ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง : “วัดเจ็ดยอด”

ล้านนาคำเมือง

ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “วัดเจ็ดยอด”

วัดเจ็ดยอด หรือ “วัดโพธารามมหาวิหาร” สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช ทรงโปรดให้สร้างในปี พ.ศ.1998 โดยให้สีหโคตรเสนาบดี (หมื่นด้ามพร้าคต) เดินทางไปยังประเทศอินเดียเพื่อจำลองออกแบบรูปแบบเจดีย์และสัตตมหาสถานเจดีย์โดยมีโพธิบัลลังก์เป็นศูนย์กลาง

เจดีย์เจ็ดยอด ลักษณะคล้ายมหาวิหารโพธิที่พุทธคยา ฐานเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ล้อมรอบด้วยปูนปั้นเทพนมและลวดลายดอกไม้ที่มีความสวยงามวิจิตรพิสดาร และทรงโปรดให้นิมนต์พระอุตตมปัญญา พระมหาเถระมาเป็นอธิบดีสงฆ์องค์แรกของวัด

เหตุที่มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วัดโพธาราม” หรือวัดโพธารามมหาวิหาร เพราะพระเจ้าติโลกราชได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาจากสำนักพระภิกษุสีหล (ศรีลังกา) เรื่องอานิสงส์ปลูกต้นโพธิ์

จึงทรงมีพระราชประสงค์ใคร่จะปลูกต้นโพธิ์ จึงโปรดฯ ให้แบ่งหน่อมหาโพธิ์เดิมที่พระภิกษุสีหลนำมาจากศรีลังกาเพื่อมาปลูกไว้ในอารามป่าแดงหลวงเชิงดอยสุเทพ เอามาปลูกขึ้นไว้ในวัดนี้

 

วัดเจ็ดยอด เป็นวัดประจำปีคนเกิดปีมะเส็ง หรือปีงูเล็ก

ตามความเชื่อของคนล้านนา พระธาตุประจำปีเกิดปีมะเส็งคือ “โพธิบัลลังก์ วิหารมหาโพธิเจดีย์” รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ซึ่งอยู่ไกล จึงอนุโลมให้เป็นพระเจดีย์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน คือ “พระเจดีย์เจ็ดยอด” หรือ “มหาเจดีย์พุทธคยา” เป็นพระธาตุประจำปีเกิด

วัดเจ็ดยอด ตั้งอยู่ที่ตำบลช้างเผือก บนถนนซูเปอร์ไฮเวย์ (เชียงใหม่-ลำปาง) ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ออกมาเพียง 4 กิโลเมตร

เป็นวัดพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 วันที่ 8 มีนาคม 2478

วัดเจ็ดยอด มีความสำคัญทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทย ด้วยเป็นสถานที่จัดประชุมสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ 8 ของโลกและเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ในปี พ.ศ.2020

ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก พระเจ้าติโลกราชทรงสนับสนุนคณะสงฆ์นิกายสิงหล (ลังกาวงศ์) ทรงส่งเสริมการเล่าเรียนทางด้านปริยัติธรรม ทำให้ภิกษุล้านนามีความเชี่ยวชาญภาษาบาลี

และโปรดฯ ให้ประชุมพระเถระชั้นผู้ใหญ่เพื่อชำระพระไตรปิฎก ณ วัดโพธารามมหาวิหารหรือวัดเจ็ดยอดในปัจจุบัน โดยใช้เวลา 1 ปี

 

โบราณสถานในบริเวณวัดเจ็ดยอด ได้แก่

มหาวิหาร ซึ่งใช้เป็นสถานที่ประชุมสังคายนาพระไตรปิฎก พระอุโบสถหลังแรกของวัดซึ่งพระเมืองแก้วพระราชาธิบดีลำดับที่ 12 แห่งราชวงศ์มังรายทรงโปรดให้สร้างขึ้นตรงบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระศพพระเจ้ายอดเชียงราย พระราชบิดาของพระองค์ในวัดนี้ เมื่อปี พ.ศ.2045

สถูปเจดีย์อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าติโลกราช ซึ่งพระยอดเชียงราย ราชนัดดาของพระเจ้าติโลกราช ทรงโปรดให้สถาปนาขึ้นเป็นพระราชอนุสาวรีย์ที่ประดิษฐานพระอัฐิพระเจ้าติโลกราชในปี พ.ศ.2031

สัตตมหาสถานเจดีย์ (สถานที่สำคัญในพุทธประวัติเจ็ดแห่ง) ได้แก่ โพธิบัลลังก์ อนิมิตเจดีย์ รัตนจงกรมเจดีย์ รัตนฆรเจดีย์ อชปาลนิโครธเจดีย์ ราชายตนเจดีย์ ปัจจุบันเหลือเพียงสามแห่ง คือ อนิมิตเจดีย์ รัตนฆรเจดีย์ มุจจลินทเจดีย์

และหอไตร ซึ่งใช้เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกฉบับที่ชำระแล้ว เมื่อครั้งที่มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก ที่เรียกว่าอัฐมสังคายนา

นับเป็นศาสนสถานแห่งหนึ่งของประวัติพุทธศาสนาในประเทศไทยโดยแท้

เจดีย์วัดเจ็ดยอด เชียงใหม่