โจ ไบเดน กับ ‘100 วันแรก’ ประธานาธิบดีสหรัฐ/บทความต่างประเทศ

US President Joe Biden addresses a joint session of Congress as US Vice President Kamala Harris and US Speaker of the House Nancy Pelosi applaud at the US Capitol in Washington, DC, on April 28, 2021. (Photo by Melina Mara / POOL / AFP)

บทความต่างประเทศ

 

โจ ไบเดน

กับ ‘100 วันแรก’ ประธานาธิบดีสหรัฐ

 

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 46 ของประเทศ เพิ่งดำรงตำแหน่งครบ 100 วันเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา

การยึดถือเอาช่วงเวลา 100 วันเป็นดัชนีชี้วัดผลงานในการเริ่มต้นเป็นผู้นำสหรัฐอเมริกามีขึ้นตั้งแต่ยุคอดีตประธานาธิบดีแฟรงคลิน รูสเวลต์ ผ่านไป 90 ปี ธรรมเนียมปฏิบัตินั้นก็ยังคงอยู่

ในช่วง 100 วันแรกของไบเดนนั้น ถูกมองว่ามีความสำเร็จเกิดขึ้นแต่ก็ไม่ได้สร้างความประทับใจให้กับชาวอเมริกันทั้งประเทศเท่าใดนัก

โดยผลสำรวจความนิยมของประชาชน แม้ไบเดนจะได้รับคะแนนเสียงถึง 57 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐในช่วงเวลาเดียวกัน

แต่ความนิยมระดับนี้นับเป็นคะแนนนิยมในช่วง 100 วันแรกที่อยู่ในระดับต่ำ หากเทียบกับค่าเฉลี่ยความนิยมในช่วง 100 วันแรกของประธานาธิบดีสหรัฐในอดีต

โดยไบเดนอยู่ในดันดับที่ 4 จากท้ายตาราง ขณะที่ทรัมป์ยึดตำแหน่งท้ายตารางที่ 41 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่บารัก โอบามา ได้สูงถึง 65 เปอร์เซ็นต์ในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 100 วันแรก

 

สําหรับโจ ไบเดน ผลงานที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในช่วง 3 เดือนกว่าๆ หลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐก็คือการจัดการกับการแพร่ระบาดของโควิด-19

ในช่วงเวลาที่ไบเดนรับตำแหน่ง อัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ของชาวอเมริกันนั้นอยู่ในระดับ 3,000 คนต่อวัน เทียบกับอัตราการเสียชีวิตในเวลานี้เฉลี่ย 7 วันอยู่ที่ 707 รายเท่านั้น และยังมีแนวโน้มลดลงอีก และนั่นเป็นผลงานจากนโยบายฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ไบเดนประกาศไว้ในวันรับตำแหน่งว่าในช่วง 100 วันแรก จะฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนจำนวน 100 ล้านโดส แต่เวลานี้มีวัคซีนมากถึง 200 ล้านโดสที่ฉีดให้กับประชาชนไปแล้ว คิดเป็นสัดส่วนประชากรชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่มากถึง 52 เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส ส่งผลให้สหรัฐอเริกาเป็นหนึ่งในชาติที่ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

อีกหนึ่งความสำเร็จของไบเดน ก็คือการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศที่พังทลายลงจากการแพร่ระบาด โดยรัฐบาลสหรัฐได้ผ่านงบประมาณมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นทั้งเงินช่วยเหลือที่โอนให้ชาวอเมริกันโดยตรง ผลประโยชน์จากการว่างงาน งบฯ ช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ งบฯ สนับสนุนรัฐบาลท้องถิ่น รวมไปถึงเงินสงเคราะห์บุตรที่ได้รับการประมาณการว่าสามารถลดระดับความยากจนในกลุ่มเยาวชนได้ถึงครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว

การอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจทำให้นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐจะสามารถโตได้ถึงระดับ 6 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2021 ระดับที่ไม่ได้เห็นกันตั้งแต่ทศวรรษที่ 80 ขณะที่อัตราการว่างงานมีแนวโน้มลดต่ำลงเรื่อยๆ ผู้ประกอบการเริ่มเปิดธุรกิจได้อีกครั้ง ดัชนีตลาดหุ้นพุ่งสูงขึ้น

ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นผลดีต่อผลงาน 100 วันแรกของประธานาธิบดีไบเดน

 

นอกเหนือจากปัญหาวิกฤตโควิด-19 ที่ไบเดนต้องแก้แล้ว ยังมีปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดในช่วง 100 วันแรกของไบเดนเช่นกันนั่นก็คือ “ปัญหาผู้อพยพ”

หลังจากการเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 บวกกับนโยบายต่อผู้อพยพที่เข้มงวดของโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปีก่อน เวลานี้ กลุ่มผู้อพยพชาวอเมริกากลางมองว่ารัฐบาลใหม่ของโจ ไบเดน จะเปิดกว้างในการรับผู้อพยพมากขึ้น ส่งผลให้ผู้อพยพผิดกฎหมายเพิ่มจำนวนสูงขึ้นจนทำสถิติใหม่

สำหรับกรณีนี้ แม้ไบเดนจะยกเลิกมาตรการเข้มงวดและทารุนกับผู้อพยพในยุคทรัมป์ลงไปบ้างแล้ว แต่หากจำนวนผู้อพยพเพิ่มสูงขึ้นและกระทบกับชุมชนบริเวณชายแดนติดกับประเทศเม็กซิโก จนกลายเป็นข่าวในหน้าสื่อมากขึ้น

นั่นอาจเป็นเรื่องที่สร้างปัญหาให้กับประธานาธิบดีไบเดนได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

 

ผลงานของไบเดนในช่วง 100 วันแรกที่ถูกจับตามองยังมีเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” ด้วย โดยไบเดนได้นำสหรัฐกลับเข้าร่วมข้อตกลงปารีส เพื่อวางเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ข้อตกลงที่ทรัมป์นำสหรัฐถอนตัวออกมาก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ไบเดนยังประกาศตั้งเป้าให้สหรัฐอเมริกาลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงต่ำกว่าระดับที่เกิดขึ้นในปี 2005 คิดเป็นสัดส่วน 50 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 ด้วย

ในเรื่อง “การต่างประเทศ” ไบเดนให้คำมั่นว่าจะเลิกใช้นโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ที่ดำเนินการในสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างที่เคยหาเสียงไว้ มีการถอนทหารสหรัฐออกจากอัฟกานิสถาน ที่มีมาต่อเนื่องตั้งแต่ยุคทรัมป์ ขณะที่การนำสหรัฐกลับสู่โต๊ะเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน หลังจากทรัมป์นำสหรัฐถอนตัวออกมาก็ยังไม่คืบหน้า

อย่างไรก็ตาม เราได้เห็นความพยายามในการสร้างจุดยืนในฐานะชาติผู้นำประชาธิปไตย ในการเป็นปฏิปักษ์กับประเทศรัฐบาลเผด็จการ เช่น การกลับมาดำเนินมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย รวมไปถึงการโจมตีรัฐบาลจีนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

 

ประเด็นสุดท้ายคือเรื่อง “การค้า” ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเดียวที่ไบเดนเดินหน้าไปได้อย่างเชื่องช้าในช่วง 100 วันแรก

นักการเมืองผู้มีจุดยืนสนับสนุนระเบียบโลกแบบเก่า ยังไม่ได้สั่งให้การให้มีการยกเลิกการตั้งกำแพงภาษีในสงครามการค้ากับจีน

และยิ่งกว่านั้นยังมีการตั้งกำแพงภาษีสินค้าอะลูมิเนียมจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ทรัมป์ ยกเลิกไปในวันสุดท้ายของการดำรงตำแหน่ง

นอกจากนี้ ไบเดนยังขู่จะตั้งกำแพงภาษีกับอังกฤษเพื่อตอบโต้การเก็บภาษีบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐด้วยเช่นกัน

นั่นคือผลงานใน 100 วันแรกของโจ ไบเดน ที่พอจะบอกได้ถึงแนวทางการบริหารงานเพื่อชาวอเมริกัน รวมไปถึงแนวทางการดำเนินนโยบายในเวทีโลกที่อาจยังคงไว้ซึ่งความแข็งกร้าว แม้จะลดระดับลงจากยุคอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ไปบ้างก็ตาม