เปิดไม่สวย ศก.ไตรมาสแรกติดลบ 2.6% เอกชน-ธุรกิจผวา เตือนรัฐบาลอย่าเชื่องช้า/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

เปิดไม่สวย

ศก.ไตรมาสแรกติดลบ 2.6%

เอกชน-ธุรกิจผวา

เตือนรัฐบาลอย่าเชื่องช้า

เหลือเวลาอีก 1 เดือนก็จะเข้าสู่ครึ่งแรกของปี 2564 แล้ว

แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมาผ่านไปแบบมึนๆ งงๆ เพราะประเทศไทยวนเวียนไปกับเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 2 ช่วงเข้าเทศกาลปีใหม่พอดี

พอดูเหมือนจะคลี่คลายจนรัฐผ่อนปรนมาตรการเพื่อให้ทำกิจกรรมได้ปกติ แต่ก็แค่ 1 เดือนเศษ หลังเทศกาลสงกรานต์ช่วงเดือนเมษายนผ่านไปไม่นาน เกิดพื้นที่แพร่ระบาด (คลัสเตอร์) ใหม่ๆ ขึ้นเป็นดอกเห็ด

การระบาดในรอบแรก ไทยถูกมองเป็นประเทศที่สามารถคุมการระบาดได้ดีในอันดับต้นๆ ของโลก

ผ่านมากว่า 1 ปี ไทยมากด้วยความคาดหวังที่ควรจะมีการเรียนรู้จากประสบการณ์การระบาดรอบแรก

แต่เมื่อเกิดการระบาดรอบ 3 ดูเหมือนทุกอย่างจะกลับตาลปัตร มาตรการรับมือของภาครัฐถูกมองว่าไม่มีความพร้อมและล่าช้าเกินไป!!

จึงเห็นภาพความวุ่นวายทั้งการตรวจเชื้อเชิงรุก ระบบการแจ้งขอตรวจโควิด อุปกรณ์และน้ำยาตรวจ การขนส่งผู้ป่วยเพื่อรับการรักษาในโรงพยาบาล รวมถึงจัดหาโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

พอๆ กับแผนกระจายฉีควัคซีน เพิ่งเริ่มสตาร์ต และกว่าจะได้ฉีดให้ประชาชนครบตามทางการแพทย์ที่สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ก็ต้อง 70% ของจำนวนประชาชนของประเทศ ก็น่าจะใช้เวลาจากนี้ไม่น้อยกว่า 4-6 เดือน

ข้อมูล ณ วันที่ 17 พฤษภาคม พบผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 9,635 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 25 ราย เสียชีวิตสะสม 614 ราย ซึ่งถือเป็นตัวเลขสูงสุด (นิวไฮ) ที่สะท้อนว่า ประเทศไทยกำลังถอยหลังลงคลอง ในแง่ของการควบคุมไวรัสหรือไม่

เนื่องจากพอเกิดการระบาดระลอก 3 ขึ้น ทุกอย่างชะงักไปหมด สวนทางกับหลายประเทศในโลกเริ่มกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติมากขึ้นแล้ว อาทิ ถอดหน้ากากอนามัย ไปสวนสาธารณะได้ แข่งกีฬา ชมคอนเสิร์ต เป็นต้น

 

มีถามว่า เมื่อด้านสาธารณสุขทรุดหนัก และกำลังเสริมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เป็นไปตามเป้าหมาย

แล้วด้านเศรษฐกิจจะเป็นกันอย่างไร!!

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ให้ทัศนะต่อวัคซีนเศรษฐกิจไว้ว่า ปีที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถคุมการระบาดโควิด-19 ได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เพราะยังไม่มีไวรัสกลายพันธุ์เหมือนในภาวะปัจจุบัน

บวกกับรัฐบาลเตรียมวัคซีนไม่เพียงพอ และนำเข้ามาล่าช้าเกินกว่ากำหนด ทำให้แผนการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันล่าช้าตาม

และพอมีแผนจัดหาวัคซีนแล้ว รัฐบาลก็ส่งสัญญาณความผ่อนคลายหลังเกิดการระบาดระลอก 2 ขึ้นเร็วเกินไป ทำให้การ์ดที่ตั้งอยู่สูงของประชาชนลดลง และเกิดการระบาดซ้ำอีกครั้ง ห่างกันเพียง 2 เดือนเท่านั้น

สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ภาคธุรกิจ และแม้แต่ภาครัฐเอง ต้องไม่การ์ดตก ป้องกันตัวเองให้สูงสุดต่อไป จนกว่าจะมั่นใจว่าโควิดจบลงได้จริง

โดยเมื่อเกิดวิกฤตขึ้น สิ่งที่ต้องมองหาคือ มาตรการทางการเงิน เพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชน และภาคธุรกิจ รวมถึงฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อไป

โดยอาจขยายวงเงินกู้เพิ่มขึ้นได้ แม้จะดันให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องทำหากมีความจำเป็น

หลักสำคัญคือ เมื่อกู้มาแล้วจะต้องใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุด เพราะแม้จะเป็นหนี้แต่ก็ถือว่าไม่ใช่หนี้เสีย แต่เป็นหนี้ที่ก่อเพื่อสร้างมาตรการความมีเสถียรภาพมากขึ้น

ในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ แม้จะมีวัคซีนต้านไวรัสเข้ามาเพิ่มมากขึ้น แต่ประเทศไทยยังมีความจำเป็นต้องจำกัดขอบเขตในการล็อกดาวน์อยู่ เนื่องจากการฉีดวัคซีนให้กับประชากรไม่ต่ำกว่า 70% ของจำนวนประชากรทั้งหมด เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นนั้น คาดว่าต้องใช้จำนวนวัคซีนกว่า 80 ล้านโดส ซึ่งการที่วัคซีนไม่สามารถเข้ามาพร้อมกันได้ทั้ง 80 ล้านโดสนั้น นอกจากจะต้องใช้เวลาในการรอวัคซีนแล้ว ยังต้องใช้เวลาในการฉีดวัคซีนให้ประชาชนด้วย

โดยเบื้องต้นคาดว่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยถึงสิ้นปีนี้ และกว่าจะฉีดได้ครบตามจำนวนประชากรทั้งหมดทั่วประเทศ น่าจะต้องรอจนถึงปี 2565

ทำให้ภาวะเศรษฐกิจในระยะถัดไป ยังอยู่ภายใต้ความกังวลและแรงกดดันจากการระบาดโควิด-19 แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นความกังวลรุนแรงไปตลอด เพราะประเมินว่า เมื่อมีวัคซีนเข้ามาและฉีดให้กับประชาขนได้มากขึ้น แรงผ่อนคลายจะเริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 3/2564

ส่วนไตรมาส 4/2564 อาจผ่อนคลายได้มากกว่าเดิมอีกระดับ

 

สมชายบอกอีกว่า จากการประเมินภาวะวิกฤต ผลกระทบ และทิศทางในอนาคต คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2564 จะโตได้เพียง 1% เท่านั้น หรือดีที่สุดคงโตได้เพียง 1.5% เนื่องจากแรงสนับสนุนมีค่อนข้างจำกัด เพราะภาคการท่องเที่ยวยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ โดยเฉพาะการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะสามารถเปิดนำร่องภูเก็ตโมเดลได้ตามกำหนดในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้หรือไม่

โดยปัจจัยสนับสนุนให้จีดีพีโต 1-1.5% มาจากภาคการส่งออก ที่คาดว่าจะโตได้กว่า 10% โดยรัฐบาลสามารถกระตุ้นการส่งออกให้โตได้เต็มที่ เพราะทิศทางเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัว ทำให้การส่งออกไทยฟื้นตัวตามได้

บวกกับโครงการกระตุ้นการใช้จ่าย หรือช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐ ทั้งโครงการคนละครึ่ง เราชนะ ม.33 เรารักกัน รวมถึงกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ หากโควิดสามารถคลายตัวและมีความชัดเจนว่า สามารถควบคุมการระบาดได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ เป็นการลงทุนของภาครัฐ ที่อาจขยายตัวได้ 10% หากรัฐดำเนินการตามแผนที่วางไว้ ซึ่งเม็ดเงินจากปัจจัยสนับสนุนเหล่านี้ น่าจะดันให้จีดีพีโตได้ในระดับ 1-1.5% เพราะจีดีพีไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ติดลบ 2% แม้จะเป็นการติดลบน้อย แต่ก็น้อยเพราะฐานในปี 2563 ติดลบสูงมาก ส่วนไตรมาส 2 ต้องมาลุ้นว่า จีดีพีจะติดลบลึกลงมากเท่าใด

โจทย์ใหญ่ในการฟื้นเศรษฐกิจที่ต้องท่องไว้คือ วัคซีนและวัคซีนเท่านั้น โดยรัฐบาลจะต้องเตรียมวัคซีนให้เพียงพอ อย่างน้อย 200 ล้านโดส เพราะอาจต้องฉีดให้กับประชาชนซ้ำโดสที่ 3 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อเนื่อง

อีกทั้งยังต้องเตรียมรับมือกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งวัคซีนที่มีอยู่อาจไม่สามารถป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้ โดยการเตรียมพร้อมวัคซีนเพิ่มขึ้นนั้น รัฐบาลอาจต้องร่วมมือกับภาคเอกชน ในการสั่งวัคซีนที่มีประสิทธิเข้ามาเพิ่มเติม ผ่านการใช้งบประมาณของภาคเอกชน เพราะรัฐบาลมีงบประมาณค่อนข้างจำกัด

ซึ่งเมื่อได้วัคซีนมาแล้ว ต้องเร่งฉีดให้เข้าสู่กลุ่มที่มีปัญหาอย่างเร่งด่วนที่สุด อาทิ คลัสเตอร์ใหม่ที่ พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากๆ อย่างคลองเตย ตลาดสดขนาดใหญ่ และต้องมีการประสานให้ผู้ที่ต้องการรับวัคซีน สามารถเข้ามารับได้แบบไม่ต้องลงทะเบียน เพราะขณะนี้พบปัญหาคือ ผู้ที่ลงทะเบียนจองสิทธิขอรับวัคซีน เมื่อถึงคิวแล้วกลับไม่มีการนำเข้ามาฉีดวัคซีนจริง ส่งผลให้ผู้ที่ต้องการรับวัคซีนจริงๆ เสียสิทธิไป

จึงมองว่ารัฐบาลควรเปิดพื้นที่ให้คนที่เดินทางเข้าไปขอรับวัคซีน สามารถฉีดให้ด้วยได้

 

สมชายทิ้งท้ายไว้อีกว่า หัวใจสำคัญในตอนนี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่ว่าจนหรือรวย จึงจะสามารถรับวัคซีนได้ แต่ขึ้นอยู่กับว่า ใครอยากได้วัคซีนต้องได้รับก่อนและได้รับจริง เพราะหากขอให้คนที่ได้รับวัคซีนต้องเป็นผู้ที่ลงทะเบียนมาก่อนเท่านั้น ความล่าช้าจะเกิดขึ้น และส่งผลกระทบในวงกว้างต่อไป โดยโจทย์หินในตอนนี้คือ ไม่ว่าโควิดจะดีขึ้นอย่างไร แต่ยังวางใจไม่ได้ เพราะโควิดสามารถกลับมาระบาดได้ใหม่อีกครั้งตลอดเวลา เพราะแม้จะฉีดได้แล้ว 70% จนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้น แต่อีก 30% หากยังไม่ฉีด ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่า จะไม่มีการกลับมาระบาดใหม่ซ้ำอีก

ขณะที่จะเห็นเจ้าสัวหรือเสี่ยใหญ่ในภาคธุรกิจระดับประเทศออกมาส่งสัญญาณรัฐต้องตัดสินใจโด๊ปยาแรงเพื่อกู้เศรษฐกิจไปพร้อมกับการฉีควัคซีน อย่าไปผูกติด “ไก่กับไข่อะไรควรเกิดก่อนกัน” เพราะความล่าช้าอาจกลายเป็นระเบิดเวลาให้เศรษฐกิจกู่ไม่กลับ ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณน่าห่วงแล้ว เมื่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก 2564 ประเดิมติดลบ 2.6%

แล้วไตรมาสสองจะเป็นอย่างไร เมื่อโควิดระลอก 3 หนักหนาอยู่

อีกทั้งยังปรับลดตัวเลขประมาณการทั้งปี 2564 เหลือโตแค่ 2% ต่ำกว่าที่รัฐบาล “ประยุทธ์” ตั้งไว้โต 4%

ผู้คร่ำหวอดในวงการเศรษฐกิจออกมาสะกิดอย่างนี้แล้ว ก็ไม่ควรมองข้าม