จากนโยบาย ‘ลูกคนเดียว’ สู่นโยบาย ‘ลูก 3 คน’ ของจีน/บทความต่างประเทศ

FIEL - In this May 3, 2021, file photo, a man and child wearing masks visit Tiananmen Gate near the portrait of Mao Zedong in Beijing. China’s ruling Communist Party is looking at allowing easing birth limits further to allow couples to have three children instead of two in response to the population's rising age, a state news agency said Monday, May 31, 2021. (AP Photo/Ng Han Guan, File)

บทความต่างประเทศ

 

จากนโยบาย ‘ลูกคนเดียว’

สู่นโยบาย ‘ลูก 3 คน’ ของจีน

 

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลจีนประกาศนโยบายใหม่ที่จะเปิดทางให้คู่สามี-ภรรยาชาวจีนสามารถมีลูกได้ 3 คน จากเดิมที่อนุญาตให้มีได้เพียง 2 คน นับเป็นการสิ้นสุดนโยบายเข้มงวดที่เปิดทางให้มีลูกได้เพียง 2 คนก่อนหน้านี้ลงไปอย่างเป็นทางการ

นโยบายดังกล่าวซึ่งได้รับการอนุมัติโดยประธานาธิบดี “สี จิ้น ผิง” ในการประชุมคณะกรรมการโปลิตบูโรนั้น มีขึ้นหลังจากเมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลจีนเปิดเผยผลสำรวจจำนวนประชากรที่จะทำขึ้นทุกๆ 10 ปี ซึ่งพบว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรจีนนั้นอยู่ในระดับที่ “ช้า” มากที่สุดในรอบ 10 ปีเลยทีเดียว

ผลสำรวจจำนวนประชากรของจีนเปิดเผยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาพบว่า ทั่วประเทศมีเด็กเกิดใหม่ในปี 2020 เพียง 12 ล้านคนเท่านั้น นับเป็นการลดจำนวนลงอย่างมากนับจากปี 2016 ที่มีเด็กเกิดใหม่ทั่วประเทศจำนวน 18 ล้านคน และยังนับเป็นจำนวนเด็กเกิดใหม่ในรอบ 1 ปีที่น้อยที่สุด นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 60 หรือในรอบ 60 ปี

ด้วยแนวโน้มดังกล่าวจึงทำให้จีนถูกคาดหมายว่าจะกลายเป็นสังคมที่มีผู้สูงอายุมากกว่าคนอายุน้อยที่เป็นแรงงานหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ประชากรสูงอายุส่วนใหญ่จะดึงงบประมาณด้านสุขภาพและบริการสังคมให้สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

 

การประกาศนโยบายลูก 3 คนของจีนครั้งนี้ นับเป็นอีกครั้งที่จีนพยายามจะใช้กฎหมายแก้ปัญหาจำนวนประชากรในประเทศ หลังจากเมื่อ 40 ปีก่อนรัฐบาลประกาศใช้นโยบายเข้มงวดอย่างนโยบาย “ลูกคนเดียว” ที่ต้องการจำกัดจำนวนประชากรในประเทศ

นโยบาย “One Child Policy” หรือนโยบายวางแผนครอบครัว ถูกบังคับใช้ขึ้นตั้งแต่ปี 1979 มีเป้าหมายเพื่อควบคุมอัตราการเกิดของจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลานั้น

ในช่วงทศวรรษ 50 จีนมีประชากรราว 540 ล้านคน แต่ผ่านไป 30 ปี ในทศวรรษที่ 80 จีนกลับมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 940 ล้านคน หรือเกือบเท่าตัว

แนวคิดการมีลูกเพื่อช่วยทำมาหากิน ดันประชากรเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และยิ่งพิจารณาจำนวนผู้เสียชีวิตจากภาวะอดอยากที่อาจทำให้มีคนเสียชีวิตไปหลายสิบล้านคนในช่วงเวลานั้นแล้วด้วยยิ่งทำให้รัฐบาลจีนมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องควบคุมจำนวนประชากรอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้คนล้นประเทศและเกิดภาวะทรัพยากรไม่เพียงพอ

นโยบาย “ลูกคนเดียว” ถูกรัฐบาลจีนบังคับใช้อย่างเข้มงวด ครอบครัวใดที่ละเมิดกฎหมาย มีลูกมากกว่า 1 คนจะถูกปรับอย่างหนัก ในระดับ 4 เท่าของรายได้ต่อปีของครอบครัว หากเป็นข้าราชการหรือสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ก็จะถูกไล่ออกจากงาน หนักกว่านั้นก็ถึงขั้นบังคับให้ทำแท้ง

นโยบายลูกคนเดียวยังกลายเป็นช่องว่างให้เจ้าหน้าที่รัฐระดับท้องถิ่นทุจริตอย่างกว้างขวาง แนวคิดอยากได้ “ลูกชาย” นำไปสู่ปัญหาสังคม เช่น การขโมยเด็กชาย หรือแม้แต่การฆ่าลูกสาวที่เป็นลูกคนแรกเพื่อลุ้นลูกชายคนต่อไป

นอกจากนี้ ยังส่งผลให้จำนวนประชากรเพศชายมีมากกว่าเพศหญิง สวนทางกับค่าเฉลี่ยของโลกที่ประชากรเพศหญิงจะมากกว่าเพศชาย

 

นโยบายลูกคนเดียว บวกกับการพัฒนาการด้านสังคมและเศรษฐกิจของจีนในช่วงหลัง ทำให้จีนเริ่มกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ กลุ่มคนวัยทำงานลดน้อยลง นโยบายลูกคนเดียวจึงถูกผ่อนปรนลงไปเรื่อยๆ โดยให้คนบางกลุ่มหรือบางพื้นที่มีลูกสองคนได้ ก่อนที่จะอนุญาตให้คู่สามี-ภรรยาชาวจีนทุกคู่มีลูก 2 คนได้ทั่วประเทศเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมานี้เอง

หลังรัฐบาลจีนเปิดทางให้ประชาชนมีลูกได้ 2 คนเพื่อเพิ่มจำนวนเด็กเกิดใหม่ให้เพิ่มมากขึ้น แม้ช่วง 2 ปีแรกจะมีจำนวนเด็กเกิดใหม่เพิ่มขึ้น แต่หลังจากนั้นจำนวนเด็กเกิดใหม่ก็หล่นฮวบลงอีก และจนถึงขณะนี้ก็ยังคงมีแนวโน้มลดต่ำลงเรื่อยๆ ทุกๆ ปี

คำถามสำคัญก็คือ “นโยบายลูก 3 คน” จะสามารถเปลี่ยนทิศทางแนวโน้มเด็กแรกเกิดที่ลดต่ำลงให้เพิ่มขึ้นได้หรือไม่?

 

ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นตรงกันว่า อัตราการเกิดของประชากรในแต่ละปีที่ลดต่ำลงนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับ “กฎหมายบังคับการวางแผนครอบครัว” แต่เป็นผลมากจากสภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป

เมื่อประเทศพัฒนาขึ้น ประชากรให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นมากกว่าการมีทายาท ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา หรือการมีอาชีพที่มั่นคงเลี้ยงตัวเองได้

แนวโน้มลักษณะนี้เกิดขึ้นแล้วกับประเทศเพื่อนบ้านของจีนอย่าง “ญี่ปุ่น” รวมถึง “เกาหลีใต้” ที่มีอัตราการเกิดที่ลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ในช่วงปีที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามให้สวัสดิการต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนผลิตทายาทให้เพิ่มขึ้นก็ตาม

สำหรับประเทศจีนอาจต้องเผชิญกับผลกระทบที่รุนแรงมากกว่า เนื่องจากจำนวนประชากรเพศชายที่มากกว่าเพศหญิงอย่างมาก ล่าสุดในปี 2020 ประชากรชายมีมากกว่าประชากรหญิงไปมากถึง 34.9 ล้านคนไปแล้ว

นำไปสู่ปัญหาใหญ่สำหรับผู้ชายชาวจีนก็คือการหา “ภรรยา” ที่ยากลำบากตั้งแต่แรกนั่นเอง

อีกเรื่องที่สำคัญก็คือคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ “ผู้หญิง” ที่เลือกที่จะอยู่เป็นโสด หรือหากแต่งงานแล้วก็เลือกที่จะ “ไม่มีลูก” มีสาเหตุสำคัญมาจากเรื่องการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นจำนวนโรงเรียนอนุบาลที่มีน้อย ค่าเล่าเรียนที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก อาชีพครูที่ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ ค่าตอบแทนที่ไม่สมดุลกับแรงกดดันในอาชีพที่ต้องรับผิดชอบชีวิตของเด็กจำนวนมาก ก็ทำให้คนเลือกที่จะทำอาชีพครูน้อยลง

นั่นจึงทำให้ครอบครัวชาวจีนจำนวนมากในปัจจุบันตัด “ความกังวล” ที่จะเกิดขึ้นจากการมีลูกด้วยการ “ไม่มีลูก” ในท้ายที่สุด และนั่นก็ทำให้มองได้ว่า นโยบายล่าสุดที่รัฐบาลเปิดทางให้ชาวจีนมีลูกได้ 3 คนนั้นดูจะเป็นการ “แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ” และคงไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องจำนวนประชากรได้อย่างแท้จริงนั่นเอง