สมหมาย ปาริจฉัตต์ : PMCA FORUM 2017 ตามรอยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (1)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

“เป็นหน้าที่ของสถาบันที่สร้างและอบรมครูจะต้องคำนึงว่าครูจะต้องมีความรู้เนื้อหาที่แม่นยำ ถูกต้อง ทันสมัยและมีวิธีสอนที่น่าสนใจ ชวนให้ติดตาม รวมทั้งต้องมีคุณธรรมที่ครูพึงมีต่อนักเรียน เช่น ความเมตตากรุณา ความเอื้ออาทร ความเอาใจใส่ในการสอน ความอดทน เป็นต้น ให้สมกับที่ถือกันว่า ครูบาอาจารย์เป็นที่ 2 รองจากบิดามารดา”

ผมอัญเชิญพระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปาฐกถา เรื่องแนวโน้มการจัดการเรียนการสอนเพื่อการเรียนรู้ในทศวรรษหน้า ในการสัมมนาวิชาการเรื่อง เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ในทศวรรษหน้า ณ โรงแรมบีพี สมิหรา จังหวัดสงขลา วันที่ 23 กันยายน 2542 มาเสนออีกครั้ง

เนื่องในโอกาสมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจัดทำหนังสือรวบรวมรายชื่อ เกียรติประวัติ คุณสมบัติและผลงานของครูผู้ได้รับรางวัล พิมพ์เผยแพร่ต่อสาธารณะเพื่อยกย่องเชิดชู เป็นขวัญกำลังใจ เป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจของผู้เป็นครูที่ได้อุทิศตนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตของศิษย์และมีคุณูปการต่อการศึกษา

ที่สำคัญเพื่อเป็นแบบอย่าง ทั้งแนวความคิดและการปฏิบัติตน ปฏิบัติงานอันดีงามแก่ครูท่านอื่นๆ และผู้ที่จะก้าวเข้ามาเป็นครูต่อไป

 

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี มี ศ.ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร เป็นประธาน เขียนไว้ในสารจากประธานมูลนิธิ ว่า มูลนิธิได้รับพระราชทานพระราชานุญาตจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นองค์กรหลักในการคัดเลือกและวางแผนการดำเนินงานครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัล ในเบื้องต้นเป็นครูจากประเทศอาเซียนและติมอร์-เลสเต จำนวน 11 รางวัล

การพระราชทานรางวัลจะมีขึ้นทุก 2 ปี ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับพระราชทานเงินรางวัล รางวัลละ 10,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ พร้อมเหรียญทอง เข็มเชิดชูเกียรติ และโล่เกียรติคุณ พระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ จัดทำเป็นเหรียญและเข็มเชิดชูเกียรติดังกล่าวด้วย

สำหรับประเทศไทย มูลนิธิได้รับพระราชานุญาตให้มอบรางวัล 3 รางวัลแก่ครูไทยที่ได้รับการเสนอชื่อจากทั่วประเทศ ผ่านกระบวนการคัดเลือกและกลั่นกรองในระดับต่างๆ

ประเทศไทยจึงมีรางวัลรวมทั้งสิ้น 4 รางวัล รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 1 รางวัล รางวัลคุณากร 2 รางวัล รางวัลครูยิ่งคุณ 17 รางวัล และรางวัลครูขวัญศิษย์ 150 รางวัล

 

ครูผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปีแรก 2558 11 ท่านได้แก่ นายเฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ ครูวิทยาศาสตร์ โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ประเทศไทย Mr.Zainuddin Zakaria ประเทศมาเลเซีย Mr.Herwin Hamid ประเทศอินโดนีเซีย Mrs.Ratanawatibinti Haji Mohammad ประเทศบรูไนดารุสซาลาม Mrs.Wang-Lim Ai Lian ประเทศสิงคโปร์ Ms. Yee Mon Soe สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา Ms.Tauch Bandaul ประเทศกัมพูชา Mr.Julio Ximenes Maidera ประเทศติมอร์-เลสเต Mr.William Moraca ประเทศฟิลิปปินส์ Mrs.Khamsoy Vongsamphanh ประเทศ สปป.ลาว Mrs.Thanthithuy Dung ประเทศเวียดนาม

พิธีพระราชทานรางวัล ครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2558 โดยจัดร่วมกับการประชุมสภาครูอาเซียนครั้งที่ 31 เนื่องในโอกาสวันครูโลกและเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558

การคัดเลือก การจัดพิธีพระราชทานรางวัลลุล่วงไปด้วยความราบรื่น ภารกิจหลักของมูลนิธิ กระบวนการพัฒนาครูเพื่อพัฒนาการศึกษา พัฒนาคน ยังดำเนินต่อมา เชิญครูผู้ได้รับรางวัลทั้งหมด และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารการศึกษามาร่วมเวทีประชุมวิชาการนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีครั้งที่ 1 (The First Princess Maha Chakri Award Forum 2017)

จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 ถึง 28 เมษายน 2560 ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กทม. มีผู้เข้าร่วม 425 คน เพื่อให้ครูที่ได้รับรางวัลมาถอดบทเรียน แบ่งปันเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจ วิธีการ ประสบการณ์ความถนัดของแต่ละคน แต่ละประเทศ

เป็นการสัมมนาวิชาการด้านการศึกษาระดับนานาชาติที่น่าติดตามย่างก้าวต่อๆ ไปเป็นอย่างยิ่ง ทั้งรูปแบบการนำเสนอและเนื้อหาสาระหลากหลายภายใต้หัวข้อหลักของครั้งนี้ ได้แก่ STEM, Special Education, Education in rural area, Large classroom management, Education management and administration

 

ผมพลาดโอกาสครั้งสำคัญไม่ได้เข้าร่วมด้วยความเสียดาย แต่เมื่อได้รับบทรายงานสรุปผลการจัดประชุมแต่ละหัวข้อ แต่ละประเด็น โดยทีมคณะทำงานบันทึกการประชุม ผู้อยู่เบื้องหลังการถ่ายทอด ล้วนเป็นผู้ได้รับทุนโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ระดับปริญญาโททางการศึกษา ประเภท Premium จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายกฤตกร สภาสันติกุล นายสุรศักดิ์ เฟวท์ มหาวิทยาลัยบูรพา นางสาวชลกานต์ ชมภู นางสาวศศิวิมล สนิทบุญ นางสาวสุดารัตน์ เกียรติจรุงพันธ์ นางสาวพัทธมน วิริยะธรรม นางสาวกมลชนก อินต๊ะโมงค์ นางสาวนราวดี จ้อยรุ่ง นายศุภพงษ์ เนียมเที่ยง มหาวิทยาลัยนเรศวร นายณัฐวุฒิ เสริมศรีพงษ์ นางสาววิภา อาสิงสมานันท์ และ นางสาวนัฐกานต์ นามนิมิตรานนท์ จากโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย

โดยมีคณะกองบรรณาธิการ รวบรวม จัดระบบ ได้แก่ ดร.รุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์ นายวีระพงษ์ อู๋เจริญ นางสาวตวงดาว ศิลาอาสธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา นางสาวสิริกัญญา สุขวิเสส สำนักงานศึกษาธิการภาค 1 สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และ นางสาวณัฐินี พรหมประสิทธิ์ สำนักงาน ก.พ.ร. ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)

ในฐานะผู้ติดตามสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวด้านการศึกษาเรื่อยมา เลยต้องทำการบ้านแก้ตัว ขอบคุณและขออนุญาตนำมาเผยแผร่ ถ่ายทอด เล่าเรื่องต่อผ่านคอลัมน์ประจำสัปดาห์ตามเคย

เผื่อคุณครู คอการศึกษาและผู้สนใจความเป็นไปของการศึกษาไทยที่ไม่ได้เข้าร่วมเวทีซึ่งเตรียมการจัดประชุมเป็นระบบมาอย่างดี เฉพาะเรื่องเล่าอย่างเป็นวิชาการ การจัดการศึกษาของแต่ละประเทศที่ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจากประเทศนั้นๆ เตรียมการมานำเสนอ ทั้งพิมพ์เขียวแผนการจัดการศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทักษะ เป้าหมาย ข้อมูล ความคิด ถ่ายทอดสู่กันอย่างเป็นกัลยาณมิตร ทำให้การประชุมมีคุณค่าและคุ้มค่าอย่างยิ่ง

ทีมงานเก็บสาระได้ครบถ้วน น่าจะสมบูรณ์กว่าเข้าร่วมด้วยตัวเองเสียอีก เพราะจดบันทึกไม่ทันบ้าง ฟังแต่ไม่ได้ยินบ้าง ความคิดและจิตใจพลุ่งพล่านไปถึงเรื่องอื่นบ้าง (ฮา)

เริ่มตั้งแต่รายการแรก เปิดเวทีการประชุมโดย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เสมา 1 ของเรา สะท้อนแนวคิด มุมมอง เป้าหมายทางการศึกษาในเวทีระดับนานาชาตินี้อย่างไร ต้องติดตาม