ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | มิตรสหายเล่มหนึ่ง |
เผยแพร่ |
มิตรสหายเล่มหนึ่ง
นิ้วกลม
สิ่งมีชีวิตผู้ชาญฉลาดแต่เพียงผู้เดียว
“คนเป็นสัตว์ประเสริฐ”
ผมได้ยินคำบอกนี้มาตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอย ขนาดมนุษย์ประเสริฐเพียงนั้นเรายังต้องยืมหอยมาเปรียบเทียบเพื่อบอกขนาดอวัยวะเบื้องล่างของตน แต่นี่อาจเป็นเครื่องยืนยันความเก่งกาจของเผ่าพันธุ์ผู้ช่างคิดช่างเปรียบเปรย และที่ทำได้เช่นนั้นก็เพราะเรามีสมองที่ทรงพลานุภาพ
“มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตชาญฉลาด” ประโยคนี้มักตามมาด้วยคำอธิบายว่า “เราจึงครองโลกและมีรูปแบบชีวิตที่ล้ำหน้ากว่าสัตว์อื่น ไม่มีสิ่งมีชีวิตประเภทไหนมีอารยธรรม วัฒนธรรม และทรงภูมิปัญญาเท่าโฮโมเซเปียนส์อย่างเราๆ”
กระทั่งคำว่า ‘โฮโมเซเปียนส์’ ก็เป็นชื่อที่ถีบตัวเองออกจากเพื่อนโฮโมด้วยกันอีกหลายสาย โดยเลือกใช้คำว่า ‘เซเปียนส์’ ซึ่งแปลว่าชาญฉลาดหรือมีปัญญามานิยามเผ่าพันธุ์ตน น่าจะบอกใบ้ได้ว่ามนุษย์มองตัวเองอย่างไร
เหนือกว่าโฮโมอื่นทั้งมวล และเหนือกว่าสิ่งมีชีวิตที่ไม่ฉลาดเท่า
ซึ่งถ้ามองตัวเองในลักษณะนี้ก็ไม่แปลกที่จะดำริว่าเผ่าพันธุ์ฉันสามารถใช้สมองอันชาญฉลาดยึดครองและฉวยใช้ ‘ทรัพยากร’ บนดาวเคราะห์ดวงนี้ได้อย่างสบายใจ
ซึ่งทรัพยากรที่ว่านั้นจะเป็นอะไรไปได้ ถ้าไม่ใช่สิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ทั้งพืชพรรณ ป่าไม้ สัตว์เลี้ยง และสัตว์ป่า เลยไปจนถึงสิ่งไม่ชีวิตอย่างภูเขา แม่น้ำ แผ่นดิน อากาศ
ซึ่งถ้าว่ากันตามจริงย่อมยากจะพูดได้เต็มปากว่าป่า-น้ำ-ดิน-ลมนั้นไร้ ‘ชีวิต’ ผสมปนเปอยู่ในนั้นเลยจริงๆ หรือ ในเมื่อทุกภูเขาล้วนมีต้นไม้ ทุกแม่น้ำย่อมมีปลา ทุกแผ่นดินมีชีวิต ขณะที่สายลมคือลมหายใจ
เมื่อมนุษย์ก่อร่างสร้างอารยธรรม ดาวเคราะห์ด้วงนี้ก็ค่อยๆ ถูกทำให้กลายเป็น ‘โลกมนุษย์’ มากขึ้นเรื่อยๆ มุมมองที่เห็นสรรพสิ่งเป็นข้าวของที่มีไว้กินไว้ใช้ไว้สะสม (รวมถึงทำลาย) ทำให้มนุษย์ค่อยๆ แยกตัวออกจากโลกมากขึ้น เชื่อมโยงกับชีวิตอื่นน้อยลง หมกมุ่นกับตัวเองมากขึ้น
และเผลอใช้ความฉลาดของตนไปทำลายชีวิตอื่นมากขึ้นด้วย
ว่าแต่, เราเป็นสิ่งมีชีวิตชาญฉลาดแต่เพียงผู้เดียวจริงหรือ?
เมื่อลองเขยิบตัวเข้าใกล้เพื่อนร่วมโลกอื่น มนุษย์ค่อยๆ พบว่าเพื่อนเหล่านั้นมี ‘วัฒนธรรม’ และ ‘ภูมิปัญญา’ ในแบบของเขา
นิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟิกฉบับพิเศษ : มหาสมุทร เล่าความลับของเหล่าวาฬให้ฟังอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง
เครก เวลช์ ผู้เขียนสารคดีชิ้นนี้เล่าว่า วาฬและโลมาบางกลุ่มมีภาษาพูดพื้นถิ่น อาหาร และกิจวัตรเป็นของตัวเอง
ซึ่งเป็นความแตกต่างทาง ‘วัฒนธรรม’ ที่เคยคิดว่ามีแต่ในหมู่มนุษย์เท่านั้น
มีตัวอย่างน่าทึ่งมากมาย, วาฬเพชฌฆาตในรัฐวอชิงตันมีวิธีทักทายกันด้วยการเข้าแถวเรียงหน้ากระดานหันหน้าเข้าหากัน แล้วพุ่งเอาตัวถูกันไปมา ตามด้วยการส่งเสียงร้องใต้น้ำ
ขณะที่ฝูงทางเหนือไม่ทำแบบนี้เลย
ชาวถิ่นใต้ชอบกระโดดขึ้นหมุนตัวกลางอากาศและทิ้งตัวให้ท้องกระแทกน้ำ
ส่วนชาวถิ่นเหนือกระโดดลอยตัวพ้นน้ำน้อยกว่ามาก
ประชากรสองกลุ่มนี้พูดกันคนละภาษา ชาวเหนือส่งเสียงกังวานแหลมยาว ชาวใต้จะร้องสั้นๆ เหมือนห่าน เสียงสูง-ต่ำที่ต่างกันของพวกมันเปรียบเหมือนกับภาษาจีนกับภาษาไทย-คือต่างกันมาก
คำถามที่น่าสนใจคือ เหตุใดวาฬสองฝูงที่เกือบจะพูดได้ว่ามาจากแหล่งเดียวกันและมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกันแทบทุกอย่างจึงพูดและมีพฤติกรรมต่างกันได้เพียงนี้
นั่นหมายความว่า สัตว์สังคมเหล่านี้ไม่ได้ขับเคลื่อนชีวิตด้วยสัญชาตญาณและพันธุกรรมเท่านั้น มันยังมี ‘วัฒนธรรม’ ของมันด้วย!
เอาล่ะสิ! มนุษย์ผู้เจริญไม่ได้มีวัฒนธรรมอยู่สปีชีส์เดียวเสียแล้ว
วาฬเรียนรู้พฤติกรรมหลายอย่างจากเพื่อนหรือวาฬที่แก่กว่าในฝูง นั่นคือการเรียนรู้ทางสังคม เช่นนี้เองมันจึงส่งต่อพฤติกรรมกันได้
กระนั้น นักวิทยาศาสตร์บางคนก็มองว่าการเรียนรู้ทางสังคมกับสติปัญญาอาจไม่ใช่เรื่องเดียวกันเสียทีเดียว สติปัญญาคือการตอบสนองต่อวัฒนธรรม
เมื่อสัตว์ส่งต่อปัญญาที่ได้เรียนรู้ออกไปอย่างกว้างไกล เพราะวัฒนธรรมจะดำรงอยู่ได้เมื่อปัจเจก ‘คิด’ วิธีใหม่ๆ ในการทำสิ่งต่างๆ ที่เพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์ทำตามได้
ปี 1980 มีคนเห็นวาฬหลังค่อมตัวหนึ่งในอ่าวเมนหาอาหารด้วยวิธีใหม่ โดยใช้ครีบหางตีผิวน้ำก่อนพ่นฟองใส่ฝูงปลาแซนด์แลนซ์เพื่อให้สับสนทิศทาง พอถึงปี 2013 นักวิทยาศาสตร์ค้นพบวาฬอย่างน้อย 278 ตัวล่าเหยื่อด้วยวิธีนี้
นี่คือการส่งต่อวัฒนธรรม
แต่ที่น่ารักที่สุดคือ ในหมู่วาฬนั้นมี ‘เพลงฮิต’ ด้วย!
เพลงของวาฬหลังค่อมใช้คำสัมผัสและจังหวะ ประโยคสั้นๆ และทำนอง
หนุ่มๆ วาฬหลังค่อมเรียนรู้เพลงจากกันและกัน โดยจะมี ‘เพลงฮิต’ ในแต่ละช่วงซึ่งร้องกันในหมู่ญาติมิตร อาจฮิตขจรขจายข้ามมหาสมุทรได้เลยทีเดียว
เพลงวาฬหนึ่งเพลงอาจยาวหนึ่งชั่วโมง มันอาจร้องไปตลอดทั้งบ่าย พอร้องต่อกันไปเรื่อยๆ ก็จะปรับเปลี่ยนไปบ้าง ผ่านไปสักระยะ ก็จะมีผู้ร้องเพลงใหม่ขึ้นมา บรรดาวาฬหนุ่มก็จะเลือกเพลงที่โดดเด่นมาร้องตามกัน (เหมือนเพลงขึ้นชาร์ต) แล้วเพลงนั้นก็กลายมาเป็นเพลงฮิตในอีกช่วงเวลาหนึ่ง
ถึงตอนนั้นทั้งหมดก็จะทิ้งเพลงเก่าไปร้องเพลงใหม่กันแทน
เปรียบกับนก, นกที่ย้ายฝูงมาใหม่มีแนวโน้มจะหัดเลียนเสียงตามเจ้าบ้าน
แต่สำหรับวาฬแล้วพอเพลงฮิตใหม่เริ่มติดหู วาฬท้องถิ่นจะทิ้งเพลงเก่าของตัวเองมาขับขานเพลงใหม่กันหมด ซึ่งผู้ศึกษาเรื่องนี้เปรียบให้เห็นภาพเหมือนเราย้ายไปประเทศเพื่อนบ้านแล้วทุกคนทิ้งเพลงชาติตัวเองมาร้องเพลงชาติของเราแทน
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในระดับ ‘ปฏิวัติวัฒนธรรม’ แบบนี้เกิดขึ้นได้ยากมากในอาณาจักรสัตว์
ฟังเช่นนี้แล้ว วาฬ (รวมถึงสัตว์อื่น) น่าจะมีความลับอีกมากมายที่มนุษย์ยังศึกษาไม่ถี่ถ้วนพอ ซึ่งอาจมีหลายแง่มุมที่ทำให้ทึ่งได้ไม่ต่างจากเรื่องวัฒนธรรมและเพลงของวาฬซึ่งดังก้องอยู่ใต้ท้องทะเลมาเนิ่นนาน
เราเพียงไม่ได้ยิน (หรือไม่ได้ฟัง) เสียงอันน่าทึ่งเหล่านั้นเอง
อ่านเรื่องอัศจรรย์ของเหล่าวาฬแล้วก็รู้สึกสำนึกในความอหังการ์และหลงตัวเองของเผ่าพันธุ์มนุษย์อย่างเราๆ ที่มองตัวเองเป็นสิ่งมีชีวิตที่สูงส่งและแตกต่างไปจากสิ่งมีชีวิตอื่น
ซึ่งถ้ารู้จักเพื่อนร่วมโลกมากขึ้นอาจพบว่า มิตรสหายต่างสายพันธุ์นั้นมีบางอย่างคล้ายกันกับเรา มีวิถีชีวิต เรียนรู้ ถ่ายทอดสิ่งสร้างสรรค์ในวิธีที่คล้ายกัน
ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งมีชีวิตอื่นอาจมี ‘ความฉลาด’ ในรูปแบบที่แตกต่างไปจากความฉลาดแบบมนุษย์ๆ (ซึ่งก็น่าตั้งคำถามว่า ถ้าฉลาดจริงทำไมจึงทำลายดาวซึ่งเป็นบ้านหลังเดียวของตัวเองทุกวี่วันและเอาเปรียบสายพันธุ์เดียวกันไม่หยุดหย่อน)
ถ้าเราไม่ได้วัด ‘ความฉลาด’ ด้วยไม้บรรทัดมนุษย์ย่อมมีโอกาสเห็น ‘ความฉลาด’ แบบอื่นจากเพื่อนร่วมโลกซึ่งมีทักษะแตกต่างไปในการเอาชีวิตรอดและสืบเผ่าพันธุ์
ไม่เพียงแค่เพื่อนในท้องทะเล ยังมีเพื่อนที่ชวนให้อัศจรรย์ใจมากขึ้นไปอีก เมื่อได้รู้ว่าต้นไม้ทั้งหลายมี ‘ปัญญา’ ในการถักทอเครือข่ายเพื่ออยู่รอด พวกมันคุยกันอยู่เสมอด้วยภาษาที่เราไม่ได้ยิน
เหล่านี้ล้วนน่าทึ่งยิ่งนัก
มนุษย์อาจไม่ใช่ ‘สิ่งมีชีวิตผู้ชาญฉลาด’ แต่เพียงผู้เดียวอย่างที่คิดกันและชอบสั่งสอนลูก-หลานให้หยิ่งผยองในสายพันธุ์ของพวกเรากันเอง
เราอาจต้องลดความหลงตัวเองลงสักนิดจึงได้ยิน ‘ปัญญา’ ของชีวิตอื่น
สัปดาห์หน้ามาฟังต้นไม้คุยกันครับ