เมรุปูน-เมรุวัดไตรมิตร ปัญหาว่าด้วยความสืบเนื่อง และรอยแยกของการปฏิวัติ 2475/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

เมรุปูน-เมรุวัดไตรมิตร

ปัญหาว่าด้วยความสืบเนื่อง

และรอยแยกของการปฏิวัติ 2475

 

มายาคติที่ทรงพลังที่สุดประการหนึ่งของการศึกษายุคคณะราษฎร โดยเฉพาะจากกลุ่มคนที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม คือการมองว่าสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในยุคนั้นไม่ใช่สิ่งใหม่ ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นทั้งสิ้น สิ่งที่คณะราษฎรทำเป็นเพียงการเคลมผลงานของรัฐบาลในอดีต

ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดเพราะมีมานานแล้วตั้งแต่สุโขทัย

การปฏิรูปกฎหมายของคณะราษฎรจนประเทศไทยได้รับเอกราชทางการศาลคืนโดยสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ.2481 ก็ไม่จริง เพราะเป็นผลงานของเจ้านายในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่างหาก

มหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น ศิลปากร และเกษตรศาสตร์ ที่ก่อตั้งขึ้นในยุคคณะราษฎร ก็ถูกอธิบายต้นกำเนิดที่ย้อนกลับไปไกลในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยแทบไม่พูดถึงการผลักดันอย่างเข้มแข็งของคณะราษฎรเลย ฯลฯ

ควรกล่าวไว้ก่อนนะครับ ทัศนะที่มองว่าอะไรคือจุดเปลี่ยนสำคัญทางประวัติศาสตร์และอะไรไม่ใช่

เหตุการณ์ใดคือเงื่อนไขสำคัญของความเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ใช่

และปรากฏการณ์นี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหรือเป็นสิ่งผุดบังเกิดใหม่ภายใต้บริบทใหม่ ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาโลกแตกอย่างหนึ่งในวงวิชาการทางประวัติศาสตร์

การอธิบายเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์บนกรอบแนวคิดชุดหนึ่งอาจนำมาซึ่งคำอธิบายที่มองเห็นแต่ “ความสืบเนื่อง” ยาวนานจากอดีต แต่ภายใต้กรอบแนวคิดอีกชุดก็อาจทำให้มองเห็น “รอยแยก” ระหว่างอดีตกับสิ่งใหม่แทน

อย่างไรก็ตาม ภายใต้บริบทสังคมไทยปัจจุบันที่คณะราษฎรคือผู้ร้ายทางประวัติศาสตร์

คำอธิบายกระแสหลักทางประวัติศาสตร์ไทยจึงถูกครอบงำด้วยกรอบแนวคิดที่มองเห็นแต่ “ความสืบเนื่อง” จากอดีตอันไกลโพ้นในระดับที่ล้นเกินจริง

ส่วนประวัติศาสตร์ยุคคณะราษฎรก็มีสถานะเป็นเพียงรอยด่างพร้อยที่ไม่ได้สร้างคุณูปการอะไรใหม่เลยให้แก่สังคมไทย

ในบรรดามายาคติว่าด้วย “ความต่อเนื่อง” อันล้นเกินนี้ มีตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนอันหนึ่ง นั่นก็คือ การอธิบายประวัติศาสตร์ว่าด้วย “เมรุถาวร” สำหรับสามัญชน

เมรุวัดไตรมิตร

การเผาศพราษฎรสามัญในสังคมไทยแบบจารีตที่เรื่อยมาจนถึงสิ้นยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ล้วนแต่เป็นการเผาศพบนเชิงตะกอน (ไม้และฟืนที่นำมาวางกันเป็นตารางสี่เหลี่ยมซ้อนชั้นสูง) กลางแจ้งทั้งสิ้น

แต่ภายหลังการปฏิวัติ 2475 แนวคิดการสร้างเมรุถาวรสำหรับสามัญชนที่มีเตาเผาสมัยใหม่และการบดบังภาพอันไม่สวยงามได้เริ่มถูกคิดขึ้นอย่างจริงจัง

จนสุดท้ายสำเร็จขึ้นเป็นแห่งแรกที่วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหารในราวปี พ.ศ.2483

ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่จำเป็นต้องตีความเลยนะครับ หลักฐานข้อมูลมากมายจากนักวิชาการไม่น้อยแสดงให้เห็นความจริงนี้จนน่าจะสิ้นสงสัยกันไปนานแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา (อาจสัมพันธ์กับปรากฏการณ์ลบทำลายความทรงจำคณะราษฎรหลังรัฐระหาร 2557) ได้เริ่มมีคำอธิบายที่กำกวมชวนให้งงอยู่อย่างหนึ่งประมาณว่า เมรุถาวรไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกที่วัดไตรมิตรฯ แต่มีมาก่อนนานแล้วคือ “เมรุปูน” ที่วัดสระเกศฯ, วัดอรุณฯ และวัดสุวรรณาราม

ที่ผมบอกว่าคลุมเครือชวนงุนงงก็คือ ประโยคดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงซึ่งใครที่สนใจประวัติศาสตร์แม้เพียงเล็กน้อยก็ทราบดีอยู่แล้ว

แต่บริบทของการกล่าวเช่นนี้ (ภายใต้สถานการณ์ฝุ่นตลบทางประวัติศาสตร์และความทรงจำคณะราษฎร) มีเป้าหมายโดยนัยทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจเพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า เมรุวัดไตรมิตรฯ มิใช่เมรุถาวรแห่งแรกนะ

คณะราษฎรไม่ได้ทำอะไรใหม่นะ (อีกแล้ว) ไม่เห็นจะต้องไปยกย่องเกินจริงอะไรเลย ทั้งที่ในความเป็นจริง เมรุทั้งสองแห่งแทบไม่สามารถนำมาอธิบายอย่างสืบเนื่องกันได้เลย

เพราะ “เมรุปูน” ทั้งหลาย ไม่ใช่และไม่เคยเป็น เมรุสำหรับเผาศพสามัญชน

เมรุปูนวัดสระเกศ

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยอธิบายไว้ชัดว่า เมรุปูนเหล่านั้นทำขึ้นสำหรับงานพระศพเจ้านายที่มียศไม่สูงมากพอจะทำเมรุกลางท้องสนามหลวงได้

ส่วนคนอีกกลุ่มที่สามารถใช้ได้ก็คือขุนนาง แต่ก็ต้องได้รับพระบรมราชานุญาตเท่านั้น

ส่วนศพสามัญชน ก็เผาเชิงตะกอนไปนั่นแหละ แม้ว่าเมรุปูนจะว่างจากการทำศพ ก็ไม่มีสิทธิ์เข้าไปใช้นะครับ สิ่งนี้คือเรื่องของ “ฐานานุศักดิ์ในงานสถาปัตยกรรม” ที่แบ่งแยกคนออกเป็นชั้นๆ ตามชาติกำเนิด

ที่น่าสนใจคือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ยังได้อธิบายต่อด้วยว่า เมรุปูนเองก็มิได้รับความนิยมเท่าไรนักด้วย เพราะเจ้านายหลายคนไม่ชอบที่จะให้เผาศพร่วมกันเป็นสาธารณะ และบ่อยครั้งจึงมีการทำ “เมรุผ้าขาว” แยกออกมาต่างหากโดยเฉพาะในบริเวณใกล้กัน (หากสนใจเรื่องเมรุปูนตามความเห็นของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ดูเพิ่มในหนังสือ “สาส์นสมเด็จ” ในจดหมายฉบับวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2483)

และนี่คงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เมรุปูนวัดสระเกศถูกยกเลิกไปโดยปรับเปลี่ยนการใช้งานเป็นโรงเรียน

ขอให้สังเกตนะครับ แม้เมรุปูนจะไม่ได้รับความนิยมจากเจ้านายและผู้ดีจนต้องถูกยกเลิกไป แต่รัฐบาลในสมัยนั้นก็ยังไม่ยอมปรับเมรุปูนมาให้ราษฎรสามัญใช้ในการเผาศพนะครับ ก็ยังคงปล่อยให้เผาเชิงตะกอนต่อไปเช่นเดิม

 

นี่คือประเด็นสำคัญที่ทำให้เราไม่สามารถวางเมรุปูนกับเมรุวัดไตรมิตรฯ ไว้ในระนาบของ “ความต่อเนื่อง” ได้เลย

เพราะทั้งสองสิ่งนี้คือ “รอยแยก” ทางประวัติศาสตร์ เพราะเมรุวัดไตรมิตรฯ เป็นการถือกำเนิดใหม่ด้วยแนวคิดและโลกทัศน์สมัยใหม่บนฐานของการที่มองว่าสามัญชนก็สมควรที่จะมีเมรุถาวรของตนเองได้

การเล่นกับคำว่า “เมรุ” ที่มีปรากฏอยู่เหมือนกัน และความพยายามที่จะเบี่ยงเน้นไปที่ความเป็นอาคารถาวรของเมรุทั้ง 2 แห่ง เพื่อพยายามโยงว่าเป็นความสืบเนื่องนั้น คือการกล่าวความจริงเพียงครึ่งเดียว

ความใหม่ของเมรุวัดไตรมิตรที่เป็น “รอยแยก” ทางประวัติศาสตร์นั้น สะท้อนชัดจากคำกล่าวของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ในจดหมายฉบับเดียวกันนั้น ที่ท่านสรุปว่า

“…แต่เตาเผาศพที่วัดไตรมิตร สร้างที่เผาศพบุคคลชั้นสูงกับบุคคลชั้นต่ำร่วมในเมรุเดียวกัน อาจจะเป็นที่รังเกียจของเจ้าภาพศพคนชั้นสูง แต่ข้อสำคัญมีอยู่ 2 อย่าง อย่าง 1 ถ้าเอาเตาแบบญี่ปุ่นห้ามกลิ่นศพมิให้ฟุ้งซ่านได้ อีกอย่าง 1 ถ้าเผาศพได้ด้วยสิ้นเปลืองน้อยลง ก็ต้องนับว่าดี เห็นจะมีผู้สร้างที่อื่นแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น…”

ซึ่งประวัติศาสตร์ 80 ปีตั้งแต่เมรุวัดไตรมิตรฯ ถูกใช้งานครั้งแรก ก็ยืนยันคำทำนายนี้แล้ว เพราะปัจจุบันเมรุถาวรสำหรับสามัญชนได้กลายเป็นสถาปัตยกรรมในชีวิตประจำวันของคนในสังคมไทยไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (น่าเสียดายที่เมรุวัดไตรมิตรฯ ถูกรื้อลงไปเสียแล้ว)

นอกจากนี้ เมรุถาวรสำหรับสามัญชนยังสามารถทำให้ทัศนะที่รังเกียจการเผาศพร่วมเมรุกันระหว่างคนชั้นสูงกับราษฎรสามัญเสื่อมคลายลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

ปัจจุบันทัศนะเหยียดดังกล่าวแทบไม่ปรากฏให้เห็นอีกเลย แน่นอนคงมีหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ก็น้อยลงมากแล้ว

 

คุณูปการนี้เป็นสิ่งที่เมรุปูนไม่เคยทำสำเร็จนะครับ แม้กระทั่งในหมู่เจ้านายกันเองก็ยังไม่ย่อมใช้เมรุร่วมกันเลย ซึ่งเงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เมรุวัดไตรมิตรฯ สามารถทำสำเร็จได้ ผมคิดว่าเราไม่สามารถมองแยกออกจากการปฏิวัติ 2475 ได้

เพราะการปฏิวัติมีหัวใจสำคัญหนึ่งก็คือการยืนยันหลักการเรื่องความเสมอภาคของคน ชาติกำเนิดมิใช่ตัวแบ่งระดับชั้นของคนอีกต่อไป เมื่อโลกทัศน์ดังกล่าวถูกฝังลงในจิตใจของคนไทยมากขึ้น ปัญหาการรังเกียจการใช้เมรุร่วมกัน เพราะฉันเป็นคนชั้นสูง แกเป็นคนชั้นต่ำ ก็พลอยเสื่อมถอยลงไปด้วย

ความนิยมที่แพร่หลายของเมรุถาวรสำหรับสามัญชน ชวนให้เกิดมายาคติไปว่าสิ่งก่อสร้างนี้เป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว ยิ่งเมื่อได้รับฟังประโยคที่มีความจริงเพียงครึ่งเดียวว่า เมรุถาวรมิใช่มีครั้งแรกที่วัดไตรมิตร ก็ยิ่งทำให้มายาคตินั้นงอกงามขึ้น

ประวัติศาสตร์บางเหตุการณ์ เมื่อใช้กรอบแนวคิดต่างกัน อาจมองเห็นได้ทั้ง “ความต่อเนื่อง” และ “รอยแยก”

แต่กรณีเมรุปูนกับเมรุวัดไตรมิตรฯ ภายใต้หลักฐานทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบัน (ถ้าในอนาคตพบหลักฐานใหม่ที่แตกต่างไปก็อาจเปลี่ยนคำอธิบายได้นะครับ) ไม่ว่าจะใช้กรอบแนวคิดอะไรมาจับ ผลลัพธ์ที่ได้ หากไม่อคติจนเกินไป ย่อมไม่อาจมองเป็นอื่นไปได้

นอกจากการมองเห็นว่าเป็นงานสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นบนรากความคิดคนละชุดที่แยกขาดออกจากกันในระดับที่มากเกินกว่าจะมองว่าเป็นสิ่งต่อเนื่องกันทางประวัติศาสตร์