ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง : “จับใจ๋หมี บ่ดีใจ๋เผิ้ง จับใจ๋มองเซิง บ่เปิงใจ๋เงี้ยว”

ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “จับใจ๋หมี บ่ดีใจ๋เผิ้ง จับใจ๋มองเซิง บ่เปิงใจ๋เงี้ยว”

มองเซิง เป็นชื่อเรียกของกลองแบบไทใหญ่ มีลักษณะคล้ายตะโพนมอญ ใช้สะพายคล้องคอเพื่อตีได้ทั้งสองหน้า

บ่เปิง คือไม่พึงใจ

เงี้ยว เป็นชื่อที่คนล้านนาเรียกคนไทใหญ่

คำคมทั้งบท เป็นคำของผู้ใหญ่สอนลูกหลาน ดังนี้

ความหมายของความในบาทแรก : ถูกใจหมี แต่ผึ้งไม่ชอบ แปลอีกทีคือ หมีชอบกินน้ำผึ้ง ดังนั้น หมีจึงดีใจที่มีน้ำผึ้งกิน แต่ในขณะเดียวกันผึ้งที่ถูกรบกวนย่อมจะไม่ชอบใจ

ความหมายของความในบาทที่สอง : นักดนตรีที่ตีกลองมองเซิงสนุกสนานกับการบรรเลงของตน แต่คนไทใหญ่ไม่พอใจกับการแสดง

รวมความแล้วเป็นคำสอนว่า

ทุกคนอยู่ในสังคมอันรวมคนหมู่มากไว้ด้วยกัน จะให้ชอบใจเหมือนๆ กันย่อมเป็นไปไม่ได้ ทุกคนมีความชอบใจแบบลางเนื้อชอบลางยา และเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ทุกคนมีความห็นตรงกันซึ่งเป็นธรรมดาโลก

ดังนั้น ในสังคมต้องรู้จักอะลุ้มอล่วยซึ่งกันและกัน ไม่เบียดเบียนกัน รู้จักปล่อยวาง ยอมรับซึ่งกันและกัน คนในสังคมจึงจะอยู่ร่วมกันแบบสันติสุข

 

ยังมีคำคมล้านนาอื่นที่ให้ความหมายอย่างเดียวกันอีกได้แก่

จับใจ๋งู บ่ชูใจ๋เขียด จับใจ๋เปียด บ่จับใจ๋ไม้กาน

แปลว่า ถูกใจงูแต่ไม่ถูกใจเขียด กระบุงถูกใจ แต่ไม้คานไม่ชอบ ซึ่งคงจะหนักไป ขืนหาบมีหวังไม้คานหัก

จับใจ๋แฮ้ง บ่แหน้นใจ๋ก๋า จับใจ๋ครูบา บ่จับใจ๋พระหน้อย

แปลว่า อีแร้งถูกใจ แต่กาไม่ชอบ พระภิกษุถูกใจ แต่สามเณรไม่ชอบ

คำคมสอนใจทำนองเดียวกัน มีอย่างน้อยถึง 3 สำนวน คนสมัยก่อนเขาสอนกันเช่นนี้ ความขัดแย้งทางสังคมในล้านนาจึงเกิดน้อย

ที่จะมีบ้าง ในสมัยก่อนอาจจะมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง แต่ก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล ซึ่งแก้ไขได้ในระดับชุมชน

ทั้งนี้ทั้งนั้นทำให้ที่ผ่านมาสังคมล้านนาสงบสุข มีความเห็นอกเห็นใจกัน เอื้อเฟื้อกัน และปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมในล้านนานั้นน่าอยู่

แต่ทุกวันนี้สังคมเปลี่ยนไป มีความก้าวร้าว หยาบกระด้าง ซึ่งไม่ใช่ท่วงทำนองของคนล้านนาแม้แต่น้อย

ตี๋ก๋องมองเซิงก่ม่วนดีลอ

แปลว่า ตีกลองมองเซิงก็สนุกสนานดีนะ