E-DUANG : สถานการณ์ “กวี” ชื่นฤดี “กวี” ด้วยกัน

 

เหมือนกับความเห็น”ต่าง“ระหว่าง 3 ศิลปินแห่งชาติจะเป็น “เรื่องส่วนตัว”

เป็นเรื่องส่วนตัวเช่นเดียวกับ “การเลือกตั้ง”

“หนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ทีวีทุกช่อง วุ่นวายอยู่กับเรื่องของผมที่ว่าจะเลือกตั้งหรือไม่ บ้าบอคอแตกกันอยู่นั่น วันนี้จะเป็นจะตาย เพราะฉะนั้น อย่าไปสนใจ”

“ใครจะพูดอะไรก็พูดไป มันเรื่องของผม”

แต่คำถามอันตามมาอย่างฉับพลันทันใดก็คือ ความเห็นต่างของ 3 ศิลปินแห่งชาติเป็นเรื่องอะไร

เรื่อง “อะไร” ต่างหากที่เป็น “ประเด็น”

 

ใครที่อ่านหนังสือ “ราชาธิราช สามก๊กและไซ่ฮั่น โลกทัศน์ชนชั้นนำไทย” ของ กรรณิการ์ สาตรปรุง

ต้องพบประโยคนี้ใน “บทนำ”

“กวีผู้เป็นคนสร้างสรรค์งานวรรณกรรมเป็นสมาชิกหน่วยหนึ่ง ของคนในสังคม ซึ่งโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้กวีจึงย่อมตกอยู่ภายในกรอบความคิดและบริบทต่างๆแห่งยุคสมัยที่แวดล้อมอยู่”

“ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม”

สถานะ 1 กวีจึงเป็นมนุษย์ ขณะเดียวกัน สถานะ 1 กวีดำรงอยู่ในสังคม

มีหรือที่จะหนีพ้นไปจากโครงครอบของสังคม

ยิ่งหากกวีทะยานไปอยู่ในสถานะอันได้รับยกย่องว่าเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” ยิ่งอยู่ในจุดอันสูงส่ง สรุปตามสำนวนของโกวเล้งก็ต้องว่า

มิอาจเป็นตัวของตัวเองได้ จำเป็นต้องรับแรงสะเทือน

 

ไม่ว่าจะเป็นกวีที่เพิ่งเริ่มเขียนกลอน ไม่ว่าจะเป็นกวีที่ผ่านการแต่งเพลง ไม่ว่าจะเป็นกวี 3 บรรทัด

ล้วนอยู่ในจุดอันเป็น “กวี” ชื่น “ฤดีด้วยกัน”

ยิ่งเป็นกวีที่เคยดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.ทบ. เคยดำรงตำแหน่งเป็น “นายกรัฐมนตรี”

ยิ่งแทบไม่เหลืออะไรเป็น “ส่วนตัว”

จะขยับขับเคลื่อนอะไรแสงแห่งสปอตไลต์ในทางสังคมย่อมฉายจับละเอียดถี่ถ้วน

มองสังคมจากกวี มองกวีจากสังคม