รัฐบาลประชาชนเมียนมา! จุดเริ่มต้นสงครามกลางเมือง/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

รัฐบาลประชาชนเมียนมา!

จุดเริ่มต้นสงครามกลางเมือง

 

“นักกิจกรรมที่ต่อต้านรัฐประหารควรเดินทางเข้าสู่พื้นที่ที่อยู่ในการควบคุมขององค์กรติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นพันธมิตร [กับพวกเรา] ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่เหล่านี้เป็น ‘เขตเสรี’ ที่เราจะดำเนินการต่อสู้กับฝ่ายทหารร่วมกันกับกลุ่มชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อย และสำหรับนักกิจกรรมที่อยู่ในเมือง ขอให้ต่อสู้ต่อไปด้วยการประท้วงแบบกองโจร”

Min Ko Naing

คำปราศรัยถึงนักเคลื่อนไหวในเมียนมาผ่านวิทยุเอเชียเสรี

 

บทชี้นำการต่อต้านรัฐบาลทหารในเมียนมาจากข้างต้น (ปรากฏในบทความของ Philipp Annawitt ใน The Diplomat, 19 เมษายน 2021) ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ “สงครามกลางเมือง” ได้เริ่มเกิดขึ้นจริงๆ แล้ว

หรืออย่างน้อยเห็นได้ชัดเจนว่า ความรุนแรงในเมียนมากำลัง “ยกระดับ” ขึ้นเป็นสงครามภายในอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และประเด็นสำคัญคือโอกาสที่ยุติความขัดแย้งนี้ด้วยการเจรจา น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

อีกทั้งจากท่าทีของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายก็ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีแรงจูงใจที่จะเปิดการเจรจาแต่อย่างใด

ดังนั้น ผลของสถานการณ์ในเมียนมาจึงทวีความรุนแรงมากขึ้นในแต่ละวัน

และเห็นได้ชัดถึงความพยายามของประชาคมระหว่างประเทศที่ต้องการหยุดยั้งปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น ประกอบกับยอดจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นสูงมากกว่า 700 คนแล้วในช่วงกลางเดือนเมษายนนี้

จนต้องถือว่าปัญหาการต่อต้านรัฐประหารในเมียนมาในปัจจุบัน ได้กลายเป็นวิกฤตที่สำคัญประการหนึ่งของการเมืองโลกไปแล้ว

อีกทั้งการต่อสู้ที่เกิดขึ้นก็ยกระดับขึ้นอีกขั้นหนึ่ง เมื่อรัฐบาลของฝ่ายต่อต้านรัฐประหารถือกำเนิดขึ้นอย่างชัดเจน

 

รัฐบาลใหม่!

รัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ 2021 ในเมียนมา คือจุดเริ่มต้นของปัญหาความรุนแรงอย่างที่คาดไม่ถึง และเพียง 4 วันหลังจากการยึดอำนาจ ฝ่ายประชาธิปไตยสามารถจัดตั้ง “คณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ” (CRPH) ขึ้นในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ อันเท่ากับเป็นเสมือนกับการจัดตั้ง “รัฐบาลคู่ขนาน” ของฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร

จนได้รับการยอมรับว่า องค์กรนี้เป็น “รัฐบาลชั่วคราว” ที่เปิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองให้แก่ฝ่ายประชาธิปไตยในเวทีสากล และทำให้เกิดการเชื่อมต่อทางการสื่อสารกับประชาคมในเวทีโลกด้วย

การต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยในเชิงองค์กรไต่ขึ้นอีกระดับหนึ่ง เมื่อคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาฯ ได้ประกาศจัดตั้ง “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” (The National Unity Government : NUG) เมื่อวันศุกร์ที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา โดยประกาศผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก ซึ่งอาจเรียกในแบบไทยก็คือการจัดตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” (หรืออาจเรียกว่า “รัฐบาลประชาชน”) ที่เป็นการรวมพลังของฝ่ายประชาธิปไตยและกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อต้านรัฐประหารเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกัน

รัฐบาลนี้จึงเป็นการรวมตัวกันของสมาชิกรัฐสภาเดิม ผู้นำการต่อต้านรัฐประหาร และผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์

การประกาศจัดตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติของฝ่ายประชาชน” มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน คือการยุติระบอบการปกครองของทหาร ยุติการใช้กำลังปราบปรามประชาชนที่เห็นต่าง และการฟื้นฟูประชาธิปไตยในเมียนมา

อีกทั้งยังเน้นถึงการสร้าง “เอกภาพของวัตถุประสงค์” (unity of purpose) ระหว่างขบวนการประชาธิปไตย และขบวนการของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ตัดสินใจเข้าร่วมเป็น “พันธมิตร” ในการต่อสู้กับรัฐบาลทหาร

อันเป็นสัญญาณถึงการก่อตัวของสงครามกลางเมือง ที่ไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกลางกับกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อย

แต่เป็นสงครามกลางเมืองที่ต่อสู้เพื่อการจัดระเบียบการเมืองใหม่ ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานของการต่อสู้ระหว่าง “ระบอบทหาร vs ระบอบประชาธิปไตย”

ความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เช่นนี้ ทำให้ผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยถึงกับประกาศว่า “นี่คือรุ่งอรุณของวันใหม่สำหรับประชาชน [ชาวเมียนมา]”

เพราะการกำเนิดนี้ถือว่าเป็นขั้นตอนทางการเมืองที่สำคัญในการต่อสู้กับรัฐบาลทหาร ในทางรัฐศาสตร์ต้องถือว่าเกิดสภาวะของการเป็น “สองรัฐบาล” ในการเมืองเมียนมาอย่างแท้จริง ซึ่งท้าทายอย่างมากว่าประชาคมระหว่างประเทศจะให้การรับรองฝ่ายใด

และการเกิดขึ้นของรัฐบาลดังกล่าวคือการยกระดับการต่อสู้ทางการเมือง อันเท่ากับขยายการต่อสู้สู่เวทีสากลอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ การจัดตั้งองค์กรทางการเมืองดังกล่าวย่อมส่งผลสะเทือนในเวทีสากลโดยตรง อันเป็นการแสดงให้ประชาคมระหว่างประเทศเห็นว่า ผู้นำทหารไม่สามารถปกครองประเทศได้จริง เพราะเกิดการต่อต้านขนาดใหญ่อย่างกว้างขวางภายในประเทศ

และยังเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทหารไม่มีความชอบธรรมในการปกครอง หากแต่รัฐบาลพลเรือนยังคงมีสถานะของความเป็นรัฐบาลอยู่ กล่าวคือ รัฐบาลทหารมีแต่อำนาจทางกฎหมาย แต่ไม่มีความชอบธรรม เพราะอำนาจของรัฐบาลที่ได้มานั้น เกิดจากการทำรัฐประหาร…

สถานการณ์การต่อต้านจากประชาชนที่เกิดขึ้นคือ คำยืนยันว่า “รัฐบาลทหารมีอำนาจ แต่ปกครองไม่ได้”

 

ฝ่ายประชาธิปไตยชนะ!

ในอีกด้านหนึ่ง การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติของเมียนมา จึงเป็นความพยายามแสวงหาการสนับสนุนทางการเมืองจากประชาคมระหว่างประเทศ

และที่สำคัญเป็นการสร้าง “การยอมรับทางการเมือง” กับสถานะของการเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น ที่ชี้ให้เห็นว่าการยอมรับและการสนับสนุนในเวทีสากลจะมีส่วนอย่างมากกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศของตน

และยังจะเป็นหนทางของการสร้างแรงกดดันทางการเมืองจากเวทีสากลต่อรัฐบาลทหารอีกด้วย แม้ในปัจจุบันรัฐบาลตะวันตกได้ออกมาตรการแซงก์ชั่นกับผู้นำทหารเมียนมาบางส่วนแล้ว

การจัดตั้งรัฐบาลเช่นนี้ต้องถือเป็นก้าวสำคัญในทางการเมือง และเป็นมิติใหม่ของการต่อสู้ของฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร อีกทั้งผู้นำทางการเมืองเมียนมายังได้ออกมากล่าวถึงทิศทางในอนาคตว่า การจัดตั้ง “สหพันธรัฐประชาธิปไตย” (Federal Democratic Union) จะเปิดโอกาสให้กลุ่มชาติพันธุ์มีส่วนในการกำหนดใจตนเองในอนาคต

การเปิดประเด็นเช่นนี้เพื่อเสนอทางเลือกให้แก่บรรดาผู้นำของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่จะเข้าร่วมการต่อสู้กับรัฐบาลทหาร

ซึ่งสำหรับผู้นำชนกลุ่มน้อยแล้ว กองทัพอาจจะพูดถึงเรื่องของสหพันธรัฐ แต่ก็ไม่เคยที่จะสนับสนุนให้แนวคิดเช่นนี้เกิดเป็นจริงแต่อย่างใด

ดังนั้น การพูดคุยระหว่างผู้นำการเมืองฝ่ายต่อต้านรัฐประหารกับผู้นำชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ จึงเป็นประเด็นคู่ขนานกับการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่กำลังเกิดขึ้น

และชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยจะเป็นโอกาสของการสร้าง “สหพันธรัฐ” ซึ่งเป็นปัญหาความขัดแย้งที่ค้างคาอยู่กับสังคมเมียนมานับตั้งแต่การได้รับเอกราชแล้ว

อีกทั้งเป็นความฝันของกลุ่มชาติพันธุ์มาอย่างยาวนานที่ต้องการเห็น “การปกครองตนเอง” เกิดขึ้นในกรอบของความเป็นสหพันธรัฐ

การประกาศจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติของเมียนมาในครั้งนี้ มีเสียงตอบรับอย่างมาก เพราะเป็นความหวังของการมีรัฐบาลพลัดถิ่นที่เป็นตัวแทนของการต่อสู้อย่างแท้จริง

และยังจะเป็นปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และหากฝ่ายต่อต้านรัฐประหารประสบชัยชนะก็จะเป็นโอกาสของการสร้างสหพันธ์รัฐในอนาคต

การเปิดการต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยที่ผนึกกำลังกับกลุ่มชาติพันธุ์จึงเป็นมิติใหม่ ที่จะเป็นโอกาสของการก้าวข้ามความขัดแย้งเดิมระหว่าง “ชนกลุ่มใหญ่ vs ชนกลุ่มน้อย”

และเป็นโอกาสของการสร้างประชาธิปไตยที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของความหลากหลายทางชาติพันธุ์อีกด้วย

นอกจากนี้ การยกระดับการต่อสู้เช่นนี้ ยังอาจเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้กำลังพลบางส่วนในกองทัพ หรือแม้กระทั่งในระดับนายทหารบางส่วนตัดสินใจที่จะเข้าร่วมการต่อสู้กับฝ่ายประชาธิปไตย

เพราะได้เห็นถึงรัฐบาลใหม่ ตลอดจนเห็นถึงการเข้าร่วมของกลุ่มการเมืองต่างๆ รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ และการปราบปรามขนาดใหญ่ ด้วยการสั่งยิงประชาชนอย่างไม่จำแนก อาจจะทำให้เกิดคำถามถึงบทบาทในการป้องกันประเทศของกองทัพเมียนมาอย่างมาก… กองทัพป้องกันประเทศ หรือป้องกันผู้นำทหารให้อยู่ในอำนาจต่อ?

และแน่นอนว่ากองทัพต้องเตรียมตัวเผชิญการกลับมาของ “สงครามกองโจร” ในชนบท หรือในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้เขตอิทธิพลของกลุ่มชาติพันธุ์

แม้วันนี้เอกภาพของกองทัพเมียนมาอาจจะสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยการรวมศูนย์อำนาจของผู้นำทหาร แต่อยู่ด้วยการถูกท้าทายอย่างมาก เพราะหากฝ่ายประชาธิปไตยชนะ ผลที่เกิดกับสถาบันกองทัพเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ตลอดรวมถึงการจัดบทบาทของกองทัพในระเบียบการเมืองใหม่

อีกทั้งยังมีนายทหารอีกส่วนที่เติบโตมากับกระแสประชาธิปไตยในประเทศ และพวกเขาอาจจะต้องคิดถึงอนาคตของสถาบันทหารที่จะต้องอยู่กับระบอบอำนาจนิยมที่ไม่ได้มีพลังทางการเมืองเช่นในช่วงหลังรัฐประหาร 1988

ฉะนั้น นายทหารเหล่านี้จะยอม “ร่วมหัวจมท้าย” ไปกับระบอบเดิมเพียงใด

 

ฝ่ายรัฐบาลทหารชนะ!

แม้จะมีการประเมินในอีกมุมหนึ่งว่าฝ่ายทหารมีโอกาสชนะ แต่ก็เป็นชัยชนะที่เกิดจากการปราบปรามครั้งใหญ่ และก่อให้เกิดความสูญเสียแก่ประชาชนอย่างมาก

หรือในอีกทางหนึ่งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติอ่อนแอเกินกว่าที่จะระดมความสนับสนุนจากสากล และไม่สามารถผลักดันการเคลื่อนไหวจนสามารถนำไปสู่จุดพลิกของสถานการณ์ได้

ประกอบกับไทยและอินเดียจะต้องเล่นบทสนับสนุนรัฐบาลทหารอย่างเต็มที่ จนความช่วยเหลือต่างๆ ถูกปิดล้อม และทั้งจีนเองจะต้องทุ่มตัวเองลงมาเล่นเต็มที่ จนรัฐบาลทหารสามารถประคองตัวเองให้ผ่านพ้นจุดวิกฤตไปได้ และกลายเป็นปัจจัยที่บีบบังคับให้ชาติอื่นๆ ที่แม้อาจจะไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลทหาร แต่ก็จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลเช่นนี้

สภาวะเช่นนี้กลายเป็นโอกาสให้รัฐบาลทหารอยู่ได้ เพราะพลังฝ่ายต่อต้านไม่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง

หากในสถานการณ์ปัจจุบัน การเกิดของรัฐบาลของฝ่ายประชาธิปไตยอาจทำให้เกิดการ “เหยียบเรือสองแคม” เพราะแม้จะยอมรับรัฐบาลทหาร แต่ก็คงการติดต่อกับฝ่ายประชาธิปไตยไว้ด้วย

ดังได้กล่าวแล้วว่าหากฝ่ายทหารชนะ แต่ก็จะไม่ใช่ชัยชนะเช่นในครั้งหลังรัฐประหาร 1988

และผลที่เกิดขึ้นจะไม่ย้อนกลับไปในแบบที่กองทัพสามารถควบคุมสังคมการเมืองเมียนมาได้ทั้งหมดในลักษณะ “เบ็ดเสร็จ”

แต่ผลที่ตามมาจะทำให้ประเทศประสบปัญหาความไร้เสถียรภาพในระยะยาว

พร้อมกับการเกิดความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์

ในสภาวะเช่นนี้เมียนมาจะกลายเป็น “คนป่วยแห่งเอเชีย” เพราะชัยชนะของรัฐบาลทหารไม่ได้มีนัยว่าสงครามกลางเมืองจะยุติลง ในทางกลับกัน ชัยชนะนี้ยิ่งจะเป็นแรงกระตุ้นของสงครามกลางเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ส่วนความไร้เสถียรภาพระยะยาวจะทำให้เมียนมาเป็นไปในแบบ “รัฐล้มเหลว” (failed state) เช่นตัวแบบในตะวันออกกลางและแอฟริกาหรือไม่

เป็นประเด็นที่อาจจะต้องติดตามดูในอนาคต!