‘นวัตกรรม’ ยุคใหม่ ช่วยผู้ป่วย ‘ไมเกรน’/บทความพิเศษ จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

‘นวัตกรรม’ ยุคใหม่

ช่วยผู้ป่วย ‘ไมเกรน’

 

“ไมเกรน” (Migraine) คืออาการปวดศีรษะที่พบผู้ป่วยมากขึ้นในปัจจุบัน มีการคาดการณ์ว่าปัจจัยหนึ่งคือ Office Syndrome หรือ “โรคมนุษย์เงินเดือน”

เป็นที่วิเคราะห์กันมานาน ว่า Office Syndrome คือสาเหตุหนึ่งของ “ไมเกรน” เพราะ “แ” มักนั่งทำงานที่โต๊ะอยู่ในท่าเดิมๆ อย่างต่อเนื่องและยาวนาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สรีระร่างกายที่ไม่สมมาตรกับเก้าอี้-โต๊ะทำงาน ทำให้เกิดท่านั่งที่ไม่ถูกสุขลักษณะ

บวกด้วยสภาพความตึงเครียดจากการทำงาน ส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ ตึง นำไปสู่ “ไมเกรน” ในที่สุด

 

ในอดีต “ไมเกรน” นั้น เป็นที่รู้จักกันมานานว่า “โรคปวดหัวข้างเดียว”

ปัจจุบัน “ไมเกรน” ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ จึงเน้นไปที่การบรรเทา และป้องกันเท่านั้น

ลักษณะการปวด เป็นจังหวะตุบๆ หนึบๆ บางรายค่อยๆ เพิ่มความปวดรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และอาจปวด 2 ข้าง หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนแรง ไวต่อแสง เสียง หรือกลิ่น

ในทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแพทย์สายตะวันตก ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า “ไมเกรน” เกิดจากสาเหตุใด

อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้ว่า ความเครียด คือหนึ่งในปัจจัยหลัก

นอกจากนี้ ยังมีกรณีพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือออกกำลังกายหนักเกินไป และสูบบุหรี่จัด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างฉับพลัน อาทิ เดินออกจากออฟฟิศ (เย็นจัด) มานอกอาคาร หรือขึ้นรถ (ร้อนจัด) แสงจ้า เสียงดัง กลิ่นรุนแรง

ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิง การแพ้ยา และการใช้ยาบางชนิด หรือการใช้ยาเกินขนาด

ทุกวันนี้ แม้จะยังไม่มีวิทยาการทางตรงในการรักษา “ไมเกรน” ให้หายขาด

ทว่า ในระยะหลังได้ปรากฏนวัตกรรมหลายตัว ที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย “ไมเกรน”

ในมุมแพทย์ตะวันตก นอกจากยาสามัญประจำบ้านอย่าง Paracetamol แล้ว มีการจ่ายยากลุ่มอื่นเพื่อช่วยบรรเทา “ไมเกรน”

อาทิ ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ยากลุ่ม Triptans ยาที่มีส่วนผสมของ Ergotamine หรือยาบรรเทาอาการคลื่นไส้

นอกจากนี้ ยังมียาที่ใช้ป้องกัน เช่น กลุ่มยาลดความดัน กลุ่มยาต้านซึมเศร้า กลุ่มยากันชัก

และ Erenumab ยากลุ่มใหม่ซึ่งกำลังเป็นที่พูดถึงสำหรับใช้ป้องกัน “ไมเกรน” โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนังเดือนละ 1 ครั้ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการใช้ Botulinum Toxin หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Botox (โบท็อกซ์) สำหรับ “ไมเกรน” มากขึ้นเรื่อยๆ

โดยฉีด “โบท็อกซ์” เข้าไปใกล้จุดที่ปวด “ไมเกรน” ตัวยาจะเข้าไปช่วยคลายกล้ามเนื้อบริเวณนั้นได้ถึง 90% ได้นาน 4 ถึง 6 เดือน

นอกจาก “โบท็อกซ์” ก็มี “ดีท็อกซ์” เพื่อช่วยขับสารพิษในร่างกาย เป้าหมายคือเข้าไปปรับระบบไหลเวียนโลหิต

เมื่อระบบไหลเวียนกลับสู่ภาวะปกติ ออกซิเจนก็สามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อได้ดีขึ้น ร่างกายจะกลับมาอยู่ในภาวะสมดุล

กล้ามเนื้อบริเวณที่ปวด “ไมเกรน” ที่เคยตึงจากการอักเสบก็จะบรรเทาเบาบาง

นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการให้วิตามินเสริมทางหลอดเลือดอีกด้วย

อย่างไรก็ดี การใช้ยาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรอย่างใกล้ชิด

เนื่องจากคนเราจะมีปัจจัยที่แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย เช่น อายุ เพศ โรคประจำตัว และความรุนแรงของโรค จะส่งผลต่อการเลือกใช้ยา และขนาดยาที่ควรได้รับ

 

เหนือไปจากตัวยาต่างๆ ปัจจุบัน มีอุปกรณ์ที่คิดค้นขึ้นมาสำหรับบรรเทา “ไมเกรน” มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ “หมวก”

เพราะอาการ “ไมเกรน” คือ “ปวดหัวข้างเดียว” หรือบางคนก็ปวด 2 ข้าง การออกแบบ “หมวก” มา จึงถือว่าช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุด

ขณะนี้ในท้องตลาดมี “หมวก” หลากยี่ห้อ หลายรูปแบบ และมากสีสัน ที่สำคัญก็คือ มีสมรรถนะที่ช่วยลดอาการปวด “ไมเกรน”

โดยใช้แผ่นเจลแช่เย็น คล้ายผลิตภัณฑ์แผ่นเจลลดไข้ในเด็ก แต่มีขนาดใหญ่กว่า

และด้วยความที่เป็น “ทรงหมวก” แผ่นเจลจึงออกแบบให้พันรอบศีรษะ เพื่อบรรเทาอาการปวด “ไมเกรน” ได้เป็นอย่างดี

 

นอกจากการให้ยา วิตามิน หรือใช้อุปกรณ์ช่วยบรรเทาอาการปวด “ไมเกรน” เช่น “หมวก” ตามแบบฉบับแพทย์แผนตะวันตกแล้ว

ยังมีแนวคิดการปรับสมดุลร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นระบบการไหลเวียนเลือดลม ระบบฮอร์โมน หรือระบบกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นต่างๆ ตามหลักการของแพทย์ทางเลือก หรือแพทย์แผนโบราณ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแพทย์แผนจีน ที่ใช้วิธีการรักษา “ไมเกรน” โดยการ “ฝังเข็ม” เพื่อเปิดเส้นลมปราณเพิ่มการไหลเวียนของเลือดลม

แพทย์แผนจีนชี้ว่า “ไมเกรน” เกิดจากเส้นลมปราณติดขัด อาการปวดหัวเกิดจากลมในสมอง ความเย็น และความชื้นสะสม จนกลายเป็นเสมหะไปอุดกั้นเส้นลมปราณ

หรือเกิดจากเส้นลมปราณตับ และถุงน้ำดีติดขัด หรือมีเลือดคั่งอวัยวะบางส่วน ทำให้การไหลเวียนของลมปราณไปยังสมองไม่สะดวก

ในมุมของแพทย์แผนไทย คล้ายแพทย์แผนจีน คือรักษาด้วยการกดจุดคลายเส้น และกล้ามเนื้อ ตามหลักการกระจายลม ช่วยให้การไหลเวียนเลือดลมดีขึ้น

โดยแพทย์แผนไทยเรียก “ไมเกรน” ว่าโรค “ลมปะกัง”

เกิดจากความผิดปกติของธาตุไฟ และธาตุลม กำเริบในช่วงบนของร่างกาย หรือศีรษะ มีความร้อนเกิดขึ้น จึงต้องใช้ยาฤทธิ์เย็นในการช่วยบรรเทา “ไมเกรน”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “บัวบก” ที่มีสรรพคุณทางยา แก้ช้ำใน ร้อนใน ความดัน อ่อนเพลีย เมื่อยล้า บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ และขับปัสสาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บำรุงสมอง และแก้ปวด

ขณะเดียวกัน ยาฤทธิ์ร้อนอย่าง “ขิง” ก็สามารถช่วยลดอาการปวด “ไมเกรน” ได้ดีเช่นกัน

เพราะ “ขิง” มีฤทธิ์ในการลดกระบวนการอักเสบ และลดอาการปวดในร่างกายอยู่แล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ขิง” ลดการสร้างสาร Prostaglandin ของร่างกาย โดย Prostaglandin คือสารที่ทำให้เราเจ็บปวดจากความอักเสบต่างๆ

นอกจากนี้ “ขิง” ยังมีสรรพคุณแก้คลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว ซึ่งอาการดังกล่าว ผู้ป่วย “ไมเกรน” ทราบกันดี ว่านี่คือ “อาการนำ” ก่อนที่จะปวด “ไมเกรน”

นอกจาก “บัวบก” และ “ขิง” แล้ว ไม่น่าเชื่อว่า “เก๊กฮวย” ก็สามารถช่วยบรรเทา “ไมเกรน” ได้เช่นกัน

เพราะ “เก๊กฮวย” จะช่วยลด Serotonin ตัวการที่ทำให้เส้นเลือดฝอยบริเวณเส้นประสาทรอบศีรษะขยายตัว และยืดออก นำไปสู่อาการปวด “ไมเกรน” นั่นเอง

นอกจากนี้ “เก๊กฮวย” ยังมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอีกมากมาย อาทิ ฤทธิ์ลดความดันโลหิตสูง ฤทธิ์ต้านเบาหวาน

รวมถึงฤทธิ์ต้านมะเร็งต่อมลูกหมาก ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านการอักเสบ และเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เป็นต้น

 

อย่างไรก็ดี อาการปวดศีรษะ “ไมเกรน” นั้น สามารถบรรเทาเบาบาง และสามารถป้องกันได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีกิจกรรมมากมายที่เป็นทางเลือกในการช่วยบรรเทาอาการ และป้องกันการปวดศีรษะ “ไมเกรน”

ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลงบรรเลง (เพลงช้า) โดยเปิดเสียงเบาๆ นอนหลับพักผ่อนในที่สลัว (แสงไฟอ่อนๆ) งดแสงจ้า ถ้ามืดและเงียบสงบได้ยิ่งดี

ปรับพฤติกรรมการนอน ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง