ประยุทธ์กับการ ผจญ อาถรรพ์ 7 ปี ‘รักร้าง 7-year cycles คนเคยรัก กลับมาไล่

บทความในประเทศ

7-year cyclesอาถรรพ์ 7 ปี ‘รักร้าง’

 

กระแสรัก “ลุงตู่”

จะเผชิญอาถรรพ์รัก 7 ปี

ตามทฤษฎีของรูดอล์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) นักปรัชญาชาวอิตาลี ที่ระบุไว้ว่าพัฒนาการด้านจิตใจและกายภาพของมนุษย์ มักจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทุกๆ 7 ปี หรือที่เรียกว่า seven-year cycles จึงมีคำเตือนคู่รัก หรือคู่แต่งงาน ให้ระวังการเลิกรา หรือหย่ากันในปีที่ 7 สูง ที่มีสถิติสูงถึง 50% หรือไม่ จึงน่าพิจารณาอย่างยิ่ง

ด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าสู่ตำแหน่งด้วยการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งตอนนี้ครบ 7 ปีเต็ม

เป็น 7 ปีที่ส่อเค้าจะมีปัญหากับมวลชน ที่ไม่ใช่เพียงแค่ฝ่ายตรงข้าม

หากแต่เป็นฝ่ายเคยรักกันมา

จึงมีคำถามว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเผชิญอาถรรพ์รัก 7 ปี หรือไม่

 

ต้องรับว่า กระแสแหนงหน่าย พล.อ.ประยุทธ์ขณะนี้ มีอัตราเร่งค่อนข้างแรงจากฝ่ายคนกันเอง

โดยเฉพาะจากการแก้ไขปัญหาโรคระบาดโควิด-19

ทำให้การขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้จำกัดวงเฉพาะกลุ่มคณะราษฎร พรรคฝ่ายค้าน กลุ่มไทยไม่ทน

แต่ขณะนี้รวมถึงอดีต กปปส.และนกหวีด ในนามกลุ่มประชาชนคนไทย (ปท.) นำโดยนายนิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา, นายปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) และนายพิชิต ไชยมงคล อดีตโฆษกเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย ด้วย

แถมยังมีผู้จับเชื่อมโยงไปยังกลุ่มบิ๊กเนมที่มีแนวคิดเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นด๊อกเตอร์อาทิตย์ อุไรรัตน์ นายอานันท์ ปันยารชุน

ที่แม้บุคคลดังกล่าวจะไม่ได้ออกร่วมเคลื่อนไหว แต่มีอิทธิพลแนวความคิดที่คล้ายคลึงกัน

โดยกลุ่มประชาชนคนไทย ขับเน้นตัวเลข 7 ปีแหนงหน่ายเช่นกัน

ด้วยการระบุว่า ในห้วงระยะ 7 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งสืบทอดอย่างต่อเนื่องมาจาก คสช.เป็นบทพิสูจน์ชัดถึงการยึดอำนาจเพื่อตนเองและพวกพ้อง

ไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปในทุกด้านของประชาชน

มีแต่ความพยายามกระชับอำนาจ

และออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ

ตั้งพรรคการเมืองเพื่อเข้าสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้งจากรัฐธรรมนูญ ที่เขียนให้ตนเองได้เปรียบ

อีกทั้งยังผิดสัญญาประชาคมซึ่งเคยให้ไว้ต่อรัฐสภา ประชาชนคนไทยต้องทนเห็นการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลของรัฐบาล

รวมถึงการตระบัดสัตย์ในคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชน

ที่สำคัญการก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

แทนที่รัฐบาลจะปกป้องสถาบันอย่างแข็งขัน กลับกลายเป็นการนำสถาบันมาเป็นข้ออ้าง เพื่อแบ่งแยกประชาชน แอบอ้างสถาบันมาเป็นเกราะปิดบังพฤติกรรมที่ผิดจริยธรรมทางการเมือง และกลบเกลื่อนความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของระบอบประยุทธ์

พล.อ.ประยุทธ์ไม่แสดงท่าทีใดๆ เมื่อสถาบันถูกแอบอ้าง นำมาเป็นประเด็นทางการเมือง ถูกกล่าวหาใส่ร้าย และโจมตีอยู่บนท้องถนนอย่างโจ่งแจ้ง อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

พล.อ.ประยุทธ์ยังคงแสดงออกราวกับว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาความแตกแยกของคนในชาติ ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล เป็นปัญหาระหว่างประชาชนส่วนหนึ่ง กับสถาบันพระมหากษัตริย์

ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้ว ต้นเหตุของปัญหาล้วนมาจากรัฐบาลนั่นเอง

พร้อมกับลงลึกถึงการตระบัดสัตย์ในคำมั่นสัญญาประชาคม 5 ด้าน คือ

1. ด้านการปฏิรูปประเทศ

ที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้การปฏิรูปทุกด้านยังไม่เกิดขึ้น แม้จะมีความพยายามในการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ตามกรอบรัฐธรรมนูญปี 2560 แต่ก็ไม่ได้มีความคืบหน้า หรือเกิดรูปธรรมที่เห็นได้ชัดว่าแนวทางการปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ตามเจตนารมณ์ของประชาชน

2. ด้านการปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ

การสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ การให้ความเป็นธรรมต่อมวลชนทุกกลุ่ม ไม่แบ่งแยกสีเสื้อและกลุ่มทางการเมือง เพื่อนำชาติบ้านเมืองเดินไปข้างหน้า แต่ที่ผ่านมารัฐบาลมิได้พยายามทำให้เกิดขึ้นเพราะระบอบประยุทธ์อาศัยความขัดแย้งของประชาชนเป็นเครื่องมือในการแบ่งแยกแล้วปกครอง ระบอบประยุทธ์ได้ประโยชน์จากความขัดแย้งนั้นมาโดยตลอด

3. ด้านทุจริตคอร์รัปชั่น

อภิมหาโครงการที่เกิดขึ้นในรัฐบาลประยุทธ์ที่หลายฝ่ายยกเป็นผลงานของรัฐบาล แต่มองข้ามเงื่อนงำของอภิมหาโครงการเหล่านั้น ทั้งยังเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนบางกลุ่ม

4. ด้านการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19

รัฐบาลล้มเหลวในการจัดการรับมือกับโควิดระลอกที่ 2 และ 3 นั้น มาจากความผิดพลาดของรัฐบาล ทั้งเรื่องการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้ามา การปล่อยให้มีการมั่วสุมในสถานบันเทิงจนกลายเป็นการระบาดรอบล่าสุดที่หนักกว่าทุกครั้ง

ประชาชนเสียชีวิตเพราะไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที รวมทั้งกระบวนการจัดหาวัคชีน การฉีดวัคซีนที่ล่าช้า การสื่อสารที่สร้างความสับสนกับประชาชน ล้วนแต่เป็นรูปธรรมความล้มเหลวอย่างยิ่งของรัฐบาลในการบริหารจัดการ

5. ด้านจริยธรรมทางการเมือง

พล.อ.ประยุทธ์แสดงออกในสิ่งที่ทำให้เชื่อได้ว่าใกล้ชิดกับนายทุนที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่บางราย ตั้งแต่การแต่งตั้งบุคคลที่สนิทสนมกับกลุ่มธุรกิจ ทั้งยังเคยเชิญนักธุรกิจบางคนให้ร่วมแสดงความเห็นในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ความสัมพันธ์ในลักษณะเช่นนี้ ไม่เหมาะสมสำหรับผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศ

จะเห็นว่า ปัญหาที่กลุ่มประชาชนคนไทยแสดงออกมา

ไม่ได้ต่างจากท่าทีของกลุ่มคนไทยไม่ทนที่เคลื่อนไหวขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่นานมานี้

และแทบไม่ได้ขัดแย้งกับข้อเรียกร้องของกลุ่มคณะราษฎรและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ในนัยสำคัญเลย

สะท้อนว่า สิ่งที่เรียกว่า “ระบอบประยุทธ์” ที่ขับเคลื่อนมาในห้วง 7 ปี ได้ก่อให้เกิดปัญหา “ร่วม” ขึ้นมาในสังคม

และต่างฝ่ายต่างเห็นสอดคล้องต้องกัน พล.อ.ประยุทธ์ต้องไป

เพียงแต่ตอนนี้ ทางออกหรือทางแก้ ยังแตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม

โดยกลุ่มประชาชนคนไทยยังคงดำรงแนวคิด “นายกฯ คนนอก”

เพื่อมาจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ในนามรัฐบาล “สร้างชาติ”

กำหนดภารกิจมุ่งเน้นการปฏิรูปทุกด้าน ทั้งปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปการศึกษา

ขจัดการผูกขาดทางธุรกิจ ขจัดการคอร์รัปชั่น ขจัดปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 และขจัดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย จากตัวแทนทุกฝ่าย

โดยมีกรอบเวลาที่ไม่ล่าช้า ภายในระยะเวลาไม่เกิน 15 เดือน

สำหรับรายชื่อผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี “คนนอก” ที่ยกตัวอย่างมา

คือ นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังก์ถัด) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO)

โดยบอกว่ากลุ่มทั้งอดีตแกนนำ กปปส.เก่า และอดีตแกนนำพันธมิตรฯ หลายคนมีความเห็นไปในแนวทางเดียวกัน

แต่กระนั้นก็ตาม กลุ่มไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ กลุ่มอื่น ทั้งฝ่ายค้าน กลุ่มราษฎร ดูยากที่จะรับแนวคิดนี้

ดังนั้น การเคลื่อนไหวต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่น่าจะเป็นเอกภาพ

และอาจจะไม่มีผลสะเทือนแบบฉับพลันทันที

 

ซึ่งก็สอดคล้องกับความเห็นของนักวิชาการอย่าง “สิริพรรณ นกสวน สวัสดี” นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้สัมภาษณ์ไว้ใน “มติชน” ชี้ว่า การเสนอให้นายกรัฐมนตรีลาออก คงไม่มีอะไรในขณะนี้ เพราะถือเป็นกลุ่มย่อย ไม่ใช่บุคคลระดับแบรนด์เนม

หากเปรียบรัฐบาลเหมือนเรือ เรือรัฐบาลนี้เพิ่งเจอกระแสลมที่รุนแรงขึ้น ยังประคับประคองไปได้

แต่กลุ่มความขัดแย้งน่าสนใจ จะต้องดูว่าในกลุ่ม คสช.เดิมมีปัญหาอะไรหรือไม่

เพราะถึงวันนี้ อาจมีการประเมินว่า พล.อ.ประยุทธ์จะดูเหมือนสินทรัพย์ที่เสื่อมคุณค่า เป็นจุดอ่อนที่นำไปสู่ความขัดแย้งได้

อย่างไรก็ตาม ดูท่าทีแล้ว พล.อ.ประยุทธ์คงจะไม่บอกว่า ผมพอแล้วŽ และขอยุติบทบาททางการเมืองเหมือน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังเหนียวแน่น จึงต้องดูว่าศักยภาพของ 3 ป.กับอีกฝั่งที่มีชนชั้นนำ เครือข่ายทหาร และกลุ่มทุน รวมทั้งข้าราชการะดับสูงบางกลุ่ม เป็นอย่างไร อาจจะแสดงความไม่ไว้ใจ เพราะผลประโยชน์ของพวกตัวเองเริ่มสั่นคลอน

ทำให้การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่เคยหนุนรัฐบาลเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะบางคนเคยอยู่ในกลุ่มอนุรักษนิยม

จึงถือว่าเป็นการรวมกลุ่มพันธมิตรใหม่ทางสังคมที่ต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แม้จะไม่เกิดขึ้นทันที แต่คนในสังคมจะมีการนำชุดข้อมูลไปพูดคุยขยายผลและมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพิ่มมากขึ้น

ทำให้มีการรวมตัวของเครือข่ายพันธมิตรทางสังคมแบบใหม่

แต่ผู้ที่เป็นกลุ่มอนุรักษนิยมอาจจะยังไม่เปลี่ยนแนวคิดทันทีเพื่อเป็นฝ่ายก้าวหน้า

อาจจะเพียงกล้าเปิดใจเพื่อมีมุมมองใหม่ๆ มากขึ้น

เชื่อว่าจุดนี้จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในอนาคต

ซึ่งจะต้องรอดูผลงานของรัฐบาลในระยะ 3 เดือนข้างหน้า

หากประเมินตามนั้น ระยะเวลาของ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ยืนยาวนัก

อาจต้องเผชิญภาวะ seven-year cycles อันเป็นห้วงพัฒนาการด้านจิตใจและกายภาพของมนุษย์ ที่เชื่อว่าจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทุกๆ 7 ปี

ที่เดิมจากเคยรัก เคยสนับสนุน

แต่เมื่อเผชิญสิ่งที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ผิดหวัง และสิ้นหวังในกือบทุกด้าน

ก็สามารถทำให้เกิดการแปรเปลี่ยนได้ ซึ่งเราก็เริ่มเห็นมากขึ้นและมากขึ้นตามลำดับ

จนชวนให้เกิดคำถาม พล.อ.ประยุทธ์จะต้องอาถรรพ์ 7 ปีนี้หรือไม่