หลังเลนส์ในดงลึก : กับดัก

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ปลายเดือนเมษายน พ.ศ.2559 ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ทุกบ่าย 3 โมง เมฆดำครึ้ม สายลมพัดแรง สักพักสายฝนจะโปรยปราย สภาพอากาศคลายความอบอ้าว พายุฤดูร้อนปลายเดือนเมษายนทำหน้าที่อย่างสม่ำเสมอเป็นเช่นนี้มาเนิ่นนาน

กว่าสัปดาห์ก่อนในเวลาบ่ายๆ ที่ร้อนอบอ้าว ช้างอาวุโสผู้นำฝูงนำสมาชิกในฝูงมาแวะเล่นน้ำในหนองซึ่งได้มีการจัดการขุดให้กว้างขึ้นเมื่อฤดูแล้งปีก่อน ระดับน้ำลดลงแต่ไม่แห้ง เก้ง กวาง และหมูป่า รวมทั้งกระทิงเข้ามาใช้หนองน้ำแห่งนี้ เมื่อช้างกว่า 10 ตัวเข้ามา หนองน้ำกว้างใหญ่ก็ดูแออัด พวกมันนอนกลิ้งเกลือก เจ้าตัวเล็กดูเหมือนจะสนุกสนานกว่าใครๆ ตัวพี่เลี้ยงซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบเจ้าตัวเล็ก ผ่อนคลาย มันนอนตะแคงขาพาดไปบนตัวเพื่อนอย่างสบายอารมณ์

ดูเหมือนความแห้งแล้งในปีนี้จะรุนแรง ลำห้วยหลายแห่งซึ่งชุดลาดตระเวนเคยได้อาศัย แห้งผาก

“เวลาเดินต้องแบกน้ำไปด้วยครับ ปีนี้แล้งจริง” เอ๋ เจ้าของฉายาเซียนพระ เจ้าหน้าที่ของหน่วยพิทักษ์ป่าอุตะคีบอก เขาขี่มอเตอร์ไซค์มาจากหน่วยเพื่อเตรียมตัวประชุมงานลาดตระเวนในอีกสองวันข้างหน้า หลายๆ คนที่อยู่ในหน่วยไกลๆ ทยอยกันมา

“ชุดเสือกำลังเก็บอุปกรณ์ครับ ผมผ่านมาเมื่อตอนบ่าย” จำนงค์ หัวหน้าหน่วยทุ่งนาน้อยแวะเข้ามาทักทายและแจ้งข่าว

เมื่อวานผมได้ยินทางวิทยุสื่อสารว่า งานของทีมศึกษานิเวศวิทยาของเสือโคร่งจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำเสร็จแล้ว งานจับเสือเพื่อสวมปลอกคอเครื่องส่งสัญญาณวิทยุในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ต้นสัปดาห์ก่อน ทีมเสือซึ่งนำโดย ดร.อัจฉรา ซิ้มเจริญ กลับเข้ามาหลังจากออกไปพัก

“ไม่นานหรอก 3 วันก็เสร็จแล้ว” ดร.อัจฉรา พูดแบบขำ เพราะรู้ดีว่าเมื่อวางกับดักเพื่อจับเสือ ไม่รู้หรอกว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ สิ่งที่รู้ ดูคล้ายกับว่า คนที่เฝ้ารอจะเป็นผู้ “ติด” อยู่ในกับดักเสียเอง

 

เดือนธันวาคม ปี พ.ศ.2552

ผมใช้เวลากว่าหนึ่งเดือนร่วมกับทีมศึกษานิเวศวิทยาของเสือโคร่งจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำบริเวณทางตอนใต้ของลำน้ำขาแข้ง ช่วงก่อนหน้านั้นผมร่วมจับเสือกับพวกเขามาแล้ว 7 ตัว แต่ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่เราจับในเวลากลางคืน

ในวันแรกที่มาเราพบรอยที่เสือพ่นฉี่เอาไว้บนลำต้นไม้เพื่อแสดงอาณาเขตรอยตีนของมันประทับไว้ชัดเจนบนทางซึ่งเละเป็นโคลน อุ้งตีนหน้า 7.3 เซนติเมตร เรารู้ว่านี่คือเสือตัวเมีย เพราะตัวผู้ความกว้างของอุ้งตีนหน้าเฉลี่ย 8.8 เซนติเมตร เสือตัวเมียความกว้างของอุ้งตีนหน้า 7.5 เซนติเมตร

รอยตัวเมียที่พบทำให้เรายินดี เพราะเสือโคร่งตัวเมียคือเป้าหมายที่ต้องการ การติดเครื่องส่งสัญญาณวิทยุกับเสือตัวเมียทำให้เราได้ข้อมูลการผสมพันธุ์ รวมทั้งการเลี้ยงลูกและการครอบครองอาณาเขตของเสือตัวเมียก็ยาวนานกว่าเสือตัวผู้

พบร่องรอยใหม่เป็นเรื่องน่ายินดีก็จริง แต่ในงานของเราไม่ใช่เรื่องน่าดีใจนักหรอก เพราะหมายความว่าเสือผ่านไปแล้วและอีกนานกว่ามันจะกลับมา ในเสือตัวผู้ใช้พื้นที่อาศัยราวๆ 291 ตารางกิโลเมตรและตัวเมียใช้พื้นที่ 63-78 ตารางกิโลเมตร

ในอาณาเขตเสือตัวผู้จะมีตัวเมียอาศัยอยู่ 3 ตัว ชีวิตปกติของเสือคือเดินตรวจตราอาณาเขตของตนไปเรื่อยๆ พวกมันใช้เวลาราวๆ 15-17 วันจึงจะย้อนกลับมาที่เดิม

ธันวาคม เส้นทางยังเละเป็นโคลน แต่อุณหภูมิทางตอนใต้ของป่าห้วยขาแข้งก็ลดต่ำ เราอยู่กับการเฝ้ารอ โดยมีนกยูงส่งเสียงก้องกังวานเป็นเพื่อนทุกช่วงเช้ามืดและพลบค่ำ

ในความรู้สึกที่คล้ายกลับกลายเป็นผู้ติดอยู่ในกับดักไปไหนไม่ได้ พยายามให้กายและใจอยู่ร่วมกันให้ได้คือสิ่งจำเป็น

 

ท้องฟ้า เวลา 21:05 น. ของคืนนั้นมืดสนิท สิ่งที่ล้อมรอบตัวอยู่คือความเงียบ ไม่มีเสียงนกกลางคืน ไม่มีเสียงเก้งร้อง ไม่มีแม้แต่แมลงกรีดเสียง

เราอยู่ในความมืดและเงียบมาราวๆ 5 นาที เป็น 5 นาทีซึ่งดูยาวนานเสียเหลือเกิน มีเสียงคำรามเบาๆ แทรกความเงียบขึ้นมา เบื้องหน้าห่างออกไปสัก 10 เมตร เสือโคร่งตัวเต็มวัยตัวหนึ่งอยู่ที่นั่นติดกับดักอยู่ ถึงจะมองไม่เห็น แต่ผมรู้สึกว่าเสือกำลังมองมาทางเรา

ไม่มีอาการดิ้นรน เสือเป็นเช่นนี้เมื่อจนมุมมันจะนิ่งรอจังหวะเหมาะกระโจนเข้าหาผู้บุกรุก

ส่วนใหญ่เสือโคร่งเมื่อพบเหยื่อมันจะหมอบคลานเข้าหา อย่างระวังเงียบกริบ จนกระทั่งเหลือระยะราว 10-20 เมตร ก่อนเข้าจู่โจมตะปบด้วยกรงเล็บและกัดด้วยเขี้ยวบริเวณคอ ถึงร่างกายมันจะได้รับการออกแบบมาให้เหมาะสมเพียงใด แต่การล่าเหยื่อของเสือโคร่งนั้น จากความพยายามล่าเหยื่อ 20 ครั้ง จะมีเพียงครั้งเดียวที่สำเร็จ เสือจึงใช้เหยื่อของมันอย่างคุ้มค่า

ขณะมันยังหลับอยู่เพราะฤทธิ์ยาสลบ ผมลูบขนอันอ่อนนุ่มของมัน นั่นคือชีวิตชีวิตหนึ่ง ชีวิตที่คนมองเห็นแต่ความดุร้ายของมัน


เช้าวันรุ่งขึ้นเราไปเก็บกับดัก งานเสร็จแล้ว สัญญาณวิทยุดังแว่วๆ เสือยังไม่ไปไหนไกลหลังจากนี้มันจะใช้ชีวิตปกติ ชีวิตที่ขึ้นอยู่กับการล่าที่ประสบผล สำหรับเสือตัวเมียพวกมันต้องการอาหารเฉลี่ยวันละ 5-6 กิโลกรัม

เราเก็บสัมภาระขึ้นรถ เสือเป็นอิสระจากกับดักที่มันเดินพลาดมาติดแล้ว แต่หน้าที่ในการควบคุมปริมาณสัตว์กินพืชของมันยังดำเนินต่อไป

วันนั้นขณะเดินทางกลับสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ผมมองใบสีแดงอมส้มของต้นมะกอกเกลื้อน ถึงเวลาเปลี่ยนสีใบ ลดการใช้น้ำ ความชื้นในอากาศลดน้อยลง ฤดูกาลหมุนเวียน

ทั้งเสือและคนอาจมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน ดูคล้ายต่างก็ติดอยู่ใน “กับดัก” เป็นกับดักที่มองไม่เห็น


ทีมเสือใช้เวลาเพียง 3 วัน ก็ทำงานสำเร็จ

พวกเขาเก็บกับดักเตรียมเดินทางกลับสถานีวิจัย

เมื่อพลาดพลั้งติดกับดัก สิ่งที่เสือทำคือนิ่งรอจังหวะ ไม่ดิ้นรน กระเสือกกระสน

นี่อาจเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งเสือกับคนมีความแตกต่างกัน