หลังเลนส์ในดงลึก/”เจ้ายักษ์”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“เจ้ายักษ์”

การเลือกวิธีทำงานแบบ “ฝังตัว” อยู่ในป่าแห่งหนึ่งนานๆ ในระยะเวลา 3 ถึง 4 ปี

คือสิ่งที่ผมทำก่อนที่จะมีโอกาสได้เข้าร่วมกับทีมศึกษาวิจัยสัตว์ป่า ซึ่งทำงานเป็นทีม และผมเป็นคนหนึ่งในทีมของพวกเขา นี่คือช่วงเวลาที่ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าอย่างจริงจัง

ข้อสำคัญ มันทำให้ผม “รู้” ว่า ที่ผ่านๆ มาผมไม่ได้รู้อะไรมากนัก

ก่อนหน้านั้น เพื่อนต่างชาติผู้เลือกป่าในเมืองไทยเป็นพื้นที่ทำงานถ่ายภาพสัตว์ป่า เคยตั้งฉายาให้ผมว่า “lone wolf”

ในความหมายของการทำงานลำพัง

ขณะเขาเข้าไปทำงานในป่าพร้อมกับลูกน้อง 4-5 คน

เขาจะพบผมอยู่ในแคมป์คนเดียว

ซึ่งที่จริงจะเรียกว่าลำพังก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะผมมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยพิทักษ์ป่าคอยช่วย เช่น มาส่งและแวะเวียนมาดูบ้างพร้อมกับเสบียง ถ้าว่างจากงานก็มาอยู่เป็นเพื่อน

คำว่า “lone wolf”

ทำให้ผมนึกถึงวิถีชีวิตของเหล่าสัตว์ตัวผู้ ซึ่งถูกเรียกว่า “สัตว์โทน”

รอยตีนควายป่าตัวหนึ่งที่ผมเห็น จนกระทั่งจำได้นั้น กว้างและกดลึกลงไปในผืนทรายราว 2 นิ้ว อีกทั้งระยะห่างของจังหวะการเดิน ทำให้คาดเดาไม่ยากว่า เจ้าของรอยตีน คงมีน้ำหนักร่วมหนึ่งตัน

ควายป่าตัวนี้กับผมพบกันหลายครั้ง

ผมถือวิสาสะเรียกมันว่า “เจ้ายักษ์”

ในการพบกันครั้งแรก ไม่น่าประทับใจนัก พลบค่ำของวันหนึ่งกลางฤดูแล้ง ผมเดินเลาะตามลำห้วยกลับแคมป์ มันกำลังแช่น้ำอยู่ในแอ่งกลางลำห้วยอย่างสบาย

เวลาควายป่าแช่น้ำสบายๆ มันจะมุดลงไปทั้งตัว โผล่ขึ้นมาเฉพาะปลายจมูก

บรรยากาศสลัวๆ ผมสังเกตไม่เห็น เดินเข้าใกล้ มันลุกขึ้นจ้องเขม็ง เท้าตะกุยดินและกระโจนเข้าหา

เกือบถึงตัว ผมตะโกนดังๆ

มันหยุด ลังเล และหันกลับ วิ่งเหยาะๆ เข้าป่า

เหตุผลหนึ่งที่ผมคิดได้ว่าทำไมมันเปลี่ยนใจ คือ เมื่อเข้ามาใกล้ มันได้จึงรู้ว่า นั่นไม่ใช่กลิ่นเสือผู้ล่า ที่ตามมาให้มันหงุดหงิด

นั่นเป็นครั้งแรกที่เจอกัน

เป็นครั้งแรกเช่นกันที่ผมเริ่มรู้สึกว่า

สัมพันธภาพระหว่างเรา สัตว์ป่ากับคน บางครั้งก็อยู่เหนือเหตุผล

ก่อนหน้านั้นหลายครั้ง ควายป่าที่พบในระยะกระชั้นชิด ทำเพียงชะงัก เบิ่งตา เงยหน้าสูดกลิ่น ก่อนหันหลังวิ่งผละไป

แม้แต่นักล่าหมายเลขหนึ่งอย่างเสือ เมื่อได้กลิ่นจะหันหลังกระโจนพรวดไม่เหลียวหลัง

แต่ครั้งหนึ่ง เสือตัวหนึ่งทำอาการจ้องเขม็ง ขู่คำรามพร้อมเข้าปะทะหากผมไม่ล่าถอย

ดูเหมือนชีวิตในป่าจะสอนให้รู้ถึงเรื่องธรรมดาในความสัมพันธ์ระหว่างชีวิต

พบกันนานๆ ครั้ง แต่เจ้ายักษ์ทิ้งรอยตีนไว้ให้เห็นเสมอ

โดยเฉพาะในฤดูแล้ง เมื่อฝูงควายป่าที่มีสมาชิกในฝูงราว 18 ตัว เริ่มเดินลงมาทางใต้

สำหรับควายป่า การดำรงอยู่ของพวกมันจะไม่ห่างลำห้วยหรือปลักมาก

บริเวณหาดทรายริมฝั่งจึงมีรอยตีนควายป่าย่ำไว้เป็นทาง

ในหมู่รอยตีนสับสน จะมีรอยใหญ่ๆ ที่ผมคุ้นเคยแทรกอยู่

เป็นรอยตีนที่เจ้าของรอยเดินตามฝูงมาห่างๆ

เหตุผลหลักของการอยู่รวมฝูงในหมู่สัตว์กินพืชคือช่วยดูแลกันและกัน รวมทั้งป้องกันภัยจากผู้ล่า

หน้าที่การนำฝูง เป็นของตัวเมียอาวุโสที่มีประสบการณ์

ไม่แค่รู้ว่าเมื่อฤดูกาลเปลี่ยนแปลงต้องพาลูกฝูงไปที่ไหน

แต่พวกเธอยังต้องจัดการระเบียบในฝูงด้วย

ตัวผู้เมื่อเติบโตพอ จะถูกไล่ออกไป รวมทั้งตัวที่นิสัยเกเร

จุดประสงค์หลักคือ ป้องกันการผสมกันเองในกลุ่ม

ตัวผู้เหล่านั้นจำต้องหาประสบการณ์ให้แกร่งพอ และเข้าไปหาตัวเมียในกลุ่มอื่น หากมีตัวผู้ที่แข็งแกร่งกว่า ก็ต้องรอเวลา

ตัวผู้อาวุโสและประสบการณ์สูงจะเข้ามาใกล้ฝูงก็ในเวลาที่มีตัวเมียในฝูงพร้อมรับการผสม

นอกเวลานี้ พวกมันเลือกไปใช้ชีวิตลำพัง

ครั้นสูงวัยมากๆ มันจะกลับเข้ามาอยู่ใกล้ๆ ฝูง และเดินตามฝูงไปไม่ห่าง

กระทิงฝูงหนึ่งเผยให้ผมเห็นความเป็นไปนี้

กระทิงผู้เฒ่าตัวนั้น ตัวโตที่สุดที่ผมเคยพบ เหนียงคอยาว ร่างกำยำ เขาสั้น แต่โคนเขาใหญ่

กระทิงตัวอื่นๆ ลงมากินน้ำในโป่งก่อน จากนั้นอีกพักใหญ่กระทิงผู้เฒ่าเดินออกมา มีองครักษ์สองตัวขนาบข้าง

อาการแหวกเป็นทางและถอยห่างจากแหล่งน้ำให้ผู้เฒ่าเข้าไปกินของกระทิงตัวอื่น

ทำให้ผมรู้ถึงความสำคัญของกระทิงอาวุโสตัวนี้

รวมฝูงอยู่ร่วมกัน การระวังภัยจากนักล่า คล้ายจะง่ายขึ้น

แต่ดูเหมือนมันจะต่างออกไป เมื่ออยู่ในป่ากว้างเพียงลำพัง

ในวันปลายฤดูแล้งหนึ่ง ขณะฝูงมุ่งหน้าลงใต้ ผมเห็นรอยเจ้ายักษ์เดินขึ้นเหนือ

รอยตีนมั่นคง กว้างกดลึก ผมคุ้นเคยดี หลายครั้งเราเดินสวนกัน บางครั้งไปทางเดียวกัน

มีบ้างที่ผมเหยียบทับรอย บางครั้งที่มันเหยียบรอยตีนผมเช่นกัน

บนทางด่าน ร่องรอยการเดินทางเคลื่อนย้ายตามฤดูกาลของสัตว์ป่าปรากฏชัด

หัวขบวนนำโดยช้าง จากนั้นคือ กระทิง วัวแดง กวาง เก้ง ปิดท้ายขบวนด้วยนักล่าอย่างเสือ และหมาป่า

ผืนป่าดูกว้างใหญ่ แต่ไม่มีที่ทางให้เหล่าสัตว์ป่าไปนัก

เส้นทางถูกกำหนดด้วยแหล่งน้ำแหล่งอาหาร ซึ่งเปลี่ยนไปตามฤดูกาล

เจ้ายักษ์ทำให้รู้ว่า บางครั้งการเดินสวนทางกับฝูง อาจเป็นวิถีหนึ่งของชีวิตของสัตว์โทน แม้จะต้องใช้พละกำลังและเวลามากขึ้น แต่ก็ได้ผลเมื่อถึงจุดหมาย

ผมเดินตามรอยเจ้ายักษ์ไป 3 วัน

ถึงปลักแห่งหนึ่ง ที่ยังมีความชุ่มชื้น และเป็นแหล่งชุมนุมสัตว์ป่า

มีร่องรอยเจ้ายักษ์นอนคลุกปลักโคลน และจากไปแล้ว ตอนที่ผมไปถึง

ในช่วงหลังๆ ร่องรอยเจ้ายักษ์คล้ายจะวนเวียนอยู่ใกล้ๆ ฝูง แม้จะพ้นฤดูแห่งความรัก

อาจเพราะความชรา หรือคิดถึงความอบอุ่นในฝูง

ปลายฤดูแล้ง รอยตีนอันคุ้นเคยหายไป ผมไม่พบอีกเลย

กระทั่งเวลาก่อนเข้าพรรษา

พระธุดงค์รูปหนึ่ง ที่มาปักกลดใกล้แคมป์ เล่าให้ฟังว่า ท่านพบซากควายป่าที่โป่งแห่งหนึ่ง ห่างจากหน่วยพิทักษ์ป่า ในระยะการเดินราว 4 วัน

“ตัวมันโตน้องๆ ช้างเลยล่ะ คงถูกยิงจากที่อื่นและไปตายที่นั่น” พระธุดงค์เล่า

ผมคลายสงสัยเรื่องที่รอยตีนเจ้ายักษ์หายไป

และเข้าใจว่า ทำไมระยะหลังจึงพบรอยตีนของมันวนเวียนอยู่ใกล้ๆ ฝูง