100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีน : มังกรพลิกโฉมครั้งใหญ่/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีน

: มังกรพลิกโฉมครั้งใหญ่

 

ผมอาจเป็นคนข่าวที่โชคดีที่ได้ไปเมืองจีนตอนที่เหมาเจ๋อตุงยังมีชีวิตอยู่

อีกทั้งยังได้เห็นนายกฯ โจวเอินไหลลงนามในข้อตกลงเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

และได้พบตัวเป็นๆ กับฟังเติ้งเสี่ยวผิงต้อนรับนายกรัฐมนตรี พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ณ มหาศาลาประชาชนกลางกรุงปักกิ่ง

จวบจนวันนี้ได้ติดตามข่าวสีจิ้นผิงนำประเทศจีนเข้าสู่ยุค

“สังคมนิยมการตลาดที่มีอัตลักษณ์แบบจีน”

 

วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ผมก็จะได้ติดตามข่าวคราวพรรคคอมมิวนิสต์จีนฉลองครบรอบ 100 ปีอย่างเอิกเกริกและเกรียงไกรขณะที่ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับการเติบใหญ่ของตนเอง

แต่วันนี้ถ้าประธานเหมาลุกขึ้นจากหลุมฝังศพ เห็นจีนยุคของสีจิ้นผิงเช่นนี้จะ “ช็อกตาย” อย่างที่นักวิเคราะห์บางคนเคยตั้งคำถามหรือไม่

วันนี้พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังเหลือเค้าเดิมอะไรบ้าง

คำตอบคือทุกอย่างเปลี่ยน ยกเว้นอย่างเดียวคือ

โครงสร้างอำนาจของพรรคคคอมมิวนิสต์ในการดำรงไว้ซึ่งอำนาจการบริหารประเทศภายใต้กฎเหล็กของพรรค

ผมคุยกับอาจารย์อาร์ม ตั้งนิรันดร แห่งคณะนิติศาสตร์ของจุฬาฯ เรื่องนี้ มีคำอธิบายที่น่าสนใจว่า

ช่วงประธานเหมาเป็นช่วงที่จีน ‘ยืนขึ้น’ คือเลิกล้มลุกคลุกคลาน เลิกแตกแยก ดังที่ประธานเหมาประกาศก้องในวันก่อตั้งประเทศที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

พอมาถึงยุคเติ้งเสี่ยวผิง แมวไม่ว่าสีอะไรไม่สำคัญ ขอให้จับหนูได้เป็นพอ…เป็นช่วงที่จีน ‘รวยขึ้น’

นั่นหมายถึงการให้คนจีนอยู่ดีกินดี เลิกอดอยาก

ตามมาด้วยยุคสีจิ้นผิง เป็นยุคที่จีน ‘แข็งแกร่งขึ้น’ คือก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจได้อย่างสมภาคภูมิ

มีคำถามว่านี่เป็น “ยุคสีจิ้นผิง” ที่เอาตัวเองเปรียบกับเหมาและเติ้งแล้วใช่หรือไม่

 

ยุคของประธานเหมา มี “แนวคิดของเหมา” ออกมาในรูปหนังสือปกแดงเล่มเล็กที่เรียกว่า The Little Red Book ที่เผยแพร่หลักการของ “ท่านประธาน” ที่ต้องการให้คนทั้งประเทศเดินตาม

วันนี้มี “แนวคิดของสีจิ้นผิง” ที่ตอกย้ำถึง “สังคมนิยมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะแบบจีนสำหรับศักราชใหม่”

เป็นวลีที่ถูกนำไปเผยแพร่ผ่านสื่อของทางการจีนอย่างคึกคักและต่อเนื่อง

ถึงขั้นที่ชื่อของสีจิ้นผิงถูกบันทึกลงในธรรมนูญของพรรคแล้ว

หาก 30 ปีแรกของการปฏิวัติพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นยุคของเหมาเจ๋อตุง ตามมาด้วยยุคเติ้งเสี่ยวผิง วันนี้ก็เป็นยุคของสีจิ้นผิง

“แนวคิดสีจิ้นผิง” มีหลักการเน้นย้ำถึงอุดมคติของพรรคคอมมิวนิสต์และผสมผสานหัวข้อหลัก เช่น

– “การปฏิรูปอย่างลึกซึ้งและสมบูรณ์” และ “แนวความคิดใหม่ๆ เพื่อการพัฒนา”

– ทำให้ “มนุษย์และธรรมชาติดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน”

– ตอกย้ำว่า “อำนาจที่แท้จริงของพรรคคอมมิวนิสต์ที่อยู่เหนือกองทัพประชาชน”

– ไม่ลืมหลักการที่สำคัญของ “‘หนึ่งประเทศสองระบบ’ และการรวมชาติกับแผ่นดินแม่”

สีจิ้นผิงขึ้นครองอำนาจในปี 2012 ด้วยวิธีการหลากหลายในการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ตำแหน่งของตัวเองในพรรคและในสังคมจีนอย่างต่อเนื่อง

และหลายคนบอกว่าด้วยความชาญฉลาด

จนเกิดข้อกล่าวหาจากบางฝ่ายว่าเขากำลังสร้าง “ลัทธิบูชาบุคคล” ที่เดินตามแบบของเหมาเจ๋อตุง

ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ปราบปรามการทุจริตอย่างกว้างขวางและหนักหน่วง

มีการจับและตั้งข้อหาเจ้าหน้าที่ระดับสูงอย่างไม่ไว้หน้าแม้ในระดับสูงของพรรค

ถูกมองว่าเขาต้องการจะกำจัดศัตรูทางการเมืองโดยอาศัยแนวทางการปราบคอร์รัปชั่น

แต่เขาออกมายืนยันว่าไม่มี “การแก่งแย่งอำนาจ” ในพรรคแต่อย่างใด

 

ร้อยปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย

ด้านลบมีมาก ด้านบวกก็มีไม่น้อย

ที่แน่ๆ คือพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดอย่างน่าทึ่ง

อีกทั้งยังเรียนรู้จากความผิดพลาดของตนและแก้ไขก่อนที่จะกลายเป็นจุดอ่อนของตน

สังเกตได้ว่าเมื่อถูกวิพากษ์ในส่วนใด, พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะแก้ต่างด้วยการออกมารณรงค์แก้ปัญหานั้น

แน่นอนเป้าหมายคือเพื่อรักษาความนิยมและอำนาจของตนเองให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้

ที่น่าสังเกตคือการปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงของโลกทางด้านเทคโนโลยี

บางคนเรียกว่าเป็นคอมมิวนิสต์ไฮเทค

คนละเรื่องคนละราวกับความเป็น “พรรคชาวนา” ของประธานเหมาในยุคป่าล้อมเมือง

ยุคที่ประธานเหมาประกาศว่า “อำนาจของรัฐอยู่ที่ปากกระบอกปืน”

 

ดร.อาร์มตั้งข้อสังเกตว่าวันนี้จีนใช้เทคโนโลยี 5.0 ในการรักษาอำนาจ และสร้างประสิทธิภาพในการตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน

จอร์จ โซรอส พ่อมดการเงินโลก และผู้ก่อตั้ง Open Society Foundation ซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน พูดไว้ในงาน World Economic Forum ว่า

พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดของโลกเสรีนิยม เพราะเป็นการปกครองเผด็จการด้วยเทคโนโลยีไฮเทค จึงไม่พังง่ายๆ

อีกด้านหนึ่งผู้นำจีนก็ใช้เทคโนโลยีในการการรักษาอำนาจและความนิยม

จีนอาจจะไม่มีการเลือกตั้งแบบเดียวกับโลกตะวันตก

แต่พรรคก็เกาะติดกระแสสังคมและความรู้สึกของประชาชนด้วยการติดตามโซเชียลมีเดียอย่างใกล้ชิด

ไม่ใช่แค่ติดตามความเห็นของประชาชนในโซเชียลมีเดียเท่านั้น แต่ยังออกมาตรการควบคุมกระแสสังคมด้วย “กำแพงเมืองจีนด้านไซเบอร์”

อีกทั้งยังมี “กองทัพไซเบอร์” ที่คอยสอดส่องและเซ็นเซอร์เนื้อหาในโซเชียลมีเดียอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาอีกด้วย

ผู้นำจีนยังใช้ประโยชน์จาก Big Data ในด้านต่างๆ ตลอดจนการพัฒนา “ระบบคะแนนจิตพิสัยสังคม” หรือ “social credit” เพื่อควบคุมความประพฤติของพลเมือง ให้อยู่ในกรอบของพรรคในทุกมิติอีกด้วย

 

วันครบ 100 ปีของพรรควันที่ 1 กรกฎาคมนี้ นักวิเคราะห์จับตาดูว่าสีจิ้นผิงก้าวจะเข้าสู่วาระที่ 3 ของการดำรงตำแหน่งเบอร์ 1 ของพรรคหรือไม่อย่างไร

หากเขาดำรงตำแหน่งต่อก็เท่ากับเป็นการฉีกกติกาในรอบ 40 ปี

เพราะที่ผ่านมาผู้นำจีนจะดำรงตำแหน่งไม่เกินสองวาระ หรือ 10 ปีเท่านั้น

รัฐธรรมนูญได้ถูกแก้ไขเปิดทางให้อยู่แล้ว

จึงต้องจับตาช่วงปลายปีหน้าที่จะมีการประชุมใหญ่ของพรรคเพื่อกำหนดทีมผู้นำรุ่นใหม่

แต่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือเบอร์ 2 ของพรรคจะต้องเปลี่ยนตัวเพราะรัฐธรรมนูญยังจำกัดผู้ดำรงตำแหน่งนี้ที่สองวาระหรือ 10 ปี

ใครจะมาแทนนายกฯ หลี่เค่อเฉียง คือการจับสัญญาณที่สำคัญจากนี้ไป

ในยุคที่จีนกำลังผงาดจนสหรัฐภายใต้โจ ไบเดน ต้องประกาศเป็น “คู่แข่งที่ต้องสกัดกั้น” นั้น สีจิ้นผิงคือผู้ที่ต้องกำหนดทิศทางพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปีที่ 101 อีกครั้งหนึ่ง

จีนหลังโควิดจะพลิกโฉมใหม่อีกครั้งหนึ่งแน่นอน…โจ ไบเดน ตระหนักข้อนี้ดี

จึงไประดมสมัครพรรคพวกที่ G-7 และ NATO กับ Quad มาตั้งป้อมต้านจีนกันอย่างสุดฤทธิ์อย่างที่เห็นกันวันนี้