การศึกษา/ศธ.ตะลุยฉีดวัคซีน ‘แม่พิมพ์’ สร้างภูมิสู้โควิด-19 รับเปิดเทอม!!

การศึกษา

ศธ.ตะลุยฉีดวัคซีน ‘แม่พิมพ์’

สร้างภูมิสู้โควิด-19 รับเปิดเทอม!!

 

เปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 อย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ในประเทศยังไม่นิ่ง เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงไม่หยุด

แต่การศึกษาของประเทศ ไม่สามารถเลื่อนต่อไปได้แล้ว

โดย ศธ.ได้กำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดไว้ 5 รูปแบบ ดังนี้

On-site การจัดการเรียนการสอนแบบปกติที่โรงเรียนกับครู เน้นการสอนแบบปฏิสัมพันธ์

On-air การจัดการเรียนการสอนผ่านระบบโทรทัศน์

On-demand การจัดการเรียนการสอนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

Online การจัดการเรียนการสอบแบบถ่ายทอดสด

และ On-hand การจัดการเรียนการสอนด้วยการนำส่งเอกสารที่บ้าน

ซึ่งสถานศึกษาสามารถออกแบบรูปแบบการสอนให้เป็นไปตามบริบทของพื้นที่ โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนและครูเป็นหลัก

 

ทั้งนี้ ศธ.ได้กำหนดให้สถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข็มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี “ห้าม” จัดการเรียนการสอนในรูปแบบ On-Site แต่ให้เลือกจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมได้ 4 รูปแบบ คือ On-air, On-demand, Online และ On-hand

ส่วนสถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือสีแดง อีก 17 จังหวัด ถ้าจะจัดการเรียนการสอนในพื้นที่ ต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อน

ขณะที่สถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมอีก 56 จังหวัด สามารถเปิดการเรียนการสอนในระบบ On-Site ได้ แต่ต้องผ่านระบบประเมินของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งขณะนี้มีโรงเรียนประเมินแล้วกว่า 28,000 แห่ง โดย 99.1% ผ่านการประเมิน เรียกได้ว่าผ่านการประเมินแทบทั้งหมด หากสถานศึกษาใดยังไม่ผ่านการประเมิน กรมอนามัยจะเข้าไปช่วยเหลือต่อเอง

ในประเด็นนี้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ย้ำว่า อยากให้สังคมเข้าใจตรงกันว่า การเปิดเทอมไม่ได้มีเพียงการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาเท่านั้น แต่สถานศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนในรูปแบบอื่นๆ ได้ตามความเหมาะสม ซึ่งจะถือเป็นการนับชั่วโมงการเรียนการสอนด้วย ทั้งนี้ สถานศึกษาสามารถผสมผสานรูปแบบการเรียนการสอนมากกว่า 1 รูปแบบได้

“เขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา ต้องตัดสินใจให้เหมาะสมกับแต่ละบริบทของแต่ละพื้นที่ เพราะความเสี่ยงในการแพร่ระบาดไม่ได้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ หากพื้นที่ไหนจัดการเรียนการสอนตามปกติได้ ก็ไม่ควรจำกัดสิทธิ หรือลดโอกาสในการเรียนรู้ของเด็ก แต่ถ้าพื้นที่ใดมีความเสี่ยง หากต้องจัดการเรียนการสอนขึ้น จะต้องเลือกรูปแบบที่ปลอดภัยให้ทั้งผู้เรียน และผู้สอนอย่างสูงสุด”

น.ส.ตรีนุชระบุ

 

นอกจากนี้ ศธ.ยังร่วมกับกรมอนามัย เตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียน และแผนเผชิญเหตุกรณีป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ในสถานศึกษา

โดยสถานศึกษาต้องดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครอง โดยสถานศึกษาเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเทอม 6 มิติ ประกอบด้วย ความปลอดภัยจากการลดการแพร่เชื้อโรค, การเรียนรู้, การครอบคลุมถึงเด็กด้อยโอกาส, สวัสดิภาพและการคุ้มครอง, นโยบาย และการบริหารการเงิน

ซึ่งสถานศึกษาต้องได้รับการประเมินก่อนเปิดเทอม ให้ผ่านทั้งหมด 44 ข้อ ใน Thai Stop COVID

ส่วนครู นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน และประชาชนทุกคน ต้องประเมินความเสี่ยงใน Thai Save Thai ของตนเองก่อนออกจากบ้านทุกวัน

ทั้งนี้ ต้องมี 6 มาตรการหลัก หรือ DMHT-RC คือ อยู่ห่าง สวมแมสก์ หมั่นล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิ ลดแออัด ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสร่วม และ 6 มาตรการเสริม หรือ SSET-CQ ดูแลตนเอง ใช้ช้อนส่วนตัว กินอาหารปรุงสุกใหม่ ใช้แอพพ์ไทยชนะ คัดกรองทุกคน กักตัวเองเมื่อไปพื้นที่เสี่ยง เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 ในสถานศึกษา

จากข้อมูลที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้สำรวจ พบโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) จำนวน 183 เขต เปิดเรียนวันที่ 1 มิถุนายน จำนวน 11,625 แห่ง เปิดเรียนวันที่ 14 มิถุนายน จำนวน 14,661 แห่ง เปิดเรียนวันอื่นๆ 313 แห่ง

โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) จำนวน 62 เขต เปิดภาคเรียนวันที่ 1 มิถุนายน จำนวน 1,293 แห่ง เปิดเรียนวันที่ 14 มิถุนายน จำนวน 1,005 แห่ง เปิดเรียนวันอื่นๆ 61 แห่ง

โรงเรียนในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) เปิดเรียนวันที่ 1 มิถุนายน จำนวน 30 แห่ง เปิดเรียนวันที่ 14 มิถุนายน จำนวน 70 แห่ง

 

แต่ปัญหาที่ ศธ.เผชิญ และยังแก้ไขไม่ได้คือ การ “ฉีดวัคซีน” ให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งรัฐและเอกชน แม้ น.ส.ตรีนุชผลักดันให้ครูได้รับการฉีดวัคซีนเป็นลำดับแรกๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง

เพราะหากครูได้รับการฉีดวัคซีนมากเท่าไหร่ ก็จะทำให้เด็กเข้ามาเรียนในโรงเรียนได้เร็วมากเท่านั้น

ซึ่ง ศธ.ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ครูจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนก่อนเปิดภาคเรียนวันที่ 14 มิถุนายนนี้ ให้ได้มากที่สุด

โดยนายสุภัทร จำปางทอง ปลัด ศธ.ได้ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด และสาธารณสุขจังหวัด หากได้รับการจัดสรรวัคซีนแล้ว ขอให้พิจารณาฉีดวัคซีนให้ครูเป็นกลุ่มแรกๆ

แต่ในทางปฏิบัติ ดูจะยากเย็นเสียเหลือเกิน เพราะติดขัดปัญหาในการจัดสรรวัคซีน เนื่องจากรัฐบาลได้รับวัคซีนไม่ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้

อีกทั้งยังไม่มีแผนกระจายวัคซีนที่ดีพอ ทำให้การกระจายวัคซีนไปทั่วประเทศเป็นไปด้วยความสับสน และบางจังหวัดได้รับวัคซีนน้อยกว่าที่ขอไว้ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะพิจารณาการจัดฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงก่อน จึงอาจจะทำให้ครูได้รับการฉีดวัคซีนน้อยตามไปด้วย

เพราะแม้กระทั่งผู้ที่ลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนล่วงหน้าผ่านช่องทางต่างๆ ยังถูกเลื่อนการฉีดออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า

เช่นเดียวกับครู แม้ ศธ.จะตั้งเป้าให้ครูได้รับการฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มแรกๆ แต่จากข้อมูล ณ วันที่ 13 มิถุนายน พบว่ามีครูได้รับการฉีดวัคซีนทั่วประเทศแล้วประมาณ 100,000 คน จากครูทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีกว่า 600,000 คน

ทั้งนี้ มีตัวเลขครูที่อยู่ในกรุงเทพฯ ศธ.ได้ปูพรมฉีดวัคซีนผ่านศูนย์ให้บริการที่สถานีกลางบางซื่อ ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน จนถึงวันที่ 13 มิถุนายน เพียง 34,000 คน เท่านั้น

ซึ่งไม่ถึง 50% แต่ ศธ.จำเป็นต้องเปิดเทอมแล้ว…

 

เมื่อจำนวนครูที่ได้รับการฉีดวัคซีนยังน้อยอยู่ ศธ.ภายใต้การนำของ น.ส.ตรีนุช ได้พยายามผลักดันให้ครูได้รับวัคซีนให้เร็วที่สุด เพื่อสร้างสร้างขวัญกำลังใจให้ครู และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักเรียนและผู้ปกครองได้อย่างไร

ยังไม่รวมบุคลากรในโรงเรียนที่จะต้องใกล้ชิดกับนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นแม่ครัว แม่บ้าน ภารโรง เจ้าหน้าที่ธุรการ เป็นต้น

ที่สำคัญ คือนักเรียนทั่วประเทศที่มีจำนวนหลายล้านคน ศธ.จะเข้าไปผลักดันให้ได้รับวัคซีนโดยเร็วได้อย่างไร??

นับเป็นอีกหนึ่งงานที่ท้าทายฝีมือผู้บริหาร ศธ.ภายใต้การนำของ “ครูเหน่ง” น.ส.ตรีนุชอย่างมาก

ต้องจับตาดูต่อไปว่า มาตรการการทำงานของ ศธ.ในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นแผนรับมือเปิดเทอม หรือแผนการฉีดวัคซีนครู…

จะเรียกความมั่นใจจากสังคม ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ได้มากน้อยแค่ไหน!!

 

ภาพเปิดเทอม