ท่วงท่า การเมือง ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ราชสีห์ หรือหนู/กรองกระแส

กรองกระแส

 

ท่วงท่า การเมือง

ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์

ราชสีห์ หรือหนู

คำประกาศความพร้อมในการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะมาจากพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าจะมาจากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นคำตอบโดยตรงต่อการไม่กลัวในเรื่อง “ยุบสภา”

คำถามก็คือ การปล่อยข่าว “ยุบสภา” เกิดขึ้นมาอย่างไร

เกิดขึ้นมาพร้อมกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ และการเสนอพระราชกำหนดกู้เงิน 5 แสนล้านบาทเข้าสู่สภา

เป็นการเสนอพร้อมกับคำเตือนที่ว่าต้อง “ผ่าน” ความเห็นชอบ

เพราะหากไม่ผ่านความเห็นชอบในที่ประชุมสภา ทางออกหากนายกรัฐมนตรีไม่ลาออกก็จำเป็นต้องมีการยุบสภาเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่

เท่ากับเป็นการเตือนโดยตรงไปยังพรรคร่วมรัฐบาลโดยตรง

เพราะว่าเสียงของ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้านมีเพียง 200 กว่าปริ่มๆ เท่านั้นไม่สามารถคว่ำร่างกฎหมายการเงินทั้ง 2 ฉบับได้อย่างเด็ดขาด

เป็นการแสดงความเห็นชอบ ขณะที่ไม่กลัวต่อการยุบสภา ไม่กลัวการเลือกตั้ง

 

ท่าทีของพรรคภูมิใจไทย ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ ต่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ จึงเป็นท่าทีที่ควรให้ความสนใจ

เหมือนกับ 2 พรรคนี้จะเป็นดั่ง “หมูในอวย” ไม่กล้าหือ ไม่กล้าอือ

แต่หากใครที่ติดตามการอภิปรายของ ส.ส.พรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ในที่ประชุมอย่างเกาะติดก็จะมองเห็นว่า 2 พรรคนี้มี “ความเห็น” ต่องบประมาณ

ไม่ว่าจะเป็นนายพิสิฐ ลี้อาธรรม ไม่ว่าจะเป็นนายกนก วงษ์ตระหง่าน

ยิ่งนายชาดา ไทยเศรษฐ์ นายภราดร ปริศนานันทกุล นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ และปิดท้ายโดยนายศุภชัย ใจสมุทร ยิ่งร้อนแรงแหลมคม

แต่พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ก็ยกมือให้กับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ

แม้ในการพิจารณาพระราชกำหนดเงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาแก้ปัญหาโควิดก็เชื่อได้ว่าการอภิปรายของพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ก็จะร้อนแรงเช่นเดียวกัน

เป็นความร้อนแรงโดยพร้อมจะยกมือให้ผ่านความเห็นชอบ

 

ท่าทีของพรรคภูมิใจไทย ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ เช่นนี้สามารถสรุปได้เป็นการเล่นละคร เพราะยังติดยึดและห่วงในการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

เป็นกระบวนการอภิปรายดัง “ราชสีห์” แต่ลงมติไม่ต่างไปจาก “หนู”

เป็นภาพสะท้อนของการเมืองแบบเก่า ไม่ว่าจะสะท้อนออกผ่านตัวของนักการเมือง ไม่ว่าจะสะท้อนออกผ่านพรรคการเมือง

แต่เมื่อดำรงอยู่ในเดือนมิถุนายน 2564 ก็ทรงความหมาย

เพราะในความเป็นจริง ความร้อนแรงอันปรากฏผ่านท่าทีแบบ “ราชสีห์” เช่นนี้ได้จำหลักอย่างหนักแน่นอยู่ในสังคม และไหวเคลื่อนแสดงบทบาทของมันอยู่

ก่อให้เกิดรอยร้าวอย่างเด่นระหว่างพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์กับรัฐบาล

เมื่อเข้าสู่อุณหภูมิทางการเมืองที่เหมาะสมและมากด้วยความพร้อม ก็จะนำไปสู่ปรากฏการณ์ใหม่ในทางการเมืองอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้พ้น

เพราะว่า “อาวุธ” ได้ออกไปอยู่ใน “สังคม” แล้ว

 

การประกาศความพร้อมที่จะเข้าสู่ “การเลือกตั้ง” ไม่ว่าจะมาจากพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าจะมาจากพรรคประชาธิปัตย์ จึงถือได้ว่าเป็นความท้าทายในทางการเมือง

ท้าทายต่อคำขู่ในเรื่อง “การยุบสภา”

สะท้อนให้เห็นว่า การร่วมรัฐบาลของพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ มิได้ร่วมในแบบ “หมูในอวย” อย่างเซื่องๆ ตรงกันข้าม กลับพร้อมที่จะเป็น “หมูไม่กลัวน้ำร้อน”

นี่คืออารมณ์หนึ่งที่ดำรงอยู่ในสังคมแห่งความขัดแย้ง แตกแยก