ไร้มลทิน การตั้งคำถามต่อกระบวนการฟอกขาว ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาได้ไปดูนิทรรศการศิลปะของศิลปินร่วมสมัยหน้าใหม่ของไทยที่น่าสนใจคนหนึ่ง เลยหยิบเอามาเล่าสู่กันฟังตามเคย

นิทรรศการนี้มีชื่อว่า Whitewash หรือในชื่อไทยว่าไร้มลทิน จัดแสดงที่แกลเลอรีเว่อร์

เป็นผลงานภาพถ่ายและศิลปะจัดวางของ หฤษฏ์ ศรีขาว ศิลปินหนุ่มผู้จบจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาศิลปกรรม ผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะในลักษณะ Photo Essay

ผลงานของเขาได้จัดแสดงทั้งในและนอกประเทศ อาทิ นิทรรศการ “Cross_Stitch” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, นิทรรศการ “Margin of Visual Threshold” ที่ Circle Art Centre ประเทศจีน, เทศกาลภาพถ่าย GETXOPHOTO ประเทศสเปน, นิทรรศการ New Perspectives on Photography ที่จัดโดย Mus?e de l”Elys?e ซึ่งไปแสดงงานทั้งในประเทศสวิตเซอร์แลนด์, ประเทศอังกฤษ และประเทศเม็กซิโก

ผลงานชุด Whitewash ของเขา ได้รับรางวัล Winner of Juror”s prize ในนิทรรศการ “Power and Politic” จาก Filter Photo Festival ประเทศสหรัฐอเมริกา (www.filterfestival.com), รางวัล Second Prize Winner Gomma Grant 2016 และรางวัล Special mention by the jury ที่ Dusseldolf Portfolio Review 2017 ประเทศเยอรมนี

รวมถึงได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารภาพถ่ายระดับโลกอย่าง Foam

และในปี 2016 หฤษฏ์ยังได้รับรางวัลยอดเยี่ยม สาขาภาพถ่าย Young Thai Artist Award อีกด้วย

ผลงานในนิทรรศการนี้เป็นภาพถ่ายอันแปลกตาที่เกิดจากเทคนิคการคอลลาจ (ปะติด)

โดยใช้ภาพถ่ายจากเหตุการณ์ส่วนตัวในชีวิตของตัวศิลปินเอง และภาพถ่ายสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองต่างๆ มาตัดต่อปะติดผสมผเสเข้าด้วยกันรวมถึงตกแต่งจนเกิดเป็นภาพใหม่ขึ้นมา

ผลลัพธ์ที่ได้คือผลงานภาพถ่ายอันน่าพิศวงที่ทรงพลังและสั่นสะเทือนความรู้สึกของผู้ชมอย่างยิ่ง

นอกจากภาพถ่ายที่แขวนบนผนัง กลางห้องแสดงงานยังมีโต๊ะยาวที่จัดวางภาพถ่าย ภาพร่างผลงานและกระดาษบันทึกเรื่องราวส่วนตัวของศิลปินที่เขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เขาเจอจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในปี 2553

ผลงานชุดนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์ของตัวศิลปินที่ได้รับจากบรรยากาศความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ความทรงจำของผมต่อการสลายการชุมนุมในปี 2553 เป็นเหมือนกับแรงผลักดันให้ทำงานชิ้นนี้ หลักๆ คือความทรงจำและมุมมองของผมที่เปลี่ยนไปจากเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่มันมีเรื่องอื่นเข้ามาปนเปด้วย เช่น ความทรงจำเรื่องเพื่อน หรือว่าเรื่องความเป็นวัยรุ่น แต่มันอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับการสลายการชุมนุมปี “53 ซึ่งผมได้ข่าวและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนั้น

คือในวันที่ 28 เมษายนมีการปะทะกันหน้าอนุสรณ์สถานแห่งชาติตรงหลักสี่ ทำให้ผมที่กำลังจะกลับมาจากที่เรียนพิเศษไม่สามารถกลับบ้านได้ ผมก็เลยต้องเดินทางไปอาศัยอยู่ที่บ้านเพื่อน

แล้วในวันนั้นทุกอย่างมันชุลมุนผมก็เดินหลงทาง ในความเป็นเด็กอายุ 15 ที่งุนงง ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ตั้งแต่วันนั้นมาก็เลยมีทัศนคติที่เป็นลบต่อผู้ชุมนุม โดยเฉพาะเสื้อแดง

ผนวกกับเราเป็นลูกชนชั้นกลางที่พ่อแม่ไม่ชอบเสื้อแดงด้วย ตอนนั้นเราไม่สนใจการเมืองเท่าไหร่ เพราะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ แล้วมันก็มีการประท้วงเกิดขึ้นบ่อย ซึ่งดูน่าปวดหัวเหลือเกินสำหรับเด็กอย่างพวกผม ผมก็เลยไม่สนใจและไม่ชอบการเมือง

ผ่านไปประมาณสี่ห้าปีก็มีรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 คือก่อนหน้านั้นตอนมีการประท้วงและมีรัฐประหารในปี 2549 ผมก็ไม่ได้สนใจอะไร แค่รู้สึกว่า ก็ดี เพราะโรงเรียนหยุด

แต่พอรัฐประหารปี 2557 เกิดขึ้นตอนที่ผมเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ผมก็เริ่มรู้สึกว่ารัฐประหารมันเยอะไปนะ! มันต้องมีอะไรผิดปกติแน่ๆ ก็เลยเริ่มศึกษาการเมืองในประเทศตั้งแต่นั้น พอได้อ่านข้อมูลย้อนกลับไปก็พบว่า ในเหตุการณ์สลายการชุมนุม จริงๆ มีคนตายไปจำนวนมาก ซึ่งก่อนหน้านั้นเราไม่รู้เลย สิ่งที่เราจำได้หลังจากการสลายการชุมนุมคือ มีการจัด Big Cleaning Day ซึ่งผมไปร่วมกับพ่อแม่ เห็นดารา-นักร้องมาทำความสะอาด

ความรู้สึกตอนนั้นคือทุกคนยิ้ม หัวเราะ และดูมีความสุข พอมาคิดย้อนกลับไปว่าก่อนหน้านั้นมันเกิดอะไรขึ้น แล้วเราไปร่วมทำความสะอาด มันก็รู้สึกเฟลมากๆ ก็เลยเป็นเหมือนกับจุดผลักดันหลักๆ และก็เป็นที่มาของชื่องานนิทรรศการครั้งนี้ว่า White Wash หรือไร้มลทินขึ้นมา

งานชุดนี้รวมความทรงจำส่วนตัวกับความทรงจำส่วนรวมเข้าด้วยกัน คือไม่ว่าจะเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องการเมือง ผมคิดว่า บ่อยครั้งที่ผมพูด หรือเล่าเรื่องตัวเองหรือเรื่องที่เกิดขึ้น ผมจะพยายามโกหกหรือตัดแต่งออกมาให้ดูดี ภาพถ่ายทั้งหมดก็เลยถูกตัดด้วยคัตเตอร์

คือจริงๆ จะใช้โปรแกรมโฟโต้ช็อปทำก็ได้ แต่ผมต้องการให้เห็นร่องรอยของการตัดแต่งอะไรบางอย่าง ซึ่งเป็นภาพแทนของการบิดเบือนประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ระดับใหญ่หรือประวัติศาสตร์ส่วนตัว ซึ่งมันไม่ใช่การบิดเบือนแค่ประวัติศาสตร์หรือข้อมูล แต่มันมีกระบวนการหลายๆ อย่าง เช่น ความเชื่อเรื่องบุญบาปในศาสนา อย่างตอนอยู่มัธยมทุกคนก็จะถูกพาไปเข้าค่ายธรรมะ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ผมรู้สึกว่ามันเป็นการกล่อมเกลาเพื่อให้เรามีมุมมองต่อโลกในแบบที่เขาต้องการ

ภาพถ่ายชุดนี้ได้รับการผลักดันจากปฏิกิริยาเลือดเย็นของผมและผู้คนรอบข้างที่มีต่อกลุ่มผู้ชุมนุมในเวลานั้น

จนผ่านไปแล้ว 5 ปี ผมจึงเพิ่งรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นและเข้าใจพวกเขาในฐานะเพื่อนมนุษย์ การที่ผู้คนในประเทศไม่รับรู้ นิ่งเฉย ตลอดจนสะใจต่อการตายของกลุ่มผู้ชุมนุม ได้สะท้อนความน่าสะพรึงกลัวของแนวคิดชาตินิยม

สถานที่ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในผลงานชุดนี้ เป็นที่ซึ่งนักเรียนทุกคนถูกพาไปกล่อมเกลาทางศีลธรรมจากต่างสถานที่ต่างเวลา ซึ่งผมเอามาสร้างเป็นเรื่องราวใหม่ขึ้นมา”

องค์ประกอบอันทรงพลังอีกอย่างในภาพถ่ายชุดนี้คือรูปของสตรีหัวสีทองตาเหลือกถลนที่ศิลปินนำมาตัดต่อเข้ากับภาพถ่ายของเขาได้อย่างรุนแรงและทรงพลังยิ่ง

ซึ่งอันที่จริงหัวทองที่ว่านี้ก็คือประติมากรรมของศิลปินชาวอินเดีย ราวินเดอร์ เรดดี้ (Ravinder Reddy) ที่มีชื่อว่า THE HEAD ที่ตั้งอยู่หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ในช่วงเหตุการณ์ทางการเมือง

ซึ่งหัวสีทองนี้ก็กลายเป็นภาพติดตาที่เป็นสัญลักษณ์ของการสลายการชุมนุมในปี 2553 ไปแล้ว

“หัวสีทองที่เห็นในภาพ ผมใช้เพราะมันเป็นภาพจำต่อเหตุการณ์ของผม คือตลอดมาผมจำได้แต่ว่าตึกโดนเผา แล้วมีรูปปั้นนี้อยู่หน้าตึก แต่ไม่เคยรู้เลยว่ามีผู้เสียชีวิต มีประชาชนหรือผู้ชุมนุมที่ถูกยิง ด้วยดวงตาของมันที่เหลือกถลน มองมายังคนดู มันเหมือนกับเป็นสายตาที่จ้องมาเพื่อสะกดจิต เพื่อที่จะทำให้ลืม หรือเพื่อที่จะปิดบังอะไรบางอย่าง”

ต่อคำถามที่ว่า ศิลปินควรจะข้องแวะกับเรื่องของการเมืองหรือไม่ หฤษฏ์ตอบว่า

“ผมว่ามันเป็นหน้าที่ของศิลปินที่พูดในสิ่งที่ตัวเองคิด หรือตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ จากมุมมองของตัวเอง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีความจริงชุดหนึ่งโยนเข้ามาในสังคมเพื่อปิดบังความจริงบางอย่าง แล้วเราไม่สามารถตั้งคำถามอะไรได้เลย”

แต่หลังจากเปิดแสดงไปได้เกือบสัปดาห์ ในช่วงบ่ายของวันที่ 15 มิถุนายน นิทรรศการไร้มลทิน ก็ถูกทหารและตำรวจเข้ามาตรวจสอบและสั่งให้ถอดผลงานบางส่วนออกจากนิทรรศการ ซึ่งมีภาพถ่ายบนผนัง 3 ภาพ และภาพร่างผลงาน 3 ชิ้น รวมกระดาษบันทึกเรื่องราวส่วนตัวของศิลปินเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองอีก 7 แผ่น

โดยก่อนหน้านั้นทหารและตำรวจประมาณ 20 นาย ได้เดินทางไปยังหอศิลป์ Cartel Artspace ซึ่งติดกันกับแกลเลอรีเว่อร์ ทราบข่าวมาว่ามีนิทรรศการศิลปะที่เกี่ยวกับการเมืองจัดแสดงอยู่ซึ่งเป็นนิทรรศการที่มีชื่อว่า The Shards Would Shatter At Touch หรือ สุขสลาย ของศิลปินภาพถ่าย ธาดา เฮงทรัพย์กูล แต่หอศิลป์ยังไม่เปิด

หลังจากนั้นทีมงานหอศิลป์จึงโทร.แจ้งกับนายธาดา ทำให้เขาตัดสินใจที่จะเก็บงานของตัวเองไปจนหมด จนทหารและตำรวจกลับมาอีกครั้งจึงได้เข้ามาตรวจสอบผลงานในแกลเลอรีเว่อร์และสั่งถอดผลงานออกดังที่เห็น

โดย จิรัสย์ รัฐวงศ์จิรกุล ผู้อำนวยการแกลเลอรีเว่อร์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางแกลเลอรีไม่เคยมีประวัติโดนทหารเข้ามาที่แกลเลอรี และในประเทศไทยยังไม่เคยมีกรณีที่ทหารสั่งให้ปิดนิทรรศการ หรือสั่งปลดงานลง เพราะฉะนั้น เหตุการณ์นี้ค่อนข้างเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทหารบุกเข้ามาในพื้นที่ศิลปะ

“โดยธรรมชาติพื้นที่ศิลปะถือเป็นพื้นที่ในการแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ทางเสรีภาพ ไม่ว่าคนจากสายอาชีพอื่นๆ แสดงออกแล้วโดนบล๊อกความคิด เรายังพอเข้าใจได้ แต่พื้นที่ศิลปะค่อนข้างเป็นพื้นที่มีสิทธิพิเศษประมาณหนึ่งเหมือนกัน ที่ศิลปินไม่สามารถพูดผ่านสื่อประเภทอื่นได้ แต่พูดผ่านศิลปะ

เราอาจจะต้องระวังมากขึ้นในการเลือกงานศิลปะ ถ้างานที่ตรงเกินไป อาจจะต้องคุยกับศิลปินว่าพอจะทำให้ไม่ตรงขนาดนี้ได้ไหม กลายเป็นว่าทางรัฐบาลทหารทำให้เราเกิดความรู้สึกว่าเราต้องเซ็นเซอร์ตัวเองภายในตัว ซึ่งมันไม่ควรจะเกิดขึ้น”

แต่อย่างไรก็ดี เขากล่าวยืนยันว่า นิทรรศการ ไร้มลทิน จะยังจัดแสดงไปต่อจนถึงวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ ตามกำหนดการ

ถึงแม้จะเป็นที่น่าเสียดายที่ถูกถอดผลงานบางส่วน แต่ผลงานส่วนใหญ่ก็ยังคงเหลือให้ชมอยู่ รู้อย่างงี้แล้วใครสนใจก็รีบเข้าไปดูชมกัน ก่อนที่มันจะไม่มีเหลือให้ดูน่ะนะ!

นิทรรศการศิลปะ Whitewash หรือในชื่อไทยว่า ไร้มลทิน จัดแสดงที่หอศิลป์เว่อร์ ซอยนราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15)

มิตรรักแฟนศิลปะท่านใดสนใจไปชมก็เข้าไปสอบถามข้อมูลได้ที่ facebook Gallery VER

หรืออีเมล [email protected]

และเบอร์โทรศัพท์ 08-9988-5890

ขอบคุณภาพจากหอศิลป์เว่อร์ และข้อมูลบางส่วนจากบีบีซีไทย https://goo.gl/EApCuk