วิรัตน์ แสงทองคำ/เรื่องราวธุรกิจโรงแรมไทย (2)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ/viratts.WordPress.com

เรื่องราวธุรกิจโรงแรมไทย (2)

 

ภาพธุรกิจโรงแรมไทยอันโลดโผนเกิดขึ้นในจังหวะหัวเลี้ยวหัวต่อ

ว่าด้วยโมเดลธุรกิจโรงแรมไทย มีหลากหลายพอสมควร ด้วยที่มาและภูมิหลังทางธุรกิจที่แตกต่าง ทั้งนี้ มาจากมุมมองโลกในแง่ดีทางเดียวกัน เชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งไทยและระดับโลกจะเติบโตไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยไม่คาดว่าสถานการณ์จะพลิกผันไปอย่างรวดเร็ว อย่างเหลือเชื่อ

กรณี AWC-บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) เพิ่งเปิดฉากขึ้นจริงจังไม่นานมานี้ ในฐานะหนึ่งในเครือข่ายธุรกิจใหญ่-กลุ่มทีซีซี เติบโตมาจากธุรกิจสัมปทานสุรา สะสมความมั่งคั่ง กลายเป็นนักล่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ เป็นมาอย่างแข็งขัน จนกลายเป็นผู้ถือครองรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟูในทศวรรษ 2530

โดยเฉพาะถือครองและบริหารทรัพย์สินในทำเลสำคัญใจกลางกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ มีโรงแรมเปิดดำเนินการแล้วมากกว่า 10 แห่ง อย่างไรก็ตาม เป็นเพียงธุรกิจหนึ่งในภาพใหญ่-ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในสังคมไทย

แม้ว่า “เริ่มจากการลงทุนในที่ดิน จากพัฒนามาลงทุนในกลุ่มโรงแรมอิมพีเรียลเมื่อปี 2537” อ้างไว้ตอนหนึ่งของที่มา อย่างไรก็ตาม ถือว่า AWC เป็นกลุ่มธุรกิจโรงแรมอันเยาว์วัย โฟกัสธุรกิจในสังคมไทย ตามโมเดลคลาสสิค เน้นอ้างอิงเครือโรงแรมระดับโลก

เป็นไปตามโมเดลอย่างที่เคยเป็นมาในยุคต้น ไม่ว่ากรณีเริ่มต้นธุรกิจโรงแรมของ CENTEL : บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) (ปี 2526)-โรงแรมไฮแอทเซ็นทรัลพลาซา ERW : บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (ปี 2534 )-โรงแรม แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพ หรือ MINT : บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (ปี 2536)-โรงแรม เดอะ รีเจนท์ รีสอร์ท เชียงใหม่

ที่น่าตื่นเต้นกว่า เป็นโมเดลยุคสมัย เป็นปรากฏการณ์ เชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับบทเรียนในอดีต

 

จุดเริ่มต้นท่ามกลางปรากฏการณ์ Boom & Bust สังคมธุรกิจไทย ไม่ว่าเรื่องราวโลดโผน กรณี ปิ่น จักกะพาก (2529-2540) ท่ามกลางดัชนีตลาดหุ้นทะลุ 1,500 จุด (ปี 2536) แผนการอันอาจหาญธุรกิจไทยข้ามขั้นสู่เวทีระดับโลก เปิดฉากด้วยกรณีสำคัญ ยูนิคอร์ด ซื้อกิจการ Bumble Bee แห่งสหรัฐ (ปี 2532) และ เอสซีจี หรือเครือซิเมนต์ไทย ลงทุนกิจการเซรามิกในสหรัฐ-TileCera Inc. (ปี 2533) รวมทั้งธุรกิจโรงแรมไทย ดุสิตธานี-DTC : บริษัท ดุสิตธานี (มหาชน) จำกัด เป็นผู้นำเข้าสู่กระแสอันครึกโครม โดยเฉพาะแผนการจับมือกับพันธมิตร (เครือข่ายธนาคารไทยพาณิชย์) ซื้อเครือ (chains) โรงแรมระดับโลก-Kempinski (ปี 2537)

ที่จริงแล้ว DTC ดำเนินการแผนการดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2534-ซื้อ The Melrose โรงแรมที่เท็กซัส สหรัฐอเมริกา และในปี 2538 ลงทุนกว่า 500 ล้านบาทเข้าซื้อ Hotel Nikko Manila Garden (เวลานั้นอยู่ในเครือข่าย Japan Airlines)

ในปี 2540 ทันทีที่สังคมไทยเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ DTC ประสบการขาดทุนกว่าพันล้านบาทเป็นประวัติการณ์ กับภาพที่ปรากฏเบื้องหน้า ดีลยูนิคอร์ด กับ Bumble Bee ปิดฉากลงอย่างสิ้นหวัง Bumble Bee ล้มละลาย-ขายกิจการ ขณะเอสซีจี-TileCera Inc. ไม่เป็นไปอย่างที่คิด เป็นแค่บทเรียนอีกด้านการลงทุนต่างประเทศครั้งแรก จบลงภายในทศวรรษเดียว (2533-2543)

ถือได้ว่า DTC ปรับตัวอย่างรวดเร็ว ขายโรงแรมในเครือข่ายต่างประเทศเกือบทั้งหมด ยกแว้น Hotel Nikko Manila (Philippines)

 

จังหวะเวลาและปรากฏการณ์ในเวลานั้น มีบางสิ่งบางอย่างเทียบเคียงกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ที่จะกล่าวถึงกรณี MINT และธุรกิจโรงแรมในเครือบุญรอดบริวเวอรี่

MINT โดย William Heinecke กับประสบการณ์ 2 ทศวรรษกับเครือโรงแรมระดับโลก 2 ทศวรรษ ปรับยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ (ปี 2544) สร้างเครือโรงแรมของตนเอง รวมทั้งโมเดลธุรกิจใหม่ที่เรียกว่า “ธุรกิจการบริหารโรงแรม (Hotel Management Agreement หรือ HMAs” ถือเป็นพัฒนาการอีกขั้นของธุรกิจโรงแรมไทย ในเวลาใกล้เคียงกรณี DTC (ปี 2544) และไม่นาน CENTEL ก็เดินตาม (ปี 2550)

พร้อมๆ กับการขยายเครือข่ายสู่ต่างประเทศครั้งแรก MINT มองธุรกิจโรงแรมระดับโลกอย่างจริงจังมากขึ้น ในปี 2554 เมื่อซื้อเครือโรงแรมทวีปออสเตรเลีย (ปี 2554)-Oaks Hotels&Resort (ปัจจุบันมี 63 แห่งทั้งในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์) ตามมาด้วยซื้อเครือโรงแรมในยุโรป เครือข่ายครอบคลุมถึงละตินอเมริกา ถึงสองครั้งสองครา

ในปี 2558 ซื้อ Tivoli เครือโรงแรมแห่งยุโรปกว่า 10 แห่งที่ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศโปรตุเกส และบางแห่งอยู่ในบราซิล และที่ครึกโครมอย่างมากที่จังหวะช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเพิ่งผ่านมาไม่นานนี่เอง เริ่มต้นดีลในปี 2561 ซื้อ NH Hotel Group เครือโรงแรมยุโรปมีนับร้อยแห่ง ครอบคลุมทั่วทั้งยุโรป รวมถึงกลุ่มประเทศละตินอเมริกาด้วย

“สิ้นปี 2563 ไมเนอร์อินเตอร์เนชั่นแนลมีโรงแรมทั้งหมด 532 แห่ง และห้องพัก 75,638 ห้อง”

ข้อมูลสำคัญของ MINT ไม่เพียงมีฐานะบริษัทไทยเครือโรงแรมที่ใหญ่ที่สุด หากเป็นเครือโรงแรมที่เพิ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดด ไม่กี่ปีตามแผนการเชิงรุกในการเข้าซื้อกิจการ

 

แผนการเชิงรุกเกิดขึ้นกับเครือข่ายธุรกิจดั้งเดิมของไทยด้วย

ในปี 2557 ในช่วงคาบเกี่ยวเวลาฉลองครบรอบ 8 ทศวรรษบุญรอดบริวเวอรี่ ช่วงเวลาอันเคร่งครัดกับธุรกิจดั้งเดิม-ธุรกิจเบียร์กำลังจะเปลี่ยนไป บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S ถือว่าเป็นบริษัทในเครือ ก่อตั้งขึ้นตามแผนการ “เป็นการขยายธุรกิจเข้าไปสู่ด้านอสังหาริมทรัพย์” เป็นแผนการเชิงรุกทีเดียว ในช่วงปลายปีนั้นได้เข้าซื้อบริษัทจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามแผนการ เรียกกันว่าเข้าตลาดหุ้นทางลัด หรือ Backdoor Listing

ผมเคยว่าไว้ “ปรากฏการณ์สิงห์ เอสเตท ทำให้มุมมองเกี่ยวกับกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่เปลี่ยนไปจากเดิม ในช่วง 5 ปีต่อจากนั้น สิงห์ เอสเตท ดำเนินแผนการลงทุนซื้อกิจการเพื่อขยายสินทรัพย์และเครือข่ายอย่างรวดเร็ว พิจารณาเฉพาะสินทรัพย์เติบโตกว่า 5 เท่าในช่วง 5 ปีนั้น (2557-2561) …กลายเป็นเครือข่ายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่รายใหม่”

และแล้วตามมาด้วย บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR ก่อตั้งขึ้นตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจแยกตัวออกมาจาก S เดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างรวดเร็ว (พฤศจิกายน 2562)

SHR “…ดำเนินธุรกิจโรงแรมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ” ดูจะให้ความสำคัญเครือข่ายโรงแรมในต่างประเทศเป็นพิเศษ โดยมีแผนการเข้าซื้อเครือโรงแรมในต่างประเทศอย่างแข็งขัน อาจจะเรียกว่าเป็นช่วงเวลา “มองโลกในแง่ดี” แทบจะพร้อมๆ กับกรณี MINT เลยทีเดียว

ปี 2559 “เข้าซื้อโรงแรมในสหราชอาณาจักรจำนวน 26 แห่ง ซึ่งเป็นโรงแรมระดับ 3 ดาวและ 4 ดาว และดำเนินกิจการภายใต้แบรนด์ Mercure” และปี 2561 “ซื้อโรงแรม Outrigger จำนวน 6 แห่งใน 4 ประเทศ”

ปัจจุบัน SHR “บริหารจัดการโรงแรมและลงทุนในธุรกิจโรงแรมระดับนานาชาติที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2564 บริษัทมีโรงแรมทั้งสิ้นจำนวน 38 แห่ง 4,574 ห้อง ซึ่งตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ 5 ประเทศ สาธารณรัฐมัลดีฟส์ สาธารณรัฐหมู่เกาะฟิจิ สาธารณรัฐมอริเชียส สหราชอาณาจักร และประเทศไทย” ว่าอย่างนั้น

ว่าไปแล้วสถานการณ์ปัจจุบันแตกต่างจากกรณี DTC เมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว ธุรกิจโรงแรมไทยใหญ่ขึ้น ทั้งอยู่ในเครือข่ายธุรกิจใหญ่อันทรงอิทธิพล ทั้งสังคมธุรกิจไทยและระบบเศรษฐกิจไทย

ความเป็นไปจากนี้ สะท้อนความเป็นไปสังคมไทย ยุคหลัง COVID-19 ด้วย