วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์/จริยธรรมและภารกิจนักข่าว

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

จริยธรรมและภารกิจนักข่าว

ชีวิตคนที่มีอาชีพทำหนังสือพิมพ์ ตำแหน่งหน้าที่และภารกิจที่สำคัญคือการเป็น “นักข่าว” หรือที่เรียกเป็นทางการว่า “ผู้สื่อข่าว” เพราะหนังสือพิมพ์ ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 คือ สิ่งพิมพ์ข่าวและความคิดเห็นเป็นต้นเสนอต่อประชาชน ตามปรกติออกเป็นรายวัน ตามกฎหมายกำหนดว่า สิ่งพิมพ์ที่มีชื่อจ่าหน้าเช่นเดียวกัน และออกหรือเจตนาจะออกตามลำดับเรื่อยไป มีกำหนดระยะเวลาหรือไม่ก็ตาม มีข้อความต่อเนื่องกันหรือไม่ก็ตาม

พจนานุกรมฉบับมติชน พ.ศ.2547 ให้ความหมายว่า สื่อสิ่งพิมพ์ที่เผยแพร่ข่าว ความคิดเห็น และเรื่องราวที่เกิดขึ้น เป็นต้น โดยมีกำหนดออกที่แน่นอน ซึ่งโดยทั่วไปจะออกเป็นรายวัน

ดังนั้น ตำแหน่งหรือหน้าที่การงานของคนทำหนังสือพิมพ์คือการทำข่าว การหาข่าว มาลงตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์เป็นหลัก เพราะหนังสือพิมพ์เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่เผยแพร่ข่าว และเรื่องราวที่เกิดขึ้น

ขรรค์ชัย บุนปาน เคยบอกกับเพื่อนนักข่าวรุ่นหลังเสมอว่า ทำหนังสือพิมพ์ต้องทำข่าว แม้แต่ตัวเองยังเป็นนักข่าวไม่เคยหยุด ตั้งแต่ทำหนังสือพิมพ์มา ไม่ว่าจะพูดคุยกับใคร โดยเฉพาะผู้มีหน้าที่การงานสำคัญ ขรรค์ชัยจะสนทนาหรือชวนผู้นั้นพูดคุยถึง “ข่าว” และความเป็นไปของข่าวตลอดเวลา

เช่นครั้งหนึ่ง เคยข้ามไปทำข่าวที่เวียงจันทน์ ขณะนั้นมีกรณีลาวจับกุมคนไทยในเวียงจันทน์ ขรรค์ชัยกับเพื่อนนักข่าวบางคน เมื่อมีโอกาสเห็นหนังสือรายชื่อคนไทยเหล่านั้น ยังร่วมกับเพื่อนนักข่าวนำหนังสือรายชื่อคนไทยออกมาจากสำนักงานนั้นด้วยวิธีการไม่ได้ขอ แต่หยิบมาเฉยๆ เพื่อนำรายชื่อนั้นมาเปิดเผยเป็นข่าว

นักข่าวต้องสอดส่ายสายตาหาประเด็นข่าวดุจนก และมีจมูกคอยดมกลิ่นข่าวดุจมด เพียงเห็นบุคคลสำคัญพูดคุยกันในลักษณะซุบซิบ ต้องสังเกตไว้ก่อนว่าบุคคลสองคนนั้นกำลังพูดคุยความลับหรือประเด็นสำคัญ

หากเป็นไปได้ นักข่าวต้องแกล้งเร่หรือเตร่เข้าไปใกล้สองคนนั้น และเงี่ยหูฟังว่าเขาพูดจาเรื่องอะไรกัน หรือเห็นเอกสารสำคัญบนโต๊ะ เห็นเรื่องในแฟ้มเสนองาน หากไม่มีใครอยู่ตรงที่วางแฟ้มนั้น อาจจะชำเลืองดูเรื่องที่จะนำเสนอในแฟ้ม หรืออาจถือวิสาสะเปิดอ่านโดยเร็ว

กรณีเช่นนี้ หากเป็นบุคคลทั่วไป การทำทีเข้าไปใกล้คนสองคนที่คุยในแบบซุบซิบ เป็นการเสียมารยาท ซึ่งแม้เป็นนักข่าวไม่อาจพ้นข้อกล่าวหานั้น หากทั้งสองคนนั้นรู้ตัว นักข่าวต้องดึงตัวเองออกมา

ยุวดี ธัญญศิริ

การกระทำของนักข่าวหลายลักษณะ คือการกระทำของผู้ที่เรียกว่า “สเสือใส่เกือก” หรือพวก “ส.ก.” คงไม่ต้องบอกความหมาย แต่สำหรับนักข่าว การกระทำเช่นนั้นถือเป็นหน้าที่ทีเดียว แต่ต้องเป็นการกระทำดังที่ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนไว้ใน “ตอบปัญหาประจำวัน หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ประจำวันที่ 24 เมษายน 2500” (ลงพิมพ์ในหนังสือวันนักข่าว 5 มีนาคม 2551) ว่า

“วิญญาณของนักหนังสือพิมพ์ คือสัจธรรมและสาธารณประโยชน์ สิ่งใดที่ไม่มีสัจธรรม และไม่มุ่งหวังสาธารณประโยชน์ สิ่งนั้นก็ไม่มีวิญญาณของหนังสือพิมพ์”

ดังนั้น การกระทำของนักข่าวย่อมมุ่งหวังสาธารณประโยชน์ด้วยการเสาะหาข่าวและเรื่องราวที่จะเป็นประโยชน์มานำเสนอประชาชน ไม่ว่าข่าวหรือเรื่องราวนั้นจะได้มาอย่างไร

ขณะเดียวกัน หากการได้มาของข่าวแม้ด้วยตัวเอง หากนักข่าวนำข่าวนั้นไป “ขาย” หรือสร้างประโยชน์ให้กับตัวเอง ย่อมมีความผิดทางจริยธรรม ซึ่งมีมานานแล้ว ขณะที่มีการเรียกร้องให้หนังสือพิมพ์ประพฤติปฏิบัติตนในการนำเสนอข่าวอย่างมีจริยธรรม

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 นักหนังสือพิมพ์ประกอบด้วย เจ้าของ ผู้ประกอบการ บรรณาธิการ และผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์พร้อมใจกันสถาปนาสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ให้เป็นอิสระทำหน้าที่ควบคุมกันเอง เพื่อส่งเสริมเสรีภาพ ความรับผิดชอบ สถานภาพผู้ประกอบการวิชาชีพและกิจการหนังสือพิมพ์ ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนสิทธิการใช้สื่อหนังสือพิมพ์เพื่อการรับรู้ข่าวสาร และการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยส่งเสริมให้หนังสือพิมพ์ทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่ประชาชน รวมทั้งยึดถือความยุติธรรมและความเที่ยงธรรมเป็นหลักในการประกอบวิชาชีพ

อาศัยความตามข้อ 5(1) และข้อ 14(4) แห่งธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ.2540 คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติมีมติเห็นชอบให้ตราข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ (ประกาศ ณ วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2541) ไว้ดังนี้

หมวด 2 จริยธรรมของหนังสือพิมพ์ ข้อ 5 หนังสือพิมพ์ต้องนำเสนอข่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยไม่แสวงหาประโยชน์ส่วนตัวหรือหมู่คณะ

หมวด 3 จริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ข้อ 21 ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ต้องไม่อวดอ้างหรืออาศัยตำแหน่งหน้าที่เพื่อเรียกร้องสิทธิหรือผลประโยชน์ใดๆ โดยไม่ชอบธรรม

ข้อ 22 ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ต้องละเว้นการรับอามิสสินจ้างอันมีค่า หรือผลประโยชน์ใดๆ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการใดอันขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องรอบด้าน

นั้นย่อมหมายถึงว่า ข่าวทุกข่าวต้องได้มาด้วยหวังในสาธารณประโยชน์เพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อตัวเองหรือนำข้อมูลนั้นไปให้บุคคลอื่นเพื่อหวังประโยชน์ใดประโยชน์หนึ่ง

ภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่งของนักข่าว ดังที่ สุภาภรณ์ กาญจน์วีระโยธิน บันทึกไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นางยุวดี ธัญญศิริ (นักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลที่เพิ่งเสียชีวิต) ตอนหนึ่งว่า

คนที่ติดตามดูข่าวโทรทัศน์ภาคค่ำเป็นประจำอาจคุ้นเคยกับเสียงของพี่ยุวดีในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ดูเหมือนว่าเธอเป็นนักข่าวคนเดียวที่ถามคำถามหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ทำไมเป็นเช่นนั้น?

“ก็ไม่รู้เหมือนกัน” เธอว่า “นักข่าวต้องทำการบ้าน เพื่อจะได้คอยหาประเด็นใหม่ๆ พร้อมทั้งจับทิศทางให้ได้ว่า ลมกำลังจะพัดไปทางไหน…ก็เป็นไปได้ว่า คำถามที่นักข่าวคนอื่นๆ เขาตั้งใจจะถามอยู่แล้ว ในเมื่อพี่ถามไปแล้วก็ไม่จำเป็นต้องถามซ้ำอีกล่ะ? พี่ไม่ได้ต้องการที่จะขโมยซีน แต่หน้าที่พี่คือต้องถามคำถาม”

“ด้วยความอาวุโสของพี่เขา กับความมีจรรยาบรรณ ทำให้พี่ยุสามารถทำหน้าที่ช่วยตรวจสอบพฤติกรรมมิชอบของนักการเมือง พี่เขาทำหน้าที่นี้ได้ที่ทำเนียบฯ…”

ยุวดี ธัญญศิริ เป็นนักข่าวทำเนียบฯ ผ่านรัฐบาล 14 ชุด นายกรัฐมนตรี 12 คน ได้รางวัล “สื่อมวลชนผู้หญิงดีเด่น” จากคณะกรรมการกิจการสตรีแห่งชาติ