหมือนเดิมไหม ฉันจำไม่ได้ คล้ายจะไม่เหมือนเดิม แต่นั่นอาจเพราะความทรงจำของฉันผิดพลาดเอง มันอาจเป็นคลินิกเดิม สิบกว่าปีมานี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร แต่ฉันจำไม่ได้

เดินไปถามพนักงาน พวกเขาก็ตอบไม่ได้ คงเพราะพวกเขาทำงานมาไม่ถึงสิบแปดปี และเรื่องนี้ก็เล็กเกินกว่าจะไปตรวจสอบ แค่ถามพวกเขาก็รู้สึกแปลกๆ แล้ว

ฉันไม่ไว้ใจความทรงจำของตัวเอง ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นกับฉันเสมอ

การตรวจสายตา เขาต้องหยอดยาขยายม่านตา เพราะนานๆ ครั้งฉันจะตรวจตา ฉันก็จำไม่ได้ว่ามันจะมีผลอะไร และเพราะฉันไม่ได้ขับรถ ฉันก็ไม่กังวลใจอะไร

แต่พอตรวจเสร็จ เดินออกมา ฉันพบว่าดวงตาของฉันทนแสงแดดไม่ได้เลย

ปกติฉันไม่มีปัญหากับแสงแดด แต่คราวนี้มันเจิดจ้า จนฉันต้องหลับตา ปกติฉันไม่ได้ใส่แว่นกันแดด แต่บัดนี้ฉันคิดถึงมันมาก ฉันต้องเดินกึ่งหลับตากลับบ้าน

ตลอดชีวิต ฉันต่อสู้กับความไม่แน่นอน ความไม่แน่แท้

สังเกตดูมนุษย์ วันที่เขาอายุ ๒๐ เขาก็ไม่เหมือนวันที่เขาอายุ ๑๐ ขวบ วันที่เขาอายุ ๓๐ ก็แตกต่างจากวันที่เขาอายุ ๒๐ หากคิดไปเรื่อย จนถึงวันที่เขาอายุ ๑๐๐ ปี ความแตกต่างนี้เกิดจากการลืมบางอย่างออกไป

เขาไม่มีทางเก็บความทรงจำไว้ได้ทั้งหมด เพราะมันจะมากเกินไป สังขารจะรับไม่ไหว

การลืมไปบางอย่าง เหลือบางอย่างนี้ เรียกว่า การตัดต่อความทรงจำ

การตัดต่อความทรงจำ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบุคลิก เปลี่ยนแปลงตัวตน

คนเราจึงไม่เหมือนเดิม เราเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย

หากมีสิ่งมีชีวิตที่อายุหนึ่งพันปี เขาก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย วันที่เขาอายุ ๑,๐๐๐ ปี เขาย่อมไม่เหมือนวันที่เขาอายุ ๙๐๐ ปี ด้วยสาเหตุเดียวกัน สิ่งมีชีวิตไม่สามารถคงความทรงจำไว้ได้ทั้งหมด จิตใจแบกรับไม่ไหว

คอมพิวเตอร์แบกรับได้ เพราะมันมิใช่ชีวิต มันไม่มีจิตสำนึก

สมัยก่อน ที่ประชากรยังเบาบาง การมีครอบครัว คือการมีลูกหลาน การรักษาเผ่าพันธุ์ มันเป็นสัญชาตญาณที่ลึกมาก แต่ในวันนี้ ที่ประชากรล้นโลก การมีลูกก็ยังสำคัญอยู่ดี เพียงแต่ความหมายของมันเปลี่ยนไป มันยังมีคุณค่า เพราะมันคือการเรียนรู้ ว่าจะเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่ง การให้การศึกษา การเฝ้าดูการเจริญเติบโตของชีวิตหนึ่ง ทำได้ไหม ทำอย่างไร นี่เป็นงานที่ยากยิ่งนัก หนักยิ่งนัก แต่ก็มีคุณค่า

มันเป็นการพิสูจน์ตัวเอง

๑๐ การมีครอบครัว นอกจากเป็นการตอบสนองความต้องการทางเพศ และการมีลูกแล้ว มันยังมีสาระสำคัญอันหนึ่ง ซึ่งเป็นเบสิก นั่นคือการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับใครคนหนึ่ง ซึ่งควรแตกต่างจากตัวเอง สาระนี้ทำให้ ต่อให้ตัดเรื่องเพศ ตัดเรื่องการมีลูกออก มันก็ยังสำคัญสูงสุดอยู่ดี เพราะชีวิตไม่อาจอยู่เพียงเพื่อตัวเอง

ที่ใช้คำว่าควรแตกต่างจากตัวเอง เพราะหากเหมือนกัน กลับไม่จำเป็น เช่น หากคู่ของฉันชอบเดินเล่นเหมือนฉัน จำเป็นหรือที่เราต้องเดินเล่นด้วยกันสองคน ฉันคนเดียวก็เดินเล่นได้ จำเป็นหรือที่สองคนชอบอ่านหนังสือเหมือนกัน ฉันอ่านคนเดียวก็ได้

ความมหัศจรรย์ของโลก อยู่ที่ความกว้างใหญ่ ความซับซ้อนของมัน การเรียนรู้ที่จะอยู่กับคนที่แตกต่าง คือการขยายมิติ และโลกนี้ ที่จริงเกิดจากสิ่งที่แตกต่างมากมายมารวมกัน กลไกของมันซับซ้อนสุดจะประมาณ

๑๑ ฉันประทับใจคำที่ว่า หากคุณเดินทางไกลมาก และยาวนาน เมื่อคุณเดินทางกลับมาถึงโลก ตัวคุณนั่นแหละ คือมนุษย์ต่างดาว

แสดงว่าความเป็นมนุษย์ต่างดาว ไม่จำเป็นต้องดูที่ต้นกำเนิด หรือดูที่ยีน หากแต่มันอาจเป็นเพียงการเดินทาง การใช้ชีวิต

การใช้ชีวิต จึงสำคัญกว่าตัวชีวิตเอง

การเดินทาง จึงสำคัญกว่าต้นกำเนิด หรือปลายทาง

การเดินทาง จึงสำคัญกว่าบ้าน