สิ่งแวดล้อม : ขออย่าให้ฝันเป็นจริง / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

 

ขออย่าให้ฝันเป็นจริง

 

เสียงนกเขากู่ร้องบนหลังคาบ้านและเสียงเห่าของน้องหมาปลุกให้ผมตื่นก่อนพระอาทิตย์สาดแสงสีทองฉาบท้องฟ้า แต่มีความรู้สึกไม่เหมือนเช้าตรู่วันก่อนๆ เพราะทันทีที่ปิดสวิตช์เครื่องปรับอากาศ เปิดหน้าต่าง ความร้อนวูบเข้ามาฉับพลันแล้วอุณหภูมิในห้องนอนก็ระอุราวกับเปลี่ยนเป็นเตาอบ

วิ่งลงมาชั้นล่างพร้อมๆ กับน้องหมา ความร้อนไล่หลังมาด้วย ตัวผมโชกชุ่มไปด้วยเหงื่อ เสื้อ-กางเกงนอนเปียกแฉะราวกับไปแช่น้ำมา

เสียงน้องหมาเห่าดังลั่นเหมือนบอกให้เจ้านายมันรู้ว่า วันนี้อากาศร้อนมาก ร้อนจนทนไม่ไหว

อุณหภูมิบนโทรศัพท์มือถือบอกว่า 57 องศาเซลเซียส ขยี้ตาดูซ้ำอีกหนเพราะสูงกว่าอุณหภูมิของร่างกายถึง 20 องศาเซลเซียส ใช่จริงๆ ด้วยตัวเลข 57 องศาเซลเซียสโชว์บนหน้าปัด

โทร.ไปถามเพื่อนๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงร้อนอย่างนี้ ได้คำตอบว่าอากาศร้อนเหมือนกันทั้งโลก

เปิดทีวี มีแต่ข่าวอุณหภูมิโลกร้อนเท่ากันหมด น้ำแข็งขั้วโลกกำลังละลาย น้ำทะเลเอ่อท่วมทวีปยุโรป ทวีปอเมริกาเหนือ

ผู้ประกาศข่าวบอกว่า คนยุโรปหนีตายขึ้นไปบนภูเขาสูง คนในแถบตะวันออกกลาง ทวีปแอฟริกาและคนเอเชียเจอคลื่นความร้อนช็อกเสียชีวิตเป็นเบือ โรงพยาบาลเต็มไปด้วยคนป่วย แอร์คอนดิชั่น พัดลม ทำงานหนักจนเครื่องพัง บางแห่งโรงไฟฟ้าระเบิด ระบบคอมพิวเตอร์รวน

อีกสักพัก จอทีวีของผมดับวูบลง แบตเตอรี่ในมือถือเหลือแค่ 1 เปอร์เซ็นต์

ผมรีบดึงน้องหมาขึ้นรถแต่ยังขยับไปไหนไม่ได้เพราะรถติดยาวเหยียดไปจนถึงปากซอย

น้องหมาเห่าดังๆ อีก ผมค่อยๆ ลืมตาและแล้วสะดุ้งตื่นด้วยความรู้สึกงงๆ ทำไมตัวอยู่บนเตียงนอนลมแอร์เป่าเย็นฉ่ำ

ใช่ ผมฝันไป มันเป็นความฝัน ไม่ใช่เรื่องจริง

ผมทบทวนเรื่องราวทั้งหมดแล้วภาวนาขออย่าให้ฝันเป็นจริง

 

เช้าตรู่วันนั้น คลิกอ่านข่าวเรื่องอากาศร้อนๆ ก็มีคุณสุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ให้สัมภาษณ์สาเหตุหน้าฝนปีนี้อากาศร้อนกว่าเดือนเมษายน เพราะฝนตกน้อย แสงอาทิตย์ส่องผ่านลงมาบนพื้นผิวดิน ความร้อนสะสมทั้งบนพื้นถนนและอาคารบ้านเรือน

“เมืองที่มีตึกสูงๆ อย่างกรุงเทพมหานครได้รับแสงอาทิตย์เต็มที่ บวกกับกระแสลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่เป็นลมฤดูฝนพัดลงมาน้อยทำให้เดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายน อากาศจึงร้อนกว่าเดือนเมษายน”

คุณสุทัศน์อธิบายอีกว่า ทุกประเทศทั่วโลกได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ เพราะช่วงต้นปีได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์ลานิญาที่มีฝนเยอะ จากนั้นปรากฏการณ์ลานิญาค่อยๆ เปลี่ยนเป็นภาวะเป็นกลาง คือฝนค่อยๆ น้อยลงและมีอากาศร้อน

คำอธิบายของคุณสุทัศน์สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของคุณสุกันยาณี ยะวิญชาญ รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ที่บอกว่า ระยะนี้อากาศร้อนเพราะฝนตกน้อย เมฆไม่ค่อยมี แสงแดดส่องลงมาเต็มที่ตั้งแต่เช้า รวมทั้งวันกว่า 10 ชั่วโมง ประกอบกับปรากฏการณ์เอลนิโญ ปรากฏการณ์ลานิญาอยู่ในภาวะเป็นกลาง

ในเดือนกรกฎาคมฝนจะตกมากขึ้น อากาศจะคลายร้อนลงไป

 

ฟังแล้วค่อยยังช่วย ฝันก็ยังเป็นฝันอยู่ดี และเชื่อว่าคงจะไม่เกิดขึ้นในช่วงนี้อย่างแน่นอน เพราะอุณหภูมิสูงสุดในโลกเกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้วที่อุทยานแห่งชาติเดธ วัลเลย์ หรือหุบเขามรณะ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ คือ 54.4 องศาเซลเซียส และเป็นปรากฏการณ์คลื่นความร้อน เกิดขึ้นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น

แต่เมื่อคลิกอ่านข่าวผลการวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของอานา มาเรีย วิเชโด-คาเบร์รา ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแห่งกรุงเบิร์น สวิตเซอร์แลนด์ และอันโตนิโอ กาสปาร์รินิ แห่งลอนดอน สกูล ออฟ ไฮยีน แอนด์ ทรอปิคอล เมดิซีน กับข้อมูลในเว็บ c2es.org ผมก็ชักไม่มั่นใจว่าฝันเป็นแค่ฝัน และคำภาวนาจะได้ผล?

คณะวิจัยชุดดังกล่าวเก็บรวบรวมข้อมูลอุณหภูมิและการเสียชีวิตในช่วงฤดูร้อน 43 ประเทศจำนวน 732 พื้นที่ ตลอดช่วงเวลากว่า 28 ปี พบว่าผู้เสียชีวิตในช่วงระหว่างปี 2534-2561 ที่มีสาเหตุเชื่อมโยงกับภูมิอากาศร้อนและสาเหตุเกิดภาวะโลกร้อนช่วงดังกล่าวนั้นมาจากฝีมือของมนุษย์

ประเมินว่าผู้เสียชีวิตแต่ละปีจะมีประมาณ 9,700 คน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เอเชียใต้ ยุโรปตอนใต้ ทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้

 

ขณะที่ในเว็บของ c2es.org ซึ่งเป็นเว็บที่มีชื่อเสียงด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมระดับโลก ชี้ว่าปัจจุบันทั่วโลกเจอกับอากาศที่ร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ และช่วงอากาศเย็นๆ ก็ลดลงเป็นลำดับ

c2es.org เก็บสถิติของสหรัฐอเมริกาช่วงเวลากว่า 10 ปีมาวิเคราะห์แล้วประเมินว่า ถ้าในกลางศตวรรษนี้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปยังชั้นบรรยากาศโลกไม่ลดลง อุณหภูมิทั่วสหรัฐ ทั้งอุณหภูมิสูงขึ้นหรืออากาศเย็นจัด จะมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 5 องศาฟาเรนไฮต์ และเมื่อสิ้นศตวรรษ เพิ่มเป็น 10 องศาฟาเรนไฮต์

ก่อนหน้านี้เคยมีการประเมินว่าในวันที่อุณหภูมิสูงกว่า 90 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 32.2 องศาเซลเซียส ตลอดทั้งปีของสหรัฐจะมีค่าเฉลี่ย 20-30 วัน

แต่ในปัจจุบัน ผลการศึกษาพบว่า วันที่มีอากาศร้อนอุณหภูมิสูงถึง 37.7 องศาเซลเซียส จะมีมากเป็น 2 เท่า และวันที่อุณหภูมิสูงกว่า 40.5 องศาเซลเซียส เพิ่มเป็น 3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับปลายศตวรรษที่ 20

เว็บ c2es.org ระบุว่า อากาศร้อนสุดๆ จะทำให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ ตามมา นั่นคือภัยแล้ง ไฟป่า และเมืองใหญ่ๆ ที่มีตึกสูงรายล้อม ถนนมีแต่พื้นซีเมนต์ ต้นไม้หร็อมแหร็ม จะมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นอีกเพราะอากาศไม่ถ่ายเท ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ระบบนิเวศน์และผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ชาวอเมริกันเสียชีวิตด้วยสาเหตุจากสภาพอากาศทั้งร้อนและหนาวจัด เฉลี่ยปีละกว่า 600 คน

วันที่อากาศร้อนจัดๆ นั้น จะส่งผลร้ายต่อผู้คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรคไตหรือโรคหลอดเลือด

อุณหภูมิทั้งร้อนจัดมีผลต่อเกษตรกรรม พืชไร่แห้งตาย ผลผลิตลดลง วัวนมเจออากาศร้อนๆ ก็มีอาการเครียด นมจะมีปริมาณน้อยกว่าปกติ ขณะที่ระบบชลประทานจะเกิดการปั่นป่วนเพราะภัยแล้ง แหล่งน้ำแห้งขอด และยังมีผลต่อการผลิตกระแสไฟฟ้า

ทั้งผลวิจัยของทีมคุณอานา มาเรีย วิเชโด-คาเบร์รา และข้อมูลของ c2es.org เหมือนบอกผมว่า อย่าประมาทกับความฝัน-หรือเปล่า?