ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง : อธิกมาส

ล้านนาคำเมือง  ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า อธิกะมาด

หมายถึง อธิกมาส

“อธิกะ” แปลว่า เกิน, เพิ่ม

“มาส” แปลว่า “เดือน”

อธิกมาสจึงหมายถึงเดือนที่เพิ่มขึ้นในปีจันทรคติ คือในปีนั้นมี 13 เดือน มีเดือน 10 สองหน เรียกว่า เดือน 10 ปฐมะ และเดือน 10 ทุติยะ หรือเดือน 8 หนแรก และเดือน 8 หนสองในภาคกลาง

 

ปีที่แบ่งตามรอบพระอาทิตย์ (สุริยคติ) มี 2 แบบ คือปกติสุรทิน คือมี 365 วัน และอธิกสุรทิน คือมี 366 วัน ในปีนั้นเดือนกุมภาพันธ์จะมี 29 วัน

ปีที่แบ่งตามรอบพระจันทร์ (จันทรคติ) แบ่งเป็น 3 คือ

1. ปกติมาส-ปกติวาร (บางที่เขียนย่อเป็น ปกติมาส-วาร) คือปีที่เป็นปกติ มีเดือนคู่ ข้างขึ้น 15 วัน ข้างแรม 15 วัน และมีเดือนคี่ ข้างขึ้น 15 วัน ข้างแรม 14 วัน รวมวันใน 1 ปี เป็น (30×6 + 29×6) = 354 วัน

2. ปกติมาส-อธิกวาร (บางที่เรียกเป็นอธิกวาร) คือปีที่เป็นปกติ แต่เดือน 9 ล้านนา (เดือน 7 ภาคกลาง) จะมีข้างแรม 15 วัน รวมวันใน 1 ปี เป็น 354+1 = 355 วัน

3. อธิกมาส-ปกติวาร (บางที่จะเรียกเป็นอธิกมาส) คือปีที่มีเดือน 10 (เดือน 8 ภาคกลาง) เพิ่มอีก 1 เดือน หรือที่เรียกกันว่า มีเดือน 10 สองหนรวมวันใน 1 ปี เป็น 354+30 = 384 วัน ปีปกติทางจันทรคติ จึงน้อยกว่าปีปกติสุริยคติอยู่ 365-354 = 11 วัน เมื่อครบ 3 ปีเลยทำให้มีวันขาดอยู่ 33 วัน

คัมภีร์สุริยยาตร เป็นคัมภีร์ที่ใช้คำนวณปฏิทินสุริย-จันทรคติ ได้กำหนดการวางอธิกมาส (ปีที่มี 13 เดือน จำนวนวันทางจันทรคติเท่ากับ 384 วัน) ไว้ ให้ 21 ปีในรอบ 57 ปี คือทุก 19 ปี ให้วางอธิกมาส 7 ครั้ง

กำหนดให้วางปีปกติมาส (ปีที่มี 12 เดือน จำนวนวันทางจันทรคติ 354 วัน) ไว้ 25 ปี อีก 11 ปีที่เหลือจาก 57 ปี

กำหนดให้เป็นปีที่มีอธิกวาร (ปีที่มี 12 เดือน จำนวนวันทางจันทรคติ 355 วัน เดือน 9 ล้านนา หรือเดือน 7 ภาคกลางมีวันทางจันทรคติ 30 วัน) เพื่อให้วันทางจันทรคติได้เทียมกันกับทางสุริยคติ โดยจะห่างกัน 2 ปี หรือ 3 ปี แล้วแต่การคำนวณตามคัมภีร์สุริยยาตร

 

ส่วนการเข้าพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ ในปีปกติมาส ให้เข้าพรรษาในวันแรม 1 ค่ำ คือวันเข้าพรรษา หลังวันอาสาฬหบูชา ตามพระวินัย “วัสสูปนายิกขันธกะ” วัสสูปนายิกานุชานนา ว่าด้วยพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการเข้าจำพรรษา “อนุชานามิ ภิกฺขเว วสฺสาเน วสฺสํ อุปคนฺตุนฺติ” ภิกษุทั้งหลาย ให้เข้าจำพรรษาในฤดูฝน

ส่วนในปีอธิกมาส พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า “เทวมา ภิกฺขเว วสฺสูปนายิกา ปุริมิกา ปจฺฉิมิกา อปรชฺชุคตาย อาสาฬฺหิยา ปริมิกา อุปคนฺตพฺพา มาสคตาย อาสฬฺหิยา ปจฺฉิมิกา อุปคนฺตพฺพา อิมา โข ภิกฺขเว เทว วสฺสูปนายิกาติ”

วันเข้าพรรษามี 2 วัน คือวันเข้าพรรษาต้น และวันเข้าพรรษาหลัง เมื่อพระจันทร์เสวยฤกษ์อาสาฬหะล่วงไปแล้ววันหนึ่ง เป็นวันเข้าพรรษาต้น และเมื่อพระจันทร์เสวยฤกษ์อาสฬหะล่วงไปแล้วเดือนหนึ่ง จึงถึงวันเข้าพรรษาหลัง

ดังนั้น ในปี 2564 ปีอธิกมาส วันเข้าพรรษา จึงเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ทุติยะ (เดือน 8 หนสอง ในภาคกลาง) และในปีนี้ วันอาสาฬหบูชา ตามจันทรคติ ควรเป็นวันเพ็ญเดือน 10 ทุติยะ เนื่องจากเป็นปีอธิกมาสนั่นเอง

 

ปีนี้ปีอธิกมาสเจ้า