คนของโลก : เฮลมุต โคห์ล บิดาแห่งเยอรมนีร่วมสมัย

การเสียชีวิตของ “เฮลมุต โคห์ล” อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนี เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ด้วยวัย 87 ปี ไม่ได้เป็นเพียงความสูญเสียบุคคลสำคัญของ “ชาวดอยซ์” ในฐานะ “บิดาแห่งการรวมชาติ” เท่านั้น

แต่นับเป็นการสูญเสียบุคคลผู้มีคุณูปการสำคัญ ผู้ที่นำชาติในภูมิภาคยุโรป ไปสู่การรวมตัวกันเป็นประชาคมที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง “สหภาพยุโรป” หรืออียู อีกด้วย

โคห์ล เป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการช่วยรวมเยอรมนีที่แตกแยกออกเป็น “ทุนนิยมเยอรมนีตะวันตก” และ “คอมมิวนิสต์เยอรมนีตะวันออก” ในช่วงสงครามเย็นให้รวมกันเป็นชาติประชาธิปไตยที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้

ไม่เพียงเท่านั้น โคห์ลยังร่วมมือกับ “ฟรองซัวส์ มิตเตอร์รองด์” ประธานาธิบดีฝรั่งเศสในยุคนั้น ริเริ่มสหภาพยุโรปขึ้น นำเยอรมนีละทิ้งเงินสกุล “ดอยซ์มาร์กส์” อันเป็นความภาคภูมิใจของชาวเยอรมัน ไปใช้เงินสกุล “ยูโร” ภายใต้ระบบสกุลเงินเดียว

 

อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ยกย่อง “โคห์ล” ในฐานะผู้ให้คำปรึกษาคนสำคัญ และเป็นผู้เปลี่ยนชีวิตเธอไปอย่างสิ้นเชิง

แมร์เคิล ผู้ที่เติบโตในสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (จีดีอาร์) หรือเยอรมนีตะวันออกซึ่งปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์ กล่าวขอบคุณโคห์ลที่ทำให้เธอ “และอีกหลายล้านคนหลุดพ้นจากชีวิตภายใต้เผด็จการจีดีอาร์ ไปสู่ชีวิตอันมีเสรีภาพ” แมร์เคิลระบุ และว่า โคห์ลนั้นเปรียบได้กับ “ชาวเยอรมันและชาวยุโรปผู้ยิ่งใหญ่”

จอร์จ เอช.ดับเบิลยู. บุช อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ยกย่อง “โคห์ล” ว่าเป็น “หนึ่งในผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคหลังสงคราม” ขณะที่ ฌอง-โคห์ลด ยุงเคอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป อดีตนายกรัฐมนตรีลักเซมเบิร์ก ยกย่องโคห์ลเป็น “แก่นที่แท้จริงของยุโรป”

ด้าน “มิคาอิล กอร์บาชอฟ” อดีตผู้นำสหภาพโซเวียต ย้ำถึงบทบาทของโคห์ลในการสิ้นสุดสงครามเย็น

“เขาเป็นบุคคลสำคัญที่มีความพิเศษอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นผู้ที่สร้างประวัติศาสตร์ให้กับชาวเยอรมัน ชาวยุโรป และนานาชาติ” กอร์บาชอฟระบุ และว่า โคห์ลนั้นแสดงให้เห็นถึงความสนใจ “รัสเซีย” อย่างลึกซึ้งและช่วยเป็น “สะพาน” เชื่อมตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน

 

หนังสือพิมพ์บิลด์ หนังสือพิมพ์ยอดขายสูงสุดของเยอรมนี รายงานว่า โคห์ลเสียชีวิตอย่างสงบที่บ้านพักในเมืองลุดวิกชาเฟน แคว้นไรน์แลนด์-พาลาติเนต แคว้นทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศเยอรมนี โดยมี “ไมเค โคห์ล-ริชตาร์” ภรรยาคนที่สองอยู่เคียงข้าง

ยุงเคอร์พูดถึงโคห์ล ซึ่งเป็นทั้งที่ปรึกษาและเพื่อนว่า “เฮลมุต โคห์ล เติมเต็มบ้านยุโรปด้วยชีวิตชีวา ไม่เพียงเพราะเขาสร้างสะพานระหว่างตะวันตกและตะวันออก แต่เพราะเขาไม่เคยหยุดที่จะออกแบบรากฐานที่ดียิ่งขึ้นให้กับอนาคตของยุโรป”

ด้านบุช ระบุว่า โคห์ลเป็นดัง “เพื่อนแท้ของเสรีภาพ” และว่า “แม้ เฮลมุต โคห์ล จะเกลียดสงคราม แต่เขาเกลียดเผด็จการยิ่งกว่า”

“การทำงานร่วมกับเพื่อนที่ดีมากเพื่อช่วยบรรลุไปสู่การสิ้นสุดสงครามเย็นและรวมชาติเยอรมนีด้วยสันติภาพ จะยังคงเป็นหนึ่งในความสุขที่สุดในชีวิตผม” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐระบุ

ด้าน เอ็มมานูแอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ พร้อมภาพโคห์ลยืนเคียงข้างมิตเตอร์รองด์ ระบุว่า “เฮลมุต โคห์ล ผู้วางรากฐานเยอรมนีอันเป็นหนึ่ง และความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศส-เยอรมนี เราได้สูญเสียชาวยุโรปผู้ยิ่งใหญ่ไปแล้ว”

 

โคห์ลเกิดในครอบครัวคาทอลิก เมื่อวันที่ 3 เมษายน 1930 ในเมืองอุตสาหกรรมอย่างลุดวิกชาเฟน จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ และรัฐศาสตร์

โคห์ลไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูงของพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (ซีดียู) อย่างรวดเร็วโดยมีภรรยาคนแรกอย่าง “ฮันเนลอร์” อยู่เคียงข้างโดยทั้งคู่มีลูกชายด้วยกันสองคน

โคห์ลก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีตะวันตกในเดือนพฤศจิกายน 1982 ดำรงตำแหน่งถึง 1998 สร้างประวัติศาสตร์เป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีในยุคหลังสงครามที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์

โคห์ลมีส่วนสำคัญในการสิ้นสุดสงครามเย็น การทำลายกำแพงเบอร์ลินและรวมเยอรมนีให้เป็นหนึ่งเดียว ด้วยการโน้มน้าวให้บุชยอมรับเยอรมนีที่รวมตัวกันใหม่ และโน้มน้าวให้กอร์บาชอฟถอนทหารออกจากเยอรมนีตะวันออกได้สำเร็จ สร้างเยอรมนีไปสู่การเป็นหัวใจของอียู และเป็นสมาชิกที่พึ่งได้ในกองกำลังสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้

โคห์ลถูกลูกพรรคขับออกจากตำแหน่งในเวลาต่อมา หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเงินสนับสนุนพรรคการเมืองอื้อฉาวในช่วงปี 1999 หลังจากออกจากวงการการเมือง

โคห์ลต้องเจอปัญหาสุขภาพรุมเร้า รวมไปถึงการล้มรุนแรงในปี 2008 ส่งผลให้โคห์ลต้องนั่งรถวีลแชร์นับตั้งแต่นั้น

 

หลังหกล้ม และนับเป็นเวลา 7 ปีหลังภรรยาคนแรกเสียชีวิต โคห์ลแต่งงานกับภรรยาคนที่สองอย่าง ไมเค ริชตาร์ ผู้ช่วยในกระทรวงเศรษฐกิจที่อายุห่างกับโคห์ลถึง 35 ปี

โคห์ลออกสื่อครั้งสุดท้ายในการสัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์บิลด์ เมื่อปี 2016 ในประเด็นเกี่ยวกับเบร็กซิท โดยอดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนีเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอียูอย่ากดดันรัฐบาลอังกฤษมากจนเกินไป

บทความดังกล่าวระบุว่า โคห์ลขอร้องให้มีความรอบคอบและเตือนว่าอย่าให้มีความแข็งกร้าวและรีบเร่งโดยไม่จำเป็น พร้อมทั้งย้ำเตือนด้วยว่า

“มันจะเป็นความผิดพลาดใหญ่หลวงหากอียูปิดประตูตั้งแต่ตอนนี้” โคห์ลระบุ