ยานยนต์ สุดสัปดาห์/จาก “ญี่ปุ่น” ถึง “เซี่ยงไฮ้” ตามรอยวิถีฮอนด้า “2030”

สันติ จิรพรพนิต

ยานยนต์ สุดสัปดาห์/สันติ จิรพรพนิต [email protected]

จาก “ญี่ปุ่น” ถึง “เซี่ยงไฮ้” ตามรอยวิถีฮอนด้า “2030” (จบ)

มาถึงตอนสุดท้ายของทริปเยือน 2 ประเทศญี่ปุ่นและจีน กับ “ฮอนด้า”

หลังจากทดสอบรถยนต์ทั้งระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ และรถรุ่นใหม่ๆ ของฮอนด้า ในงาน “ฮอนด้า มีตติ้ง 2017” ที่ฮอนด้า อาร์ แอนด์ ดี หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาของฮอนด้า ที่เมืองโตชิกิ ประเทศญี่ปุ่น

ก็เดินทางมาที่สนามบินนาริตะ กรุงโตเกียว เพื่อต่อเครื่องไปยังนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน โดยสายการบินไชน่าแอร์ไลน์ เป็นเครื่องลำเล็กมีเบาะนั่งแค่ซ้าย-ขวา อึดอัดกว่าเครื่องการบินไทยพอสมควร

แต่ด้วยเวลาเดินทางราวๆ 3 ชั่วโมง จึงไม่กระไรนัก

การเดินทางมาเซี่ยงไฮ้ เพื่อร่วมงาน “ซีอีเอส เอเชีย 2017” (CES Asia – Consumer Electronics Show Asia 2017) งานแสดงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภค มีทั้งสินค้าที่วางจำหน่ายแล้ว สินค้าที่กำลังจะวางจำหน่าย และสินค้าต้นแบบ งานนี้แต่เดิมจัดในสหรัฐอเมริกา เพิ่งขยายมาที่เอเชีย โดยเลือกเซี่ยงไฮ้ เพราะมองว่าเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อค่อนข้างเยอะ และยังสนใจเทคโนโลยีอย่างมาก

งานนี้จัดที่ “Shanghai New International Expo Centre” (SNIEC) พื้นที่ใหญ่มหึมามากๆ แบ่งเป็นหลายฮอลล์ ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ เกม ฯลฯ

และแน่นอนว่าต้องมีฮอลล์เฉพาะของกลุ่มยานยนต์ โดย “ฮอนด้า” มาร่วมออกบู๊ธเป็นครั้งแรก

“ฮอนด้า” นำยานยนต์ต้นแบบมานำเสนอหลายอย่างด้วยกัน ที่เป็นไฮไลต์และโชว์หราเด่นสุดคือ “ฮอนด้า นิววี” (Honda NeuV) รถยนต์ต้นแบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี “AI” หรือปัญญาประดิษฐ์ และฟังก์ชั่นการขับเคลื่อนอัตโนมัติ

มีกล้องตรวจจับสภาวะทางอารมณ์ของผู้ขับได้ โดยประมวลผลจากการแสดงออกทางสีหน้า และหรือน้ำเสียง แล้วจึงเลือกฟังก์ชั่นที่ช่วยให้ผู้ขับสามารถขับขี่ได้อย่างปลอดภัย หรือสามารถเตือนหากเกิดความสุ่มเสี่ยง

ที่เท่กว่านั้นคือหากเจ้าของไม่ได้ใช้รถและอนุญาต เจ้า “นิววี” สามารถตั้งโปรแกรมขับเคลื่อนแบบอัตโนมัติ เพื่อพาผู้อื่นไปส่งตามที่ต่างๆ ได้อีกด้วย

รถต้นแบบอีกรุ่นที่นำมาอวดโฉมเป็นรถจักรยานยนต์ที่มีระบบช่วยการทรงตัว (Honda Riding Assist) พัฒนามาจากเทคโนโลยีควบคุมการทรงตัวของหุ่นยนต์ “อาซิโม”

รถจักรยานยนต์คันนี้สามารถตั้งได้เอง แม้มีคนขับหรือไม่มีคนขับก็ตาม

ในกรณีที่ผู้ขับขี่สูญเสียการทรงตัวไปแล้วในระดับหนึ่ง รถจักรยานยนต์จะกลับมาทรงตัวได้เอง ช่วยลดความเสี่ยงที่อาจทำให้รถจักรยานยนต์ล้มลง

หากพัฒนาได้ถึงขั้นสุดแล้วบวกกับถุงลมนิรภัยรถจักรยานยนต์ที่ฮอนด้ากำลังวิจัยอยู่ ในอนาคตจะช่วยชีวิตสิงห์นักบิดได้มากทีเดียว

เพราะปกติแล้วอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ไม่น้อยที่เกิดจากล้มเองเพราะเสียหลัก

จักรยานยนต์ที่ติดตั้งระบบช่วยการทรงตัว ยังมีระบบขี่อัตโนมัติด้วย

ในงานนี้ฮอนด้ายังนำนวัตกรรมพาหนะส่วนบุคคลแนวคิด “การกลมกลืนร่วมกับผู้คน” ในชื่อ “ยูนิ คับ” (UNI-CUB) มาแสดงด้วย “ยูนิ คับ” พัฒนามาจากเทคโนโลยีควบคุมการทรงตัวของฮอนด้า

ลักษณะคล้ายเก้าอี้ที่มีล้ออยู่ด้านใต้ ขนาดไม่ใหญ่นัก เวลาใช้งานนั่งตัวตรงบนเบาะ ส่วนการบังคับให้เคลื่อนที่เพียงโยกตัวไปยังทิศทางที่ต้องการ เช่น โน้มไปด้านหน้า-หลัง ซ้าย-ขวา ยิ่งโน้มมากเท่าไหร่ความเร็วก็จะมากขึ้นเท่านั้น เวลาจะหยุดก็ให้นั่งตัวตรงๆ หรือถ้าจะให้เบรกแบบกะทันหัน ก็โน้มตัวไปฝั่งตรงข้ามกับทิศทางที่ “ยูนิ คับ” กำลังเคลื่อนไป

ผมกับสื่อมวลชนไทยรวม 7 คน มีโอกาสทดลองนั่ง “ยูนิ คับ” ด้วย สนุกดีครับ แม้ใหม่ๆ จะไม่ค่อยชำนาญเท่าไหร่ แต่พักเดียวก็เริ่มชิน จะลำบากหน่อยตอนที่ทีมงานฮอนด้าให้ลองบังคับเคลื่อนไหวแบบซิกแซ็ก หรือวนเป็นเลข “8” เอียงกันไป-เอียงกันมาก็สนุกดี

“ยูนิ คับ” ยังมีระบบปฏิบัติการหุ่นยนต์ (ROS – Robot Operating System) ที่สามารถใช้ได้กับโปรแกรมการเชื่อมต่อการใช้งานแอพพลิเคชั่น (API – Application Program Interface) สามารถควบคุมได้จากระยะไกล

สามารถใช้งานได้หลายแบบ อาทิ การบริการจัดส่งของ หรือการนำทางแขกไปยังที่นั่งด้วยการตั้งโปรแกรมเส้นทางไว้ล่วงหน้า

เห็นพาหนะต่างๆ ทั้งรถยนต์ จักรยานยนต์ และยูนิ คับ ต่างก็ใส่ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ต้องบอกว่า “ฮอนด้า” เอาจริงเอาจังกับระบบนี้ไม่ใช่น้อย

นอกจากมุ่งพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติแล้ว เรื่องความปลอดภัยนอกจากระบบต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นมาแล้ว ฮอนด้ายังร่วมวงพัฒนาเทคโนโลยี “Safe Swarm” คล้ายๆ กับ “คาร์ทูคาร์” หรือการสื่อสารระหว่างรถยนต์

ฮอนด้าใช้แนวคิดการสื่อสารกันได้เหมือนฝูงปลา

การสื่อสารระหว่างรถยนต์แต่ละคันจะผ่านอินเตอร์เน็ต (Internet-connected and vehicle-to-vehicle communication automotive technologies)

จุดหมายที่คิดค้นเพื่อสร้างสังคมแห่งการเดินทาง ทำให้ภาพรวมการจราจรทั้งหมดปลอดภัยและคล่องตัว

การสื่อสารระหว่างรถยนต์แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับสภาพถนนและสิ่งกีดขวาง ช่วยลดการจราจรติดขัดด้วยการช่วยผู้ขับเปลี่ยนเลน และเมื่อถึงทางแยกที่มีการรวมเลน ระบบจะวิเคราะห์ความเร็วของรถ และลดความเร็วในระยะเวลาที่เหมาะสม

อีกนวัตกรรมที่นำมาโชว์ในงานด้วยคือ “LiB-AID E500” แบตเตอรี่แปลงพลังงานไฟฟ้าขนาดพกพา ให้พลังงานไฟฟ้าเทียบเท่ากับแหล่งพลังงานจากภายในบ้าน เพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวัน หรือทำกิจกรรมนอกบ้าน เป็นแหล่งพลังงานที่ไม่ปล่อยค่าไอเสีย

ทิ้งท้ายฉบับนี้ขอไปที่แผนสนับสนุนรถยนต์พลังงานทางเลือกของไทย ซึ่งมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลดภาษีรถไฮบริด และรถไฟฟ้า หรือ “อีวี” อย่างเป็นทางการแล้ว มีรถ 4 ประเภทที่เข้าข่าย

รถไฟฟ้าล้วน ลดภาษีจาก 10% เหลือ 2%

รถยนต์นั่งไฮบริด เครื่องยนต์ต่ำกว่า 3,000 ซีซี จากเดิม 10-30% ลดไปครึ่งหนึ่งเหลือ 5-15%

ปิกอัพดัดแปลง หรือ “พีพีวี” อย่างโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ฟอร์ด เอเวอเรสต์ อีซูซุ มิวเอ็กซ์ เครื่องยนต์ไม่เกิน 3,250 ซีซี จากเดิม 25% ลดไป 2% เหลือ 23% และปิกอัพ 4 ประตู เครื่องยนต์ไม่เกิน 3,250 ซีซี เหมือนกัน ลด 2% เท่ากัน จาก 12% เหลือ 10%

ให้มีผลทันทีถึง 31 ธันวาคม 2568

แต่ค่ายรถต้องขอสนับสนุนการลงทุน ยื่นหนังสือแจ้งขอลดภาษีและทำข้อตกลงกับกรมสรรพสามิต แล้วเริ่มการผลิตรถยนต์วันที่ 31 ธันวาคม 2563 และตั้งแต่ปีที่ 5 นับตั้งแต่ทำข้อตกลง รถทุกคันต้องใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตหรือประกอบจากผู้ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ

ในความเห็นส่วนตัวแล้วหากเป็นไปได้ อยากให้ลดภาษี หรือมีสิทธิพิเศษเพิ่มขึ้นเพื่อจูงใจให้คนไทยหันมาใช้รถพลังงานทางเลือกมากขึ้น

ยิ่งหากทำให้รถไฮบริด หรือรถไฟฟ้า มีราคาใกล้เคียงกับรถใช้น้ำมัน การเปลี่ยนผ่านก็จะยิ่งง่ายขึ้น

อย่างในหลายๆ ประเทศเรียกว่าแทบจะลดแลกแจกแถมกันสุดเหวี่ยง

เพราะยิ่งมีคนใช้รถพลังงานทางเลือกเหล่านี้มากเท่าไหร่ การนำเข้าน้ำมันและปัญหามลพิษก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น

ถือว่าเป็นผลประโยชน์ในระยะยาว