E-DUANG : ทหาร ตำรวจ ใน 85 ปี “24 มิถุนายน”

 

ความคึกคักของทหาร ตำรวจ เนื่องในวาระ 85 ปี วันที่ 24 มิถุนา ยน 2475 ทรงความหมายเป็นอย่างสูงในทางการเมือง

ไม่ว่าจะเป็นที่วัดพระศรีมหาธาตุที่บางเขน

ไม่ว่าจะเป็นที่อนุสาวรีย์ประชาชน บนถนนราชดำเนินกลาง ในเขตพระนคร

ไม่ว่าจะเป็นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ จุฬาฯ

แต่ภายในความคึกคักของทหาร ตำรวจ กลับมากด้วยความละเอียดอ่อน และอ่อนไหว

เพราะเป็นความคึกคักในการสกัด ขัดขวาง

สกัด ขัดขวาง มิให้การฟื้นรำลึก 24 มิถุนายนมหาศรีสวัสดิ์ ดำเนินไปด้วยความราบรื่น

ทั้งๆที่ก่อนปี 2503 เคยเป็น “วันชาติ”

 

ไม่ว่าจะเห็นด้วย ไม่ว่าจะไม่เห็นด้วย แต่ “24 มิถุนายน” ก็ปรากฏขึ้นแล้วในทางประวัติศาสตร์

เหมือนกับวันที่ 18 สิงหาคม 2488

เหมือนกับวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เหมือนกับวันที่ 6 ตุลาคม 2519

อย่างน้อยก็สัมผัสได้จาก “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย”

อย่างน้อยก็สามารถเรียนรู้ความเป็นจริงแต่ละด้านจากปากคำของผู้อยู่ในเหตุการณ์จากหนังสือ “เบื้องแรกประชาธิปตัย”

อันตีพิมพ์โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ

อย่างน้อยนามของ พระยาพหลพลหยุหเสนา ก็ปรากฏ นาม ของ หลวงพิบูลสงคราม ก็ปรากฏ นามของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ก็ปรากฎ

ยากจะลบเลือนให้หายไปได้

 

มีบทเรียนมากมายจากกรณีของการยึดอำนาจ เปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 85 ปีก่อน

ประวัติศาสตร์อาจมีในหลายด้าน

แต่ในยุคที่คำขวัญ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” เพื่อก้าวไปสู่ประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ดังกระหึ่ม ประวัติศาสตร์ของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ทรงความหมายยิ่ง

น่าแปลกที่ทหาร ตำรวจ ไม่ต้องการให้มีการฟื้นรำลึก เพื่อศึกษา เรื่องราวของประวัติศาสตร์

นี่คือลักษณะย้อนแย้งยิ่งในการพัฒนา “ประชาธิปไตย”

นี่คือลักษณะอันคดเคี้ยวและวกวนอย่างยิ่งของ “วันชาติ” ไทย