เครื่องเสียง/พิพัฒน์ คคะนาท/เลือกลำโพงให้ PC

เครื่องเสียง/พิพัฒน์ คคะนาท [email protected]

เลือกลำโพงให้ PC

 

เที่ยวนี้จะชวนคุณๆ ไปเลือกชุดลำโพงมาใช้กับคอมพิวเตอร์ที่เรียกกันว่าเครื่อง PC หรือ Personal Computer นั่นแหละครับ

เพราะเท่าที่ทราบน้องนุ่งรุ่นหลังๆ ทั้งที่ห่างกันมากบ้าง น้อยบ้าง เดี๋ยวนี้ส่วนใหญ่ออกจะห่างจากห้องฟังและชุดเครื่องเสียงแบบเดิมๆ มาขลุกกับระบบเสียงของชุดคอมพิวเตอร์จำพวก Audio Systems for PC ทั้ง Desktop และ Notebook กันมากขึ้น

ทั้งนี้ นอกจากเวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันจะอยู่กับหน้าจอคอมพ์เป็นหลักแล้ว ทุกวันนี้ระบบเสียงหรือชุดลำโพงที่ออกแบบมาสำหรับเครื่องพีซีก็ให้คุณภาพเสียงออกมาดีไม่น้อยหน้าชุดเครื่องเสียงเพื่อการดูหนัง ฟังเพลง แต่อย่างใด

หนนี้ก็เลยหยิบชุดลำโพงเพื่อการที่ว่านั้นมาพูดคุยด้วย เผื่อว่ากำลังมองหาลำโพงประเภทนี้อยู่ จะได้มีทางเลือกเพื่อนำไปเปรียบเทียบกันดูครับ โดยชุดลำโพงเหล่านี้มีทั้งที่เคยได้ลองแบบบ้างก็ได้เล่น และบ้างก็ได้ฟังผ่านพอได้ความมาแล้ว โดยแต่ละแบรนด์ที่หยิบมานี้ ล้วนมีจำหน่ายและซื้อหาได้ในบ้านเราครับ

โดยทั้งหมดที่เลือกๆ มา มีอยู่ 5-6 ชุดด้วยกัน ขอไล่เรียงไปตามสะดวก (ที่นึกขึ้นได้) ดังนี้ครับ

 

เริ่มกันที่ลำโพงจากค่าย Bose Corp. ที่หากจะว่าไปนับเป็นรายแรกๆ ที่ทำลำโพงสำหรับชุดคอมพ์ออกมา ซึ่งให้รู้สึกประทับใจมาตั้งแต่ Companion 50 ที่เป็นแบบ 3 ชิ้น/ชุด ระบบ 2.1 คือนอกจากลำโพงซ้าย/ขวาแล้ว ยังผนวกสับ-วูฟเฟอร์เข้ามาด้วย ทั้งยังโดดเด่นด้วยการควบคุมผ่าน Control Pod ที่เอื้อความสะดวกในการใช้งานเป็นอย่างมาก

แต่ที่ขอหยิบมาแนะนำจากค่ายนี้ คือ Companion 2 Series lll ซึ่งเป็นน้องนุชสุดท้องของลำโพงตระกูลนี้ และมีราคาน่าคบหาตรงที่ค่าตัวไม่ถึงห้าพันบาท

หน้าตาก็ดังที่เห็นในภาพนั่นแหละครับ โครงสร้างลักษณะเพรียว หน้าแคบ เหมาะกับการนำไปใช้งานกับพวกโน้ตบุ๊ก เพราะสัดส่วนทางด้านกายภาพออกจะลงตัวกันดังที่เห็น

ออกแบบให้แผงหน้าเชิดขึ้นเล็กน้อย เพื่อยิงเสียงตรงไปยังแนวหูของผู้ใช้ ทำงานในระบบ Bass Reflex โดยมีท่ออากาศที่แผงหลัง ลำโพงขวาจะเป็นตัวหลักโดยที่ด้านหน้ามีปุ่มลูกบิดควบคุมระดับความดัง ซึ่งใช้เป็นสวิตช์เปิด/ปิดระบบในตัว ใต้ปุ่มลูกบิดเป็นช่องเสียบชุดหูฟังแบบ Mini Jack 3.5 mm. เพื่อความเป็นส่วนตัวในยามต้องการฟังเพลงแบบสบายๆ และสะดวกตรงที่มิพักต้องถอดสายเชื่อมต่อกับคอมพ์ออก

และที่แผงหลังยังมีช่องเสียบ Aux In เพื่อนำเครื่องเล่นอื่นมาต่อใช้งานได้ด้วย

Bose Companion 2 Series lll แม้จะทำงานในระบบ 2.0 แต่ให้เสียงเบสออกมาได้อย่างน่าฟัง ทั้งยังเป็นเบสที่นุ่มนวล มีพลังพอตัว และมีเนื้อเสียงมากกว่าที่คิด ทำงานร่วมกับแนวดนตรีต่างๆ ได้หลากหลาย แต่ให้รู้สึกมีชีวิตชีวา สนุกสนาน กับแจ๊ซแนวบอสสา โนวา มากสักหน่อย เสียงร้องให้ออกมาชัดเจน น่าฟัง มีความเป็นธรรมชาติ ขณะที่เสียงแหลมทอดไปได้พอประมาณ ให้รายละเอียดเสียงออกมาได้ดี

เป็นหนึ่งในความคุ้มค่ากับราคาไม่เกินเลยไปจากครึ่งหมื่น หากเตรียมงบฯ ไว้ประมาณนี้ควรหาโอกาสไปลองฟังดู

 

ชุดต่อมาที่ใคร่ขอแนะนำ คือ Audioengine A2+ Wireless ซึ่งจะว่าไปที่ประทับใจนั้นเป็นเจนแรกของเขา คือ A2+ ที่ไม่ใช่ Wireless แต่ปัจจุบันได้ยุติสายการผลิตไปแล้ว โดยพัฒนามาเป็น A2+ Wireless ซึ่งทำงานแบบไร้สายที่เอื้อความสะดวกและให้ความสบายในการใช้งานขึ้นไปอีกระดับ

Audioengine A2+ Wireless ทำงานแบบไร้สายผ่าน Bluetooth v5.0 aptX ที่รองรับ AAC : Advanced Audio Coding และ SBC : Subband Codec ภาคขยายเสียงที่ผนวกเข้าไว้เป็นแบบ Dual Mono Class-A/B โดยมีกำลังขับเครื่องละ 15 Wrms แยกขับลำโพงแต่ละตู้แบบตัวต่อตัว สามารถให้กำลังขับรวมสูงสุด (Peak) ได้ถึง 60W

ชุดตัวขับเสียงประกอบด้วยวูฟเฟอร์ ขนาด 2-3/4 นิ้ว ขึ้นรูปกรวยด้วย Aramid-Fiber ใช้วอยซ์-คอยล์แบบพิเศษ (Advanced Voice-Coil) ส่วนทวีตเตอร์เป็นแบบ Silk Dome ขนาด 3/4 นิ้ว ใช้แม่เหล็ก Neodymium นอกจากเชื่อมต่อแบบไร้สายแล้ว ยังมีอินพุตให้เลือกใช้ทั้งผ่านพอร์ต USB, RCA Jack และ Mini Jack 3.5 mm. เรียกว่ารองรับการทำงานได้หลากหลายจริงๆ โดยมี Line Out ให้ต่อกับสับ-วูฟเฟอร์ เพื่อทำงานในระบบ 2.1 โครงสร้างตู้ทรงกล่องสี่เหลี่ยมที่แต่ละด้านค่อนข้างใกล้เคียงกัน (4 – 6 นิ้ว) นั้น ขึ้นรูปด้วย MDF หนา 18 mm.

จัดเป็นหนึ่งในกลุ่ม Hi-End ของลำโพงคอมพ์ที่ให้สุ้มเสียงออกมาน่าทึ่งมาก ให้ไดนามิกเสียงออกมาได้ดี ภาพรวมของเสียงให้ออกมายิ่งใหญ่เกินตัวอย่างเหลือเชื่อ เสียงร้องเปิดโปร่งและมีความเป็นธรรมชาติสูง รายละเอียดของเสียงแหลมให้ออกมาครบถ้วน น่าฟัง และทอดปลายไปได้ไกลแบบไร้ความรู้สึกระคายเคือง เบสแน่น กระชับ และควบคุมการทำงานเอาไว้ได้เป็นอย่างดี ที่น่าสนใจอีกประการก็คือ ได้ผนวกภาค DAC : Digital-to-Analogue Converter เข้าไว้ในตัวด้วย

มีแท่นรองออกมาเป็น Option ให้เลือกใช้ เพื่อว่านำลำโพงไปตั้งวางแล้วมันจะแหงนหน้าเชิดหาตำแหน่งหูผู้ที่นั่งอยู่เบื้องหน้าได้พอดี

 

ชุดต่อมาเป็นที่รู้ๆ กัน ว่าหากจะหยิบยกลำโพงประเภทนี้มาพูดถึงละก็ มิอาจขาดชุดนี้ไปได้อย่างแน่นอน นั่นก็คือ Harman/Kardon SoundSticks ที่ปัจจุบันพัฒนามาถึงเจเนอเรชั่นที่ 4 แล้ว โดยที่โครงสร้างภาพลักษณ์และหน้าตาแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลย

Harman/Kardon SoundSticks 4 ยังคงมีโครงสร้างที่ขึ้นรูปด้วยอะครีลิกใส ซึ่งสามารถมองเห็นชุดตัวขับเสียงภายใน รวมทั้งยังส่องแสงวูบวาบขณะทำงานชวนให้สนุกสนานบันเทิงใจยิ่ง และยังคงมาด้วยระบบ 2.1 คือเป็นลำโพง 3 ชิ้น/ชุด ที่ประกอบไปด้วยแท่งลำโพง Satellite ซ้าย/ขวา และตู้ Sub-Woofer ทรงโค้งมนแบบโดมอีกหนึ่งตัว

โดยลำโพงแซตเทิลไลต์นั้นแต่ละแท่งจะเห็นชุดตัวขับเสียงแบบ Transducer ทำงาน Full-Range ขนาด 1.4 นิ้ว จำนวน 4 ตัว เรียงกันในแนวดิ่ง

ส่วนสับ-วูฟเฟอร์ใช้วูฟเฟอร์ขนาด 5.25 นิ้ว หนึ่งตัว ภาคขยายเสียงผนวกแอมป์กำลังขับ 140 Wrms ทำงานระบบไร้สายผ่าน Bluetooth v4.2 รวมทั้งยังมีช่อง Aux In ต่อเชื่อมด้วยสายสัญญาณกับอุปกรณ์ภายนอกได้ โดยผ่านช่องเสียบแบบ Mini Jack 3.5 mm.

เป็นชุดลำโพงที่ได้รับความนิยม และได้รับคำชื่นชมมาตั้งแต่รุ่นแรกที่ออกตลาดเมื่อร่วมทศวรรษมาแล้ว และมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับความชื่นชอบจากผู้ใช้ตลอดมาเช่นเดียวกัน ให้ภาพรวมของเสียงออกมาได้อย่างโดดเด่น โดยเฉพาะเสียงเบสให้การทำงานลงไปได้ต่ำ ลึก และให้พลังเสียงออกมาหนักแน่น เป็นเสียงเบสที่น่าฟังทั้ง Deep Bass และ Upper Bass เสียงร้องอวบอิ่ม ชัดเจน เสียงแหลมมีรายละเอียด โดยปลายเสียงออกจะระยิบระยับแบบหลายคนชอบ ขณะที่บางคนอาจจะติงว่าจัดจ้านไปนิด แต่สิ่งหนึ่งที่มักจะบอกเหมือนกันคือเป็นเสียงแหลมที่ฟังสนุกเอาการดี

นั้น, เป็นธรรมดาของนานาจิตตังในหมู่ผู้คนอยู่แล้ว

ส่วนชุดลำโพงที่เหลือมีอะไรอีกบ้างนั้น ขอยกไปต่อเที่ยวหน้านะครับ