บีอาร์ไอ พลังงานและหนี้/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

บีอาร์ไอ พลังงานและหนี้

 

บีอาร์ไอ หรือข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative-BRI) ของจีน หลายคนอาจคิดว่าเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อันอาจหมายถึง ถนน สะพาน เส้นทางรถไฟ รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ อู่ต่อเรือและคลังสินค้า สนามบิน

อาจเป็นเรื่องการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ การค้าชายแดน การทำธุรกรรมผ่านระบบ Digital การประกอบการธุรกิจ e Commerce เมืองอัจฉริยะ (Smart City)

รวมทั้งอาจเป็นการทูตดั้งเดิมและการทูต อำนาจอย่างอ่อน (Soft Power) แม้กระทั่งยุทธศาสตร์ด้านการทหารและความมั่นคงที่แข็งกร้างและดุดันก็ได้ด้วย

แค่สี่ห้าเรื่องนี้ก็นับว่า บีอาร์ไอมีเรื่องราวมากมายและใหญ่โตทั้งสิ้น

หารู้ไม่ว่า เรื่องของยุทธศาสตร์ บีอาร์ไอของจีนยังมีแง่มุมอีกมากมาย

เรื่องหนึ่งที่สำคัญมากคือเรื่องพลังงาน

บีอาร์ไอกับพลังงาน

 

ภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor-CPEC) อันมีทั้งการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การค้าระหว่างประเทศ การลงทุนจากต่างประเทศและยุทธศาสตร์ความร่วมมือการทหารระหว่างจีนและปากีสถาน

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องพลังงานอีกด้วย

คือ ภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถานมีโครงการพลังงานที่มีการลงทุนมูลค่ามากกว่า 31 พันล้านเหรียญสหรัฐ

แล้วจีนปรับลดหนี้ให้ปากีสถานไปประมาณ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ด้วยเหตุว่า ทางการปากีสถานไม่จ่ายหนี้

หนี้พุ่งพรวด

หนี้จำนวนมากเกิดจากการก่อสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producers-IPP) แบบผลิตไฟฟ้าเอาไปใช้หรือจ่ายเงินซื้อมา

สัญญาต่างๆ เป็นการลงทุนสร้างโรงผลิตไฟฟ้ามูลค่ามากกว่า 19 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ปากีสถานมีภาระจ่ายเงินจำนวน 5.9 พันล้านเหรียญสหรัฐแก่บริษัทเอกชนผลิตไฟฟ้าอิสระอย่างเดียวในอีก 4 ปีข้างหน้าคือปี 2025 แม้ว่าความจริงแล้ว โรงผลิตไฟฟ้าไม่ได้ผลิตไฟฟ้าเลยทางการปากีสถานก็ต้องจ่ายหนี้ก้อนนี้ เพราะผู้ผลิตไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการของปากีสถาน

อีกทั้งผู้บริหารพลังงานปากีสถานล้มเหลวในการก่อสร้างระบบสายส่งระดับชาติ (Grid) ให้เป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภค

ด้วยเงื่อนไขอันหนักหน่วง ปากีสถานเผชิญการขาดแคลนพลังงานอย่างแท้จริง

หนี้ภาคพลังงานเพิ่มจาก 7.2 พันล้านเหรียญสหรัฐปี 2018 เป็น 15.8 พันล้านเหรียญสหรัฐปี 2021 หนี้จะอยู่ที่ 26.3 พันล้านเหรียญสหรัฐปี 2025 การจ่ายหนี้คืนก็โป่งพองจาก 4.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถึง 5.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ

และอาจเพิ่มขึ้น 9.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในอีก 2 ปีข้างหน้า หนี้คิดเป็น 11% ของ GDP

มีการประเมินว่า ปากีสถานมีหนี้ประเทศโดยรวมอยู่เขตอันตราย หนี้อยู่ที่ 294 พันล้านเหรียญสหรัฐ แสดงว่าเท่ากับ 109% ของ GDP ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2020 รัฐบาลเป็นหนี้ต่อเจ้าหนี้ในประเทศ 158 พันล้านเหรียญสหรัฐ หนี้ต่างประเทศพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว 115.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ

โดยพันล้านเหรียญสหรัฐเป็นของ Paris Club 33.1 พันล้านเหรียญสหรัฐเป็นของผู้ให้กู้พหุภาคี 7.4 พันล้านเหรียญสหรัฐเป็นของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF และ 12 พันล้านเหรียญสหรัฐเป็นหุ้นกู้ Inter Bond

เจ้าหนี้รายใหญ่ชื่อจีน

 

การต่อกรกับหนี้ก้อนใหญ่ รัฐบาลประธานาธิบดีอิมราน คาน (Imran Khan) พยายามเจรจาต่อรองเงื่อนไขการซื้อกระแสไฟฟ้ากับ IPP จีนตั้งแต่ปีที่แล้ว

การเรียกร้องเจรจากับจีนอีกนี้ ทำตามข้อเสนอของคณะกรรมการหลักทรัพย์ปากีสถานที่เผยให้เห็นการจัดการภาคพลังงานที่ผิดพลาดของปากีสถาน

ในขณะที่ IPP จำนวน 16 รายลงทุนการผลิตกระแสไฟฟ้ามีรายได้ 400 พันล้านรูปีซึ่งทำกำไรในช่วง 2-4 ปี แต่ในรายงานฉบับเดียวกัน รายงานเจาะจงถึงความเสียหายของรัฐจากภาคพลังงานในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา มาจากค่าใช้จ่ายรายหัว ต้นทุนดำเนินการ รวมทั้งค่าการใช้น้ำมัน ค่าธรรมเนียมธนาคารและต้นทุนเครื่องจ่ายไฟฟ้าที่รัฐให้การอุดหนุน

ในทางตรงกันข้าม IPP จำนวน 7 รายจากจำนวน 16 รายเป็น IPP ของจีนกลับทำกำไรอย่างคาดไม่ถึงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าตามข้อตกลงระบุว่า บริษัทผลิตไฟฟ้าสามารถทำกำไรได้ระหว่าง 12-15% ของการลงทุน แต่ IPP ของจีนกลับทำกำไรได้สูงถึง 70-90%

สื่อมวลชนบางแขนงรายงานทำนองว่า ทางการจีนเริ่มขยับตัวตามข้อเรียกร้องให้มีการเจรจาใหม่เรื่องข้อตกลงซื้อ-ขายไฟฟ้า

แต่การผ่อนคลายหนี้ใดๆ นั้นเท่ากับเรียกร้องให้ธนาคารจีนแก้ไขสัญญาและเงื่อนไขเพื่อขยายการปล่อยเครดิตออกไป

ทั้งนี้ China Development Bank และ Import-Export Bank of China ต่างไม่ได้เตรียมปรับปรุงเงื่อนไขของธนาคารเอาไว้ก่อนว่า สามารถแก้ไขสัญญาได้หรือไม่

หากวิเคราะห์ให้กว้างขวางขึ้น การเจรจาครั้งนี้ ฝ่ายจีนทำได้ไม่ง่ายนักด้วยเหตุผลคือ ด้านหนึ่งหากทำตามยุทธศาสตร์คิดใหม่ ปักกิ่งย่อมอยู่ภายใต้แรงกดดันต่อยุทธศาสตร์บีอาร์ไอมูลค่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐของตน อันเป็นแรงกดดันภายในประเทศ กลายเป็นโครงการที่ก่อการสูญเสีย กลายเป็นหนี้เสีย

ในอีกด้านหนึ่ง หากไม่มีการเจรจาใดๆ ปักกิ่งย่อมอยู่ท่ามกลางกระแสการเมืองแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าปากีสถาน ก่อให้เกิด กับดักหนี้ (dept trap) แก่ประเทศผู้รับความช่วยเหลือจากจีน ซึ่งหลายประเทศโหมโจมตีบีอาร์ไอเวลานี้

เท่ากับปักกิ่งเสียหายทั้งขึ้นทั้งล่อง

ด้วยเหตุว่า อัตราภาษีภาคพลังงานกำหนดโดย National Electric Power Regulatory Authority-NEPRA แล้วในช่วงของการอนุญาตผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนมีสถานะเหนือการกำกับดูแล แล้วจากนั้น IPP ยื่นประกาศต่างๆ ที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับเงินทุน ทรัพย์สินทางการเงินและต้นทุนดำเนินการของบริษัทอันปรากฏชัดในบัญชีงบดุลของ IPP ที่เผยแพร่สู่สาธารณะ

น่าสนใจ IPP จีนเกือบทั้งหมดสามารถคืนทุนได้ภายในเวลาเพียง 2 ปีจากเดิมที่วางไว้คืนทุนภายในเวลา 4 ปี

และบริษัทจีนยังสามารถทำกำไรสูงราว 10 ถึง 20 เท่าของการลงทุน มีความเห็นว่าบริษัทเหล่านี้ต้องถูกฟ้องร้องเพื่อให้แสดงเอกสารที่ผิดพลาดต่อ NEPRA ตามรายงานของรัฐบาลปากีสถานอ้างว่า บริษัท IPP ความสามารถจ่ายเงินทั้งหมดจะพุ่งพรวดขึ้น 9.8 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2023 โดยบริษัท IPP จีนได้รับเงินจำนวนครึ่งหนึ่ง แม้ว่าบริษัทจีนจะยังไม่ได้ผลิตกระแสไฟฟ้าอะไรเลย

รัฐบาลอิสลามาบัดแห่งปากีสถานจะแสวงหาหนทางต่อขยายความสามารถการจ่ายเงินของ IPP จีนออกไปอีก 12 ปี เพื่อผ่อนปรนการขึ้นภาษีไฟฟ้าท้องถิ่นให้กับผู้บริโภค ซึ่งจำเป็นต่อการจ่ายเงินให้ IPP จีน ความจริง ระดับหนี้ปัจจุบันเกิดจากความแปรปวนระหว่างต้นทุนผลิตไฟฟ้ากับความสามารถรับรายได้จากผู้บริโภค

เป็นที่ทราบกันว่า ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าในปากีสถานเกือบ 50% สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค รัฐบาลปากีสถานต้องเพิ่มสายส่ง (transmission) กระแสไฟฟ้าและการกระจายการผลิตกระแสไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วถึง

ที่ปากีสถาน ราว 25% ของการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นการฉกฉวย และอีก 10% คือจ่ายค่าไฟฟ้าแต่ไม่ได้จ่าย อีกทั้งยังมีความไม่สมดุลของข้อตกลงการซื้อไฟฟ้ากับ IPP อีกด้วย คือราว 15% ของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด

นอกจากบีอาร์ไอมีเรื่องพลังงานแล้ว หนี้ยังเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องกล่าวถึง

หนี้ คือเหรียญอีกด้านหนึ่งของบีอาร์ไอ ที่ได้ตามหลอกหลอนจีนเกือบทุกโครงการ หนี้ซ่อนไม่มิด คล้ายๆ อีกหลายเรื่องที่ซุกอยู่

บีอาร์ไอจีน เรื่องที่เมาธ์มอยกันไม่จบ