ล้านนา-คำเมือง : นางจามเทวี

นางจามเทวี

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “นางจ๋ามะเตวี”

หมายถึงพระนางจามเทวี

พระนางจามเทวี เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ล้านนา เป็นต้นราชวงศ์จามเทวีที่ครองนครลำพูน และเป็นธิดาแห่งกษัตริย์ละโว้

ตามตำนานจามเทวีวงศ์ อันเป็นพงศาวดารนครหริภุญชัย กล่าวไว้ว่า พระนางจามเทวี เป็นปฐมกษัตรีย์แห่งนครหริภุญชัย (รากศัพท์ภาษาบาลี หริ แปลว่า ทอง หริปุญชัย จึงมีความหมายเป็นมงคลว่า บนกองทอง) โดยเมื่อครั้งวาสุเทพฤๅษีและสุกกทันตฤๅษี ได้ร่วมกันสร้างเมืองนครหริภุญชัยแห่งนี้ขึ้น ได้วางสัณฐานเมืองเป็นรูปคล้ายหอยสังข์ ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำปิงและแม่น้ำกวง เพื่ออาศัยการสัญจรทางน้ำเข้าออกเมืองได้โดยสะดวก

หลังจากนั้น จึงได้อัญเชิญพระนางจามเทวีผู้ตั้งอยู่ในเบญจศีล ธิดาพระยาจักกวัติแห่งเมืองละโว้มาปกครองเมืองนี้

พระนางจามเทวีจัดขบวนเดินทางมาอย่างมโหฬารอลังการ เสด็จขึ้นมาถึงเมืองหริภุญชัยทางเรือ ทาง “ลำน้ำปิง” พร้อมกับคณะสงฆ์ 500 รูป และบริวารคือบรรดาช่างต่างความสามารถอีก 14 จำพวก จำพวกละ 500 คน เมื่อประมาณปี พ.ศ.1310

ตำนานกล่าวว่า ในพิธีราชาภิเษกนั้น วาสุเทพฤๅษีและสุกกทันตฤๅษีพร้อมชาวเมืองอัญเชิญพระนางจามเทวีประทับนั่งเหนือแผ่นทอง ซึ่งการนี้เป็นไปตามความหมายของชื่อเมือง

พระนางปกครองให้ชาวหริภุญชัยอยู่รวมกันเป็นหมู่เหล่า เน้นการทำนุบำรุงพระศาสนา สร้างวัดวาอาราม และพระพุทธรูปจำนวนมาก วัดสำคัญที่ทรงสร้างเพื่อใช้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า คือวัดพระธาตุหริภุญชัย ซึ่งถือเป็นวัดสำคัญประจำจังหวัดลำพูนในปัจจุบัน ด้วยการบำเพ็ญกุศลเรื่อยมา พระนางจามเทวีจึงได้ช้างพลายมงคลมาสู่บุญสมภาร มีชื่อว่า ปู๊ก่ำงาเขียว

ในช่วงเวลาที่พระนางจามเทวีครองเมืองอยู่นั้น มี “ขุนหลวงวิลังคะ” กษัตริย์แห่งชาวลัวะซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เดิม ได้ทราบถึงความงดงามของพระนางจามเทวีและได้ลอบเข้าไปชมโฉม จึงเกิดความหลงรัก หมายใจจะให้เป็นราชเทวี จึงได้ให้บริวารนำเครื่องบรรณาการ 500 สาแหรกไปถวาย

แต่พระนางจามเทวีมิได้ปลงใจ

พระนางจามเทวี มีโอรสฝาแฝด ซึ่งประสูติหลังจากครองเมืองหริภุญชัยได้ประมาณ 7 วัน พระนามว่า เจ้ามหันตยศ ซึ่งทรงอภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ เมื่อมีพระชนมายุเพียง 7 พรรษา ปกครองนครหริภุญชัย สืบต่อจากพระนางจามเทวี

ดังนั้น เจ้าอนันตยศ (หรือเจ้าอินทวร) แฝดผู้น้องได้ทูลขอพระมารดาว่า อยากจะปกครองเมืองเช่นเดียวกัน พระนางจามเทวีจึงให้สุพรหมฤๅษีและพรานเขลางค์ไปช่วยกันสร้างเมืองอีกเมืองหนึ่งขึ้น จากนั้นก็ถวายการราชาภิเษก พระเจ้าอนันตยศเสวยราชสมบัติในนครแห่งใหม่ ตั้งชื่อเมืองว่า นครเขลางค์ ตามชื่อพรานเขลางค์ ซึ่งได้แก่จังหวัดลำปางในปัจจุบัน

หลังจากพระนางจามเทวีเสด็จสวรรคต พระเจ้ามหันตยศได้โปรดให้จัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพแล้ว และเชิญพระอัฐิไปบรรจุไว้ในสุวรรณจังโกฏิเจดีย์ ปัจจุบันเรียกเป็นคำสามัญว่า เจดีย์กู่กุด ตั้งอยู่ภายในวัดจามเทวี อำเภอเมืองจังหวัดลำพูน

ในบรรดาบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับพระนางจามเทวี เช่น หนังสือ จามเทวีวงศ์ พงศาวดารเมืองหริภุญชัย หนังสือตำนานมูลศาสนาและหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์หรือชินกาลมาลีนี เป็นต้น ล้วนกล่าวถึงบทบาทของพระนางว่าเป็นกษัตริย์นักปกครอง มีบทบาทในฐานะผู้มีความกตัญญูต่อบุพการี รวมทั้งการคบหากัลยาณมิตร

ทุกตำนานล้วนบันทึกว่า แม้นพระนางจะเป็นสตรี แต่เป็นผู้มีความสามารถ สมควรได้รับการยกย่องและเป็นที่กล่าวขานมาตราบจนถึงปัจจุบัน

ว่าเป็นผู้นำมาซึ่ง “อรุณรุ่งแห่งอารยธรรมล้านนา”