ฝ่ายค้าน-รบ. เดินเครื่องแก้ รธน. แสวงจุดร่วมกาบัตร 2 ใบ ภายใต้คำถาม ปชช.ได้อะไร พปชร.ลดกระแสต้าน-ถอยแก้ ม.114-ม.185/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ฝ่ายค้าน-รบ. เดินเครื่องแก้ รธน.

แสวงจุดร่วมกาบัตร 2 ใบ

ภายใต้คำถาม ปชช.ได้อะไร

พปชร.ลดกระแสต้าน-ถอยแก้ ม.114-ม.185

 

ระหว่างที่โควิดยังระบาดระดับหลัก 3 พันแทบทุกวัน รัฐสภาก็ยังต้องผลักดันกฎหมายสำคัญ และตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านเห็นค่อนข้างตรงกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีปัญหา

แต่พลันคำว่า “ผมได้สั่งการมอบนโยบายไปแล้วว่าจำเป็นต้องเร่งรัดในการดำเนินการหลายๆ กิจกรรมของเราในช่วง 1 ปีที่ยังเหลืออยู่ในรัฐบาลปัจจุบัน และเตรียมพร้อมที่จะทำอะไรที่เกิดผลสำเร็จส่งต่อไปในวันข้างหน้าในรัฐบาลต่อๆ ไป” ที่ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 8 มิถุนายน 2564 ได้ปรับโฟกัสทางการเมืองไปเสียหมด เพราะนับนิ้วดูแล้วรัฐบาลประยุทธ์ก็น่าจะเหลือเวลาอีกตั้ง 2 ปีในการบริหารประเทศ

เล่นมาพูดในห้วงข่าวลือหนาหูว่ารัฐบาลจ้องล้มกระดาน ‘ยุบสภา’ เซ็ตเกมใหม่ หลังรอให้กฎหมายงบประมาณ 2565 ผ่านสภา ก็ทำให้อดคิดเกินเลยไม่ได้

อีกไม่ถึง 1 สัปดาห์ต่อมา เสียงซุบซิบคาดเดาคงหวึ่งๆ เป็นแมลงหวี่แมลงวันทำให้ ‘บิ๊กตู่’ รำคาญ เลยมาประกาศลั่นให้ชัดในที่ประชุม ส.ว. ช่วงถกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ว่า รัฐบาลจะอยู่ครบเทอม ส่วน ‘พี่ป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ขึงขังยันอีกเสียงว่า ‘อยู่ครบ 4 ปี’ แน่นอน

แต่ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันสักนิดว่า จะไม่เกิดการเลือกตั้งใหม่ในเร็วๆ นี้

 

เหล่านักการเมือง พรรคการเมือง ต่างดิ้นพล่าน วางมือจากเป้าใหญ่รื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แก้ไขมาตรา 256 ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เบนเข็มมาเอาตัวรอด หาที่ยืนในสนามการเมืองกันแบบหืดขึ้นคอ

ประจวบกับที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน มือกฎหมาย ผู้พลิกเกมปั่น ได้ชูร่างของพรรคพลังประชารัฐเข้าสู่รัฐสภา โดดเด่นด้วยการแก้ไขระบบเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวเป็นบัตร 2 ใบ ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน หรือโมเดลแบบรัฐธรรมนูญ 2540

ปลุกความฝันพรรคเพื่อไทยที่จะกลับมาเป็นใหญ่อีกครั้ง ‘พี่โทนี่’ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็เห็นดีเห็นงาม รับตรงๆ แบบไม่เหนียมว่า ชอบรัฐธรรมนูญ 2540 ที่สุดตั้งแต่เป็นประเทศไทยมา และเขาก็เป็นผลผลิตของกติกานี้

ขณะที่สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ยังยกงานวิจัยเสริมว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด เพราะตกผลึกจากประชาชน และย้ำว่าไม่ได้ก๊อบปี้ร่างของพรรคพลังประชารัฐ แต่ก่อนหน้านี้ก็คิดมาตลอดว่าอยากจะกลับไปใช้ระบบการเลือกตั้งนี้

ไม่ผิดที่พรรคเพื่อไทยจะฝันคิดจะกลับมาเป็นใหญ่ในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็ต้องพิจารณาถึงบริบทความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม เพราะเวลาก็ผ่านมากว่า 24 ปีแล้ว ความคิดทัศนคติทางการเมืองเปลี่ยนไปเยอะ คนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกรอบนี้ ไม่รู้ว่าจะเลือกพรรคเพื่อไทยหรือไม่

อีกทั้งภายในพรรคก็ขัดแย้งแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ถึงขั้นแยกออกไปตั้งพรรค หนักขนาดถูกกล่าวหาว่าเป็นฟาร์มงูเห่า เพาะพันธุ์ ฟักไข่ยั้วเยี้ย

และลดเพดานแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่แตะหมวด 1 และ 2 จนถูกจิกกัดจากม็อบว่าป๊อดมาแล้ว

 

ตัดภาพมาฝั่งพรรคก้าวไกล ก็ลบคำปรามาสว่า ที่ได้ดีทุกวันนี้ก็เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ชูเรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ระบบสัดส่วนผสม (MMP) แบบเยอรมนี ยึดหลักคะแนนไม่ตกน้ำ และสะท้อนสัดส่วน ส.ส.ของพรรคการเมืองอย่างแท้จริง ไม่มี ‘แลนด์สไลด์’ เทคะแนนให้พรรคใดอ้วนเกินจริง

พร้อมยืนยันว่า จะสร้างระบบการเมืองให้เข้มแข็งต่อไปในอนาคต

และแอบหยิกพรรคเพื่อไทยให้ตื่นจากฝันกลางวันว่า พรรคพลังประชารัฐไม่โง่ที่จะเสนอกติกาที่ตัวเองจะเสียคะแนนให้พรรคเพื่อไทย กลายเป็นดราม่าระหว่างพรรคฝ่ายค้าน ฟาดฝีปากกันไม่มีเด็กไม่มีผู้ใหญ่ ถึงขั้นลั่นตำหนิพรรคก้าวไกล ว่าไร้มารยาท แม้พรรคก้าวไกลจะด้อยประสบการณ์ ไม่เก๋าเหมือนพรรคเพื่อไทย แต่ก็ต้องฟังเด็กมันบ้างเพราะการแบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็น 400 เขต ตีพื้นที่ให้เล็กลง เอื้อต่อกลยุทธ์แบบเก่าที่ชอบใช้กัน

และคิดว่าพรรคพลังประชารัฐจะยิ่งช่ำชองวิธีการนี้

ทั้งนี้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ ยังเสนอแก้ไขมาตรา 144 เปิดทางให้ ส.ส. ส.ว. ล้วงงบประมาณลงพื้นที่ตัวเอง และมาตรา 185 เปิดทางให้แทรกแซงการทำงานของข้าราชการ ยิ่งหนุนเสริมพลังอำนาจให้ฝ่ายรัฐบาลคัมแบ๊กบริหารประเทศ ที่อาจจะมีพรรคพลังประชารัฐผูกขาดอำนาจเบ็ดเสร็จยิ่งขึ้น

ซึ่งก็ปรากฏว่ามีกระแสคัดค้านกว้างขวาง โดยเฉพาะฝ่าย ส.ว.มองว่าจะเปิดช่องการโกงมากขึ้น

ทำให้พรรคพลังประชารัฐกลับลำรับปากว่าจะไม่แก้ทั้ง 2 มาตราแล้ว โดยจะแปรญัตติกลับไปที่เดิม โดยหวังจะลดการต่อต้านลง ซึ่งสะท้อนพรรคการเมืองไม่ได้ยึดหลักอะไรมากนัก นอกจากประโยชน์ของตนเอง เมื่อถูกต้านก็ถอยกรูดๆ

พรรคประชาธิปัตย์นำทีมเสนอร่างแยก คงคอนเซ็ปต์หล่อ แก้รัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน ร่วมกับพรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งมีจุดร่วมคล้ายกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน คือการปิดสวิตช์ ส.ว. ยกเว้นพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ประเมินว่า เสนอไป ส.ว.ก็ไม่เอาด้วย

หากดูฝ่ายค้านแล้วรู้สึกว่า ตื่นตัวร้อนรนมากไปไหม ก็เทียบไม่ได้กับพรรคพลังประชารัฐ แกนนำตั้งรัฐบาล ที่เพิ่งปรับโครงสร้างพรรคไปหมาดๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนตัวแม่บ้าน หรือเลขาธิการพรรค จากนายอนุชา นาคาศัย กลุ่มสามมิตร เป็น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กลุ่ม 4 ช.ที่เคยโชว์ฝีไม้ลายมือชนะเลือกตั้งซ่อมแบบไม่เสียราคาคุย ได้เล่นใหญ่ประกาศว่าจะนำพาพรรคขึ้นเป็นพรรคอันดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาล

เชื่อว่า ร.อ.ธรรมนัสคงมี ‘ของ’ จริงๆ ถึงกล้าอวด ไม่แคร์เพื่อนพรรคร่วมรัฐบาล

 

นาทีวิกฤตนี้ ทำให้เห็นสัญชาตญาณของนักการเมืองว่า แต่ละฝ่ายต่างรักตัวกลัวตาย ไม่อยากสูญพันธุ์จากการเมืองไทย เกาะเก้าอี้กันแน่น ไม่มีแล้วพรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาล ที่จูบปากกันตอนรวมเป็นกลุ่มก้อนจูงมือสานต่ออุดมการณ์ทำงานเพื่อประชาชน เพราะยามใกล้กันดารอาหาร คงไม่มีใครแบ่งเสบียง เฉือนเนื้อเถือหนังให้เพื่อนดูดกิน หากมีหนทางไหนที่จะต่ออายุลมหายใจให้ตัวเองได้ ก็ต้องทำ ฝุ่นหายตลบแล้วค่อยว่ากัน ตอนนี้ก็ดาหน้าออกมายกหางตัวเองกันก่อนว่า ระบบเลือกตั้งที่ฝ่ายตัวเองเสนอนั้นดีที่สุดสำหรับประเทศ

แต่ใครจะเชื่อ เมื่อสนามการเมืองมีอำนาจและผลประโยชน์อยู่ตรงกลาง ที่ทั้งหอมหวานและน่ากิน นักการเมืองรุ่นเก่าส่วนหนึ่งที่นักการเมืองรุ่นใหม่บางคนชี้หน้าด่าว่าหวังแต่ผลประโยชน์นั้น วันแรกที่พวกเขาเข้าสู่เวทีการเมือง ก็คงเคยมีความฝันอยากจะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้เหมือนกัน แต่พอได้ย่างเท้าเข้ามาแล้ว ก็อย่างที่เห็น

“ใครๆ ก็รักตัวเองทั้งนั้น” ไม่มีหรอกระบบเลือกตั้งที่ดีที่สุด มีแต่ดีที่สุดสำหรับใครต่างหาก สุดท้ายจะแก้รัฐธรรมนูญได้ไหม แก้ได้กี่มาตรา หรือจะได้ระบบเลือกตั้งแบบที่ใครเสนอ

ก็ต้องรอตามชมกันในวันที่ 23-24 มิถุนายนนี้ ว่าประชาชนอยู่ส่วนไหนของสมการนี้