มุกดา สุวรรณชาติ : 85 ปี 2475 …อดีต…ถึง…อนาคต ยังคงเป็น…อำมาตยาธิปไตย

มุกดา สุวรรณชาติ

นักการเมืองมาจากไหน?

การเปลี่ยนแปลงการปกครองนับแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 มีความมุ่งหวังว่าจะเปลี่ยนการปกครองของประเทศสยามไปสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่สภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเมื่อผ่านไป 30 ปี 50 ปี 85 ปี ก็พบว่าส่วนใหญ่แล้วชาวไทยอยู่ใต้การปกครองที่เป็นระบอบอำมาตยาธิปไตย ช่วงที่จะมีโอกาสพัฒนาประชาธิปไตยจริงๆ น้อยมาก

ผู้ที่เข้ามาแสวงหาอำนาจ มาเล่นการเมือง ทั้งแบบให้ประชาชนเลือก แบบใช้อำนาจเข้ามาเอง หรือแบบแต่งตั้ง ล้วนแต่เป็นนักการเมือง

อยากรู้ว่ามาจากไหน ต้องดูการย่างก้าวของประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 

ก้าวแรกการต่อสู้ในยุคที่หัดเดิน 5 ปี

การปฏิวัติประชาธิปไตยไม่ได้สิ้นสุดลงในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แต่มีการต่อสู้ที่ยาวนานติดต่อกันถึง 5 ปีโดยเฉพาะปี 2476 มีการต่อสู้กันอย่างดุเดือด ใช้ชั้นเชิงในสภา มีการยึดอำนาจมีการก่อการกบฏที่เรียกกบฏบวรเดช

เมื่อปราบกบฏบวรเดชลงได้ จึงมีการเลือกตั้งครั้งแรก 15 พฤศจิกายน 2476 แต่เป็นการเลือกตั้งทางอ้อมโดยให้ราษฎรเลือกผู้แทนตำบลและผู้แทนตำบลไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

แน่นอนว่าผู้ได้รับการเลือกตั้งส่วนใหญ่ล้วนแต่เคยอยู่ในวงราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนซึ่งมียศทหารนำหน้าหรือมีตำแหน่งเป็นมหาอำมาตย์ อำมาตย์เอก อำมาตย์โท อำมาตย์ตรี เข้ามาเป็นผู้แทนฯ

แต่ก็มีการพัฒนาการหลายเรื่องตามมา เช่น มีการออกประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ จัดระบบพิจารณาคดีความทำให้ประเทศสยามขณะนั้นมีระบบยุติธรรมและกฎหมายเป็นแบบสากลครั้งแรก เพราะนี่จะเป็นหนทางที่จะยกระดับของประเทศสยามให้ทัดเทียมกับประเทศในยุโรปและแก้ไขสัญญาที่เสียเปรียบ

ด้านการศึกษา มีการตั้งกรมอาชีวะเปิดสอนโรงเรียนช่างกล ช่างก่อสร้าง โรงเรียนพณิชยการซึ่งเป็นพื้นฐานและการสร้างอาชีพสร้างประเทศในเวลาต่อมา

แต่ทางการเมือง ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ยังไม่สิ้นสุด

หลังจากกบฏบวรเดชจบลง รัชกาลที่ 7 เสด็จไปประทับอยู่ต่างประเทศ ได้มีความเห็นเรื่องการปกครอง กฎหมายบางฉบับการแต่งตั้งสมาชิกประเภท 2 ปัญหาด้านการเงินก็ไม่สามารถตกลงกันได้

สุดท้ายพระองค์ก็สละราชสมบัติในเดือนมีนาคม 2477 สภาผู้แทนฯ อัญเชิญพระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์แทน

พอถึงปี 2480 ก็มีการเลือกตั้งใหม่ นับเป็นการเลือกตั้งที่ราษฎรได้เลือกผู้แทนฯ โดยตรงครั้งแรกในระบอบประชาธิปไตย

แต่รัฐบาลชุดใหม่ยังมีนายกฯ คนเดิม คือพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา บริหารอยู่ได้ไม่ถึงปี เมื่อแพ้ญัตติในสภา ก็ลาออกในวันที่ 11 กันยายน 2481

ระบอบประชาธิปไตยคล้ายมีเส้นทางเดินของตัวเองแล้ว มีเลือกตั้ง มียุบสภา ลาออก มีเลือกตั้งใหม่ 5 ปีแรกของระบอบประชาธิปไตยแม้ต้องมีการต่อสู้อย่างดุเดือด ล้มลุกคลุกคลานอยู่บ้าง แต่ก็พอมีทางเดินต่อไปได้

 

ก้าวที่ 2 ประชาธิปไตยภายใต้อำนาจนิยมแบบทหาร 10 ปี

ผลการเลือกตั้งใหม่ พฤศจิกายน 2481 แม้กลุ่มคณะราษฎรจะได้รับเสียงข้างมาก

แต่พระยาพหลฯ ไม่รับตำแหน่งนายกฯ อีกแล้ว กลุ่มคณะราษฎรจึงเสนอชื่อ…พันเอกหลวงพิบูลสงคราม…เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

หลวงพิบูลสงครามโด่งดังและมีอำนาจนับตั้งแต่เป็นผู้บัญชาการในการปราบกบฏบวรเดชจึงได้รับตำแหน่งรอง ผบ.ทบ. ในปี 2476 และเป็นรัฐมนตรีกลาโหม ในปี 2477

เมื่อได้มีอำนาจเป็นถึงนายกรัฐมนตรี อายุเพียง 41 ปี…ยังควบตำแหน่ง ผบ.ทบ. ช่วงเวลานั้นกระแสความคิดแบบอำนาจนิยมขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง ทั้งอิตาลี เยอรมนี ญี่ปุ่น

นายกฯ หลวงพิบูลสงคราม สร้างกระแสชาตินิยมขึ้นมาในประเทศ

มีการเปลี่ยนชื่อประเทศสยาม เป็น…ประเทศไทย มีการแต่งเพลงชาติเพื่อเน้นความเป็นรัฐ…ที่เราร้องอยู่จนปัจจุบันนี้คือ…ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย…

และกำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายน 2484 เป็นวันชาติ เพราะช่วงเวลานั้นประเทศไทยได้มีเอกราชสมบูรณ์เนื่องจากหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้เดินทางไปแก้ไขสนธิสัญญาต่างๆ กับต่างประเทศเรียบร้อยในปี 2481 จึงนับว่าเรามีเอกราชสมบูรณ์ครั้งแรก จากนั้นก็ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขึ้นเพื่อรำลึกถึงความเป็นเอกราชและประชาธิปไตยของประเทศ

แต่ในปีนั้นเองสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้เกิดขึ้นในยุโรป รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามถือโอกาสนี้ยื่นข้อเรียกร้องต่อฝรั่งเศสเพื่อขอคืนดินแดนที่ถูกฝรั่งเศสยึดไปในสมัย ร.5

เมื่อฝรั่งเศสไม่ยอมก็เกิดปะทะกันตามแนวพรมแดน สงครามอินโดจีนจึงเกิดขึ้นตั้งแต่ 2483 เดือนมกราคม 2484 ฝ่ายไทยสามารถยึดดินแดนไว้ได้จำนวนหนึ่งและญี่ปุ่นก็เสนอตัวเป็นผู้ไกล่เกลี่ยทำให้ไทยสามารถยึดฝั่งขวาแม่น้ำโขงมาเป็นของไทยและยังได้รัฐพระตะบอง และจำปาสัก มาด้วย ศึกครั้งนี้ได้สร้างวีรบุรุษอย่างหลวงพิบูลสงคราม ขึ้นมา จึงได้เลื่อนยศเป็นพลเอกและกลายเป็นจอมพลในที่สุด

ในปี 2485 การรณรงค์ทางวัฒนธรรม มีการประกาศยกเลิกบรรดาศักดิ์ จอมพลหลวงพิบูลสงคราม จึงเปลี่ยนชื่อเป็น จอมพล ป. พิบูลสงคราม หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ก็เป็น นายปรีดี พนมยงค์ จอมพล ป. เข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่นในปลายปี 2484 ในขณะที่นายปรีดีเคลื่อนไหวในนามเสรีไทยเพื่อคัดค้านญี่ปุ่น

การปะทะกันของสองกลุ่มเกิดขึ้นและผ่านเข้ามาปะทะในระบบรัฐสภา ปี 2487 มีการพิจารณา พ.ร.บ.ตั้งเมืองหลวงใหม่ที่เพชรบูรณ์ จอมพล ป. แพ้มติในสภาจึงตัดสินใจลาออก กลุ่มปรีดีได้เสนอให้ นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกฯ แทน

พ.ศ.2488 เดือนสิงหาคม ญี่ปุ่นแพ้สงคราม รัฐบาลนายควงต้องลาออกเพราะถือว่าเป็นรัฐบาลที่ร่วมมือกับญี่ปุ่น จอมพล ป. เป็นอาชญากรสงคราม ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าเสรีไทยสายอเมริกาได้รับตำแหน่งนายกฯ แทน

ช่วงนั้นได้มีการตั้งพรรคการเมืองขึ้นเป็นครั้งแรก เช่น พรรคก้าวหน้าของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กลุ่มนายปรีดี พนมยงค์ ตั้งพรรคสหชีพ

นายควง อภัยวงศ์ ตั้งพรรคประชาธิปัตย์

ขณะที่การเมืองในระบบพรรคการเมืองต้องดำเนินการต่อสู้กันอย่างดุเดือดนั้น ก็เกิดกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในเช้าวันที่ 9 มิถุนายน 2489 เรื่องนี้ถูกโยงเข้าสู่การเมือง และนำไปสู่การรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งนำโดย พลโทผิน ชุณหะวัณ หลังการรัฐประหารก็มีการเชิญ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มาเป็นหัวหน้าคณะและให้ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกฯ

จะเห็นว่า…นักการเมืองไม่ได้เกิดหลังมีพรรคการเมือง แต่มีมาตั้งแต่มีการแสวงหาอำนาจการปกครอง นี่ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะโครงสร้างสังคมมนุษย์ต้องมีผู้นำ เพียงแต่จะนำให้ประชาชนมีสุข หรือมีทุกข์

 


ก้าวที่ 3 อํานาจนิยม 3 สมัย 25 ปี

นายควง อภัยวงศ์ เป็นรัฐบาลรักษาการ จัดการเลือกตั้งในเดือนมกราคม 2491 พรรคประชาธิปัตย์ชนะได้เป็นรัฐบาล แต่พอถึงวันที่ 6 เมษายน คณะรัฐประหารก็ให้ลาออก

การยึดอำนาจเงียบ เปลี่ยนผู้ปกครองกลางคัน สภาไม่ยุบ รัฐธรรมนูญยังอยู่ เรียกว่า รออาหารเสร็จ ก็เข้ามากิน จอมพล ป. ปกครองต่อมาได้ไม่นานก็เกิดความพยายามยึดอำนาจ 3 ครั้ง ที่เรียกว่ากบฏเสนาธิการ กบฏวังหลวง และกบฏแมนฮัตตัน

สุดท้าย จอมพล ป. ตัดสินใจยึดอำนาจตัวเองอีกครั้งในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494

โมเดลการยึดอำนาจครั้งนี้น่าสนใจมากเพราะเป็นต้นแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ

 

1.คราวนี้นำเอารัฐธรรมนูญที่แก้ไขแล้วให้รัฐบาลสามารถสืบทอดอำนาจได้ โดยแต่งตั้ง ส.ส. ประเภท 2 (ส.ว.) ให้มีจำนวนได้เท่ากับจำนวน ส.ส. ประเภทหนึ่งที่มาจากการเลือกตั้ง และเปิดโอกาสให้ข้าราชการประจำเข้าเป็นข้าราชการการเมืองได้ ส.ว. ก็มีแต่ข้าราชการเกือบทั้งหมดโดยเฉพาะทหารบก

2. เดือนกุมภาพันธ์ 2495 จอมพล ป. เปิดให้มีการเลือกตั้ง โดยให้ผู้สมัครไม่ต้องสังกัดพรรค ดังนั้น จึงสามารถรวบรวมเสียงในสภาได้ 85 เสียงจาก 123 เสียงตั้งเป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล จอมพล ป. อยู่ในอำนาจโดยมีจอมพลผินเป็นผู้ค้ำบัลลังก์ทางทหาร

อำมาตยาธิปไตย ที่มีการเลือกตั้ง เดินต่อได้อีก 6 ปี

เพราะปี 2497 พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้ารับตำแหน่ง ผบ.ทบ. การวัดรอยเท้าจึงเกิดขึ้น สุดท้ายจอมพลสฤษดิ์ก็ทำการรัฐประหารในปี พ.ศ.2500 นั่นเอง

นับตั้งแต่ 2491 จนถึง 2500 แม้เป็นช่วงการใช้อำนาจนิยม บางคนอาจจะเรียกว่าเผด็จการครึ่งใบหรืออะไรก็ตาม เพราะเป็นเผด็จการแบบที่ยังมี ส.ส.

จะเห็นว่ารูปแบบการปกครองในระบอบอำมาตยาธิปไตยได้มีการพัฒนาและปรับตัวโดยแทรกการเลือกตั้งผู้แทนฯ เอาไว้ ทำให้มีสีสันของประชาธิปไตยปนเปอยู่ด้วย

แต่หลัง 2500 ซึ่งเป็นยุคของจอมพลสฤษดิ์นั่นเป็นระบอบอำมาตยาธิปไตยที่เด็ดขาดเมื่อจอมพลสฤษดิ์ตาย 2506 ก็ต่อด้วยยุคจอมพลถนอม-จอมพลประภาส อีก 10 ปี ช่วงเวลานี้จึงยาวนานจนไปถึงเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ถ้านับต่อเนื่องจากปี 2491 ถือว่ายาวนานเกือบ 25 ปี

อำนาจการปกครองอยู่ในมือ จอมพล ป. จอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม-จอมพลประภาส ผ่านครึ่งแรก 41 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

 

สรุปว่า ผู้ที่เข้ามาเล่นการเมืองเกือบทั้งหมด มาจากข้าราชการ ทั้งทหารและพลเรือน แต่ทหารเข้าสู่อำนาจได้ง่ายกว่า ชาวบ้านธรรมดา พ่อค้า ในยุคต้นเป็นแค่คนดู

ผู้ปกครองเมื่อเข้ามามีอำนาจแล้ว ก็มิได้พัฒนาระบบปกครองให้เป็นประชาธิปไตย กลับสะสมอำนาจ จนเป็นการปกครองแบบอำมาตยาธิปไตย เกือบ 30 ปี การพัฒนาประชาธิปไตยมีไม่ถึง 10 ปี

รัฐบาลที่เกิดขึ้นจึงเป็นรัฐราชการ ที่ประชาชนต้องกลัวเกรง ไม่ใช่เพื่อประชาชน ระบบนี้อาจนำประเทศเข้าสู่สงคราม หรือยกผลประโยชน์ของชาติไปให้ใครก็ได้ เพราะเสียงค้านของประชาชนไม่มีความหมาย

ส่วน 44 ปีหลังเป็นอย่างไร ต่อฉบับหน้า