งบประมาณ 3 ล้านล้าน ให้ข้าราชการ 1 ใน 3 ใครตามจ่ายภาษี…ใช้หนี้เงินกู้/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

งบประมาณ 3 ล้านล้าน

ให้ข้าราชการ 1 ใน 3

ใครตามจ่ายภาษี…ใช้หนี้เงินกู้

 

2มิถุนายน 2564 สภาผู้แทนฯ ลงมติรับหลักการวาระแรก พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 รวมยอด 3.1 ล้านล้าน

10 มิถุนายน สภาอนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคโควิด เพิ่มเติม วงเงิน 5 แสนล้านบาท

สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วงเงินรวม 3.1 ล้านล้าน งบฯ รายจ่ายประจำ วงเงิน 2.354 ล้านล้านบาท หรือ 75% ของวงเงินงบประมาณ แต่ประมาณการรายได้ 2.4 ล้านล้านบาท จึงต้องกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 700,000 ล้านบาท

ส่วนงบฯ ลงทุน, วงเงิน 620,000 ล้านบาท หรือ 20% ชำระคืนเงินต้นเงินกู้ 100,000 ล้านบาท

 

งบประมาณปีปัจจุบัน 2564

เอาไปจ่ายข้าราชการ 1 ใน 3

ข้าราชการไทยในปัจจุบันมีจำนวนกว่า 2.3 ล้านคน รวมทั้งพนักงานราชการและลูกจ้าง

ในปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลจัดสรรงบฯ สำหรับบุคลากรภาครัฐวงเงินสูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท จากงบฯ ทั้งหมด 3.28 ล้านล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 3 ของงบประมาณทั้งหมด

ส่วนแรกของงบฯ บุคลากร คือเงินเดือน ค่าจ้างประจำ ค่าจ้างชั่วคราว และค่าตอบแทน ในวงเงิน 635,928.4 ล้านบาท หรือคิดเป็น 19.3% ของวงเงินงบประมาณ 3.28 ล้านล้านบาท มีการเพิ่มขึ้นทุกปี

2557 ใช้งบประมาณ 581,580 ล้านบาท

2558 ใช้งบประมาณ 610,414 ล้านบาท

2559 ใช้งบประมาณ 624,864 ล้านบาท

2560 ใช้งบประมาณ 620,022 ล้านบาท

2561 ใช้งบประมาณ 622,044 ล้านบาท

ตัวอย่างรายละอียด ปี 2561 มีบุคลากรภาครัฐกว่า 2.09 ล้านคน ต้องใช้เงินเดือนจำนวน 622,044 ล้านบาท พบว่า 89.4% เป็นเงินเดือนข้าราชการ รองลงมาคือค่าตอบแทนพนักงานราชการ 5.6% (34,683 ล้าน) และค่าจ้างลูกจ้างประจำ 4.7% (29,128 ล้าน) เพราะลูกจ้างและพนักงานราชการส่วนใหญ่เป็นคนใหม่มีตำแหน่งอยู่ในระดับล่าง มีเงินเดือนน้อย

ถ้าจะถามว่าทำไมใช้งบประมาณมากมาย ก็ต้องตอบว่า

เพราะดั้งเดิมระบบราชการดำเนินต่อมาจากระบบศักดินา ที่มีจำนวนคนทำงานไม่น้อย และมีช่วงชั้น สายบังคับบัญชาหลายขั้นตอนคล้ายระบบทหารที่มีตั้งแต่พลทหาร นายสิบ นายร้อย นายพันจนถึงนายพล

จนถึงวันนี้ระบบบริหารบ้านเราประสิทธิภาพต่ำ และเครื่องมือไม่ทันสมัย ระบบจึงใหญ่เทอะทะ ไม่คล่องตัว

 

รัฐสวัสดิการ…(ของข้าราชการ)

ส่วนที่สองของงบประมาณ 1.1 ล้านล้าน คือค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการต่างๆ สำหรับข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ เป็นวงเงิน 465,290.6 ล้านบาท ได้แก่

1. เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ 300,435.5 ล้านบาท

2. ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 74,200 ล้านบาท

3. เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 5,008 ล้านบาท

4. เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ 15,500 ล้านบาท

5. เงินสมทบของลูกจ้างประจำ 640 ล้านบาท

6. เงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ 69,707.1 ล้านบาท

เงินที่เป็นสวัสดิการตั้งแต่การรักษาพยาบาล และอื่นๆ เงินที่ได้รับบำนาญหลังเกษียณไปแล้ว คิดเป็น 40% ของงบประมาณ 1.1 ล้านล้าน

ตัวเลขที่มีคนสงสัยก็คือทำไมค่ารักษาพยาบาลมากปีละ 74,200 กว่าล้าน

อธิบายได้ว่าภาครัฐ 2.09 ล้านคน จะมีบุคคลในครอบครัวที่เกี่ยวข้องได้รับสวัสดิการด้วย เช่น พ่อ-แม่ ประมาณ 1,230,000 คน ลูกของข้าราชการ ประมาณ 700,000 คน คู่สมรสอีกประมาณ 500,000 คน รวมแล้วจะมีผู้มาใช้สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลประมาณ 4 ล้าน 5 แสนคน

โดยสรุปข้าราชการทุกคนจะได้ประโยชน์ เช่น เงินเดือน เงินช่วยเหลือ ค่ารักษาพยาบาลของบุคคลในครอบครัว ค่าเบี้ยเลี้ยงกรณีเดินทางไปราชการ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปอบรมดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เงินบำนาญ หากเป็นข้าราชการระดับสูงก็จะได้ค่าโทรศัพท์ เงินประจำตำแหน่ง เงินชดเชยแทนรถประจำตำแหน่ง ค่าเบี้ยประชุมต่างๆ จากการเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจหรือกิจการของรัฐโดยตำแหน่ง เป็นต้น

นอกจากนี้ ข้าราชการระดับสูงยังมีโอกาสได้รับประโยชน์อื่นๆ ทางสังคม และโอกาสในทางเศรษฐกิจและการเมืองหลังเกษียณอายุราชการ

การมีข้าราชการมาก ทำให้ผู้คุมอำนาจรัฐขยายอำนาจได้มากขึ้น แต่ก็มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น

 

เอาเงินที่ไหนมาจ่าย

เก็บภาษีจากประชาชน

ทุกวันนี้เรามีภาษี Vat 7% ดังนั้น การซื้อของส่วนใหญ่ประชาชนจึงเสียภาษีตัวนี้ไม่ว่าจะเป็นสบู่ ยาสีฟัน ของจิปาถะ เช่น ปี 2563 ที่ผ่านมา รัฐบาลเก็บได้ประมาณ 745,000 ล้าน

ภาษีจากน้ำมันที่ชาวบ้านใช้ เก็บได้ประมาณ 224,000 ล้าน

ภาษีจากเงินเดือน ค่าจ้างของประชาชนได้ประมาณ 336,100 ล้าน

ภาษีจากบริษัทห้างร้านที่มีกำไร ได้ประมาณ 608,000 ล้าน

นอกจากนั้น ก็ยังมีภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากคนที่ซื้อเหล้า ซื้อเบียร์ บุหรี่ รถยนต์ และมีเงินค่าธรรมเนียมหรือภาษีจากที่ดินหรือหน่วยงานราชการอื่นๆ

รวมแล้วเก็บภาษีปีงบประมาณ 2563 ได้ 2,394,076 ล้านบาท (ไม่พอจ่าย)

ถ้าเงินไม่พอก็กู้มาใช้

แทบทุกรัฐบาลก็ต้องหาเงินกู้มาเติมงบฯ ที่ขาดดุล รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณติดต่อกัน 7 ปี ทะลุ 3.1 ล้านล้านบาท ช่วงที่เข้ามาเป็นรัฐบาล คสช.ปีแรกรั ฐบาลยิ่งลักษณ์ได้เป็นคนกู้เงินไว้แล้วสำหรับงบฯ ปี 2557 ดังนั้น รัฐบาลประยุทธ์ยุค คสช.จึงมาเริ่มกู้ตั้งแต่ประมาณปี 2558

ปี 2558 จำนวน 250,000 ล้านบาท

ปี 2559 จำนวน 390,000 ล้านบาท

ปี 2560 จำนวน 390,000 ล้านบาท

ปี 2561 จำนวน 450,000 ล้านบาท

ปี 2562 จำนวน 450,000 ล้านบาท

ปี 2563 จำนวน 570,022 ล้านบาท

ปี 2564 จำนวน 608,962 ล้านบาท

กู้ไปแล้วรวม 3,108,984 ล้านบาท

และยังกู้มาแก้ไขปัญหาโควิด ปี 2563 จำนวน 1 ล้านล้าน (ตอนนี้ยังมีเหลืออีก 1 แสนกว่าล้าน)

ส่วนงบฯ ปี 2565 จะต้องกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณจำนวน 700,000 ล้านบาท

และไม่กี่วันที่ผ่านมาก็ขอกู้เพื่อแก้ไขปัญหาโควิดเพิ่มอีก 500,000 ล้านบาท

ดังนั้น เราจึงจะมีหนี้ที่มาจากการกู้ของรัฐบาลประยุทธ์ รวมประมาณ 5.3 ล้านล้าน

สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 5 ปีตั้งแต่ 2545-2549 กู้เงินมารวม 474,800 ล้าน

สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กู้มาชดเชยขาดดุล 1,097,000 ล้าน และกู้สำหรับโครงการไทยเข้มแข็งอีก 400,000 ล้าน

สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กู้มา 950,000 ล้าน ส่วนโครงการน้ำ 350,000 ล้าน หลังรัฐประหาร 2557 คสช.ยกเลิกโครงการก็เลยไม่มีการกู้เงินก้อนนั้น

การที่พูดกันว่าประเทศไทยจะมีหนี้ 8-9 ล้านล้าน จึงไม่ใช่ฝีมือการกู้ของรัฐบาลประยุทธ์อย่างเดียว แต่เป็นการกู้ที่มีมานาน จากนายกฯ เป็น 10 คน ส่วนนายกประยุทธ์กู้มากหน่อย 5.3 ล้านล้าน

คนไทยตอนนี้มีประมาณ 66,180,000 คน มีลักษณะความสัมพันธ์เชิงครอบครัวที่พึ่งพา เกื้อกูลกัน พ่อ-แม่-ลูก ปู่-ย่า ตา-ยาย เฉลี่ยครอบครัวละ 5 คน เวลาได้เงินเยียวยาอาจได้รวม 25,000 บาท เวลาป่วยมีบัตรทอง (เฉลี่ยหัวละ 3 พันกว่า) แต่เวลาแบกรับหนี้ 5.3 ล้านล้าน เฉลี่ยหนี้หัวละ 80,000 ครอบครัวละ 400,000 บาท

ดังนั้น ตอนนี้รัฐแจกอะไรมาก็รับไว้เพราะมันเงินภาษี และหนี้ที่เราต้องตามใช้