ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 มิถุนายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | วิกฤติศตวรรษที่ 21 |
เผยแพร่ |
วิกฤติศตวรรษที่21
อนุช อาภาภิรม
วิกฤตินิเวศ
เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (27)
ปะการัง : ผู้สร้างป่าฝนเขตร้อนแห่งท้องทะเล
ปะการังเป็นสัตว์ทะเลโบราณขนาดจิ๋ว อุบัติขึ้นเมื่อกว่า 500 ล้านปีมาแล้ว ทั้งทนทานและเปราะบาง สามารถอยู่รอดและมีวิวัฒนาการจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ในบางช่วงเวลาเหมือนขาดหายไป พบซากดึกดำบรรพ์น้อย
ปะการังเป็นสัตว์กินเนื้อ นับว่ามีความดุร้ายในตัวระดับหนึ่ง มีหนวดและเข็มพิษสำหรับจับเหยื่ออันได้แก่แพลงตอนสัตว์กุ้งและปลาตัวเล็ก เป็นต้น
ตัวปะการังที่อยู่เป็นนิคมสร้างแนวปะการังขึ้นมานั้นมีขนาดเล็กจิ๋ว เส้นผ่าศูนย์กลางราว 2-3 มิลลิเมตรเท่านั้น แต่มีรายงานข่าวที่คณะนักวิทยาศาสตร์พบว่า กลุ่มปะการังขนาดจิ๋วเหล่านี้ ได้รวมตัวกันเพื่อล่อและจับแมงกะพรุนที่มีขนาดใหญ่กินเป็นอาหาร
พฤติกรรมเช่นนี้เดิมคิดว่าปฏิบัติกันในหมู่ปะการังที่มีขนาดใหญ่ แต่กลับเป็นการปฏิบัติโดยทั่วไป เหตุการณ์นี้พบที่ถ้ำทางฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งมืดกว่าบริเวณชายฝั่ง (ดูรายงานข่าวชื่อ Coral ‘gangs’ trap and eat jellyfish ใน bbc.com 31/07/2018)
ปะการังเป็นสัตว์ทะเลที่มีความหลากหลายมากที่สุด มีราว 6,000 สปีชีส์ แบ่งเป็นหลายประเภท ที่พบเห็น รู้จักกันดีได้แก่ปะการังแข็งกับปะการังอ่อน ที่พลิ้วไหวไปตามคลื่นและกระแสน้ำสวยงามประทับใจแก่ผู้เห็น แต่เป็นปะการังแข็งที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างแนวปะการัง อันเป็นระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในท้องทะเล
จึงจะกล่าวถึงปะการังแบบนี้
ปะการังเป็นญาติกับดอกไม้ทะเล และแมงกะพรุน มีลำตัวอ่อนนุ่ม บางใส ไม่มีสมอง
ประการังแข็งมีลักษณะเฉพาะสำคัญคือการอยู่แบบพึ่งพากันกับสาหร่ายเซลล์เดียวชนิดหนึ่งเรียกว่าซูแซนเทลลี (Zoozanthellae)
ความสัมพันธ์ระหว่างปะการังสมัยใหม่กับสาหร่ายแบบนี้ มีการศึกษาระบุว่าเกิดขึ้นกว่า 210 ล้านปีมาแล้ว ในช่วงที่แผ่นทวีปยังรวมกันเป็นแผ่นเดียว ที่เรียกว่า “มหาทวีปแพนเจีย” เป็นวิวัฒนาการที่ช่วยให้ปะการังประสบความสำเร็จ จนถึงปัจจุบัน
(ดูบทความของ Catherine Zandonella ชื่อ When coral met algae : Symbiotic relationship crucial to reef survival dates to the Triassic ใน princeton.edu 02/11/2016)
ความสัมพันธ์แบบพึ่งพาเป็นทำนองนี้คือ ปะการังให้ที่พักพิงอันมั่นคงปลอดภัยแก่สาหร่ายอยู่ตามเนื้อเยื่อ และให้ของเสียจากอาหารได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น สำหรับสาหร่ายใช้ในการสังเคราะห์แสงเพื่อเลี้ยงตัว
ส่วนสาหร่ายให้ออกซิเจนและขับของเสียให้แก่ปะการัง ที่สำคัญคือให้กลูโคลสและกรดอะมิโน ซึ่งปะการังใช้ในการสร้างโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต เป็นสารอาหารเกือบทั้งหมดของตน และใช้สร้างเปลือกแข็งซึ่งเป็นแคลเซียมคาร์บอนเนตจากน้ำทะเล
ท้ายสุดสาหร่ายยังให้สีสันสดสวยแก่ปะการัง สร้างมูลค่าและความคุ้มค่าสำหรับมนุษย์ในการอนุรักษ์ปะการัง
จากการอยู่แบบพึ่งพากันกับซูแซนทาเลียดังกล่าว ทำให้ปะการังต้องมีพฤติกรรมบางอย่างคล้ายพืชทะเล และจำกัดที่อยู่อาศัยของตนไว้ในบางพื้นที่ ได้แก่ ต้องอยู่ในอุณหภูมิเขตร้อนถึงกึ่งเขตร้อน ไม่ต่ำกว่า 18 องศาเซลเซียส และสูงไม่เกิน 35 องศาเซลเซียส มีน้ำที่ใส มีความขุ่นน้อย เพื่อให้สาหร่ายได้รับแสงอาทิตย์เต็มที่ มีความเค็มที่พอเหมาะ ไม่ สามารถอยู่ตามปากน้ำที่มีน้ำจืดไหลลงทะเล ต้องการน้ำที่ไม่มีสารอาหารมากเกิน
ปะการังมีลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือการเป็นสัตว์นิคม ที่เราเรียกว่า “ปะการัง” นั้นประกอบด้วยปะการังนับร้อยนับพันตัว (เรียกว่าโพลิป) ปะการังยังอยู่กับสัตว์ทะเลอื่นจำนวนมาก มีทั้งปลา หอย และปู เกิดเป็นระบบนิเวศทางทะเลขนาดใหญ่
ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษาลึกลงไปพบว่าปะการังได้อยู่ร่วมกับจุลชีพ ได้แก่ ไวรัส แบคทีเรีย อาร์เคีย และฟังไจ คล้ายกับมนุษย์ (เป็น coral microbiome ทำนองเดียวกับ human microbiome) มีการสร้างวิชาใหม่เรียกว่า จุลชีพปะการัง (Coral Microbiology) ที่ศึกษาชุมชนจุลชีพทั้งที่เป็นคุณและเป็นโทษแก่แนวปะการัง
แนวปะการังมีอยู่ 3 แบบได้แก่
ก) ปะการังชายฝั่ง (Fringing Reef) อยู่ในเขตน้ำตื้น พบมากที่สุด แนวปะการังเกือบทั้งหมดอยู่ในกลุ่มนี้
ข) ปะการังกำแพง (Barrier Reef) ที่มีชื่อเสียงได้แก่ ปะการังกำแพงใหญ่ที่ออสเตรเลีย เป็นกำแพงกีดขวางการเดินเรือ อยู่ลึกถัดไป
ค) ปะการังเกือกม้า (Atoll) มักอยู่ไกลในทะเล ก่อตัวบนปล่องภูเขาไฟ พบมากในแนวภูเขาไฟในแปซิฟิก
ระยะหลังมีนักวิจัยบางคนเพิ่มชนิดที่ 4 ได้แก่ ปะการังพื้นทราย (Patch Reef) เกาะแน่นตามโขดหินพื้นทราย พบกระจายทั่วไป โดยทั่วไปไม่โผล่ขึ้นเหนือน้ำ
พื้นที่แนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดของโลกอยู่บริเวณมหาสมทุรแปซิฟิก-อินเดีย (รวมทะเลแดง) คิดเป็นเกือบร้อยละ 92 ของแนวปะการังทั่วโลก
ประเทศไทยที่มีชายฝั่งทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกและอินเดีย ก็มีแนวปะการังที่สวยงาม โดยเฉพาะในฝั่งทะเลอันดามัน แนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดของโลกได้แก่ เกรตแบริเออร์รีฟ ส่วนแนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด อยู่ที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลบูนาเคน ประเทศอินโดนีเซีย
สำหรับมหาสมุทรแอตแลนติกมีแนวปะการังที่สวยงาม บริเวณเม็กซิโกถึงอเมริกากลาง ทะเลแคริบเบียนและอเมริกาใต้
แนวปะการังสร้างขึ้นโดยสัตว์ทะเลเล็กจิ๋ว ทำให้โขดหินและพื้นทรายที่ว่างเปล่า เกือบไม่มีสารอาหารอะไร กลายเป็นระบบนิเวศที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
บางคนเปรียบแนวปะการังว่าเหมือน “ป่าฝนเขตร้อนในท้องทะเล”
ปะการังทั้งโลกครอบคลุมพื้นที่ไม่ถึงร้อยละ 0.1 ของผิวมหาสมุทร แต่เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในทะเลราวร้อยละ 25 ของทั้งหมด
บริการทางระบบนิเวศแนวปะการังที่ให้แก่มนุษย์มีหลายประการ คือการเป็นแหล่งอาหาร การป้องกันชายฝั่ง และการดำเนินชีวิตของผู้คนจำนวนมากถึงราว 1 พันล้านคน
แนวปะการังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของโลก ไปจนถึงกิจกรรมการอนุรักษ์ท้องทะเล
ในศตวรรษที่ 21 แนวปะการังเพิ่มบทบาทเป็นเหมือนตู้ยาของโลก มีการพัฒนายาใหม่ จากพืชและสัตว์ในแนวปะการังที่ใช้รักษามะเร็ง โรคปวดข้อ โรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย โรคอัลไซเมอร์ โรคหัวใจ และโรคอื่นจำนวนมาก
ขณะที่แนวปะการังให้บริการมากมายแก่มนุษย์ แต่มันก็ถูกรบกวนและเสื่อมโทรมอย่างหนัก เนื่องด้วยมีศัตรูตามธรรมชาติ คลื่นลมแรงจากพายุทำให้แนวปะการังแตกหักหรือถูกทำลายทั้งนิคม
มีโรคจากแบคทีเรียและไวรัสสัตว์ นักล่าจำนวนมากชอบกินมัน ได้แก่ ปลา หนอนทะเล เพรียง ปู หอยทาก ดาวทะเล
ที่สำคัญเป็นที่โชคร้ายว่า มนุษย์มักสนใจสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไป รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเล ในฐานะการใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะในเชิงพาณิชย์ มากกว่าความรู้ความเข้าใจเพื่อการอนุรักษ์และสร้างความยั่งยืนแก่แนวปะการัง
มนุษย์ทำลายหรือทำให้แนวปะการังเสื่อมโทรมด้วยกิจกรรมหลายอย่าง ได้แก่ การจับปลามากเกินไป การจับปลาอย่างไม่เหมาะสม เช่น การระเบิดปลาและการวางยาเบื่อปลา การท่องเที่ยวชมแนวปะการังมากเกินไป การทิ้งสมอ การก่อสร้างและการทำเหมืองแร่บริเวณชายฝั่ง การปล่อยน้ำเสียลงทะเล โดยเฉพาะจากการเกษตร มีทั้งปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช มลพิษจากการขนส่งทางทะเล ที่สำคัญได้แก่การสร้างภาวะโลกร้อน
เมื่อถึงทศวรรษ 1990 จึงได้เริ่มตระหนักรู้ถึงความเสื่อมโทรมและบริการที่จะขาดไปของแนวปะการัง จึงได้มีการจัดงานปีปะการังสากลขึ้นครั้งแรกในปี 1997 ครั้งที่สองจัดปี 2008 ครั้งที่สามจัดปี 2018 เพื่อตระหนักคุณค่า และป้องกันการสูญเสียแนวปะการังและระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมความร่วมมือในการจัดการแนวปะการัง แต่กลับเป็นว่าแนวปะการังยังเสื่อมโทรมตายหมู่กันต่อไป
ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับการตายหมู่ของปะการัง และการแก้ไขที่ยังดีกว่าไม่ทำอะไร