ดับวัฏฏสงสาร ดับ “ไฟ” ดับที่ “ไฟ” ด้วยพระนิพพาน : ดังได้สดับมา

เรื่องของ “วัฏฏสงสาร” มีความสลับซับซ้อน จะมองว่าเป็นเรื่องในทางความคิดก็ได้ จะมองในเรื่องของการเวียนเป็นวงแห่งวัฏฏะก็ได้

เพียงแต่มีรายละเอียดค่อนข้างสลับซับซ้อน

ยิ่งเมื่อมีการเสนอคำถาม “เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า กล่าวอย่างไร้สำนึกว่าในวัฏฏสงสารมีนิพพาน อันนี้อย่างไรครับ”

จึงเป็นกล่าวหาที่เหมาะกับ “กาล” เหมาะกับ “เทศะ”

เพราะในความเป็นจริง การแสวงหาโมกษธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นการแสวงหาเพื่อยุติวงวัฏฏะแห่งการเกิด

เมื่อไม่เกิดก็ไม่ต้องประสบกับ “ทุกข์”

ความบันดาลใจอย่างยิ่งยวดของเจ้าชายสิทธัตถะก็คือ ได้ประสบกับภาพแห่งการเกิด การเจ็บ การตาย ด้วยสายตาของตนเอง

จากนั้นก็บังเกิดความสงสัย เพราะว่าตนเองอยู่บนกองสุขในฐานะแห่ง “กษัตริย์”

แน่นอน แม้จะเป็น “กษัตริย์” ก็มิอาจเลี่ยงพ้นไปจากเกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้ ไม่วันใดก็วันหนึ่งจะต้องมาเยือน

จึงได้ตัดสินใจจาริกจากวังไปดำรงอยู่อย่าง “สมณะ” เพื่อแสวงหาทางดับทุกข์ เพื่อให้ตนเองไม่ต้องหวนกลับมาเกิดอีก

ต่อคำถามนี้ท่านพุทธทาสภิกขุตอบอย่างไร

ก็ยอมรับว่าได้กล่าวโดยสำนวนว่า ในวัฏฏสงสาร “มีนิพพาน” ในความหมายที่ว่า ให้หาค้นพบ “นิพพาน” ในวัฏฏสงสาร ถ้าว่า “นิพพาน” นั้นคือความดับ หรือหยุดแห่งวัฏฏสงสารแล้ว

ก็ช่วยดูเอาเองทุกคนก็แล้วกันว่า หยุดหรือดับแห่งวัฏฏสงสารนั้นจะไปหาที่ไหนล่ะ จะไปดูที่ไหนล่ะ มันก็ดูที่วัฏฏสงสารที่มันหยุดและดับนั่นเอง

นี่เราก็พูดอย่างที่พอมองเห็นได้

แต่เขาถือกันตามหลักของเขาพวกไหนก็ไม่รู้เขาสอนกันมาอย่างที่เรียกว่า “พระนิพพาน” ทิศหนึ่ง “วัฏฏสงสาร” อยู่อีกทิศหนึ่ง ไม่มีวันที่จะพบกันได้ วัฏฏสงสารอยู่สุดฝ่ายโน้น พระนิพพานอยู่สุดฝ่ายนี้ แล้วจะดับวัฏฏสงสารได้อย่างไร

“พระนิพพาน” จะดับวัฏฏสงสารได้อย่างไร

คิดดูเถิด จะดับไฟต้องดับที่ไฟ นี่พูดกันง่ายๆ เด็กๆ ฟังถูกว่าถ้าจะดับไฟต้องดับลงที่ไฟ พอมีความดับแห่งไฟ ความดับมันมีที่ไหนล่ะถ้ามันไม่มีที่ไฟ ฉะนั้น ความดับไฟมันก็ต้องมีที่ไฟ ความดับแห่งวัฏฏสงสารมันก็ต้องมีที่วัฏฏสงสารนั้นเอง

เมื่อถือเอาการดับวัฏฏสงสารเป็น “นิพพาน” มันก็ต้องหา “พระนิพพาน” ที่ความดับแห่งวัฏฏสงสาร หาความดับของกิเลสที่กิเลสนั่นแหละ ทำให้กิเลสมันดับลงไป มันก็มีความดับกิเลสที่นั่น ฉะนั้น เราจึงบอกว่าหาความเย็นที่ความร้อน

คือ ที่การดับลงแห่งความร้อนนั่นแหละคือความเย็น

ปู่ย่า ตา ยายของคนเมืองนี้ คนบ้านนี้ถิ่นนี้แถบนี้เคยฉลาดมากนะที่พูดว่า “มะพร้าวนาฬิเกร์ กลางทะเลขี้ผึ้ง” คือ นิพพานอยู่กลางวัฏฏสงสาร

ที่นี่เราอุตส่าห์ลงทุนทำสระน้ำ สระใหญ่มีต้นมะพร้าวอยู่กลางสระน้ำ

เสียเงินค่าน้ำมันรถแทร็กเตอร์ไปแยะกว่าจะได้สระนี้มาเพื่อให้คุณไปนั่งดู ไปนั่งดูน้ำในสระพลิ้วๆ อยู่เป็นวัฏฏสงสาร เป็นบุญ-บาป ดี-ชั่ว สุข-ทุกข์ แพ้-ชนะ ได้-เสีย หญิง-ชาย อะไร นั่นเป็นวัฏฏสงสารในส่วนที่เป็นน้ำ

และ “พระนิพพาน” แม้อยู่กลางวัฏฏสงสารในกลางสระนั้นก็ไม่ใช่สระนั้น ไม่ใช่น้ำ แต่อยู่ที่ตรงต้นมะพร้าวนั้นเป็น “พระนิพพาน”

ไปดูเถอะ มันอยู่กลางวัฏฏสงสารได้โดยที่ไม่ต้องเป็นวัฏฏสงสาร

เพราะมันเป็นความดับแห่งวัฏฏสงสาร มันจึงมีบทเพลงกล่อมลูกร้องว่า “มะพร้าวนาฬิเกร์ ต้นเดียวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง” ก็หมายความว่าที่ต้นมะพร้าวนั้นน่ะฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง

คือ ความสุขก็ไปไม่ถึง ความทุกข์ก็ไปถึงแต่ที่วัฏฏสงสาร คือ น้ำ-ทะเล

ขี้ผึ้งอธิบายว่า ขี้ผึ้งพอร้อนก็เป็นของเหลว พอเย็นก็เป็นของแข็ง นี่คือบุญและบาป ดีและชั่วคู่กันอย่างนี้

“นิพพาน” ต้องเหนือนั้น ต้องเหนือบุญเหนือบาป เหนือดีเหนือชั่ว แล้วก็เหนือความทุกข์ แล้วก็เหนือวัฏฏสงสาร คือ หยุดวัฏฏสงสาร ดับวัฏฏสงสาร แต่มันก็ดับที่อื่นไม่ได้ มันก็ต้องดับที่วัฏฏสงสาร

การตอบและการอธิบายไขความจากท่านพุทธทาสภิกขุยังไม่สิ้นกระแสความ เสมอเป็นเพียงการทำความเข้าใจโดยพื้นฐาน

และเริ่มต้นจากหลักแห่ง “อริยสัจ” ความจริงอันประเสริฐ

นั่นก็คือ ปัญหาอยู่ตรงไหนก็ดับตรงนั้น นั่นก็คือ ดับที่ตัวทุกข์ ดับที่ตัวของปัญหา ดับที่การเกิด หรือดังอุปมาว่าดับที่ไฟ

ความหมายก็คือ ดับที่ “วัฏฏสงสาร” โดย “พระนิพพาน”