เครื่องเคียงข้างจอ : ฉีดวัคซีน / วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

 

ฉีดวัคซีน

 

ประเด็นฮอตฮิตติดเรตติ้งตอนนี้คงไม่มีเรื่องไหนร้อนแรงเท่าเรื่อง “การฉีดวัคซีน”

ไม่ว่า เมื่อไหร่ฉันจะได้ฉีด… ฉีดวัคซีนตัวไหน…. ฉีดดีหรือไม่ดี… ไม่ฉีดได้ไหม… ฉีดแล้วเป็นอะไรทำไง โอ๊ย…สารพัดคำถามที่เป็นกังวลอื้ออึงกันอยู่ยามนี้

มิไยที่เหล่าหมอๆ ทั้งหลายจะออกมาพูดแล้วพูดอีกว่า ฉีดเถอะคร้าบ…ขอร้อง ผลดีของการฉีดพิสูจน์ด้วยตัวเลขเปอร์เซ็นต์ที่สูง เมื่อเทียบกับตัวเลขฝั่งความเสี่ยงแล้ว ข้อดีมากกว่าข้อเสียหลายเท่า ผู้คนก็ยังระแวง

คุณหมออุตส่าห์พูดง่ายๆ ให้เข้าใจว่า ถ้าฉีดวัคซีนแล้วโอกาสไม่ติดโควิดมีมาก หรือถ้าติดก็จะไม่ป่วยหนักหรือตายได้ เท่านี้ก็ฟังดูเข้าใจได้ไม่ยาก

แต่เรื่องนี้ไปบังคับจิตใจใครไม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงที่ข่าวลวง ข่าวสร้างความตื่นกลัว ปลิวว่อนไปทั่วโลกโซเชียล

จนมีบางคนทนไม่ไหว และโพสต์ว่า “ให้เชื่อหมอ อย่าไปเชื่อหมา”

 

เราได้เห็นยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน หลักหลายๆ พันกันเลย ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตก็ไม่น้อย แต่เดิมคิดว่าตัวเลขจะค่อยๆ ลดลง ที่ไหนได้เกิดคลัสเตอร์ต่างๆ ในกรุงเทพมหานครเต็มไปหมด บวกกับคลัสเตอร์ตามจังหวัดต่างๆ เข้าไปอีก ผู้คนเลยร่ำร้องขอฉีดวัคซีนกันมากขึ้น

ผมได้มีโอกาสฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว ก็จะขออนุญาตแบ่งปันประสบการณ์ให้ฟังแล้วกัน ไม่ได้จะมาอวดว่าฉันได้ฉีดแล้วแต่อย่างใด เพียงแต่อยากจะบอกว่าฉีดวัคซีนปลอดภัยดีครับ

ผมได้ฉีดที่โรงพยาบาลศิริราช ขนาดไปก่อนเวลาเริ่มทำการร่วมครึ่งชั่วโมง ก็มีผู้คนนั่งรอที่จะเปิดต้นแขนให้เอาเข็มจิ้มกันอยู่แล้วกว่าสิบคน

เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลทยอยมาให้ข้อมูล เตรียมการอย่างพรักพร้อม ทุกอย่างมีขั้นตอน มีระบบที่เข้าใจง่าย ไม่ยุ่งยากเลย

เริ่มจากกรอกเอกสารข้อมูลของเราเสียก่อน จนท.ตรวจสอบเรียบร้อยพร้อมใบนัดหมาย ก็เริ่มเข้าสู่สมรภูมิ เอ๊ย เข้าสู่ภายในได้

ด้านในจุดแรกจะเป็นการวัดอุณหภูมิ แล้วก็ไปวัดความดัน มีบางคนอาจจะตื่นเต้นเลยความดันสูงไปหน่อย ต้องนั่งรอเพื่อวัดรอบสอง

เมื่อผ่านจุดวัดความดัน ก็นำเอกสารไปยื่นให้ จนท.เพื่อออกใบคิวลำดับการฉีดให้เรา จากนั้นก็มานั่งรอเรียกตามหมายเลข พอถึงหมายเลขของเราก็เดินไปที่ช่องตามที่ จนท.บอก

ที่นั่นจะมีน้องๆ พยาบาลเตรียมเข็มฉีดยาเล่มเล็กเพื่อฉีดวัคซีนให้เรา เตือนว่าให้ใส่เสื้อที่สะดวกต่อการเปิดต้นแขนกันนะครับ จะได้ไม่ยุ่งยาก

ผมเป็นคนไม่กลัวเข็มอยู่แล้ว เลยมองน้องเขาปักเข็มเข้าไป แล้วก็เดินตัววัคซีนเข้าร่างกายเรา ตอนแรกคิดว่าจะปวดตอนวัคซีนเดิน แต่เปล่าเลย ทุกอย่างปกติมาก ยังชมน้องพยาบาลเลยว่าฉีดนิ่มมากกกกกก

จากจุดวัดอุณหภูมิจนฉีดวัคซีนเสร็จ ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ถ้าคนเยอะก็อาจจะ 30 นาทีก็เสร็จ จากนั้นยังกลับไม่ได้นะครับ เขาให้นั่งพักรอดูอาการก่อน 30 นาทีว่าเรามีผลข้างเคียงใดๆ ไหม ระหว่างนั้นก็มีจอขนาดใหญ่ฉายข้อมูลที่ควรรู้ว่าควรทำตัวอย่างไร สังเกตอาการอย่างไร หลังรับการฉีดและกลับไปบ้านแล้ว

ผมนั่งถึง 30 นาที ก็เดินปร๋อกลับบ้านได้ โชคดีที่ไม่เป็นอะไร ก่อนกลับต้องแวะจุดสุดท้ายรับใบนัดหมายการรับวัคซีนเข็มสอง เท่านั้นก็เป็นอันเสร็จกระบวนการ

กลับมาบ้านก็มาอ่านข้อมูลเพิ่มเพื่อสังเกตอาการ ก็มีปวดเมื่อยตัวนิดหน่อยไม่มากอะไร วันแรกผ่านไปด้วยดีแต่ก็ยังไม่วางใจ เขาให้ดูถึงสองวันเสียก่อนจึงจะแน่ใจ

 

สรุปผ่านฉลุยครับ ไม่มีอาการใดๆ รบกวนเลย โดยเราต้องรายงานอาการของเราในแอพพลิเคชั่นที่เขาให้โหลดเพื่อการติดตามผลด้วยนะครับ

จากที่ดูข้อมูลทั่วไปหรือคุยกับเพื่อนๆ ในไลน์ถึงการไปฉีดวัคซีน ก็พบว่าสบายดีกันทุกคน อาจจะมีนิดๆ หน่อยๆ แต่ก็ไม่ได้น่ากังวลอะไร ทุกคนบอกว่ารู้สึกมั่นใจขึ้นในการใช้ชีวิต แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะการ์ดตกได้ ยังต้องระวัง ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง เลี่ยงการรวมตัวกันอยู่ จนกว่าจะได้ฉีดเข็มสอง

ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทางออกของประเทศคือการไล่ฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด ครอบคลุมที่สุด ข่าวว่าวัคซีนจะทยอยเข้ามาอีกหลายล้านโดส รวมทั้งที่ผลิตเองในประเทศด้วย หากรัฐบาลมีการบริหารจัดการเรื่องฉีดวัคซีนได้ดี ร่วมมือกับเอกชนและหน่วยงานต่างๆ ช่วยกันกระจายการฉีดวัคซีนให้รวดเร็ว ทั่วถึง ปลายปีนี้เราคงกลับมาเงยหน้าอ้าปากกันได้

เห็นยอดผู้ติดเชื้อและภาวะการระบาดรอบสามในประเทศไทยที่น่ากังวลเช่นนี้ เมื่อหันไปดูประเทศอินเดียจะยิ่งน่าตกใจมากกว่าหลายเท่า อินเดียมีผู้ติดเชื้อรายวันหลายแสนคน ภาพคนนอนตายริมถนน ศพลอยมาตามแม่น้ำ มีให้เห็นทุกวัน โรงพยาบาลล้น จนต้องมารักษากันเองก็มี

ที่หดหู่คือการเผาศพกลางแจ้งจำนวนมาก ดังที่เราได้เห็นจากข่าวกัน

 

วันก่อนดูรายงานข่าวถึงสภาพสาธารณสุขของอินเดียจากสถานีพีพีทีวี มีการสัมภาษณ์คุณหมอท่านหนึ่ง ที่เขาพูดได้น่าคิดมาก

“เรื่องการเลือกว่าใครจะอยู่ ใครจะตาย ควรเป็นหน้าที่ของพระเจ้า ไม่ใช่เรา”

เพราะคนป่วยล้นหลาม บุคลากรทางการแพทย์และยารักษาพร้อมทั้งเครื่องมือในการรักษามีไม่เพียงพอ เหล่าคุณหมอจึงต้องเลือกว่าจะรักษาใคร คนแก่ที่อาการหนักอาจต้องยอมให้ตายไป เพื่อเลือกช่วยคนอายุน้อยกว่าที่มีโอกาสรอดมากกว่า

“เป็นหน้าที่ที่ไม่มีใครอยากทำ” คุณหมอคนเดิมเล่าด้วยสีหน้าหดหู่ เหน็ดเหนื่อย “ผมต้องปลีกตัวออกมาจากโรงพยาบาลหลังจากทำงานติดต่อกันมาหนึ่งวันเต็ม มานั่งสงบสติอารมณ์ข้างนอก ครุ่นคิดทบทวนกับตัวเองว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ บางครั้งอยากจะลืมโลกที่โหดร้ายตรงนั้นชั่วขณะ เมื่อได้พักสักชั่วโมงก็ค่อยกลับไปทำหน้าที่ต่ออีก 24-28 ชั่วโมง”

“หลายคนคิดว่าพวกเราต้องเข้มแข็ง พวกเขาไม่รู้หรอกว่า หลายคนร้องไห้ และกลับบ้านไปพร้อมความโศกเศร้า ที่ต้องยอมปล่อยชีวิตคนไป”

 

ฟังอย่างนี้แล้ว ยิ่งต้องให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์มากๆ เลยครับ อะไรที่ลดความหนักหนา ลดความเสี่ยง ลดภาระจากเขาเหล่านี้ลงได้ เราต้องช่วยกันครับ และสิ่งที่ดีที่สุดคือ “การฉีดวัคซีน”

เพราะถ้าคุณฉีดแล้ว คุณมีโอกาสสูงที่จะไม่ติดโควิด ก็ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาเป็นภาระให้แพทย์อีก

หรือถ้าเป็นก็ไม่หนัก รักษาไม่นานก็ออกมาได้ แพทย์-พยาบาลก็งานเบาขึ้นเยอะ

หรือคิดว่า เราฉีดเพื่อป้องกันคนในครอบครัวที่เรารักไม่ให้ติดจากเรา เท่านี้ก็คุ้มค่าแล้วครับ

ยิ่งได้เห็นคลิปต่างๆ ที่ช่วยกันทำออกมาให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ และเอาเรื่องโควิดมาพูดในมุมเบาๆ น่ารักๆ ก็ยิ่งรู้สึกว่าทุกคนยังมีแรงสู้อยู่

“นึกว่าตัวเองอยู่กลุ่มเสี่ยง ที่แท้อยู่กลุ่มโสด”

“เจอไวรัสคงเป็นไข้ เจอคนที่ใช่คงเป็นเธอ”

“หยุดเชื้อเพื่อชาติ ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ฉันจะหยุดที่เธอ”

“ที่เธอหายไป เพราะไม่มีใจ หรือแค่กักตัว”

แต่ละอันช่างคิด น่ารัก หยิกแกมหยอกกันทั้งนั้น นี่แหละคนไทย หัวเราะได้แม้ภัยมา

เอาเป็นว่า เชียร์ให้ทุกคนฉีดวัคซีนกันนะครับ จะได้อยู่อ่าน ‘เครื่องเคียงข้างจอ’ กันไปนานๆ