ร่องรอยบางกอกยุคต้นรัตนโกสินทร์ ในแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย (จบ)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ร่องรอยบางกอกยุคต้นรัตนโกสินทร์

ในแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย (จบ)

 

นอกจากแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัยจะช่วยให้เราย้อนเวลากลับไปศึกษาพื้นที่วังหน้ายุคต้นรัตนโกสินทร์ได้ดีขึ้นแล้ว

แผนที่ชุดนี้ยังช่วยให้เราสามารถศึกษาลงลึกไปถึงระดับแผนผังเฉพาะของแต่ละอาคารสถานที่ได้อีกด้วย (อันเนื่องมาจากการรังวัดสำรวจที่ละเอียดมาก) โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนผังของวัดในยุคต้นรัตนโกสินทร์

เป็นที่ทราบกันดีนะครับว่าวัดส่วนมากที่สร้างขึ้นใหม่เมื่อครั้งตั้งกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 1 เกือบทั้งหมดถูกบูรณะใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งถือเป็นช่วงระยะเวลาที่สยามเริ่มกลับมามีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจผ่านการค้าสำเภาและก้าวสู่ความเจริญทางศิลปวัฒนธรรมอีกครั้งนับตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยา

ในช่วงนี้ได้เกิดรูปแบบสถาปัตยกรรม “พระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3” (แบบจารีตเดิมผสมผสานกับศิลปะจีน) ที่ถือเป็นรูปแบบใหม่ในทางช่าง อันถือเป็นยุคสมัยที่มีสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเกิดขึ้นหลายชิ้น

ไม่ว่าจะเป็นโลหะปราสาท, สำเภาเจดีย์ วัดยานนาวา, การประดับผิวนอกสถาปัตยกรรมด้วยกระเบื้องเคลือบ รวมถึงพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ที่กล่าวได้ว่าเป็นพัฒนาการอีกขั้นของการออกแบบพระปรางค์ ฯลฯ

ทั้งหมดนี้คือยุครุ่งเรืองทางวัฒนธรรมในยุคต้นรัตนโกสินทร์

แต่ปัจจุบัน ลักษณะทางกายภาพดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนแปลงนับครั้งไม่ถ้วนด้วยเหตุปัจจัยมากมาย ทั้งความเสื่อมตามกาลเวลา อัคคีภัย และการรื้อสร้างอาคารใหม่ซ้อนทับลงไป จนหลายวัดไม่เหลือลักษณะทางกายภาพดั้งเดิมอีกต่อไป

แม้ว่าวัดหลายแห่งยังสามารถเห็นร่องรอยหลายอย่างที่คงอยู่ แต่ก็มีรายละเอียดอีกมากมายก็สูญหายไปตามกาลเวลา

อย่างไรก็ตาม แผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย ได้เข้ามาช่วยเติมเต็มร่องรอยที่หลุดหายไปดังกล่าว

ด้วยการศึกษาแผนที่ชุดนี้ที่ยังไม่มากพอ ผมจึงขอเสนอกรณีตัวอย่างเพียง 3 แห่งเพื่อชี้ให้เห็นศักยภาพของแผนที่ชุดนี้ในการช่วยเราให้ย้อนกลับไปมองเห็นงานสถาปัตยกรรมเมื่อต้นรัตนโกสินทร์ได้อีกครั้ง

แผนผังวัดรังษี จากแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย

วัดอรุณราชวรารามเป็นกรณีแรกที่แผนที่ชุดนี้เข้ามามีประโยชน์อย่างยิ่ง โดยนับตั้งแต่วัดสร้างเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็มิได้มีการบูรณะครั้งใหญ่เลยจนมาถึงรัชกาลที่ 5 อันเนื่องมาจากไฟไหม้ใหญ่พระอุโบสถเมื่อ พ.ศ.2438 ความเสียหายครั้งนั้นทำให้ต้องซ่อมเสมือนทำขึ้นใหม่ทั้งหลัง

อีกครั้งในปี พ.ศ.2451 เมื่อรัชกาลที่ 5 ทำการบูรณะใหญ่พระปรางค์และบริเวณโดยรอบครั้งใหญ่เพื่อให้ทันฉลองในงานบำเพ็ญพระราชกุศลที่พระองค์จะมีพระชนมายุเสมอด้วยรัชกาลที่ 2 ในปี พ.ศ.2452 ซึ่งการซ่อมครั้งนี้ทำให้แผนผังในส่วนพระปรางค์เปลี่ยนไปหลายอย่าง ที่สำคัญคือการรื้อแนวกำแพงและศาลาเก๋งจีนหลายหลังโดยรอบพระปรางค์ลงเพื่อสร้างรั้วเหล็กขึ้นแทน พร้อมประตูใหม่ 5 ประตู

นอกจากนี้ ในพื้นที่ส่วนศาลาการเปรียญยังได้มีการรื้อแนวกำแพงที่เคยเชื่อมต่อกับกำแพงพระปรางค์ลงบางส่วนเพื่อเปิดพื้นที่เป็นทางเดินตรงไปสู่พระวิหารด้านหลังอีกด้วย

จะเห็นนะครับว่า การซ่อมใหญ่วัดอรุณฯ 2 ครั้ง เกิดขึ้นหลังจากการจัดทำแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัยแล้วทั้งสิ้น

ซึ่งนั่นก็แปลว่า สิ่งที่ปรากฏในแผนที่ชุดนี้ คือแผนผังวัดอรุณฯ ในสมัยรัชกาลที่ 3 นั่นเอง

แผนที่ชุดนี้แสดงแผนผังพระปรางค์ตั้งอยู่ด้านหลังโบสถ์น้อยและวิหารน้อย โดยมีกลุ่มศาลาเก๋งจีน 7 หลังโอบล้อมอยู่โดยรอบพระปรางค์ ซึ่งศาลาทั้ง 7 หลัง รวมทั้งโบสถ์น้อยและวิหารน้อยจะถูกเชื่อมต่อกันด้วยแนวกำแพง โดยแนวกำแพงระหว่างวิหารเหล่านี้จะถูกเจาะเป็นประตูทางเข้าออกสู่ลานภายในองค์พระปรางค์ ซึ่งมีทั้งหมด 9 ประตู

ซึ่งข้อมูลกลุ่มอาคารที่ล้อมพระปรางค์วัดอรุณฯ ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ดังกล่าว เราจะไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจนเช่นนี้เลย หากปราศจากแผนที่ชุดนี้

แผนผังวัดพระยาไกร จากแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย

กรณีที่สอง คือวัดรังษีสุทธาวาส ซึ่งเป็นวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ 2 แต่ในเวลาต่อมาได้ถูกยุบรวมเข้ากับวัดบวรนิเวศฯ ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยปัจจุบันหลงเหลือเพียงร่องรอยอาคารบางหลังในเขตพุทธาวาสเดิมเท่านั้น

เมื่อดูตามประวัติ เราจะพบว่าความคิดเรื่องการยุบวัดรังษีฯ มิได้เพิ่งเกิดในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่มีมาก่อนหน้านี้แล้วอย่างน้อยตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2439 โดยเหตุผลหลักๆ เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอาคารโรงเรียนมหามกุฏราชวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริว่า การสร้างอาคารเรียนยังไม่ถือเป็นการเร่งร้อน จึงทำให้การยุบรวมวัดไม่เกิดขึ้น

กระบวนการยุบรวมมาเริ่มจริงจังในปี พ.ศ.2442 โดยเริ่มจากการโอนย้ายวัดรังษีฯ ให้มาขึ้นตรงต่อวัดบวรนิเวศฯ ต่อมาในปี พ.ศ.2458 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ก็นำเรื่องยุบรวมวัดรังษีฯ เสนอขึ้นใหม่อีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้ รัชกาลที่ 6 อนุญาต

ในปีนั้นเอง วัดรังษีฯ จึงถูกยุบกลายมาเป็นเพียงคณะหนึ่งของวัดบวรนิเวศฯ ชื่อว่า “คณะรังษี” ที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพครั้งใหญ่ อาคารหลายหลังถูกรื้อหรือย้ายออก จนสถาพทางกายภาพของวัดเป็นดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

กรณีนี้ก็คล้ายกับวัดอรุณฯ ที่ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพต่างๆ ภายในวัดจะเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2442 เป็นต้นมา

ซึ่งนั่นก็แสดงว่า แผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย จ.ศ.1249 ที่ทำการสำรวจรังวัดไว้ตั้งแต่ในช่วงปลายทศวรรษที่ 2420 ได้บันทึกหลักฐานของแผนผังดั้งเดิมตั้งแต่เมื่อแรกสร้างในปลายสมัยรัชกาลที่ 2 ต่อต้นรัชกาลที่ 3 ของวัดรังสีสุทธาวาสเอาไว้ได้

แน่นอนนะครับ ในช่วงรัชกาลที่ 4 หรือต้นรัชกาลที่ 5 (ก่อนที่แผนที่ชุดนี้จะเข้าไปสำรวจ) อาจมีการรื้อหรือสร้างอาคารขึ้นใหม่ลงในวัดจนทำให้แผนที่ชุดนี้อาจไม่ได้เป็นการบันทึกหลักฐานที่ย้อนกลับไปได้ไกลจนถึงเมื่อแรกสร้างวัดก็เป็นได้

แต่กระนั้น แผนที่ชุดนี้ก็ยังเป็นหลักฐานที่แสดงแผนผังวัดแห่งนี้ที่ย้อนกลับไปได้ไกลที่สุดที่เรามีอยู่ในปัจจุบันอยู่นั่นเอง

แผนผังวัดอรุณ จากแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย

วัดพระยาไกร เป็นตัวอย่างสุดท้ายที่ผมอยากจะพูดถึง โดยวัดแห่งนี้ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (บุญมา) ทำการสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3

แต่ในเวลาต่อมาราว พ.ศ.2440 วัดขาดการดูแลรักษาที่ดีพอจากทายาท ทำให้ทางราชการได้ให้สิทธิ์แก่ “บริษัทอีสต์เอเชียติค” เขามาเช่าพื้นที่วัดในการทำเป็นท่าเรือและคลังสินค้า และทำให้วัดแห่งนี้หมดสถานภาพการเป็นวัดนับตั้งแต่บัดนั้น

ต่อมาได้มีการรื้อถอนอาคารทั้งหมดลงจนไม่เหลือหลักฐานอะไรที่แสดงการมีอยู่ของวัดนี้อีกต่อไป โดยปัจจุบันพื้นที่วัดคือบริเวณที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว Asiatique the Riverfront

ร่องรอยการมีอยู่ของวัดแห่งนี้มีเพียงหลักฐานจากเอกสารลายลักษณ์ที่หลงเหลืออยู่ไม่มากนักและภาพถ่ายเก่าไม่กี่รูป แต่แผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย กลับแสดงข้อมูลแผนผังของวัดนี้อย่างสมบูรณ์

ทำให้เราพบว่าวัดแห่งนี้มีขนาดใหญ่และแผนผังที่น่าสนใจมาก

แผนผังเขตพุทธาวาสของวัดออกแบบเป็นรูปตัวที มีอุโบสถอยู่ด้านหน้าและวิหารตั้งขวางอยู่ด้านหลัง มีแนวกำแพงแก้วล้อมรอบอาคารทั้งสองหลัง มีซุ้มประตูและถนนทางเข้าวัดที่ทอดยาวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

เมื่อพิจารณาผังดังกล่าวทำให้เราพบข้อมูลใหม่ที่น่าสนใจ คือ แต่เดิมในวงวิชาการเชื่อว่า แผนผังเขตพุทธวาสของวัดในยุคต้นรัตนโกสินทร์ที่ออกแบบให้มีแผนผังเป็นรูปตัวทีนั้นเชื่อว่ามีเพียงแค่ 2 วัด คือ วัดราชโอรสาราม และวัดสุทัศนเทพวราราม แต่จากแผนที่ชุดนี้กลับแสดงให้เราเห็นว่า แผนผังเขตพุทธาวาสที่ออกแบบเป็นรูปตัวทีนั้นยังถูกนำมาใช้ที่วัดพระยาไกรด้วย

ซึ่งเป็นการขยายความรู้ความเข้าใจในเรื่องการออกแบบแผนผังวัดในยุคต้นรัตนโกสินทร์ให้ขยายออกไปมากขึ้น

 

จากบทความ 4 ตอนที่กล่าวมาเกี่ยวกับแผนที่ชุดนี้ ผมเชื่อว่าน่าจะเพียงพอที่จะทำให้ผู้อ่านมองเห็นถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ตลอดจนศักยภาพของแผนที่ชุดนี้ในการเป็นหลักฐานเพื่อนำเราเข้าไปทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ยุคต้นรัตนโกสินทร์ได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่ผมอธิบายยังคงเป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้นและเป็นเพียงข้อเสนอบางด้านเท่านั้น

ยังมีอีกหลายแง่มุมที่ยังรอให้ผู้สนใจประวัติศาสตร์ยุคต้นรัตนโกสินทร์เข้ามาใช้เอกสารชุดนี้ในการศึกษาต่อไปในอนาคต