ซูเปอร์วัคซีนแพนโคโรนาไวรัส / ทะลุกรอบ ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ

ป๋วย อุ่นใจ

ซูเปอร์วัคซีนแพนโคโรนาไวรัส

 

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังกระอักกับการระบาดระลอกที่สามจากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.1.7 จากอังกฤษ

ทั้งติดง่าย และมีอิทธิฤทธิ์ร้ายแรงยิ่งกว่าเดิม

ทำให้ไพร่ฟ้าหน้าใสในดินแดนสยามเมืองยิ้มที่ตอนนี้ยิ้มกันไม่ค่อยออกเท่าไร

เพราะจำนวนคนติดเชื้อต่อวันขึ้นไปถึงหลักพันแล้ว กระจายกันไปทั่วแทบทุกหัวระแหง

หลายๆ คนจำต้องกลับมา WFH กันอีกรอบ

ส่วนคนที่ยังต้องออกไปติดต่องาน ทำงานที่บ้านไม่ได้ก็คงต้องลุ้นกันต่อไปว่าวันไหนอาจจะเป็นคราวของเรา

ส่วนวัคซีนนั้นก็ต้องลุ้นกันอีกต่อไปเพราะว่าจะได้คิวฉีดเมื่อไรก็ยังไม่รู้

ที่ฉีดไปแล้วก็ยังต้องลุ้นต่ออีก ว่าวัคซีนจะเอาอยู่แค่ไหน

เพราะในทุกครั้งที่มีการสร้างไวรัสใหม่ พวกมันจะต้องคัดลอกสารพันธุกรรมของมันออกมาเพื่อส่งต่อให้ไวรัสรุ่นต่อไป

และก็มีเหมือนกันที่ผลลัพธ์ของการคัดลอกนั้นอาจจะผิดเพี้ยนไปบ้าง

นั่นหมายความว่ายิ่งมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเท่าไร โอกาสที่เราจะเจอไวรัสที่สารพันธุกรรมมันผิดเพี้ยนไปจนเป็นไวรัสสายพันธุ์กลายก็จะยิ่งทวีคูณเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

แต่ไวรัสสายพันธุ์กลาย ส่วนใหญ่แล้วจะอ่อนแอกว่าไวรัสพ่อ-แม่ และท้ายสุดก็จะถูกมองข้ามไป เพราะไม่ได้มีพิษสงอะไรมากมายโดดเด่น

ถ้าเข้าไปดูในเว็บ nextstrain.org ที่เก็บข้อมูลลำดับพันธุกรรมของไวรัส SARS-CoV-2 ไว้อย่างละเอียด อีกทั้งยังรายงานผลวิเคราะห์แบบแผนวิวัฒนาการและการกระจายตัวในภูมิภาคต่างๆ เอาไว้อย่างละเอียด

จะเห็นได้ว่าการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 นี้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเพียงไร และปัจจุบันมีไวรัส SARS-CoV-2 มายมายกี่ร้อยสายพันธุ์

แต่ก็จะมีบางทีที่จะเจอแจ๊กพ็อต ได้สายพันธุ์อุบัติใหม่ที่แผลงฤทธิ์อย่างแสบสันต์ซ่านทรวง จนได้รับสมญาว่าเป็นสายพันธุ์กลายที่ควรกังวล (Variants of concern)

เช่น สายพันธุ์สหราชอาณาจักร สายพันธุ์แอฟริกาใต้ สายพันธุ์บราซิล และสายพันธุ์แคลิฟอร์เนีย พวกนี้ล้วนแล้วแต่มีการกลายพันธุ์ที่ส่งผลทำให้พวกมันทวีความร้ายกาจยิ่งกว่าเดิม บางตัวจะเร่งระบาดได้เร็วมากขึ้น ขณะที่บางตัวก็มีฤทธิ์ดื้อต่อยาหรือวัคซีน

เพราะวิวัฒนาการ คือศัตรูอันดับหนึ่งของนักพัฒนายา (และวัคซีน) อย่างแท้จริง

ในตอนนี้นอกจากสายพันธุ์อังกฤษที่เป็นที่กล่าวขานแล้ว ยังมีสายพันธุ์แอฟริกาใต้ และสายพันธุ์บราซิลที่เป็นที่กล่าวขวัญถึงในแง่ของความสามารถของพวกมันในการดื้อวัคซีนเจนแรก ทำให้ประชาชนเริ่มตะขิดตะขวงและขาดความมั่นใจว่าฉีดเข้าไปแล้วจะป้องกันโรคได้จริงหรือเปล่า

ในช่วงเวลานี้ จากรายงานการศึกษาทางคลินิก วัคซีนส่วนใหญ่จะไม่ได้ฉีดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่ฉีดเพื่อเกิดภูมิคุ้มกันป้องกันอาการของโรค (symptomatic infection) และชะลออาการจากหนักเป็นเบา และเป็นไปได้ว่าระยะการรักษาโรคจะสั้นลง

ซึ่งถ้าถามว่าป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ แล้วควรจะฉีดหรือไม่?

คำตอบเดียวที่ผมจะแนะนำได้ก็คือ ถ้ามีโอกาสและไม่มีแนวโน้มว่าจะมีอาการแพ้ หรือข้อจำกัดอื่นในเรื่องสุขภาพ อย่าทิ้งโอกาสฉีดไปเลยครับ

เพราะแม้ว่าประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อจะดูต่ำต้อยกระจิริดเพียงไร แต่ถ้าดูเรื่องเปอร์เซ็นต์ของความสามารถในการลดความหนักหนาสาหัสของอาการของโรค ยังไงก็ยังคุ้มค่าที่จะฉีด

เพราะท้ายที่สุดแล้ว ถ้าพลาดไปติดเชื้อขึ้นมาที ความเสี่ยงอาจจะถึงชีวิต กันไว้ยังไงก็ดีกว่าแก้

เพราะนี่ยังไม่ทันพ้นวิกฤตสายพันธุ์อังกฤษ ข่าวไวรัสโควิด-19 อุบัติใหม่สายพันธุ์อินเดีย ก็โผล่ขึ้นมาตอกย้ำให้ช้ำชอกยิ่งกว่าเดิม ใกล้ด้วย แถมข้อมูลอะไรก็ยังไม่ค่อยจะมี

และยังไม่รู้ว่าตัวแสบๆ ตัวอื่นจะเดินทางข้ามทวีปมาเคาะประตูหน้าบ้านเราเมื่อไร

 

เป็นข่าวน่ายินดีที่สุด หลายภาคส่วนที่รับผิดชอบในเรื่องวัคซีนนั้นได้เริ่มตื่นตัวกระตุ้นให้เกิดการสั่งซื้อและนำเข้าวัคซีนมากขึ้นและหลากหลายยิ่งขึ้น รวมถึงภาคเอกชนที่ระดมสรรพกำลังนำเสนอความพร้อมทั้งด้านจัดหาวัคซีน ระดมบุคลากรทั้งบุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัคร บุคลากรเฉพาะทางหลากหลายสาขา และจัดหาอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือเสริม เข้าเป็นแนวร่วมอีกทางหนึ่งเพื่อเร่งขจัดการระบาดโรคอย่างเร่งด่วนที่สุดให้จบสิ้นและไปให้พ้นจากประเทศไทย

ซึ่งถ้าภาครัฐสามารถให้ภาคเอกชนเสริมทัพได้เร็วเท่าไหร่ เชื่อว่าจะบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ได้มากและรวดเร็วยิ่งขึ้นด้วย

และที่น่าตื่นเต้นยิ่งไปกว่านั้น ก็คือในเวลานี้ ได้เริ่มมีการทดลองวัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวไทยในระดับคลินิกเฟส 1/2 บ้างแล้ว

ตัวแรกที่เห็นก็คือวัคซีนเชื้อตาย “NDV LaSota-S Hexapro COVID-19 vaccine (NDV-HXP-S) จากไข่ไก่ฟัก ผลงานความร่วมมือขององค์การเภสัชกรรมและมหาวิทยาลัยมหิดล

และที่ต่อคิวรอทดสอบเฟส 1/2 เร็วๆ นี้ก็คือ ChulaCov19 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แต่ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ไทยกำลังจะเริ่มทำการทดลองทางคลินิกในมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งกำลังซุ่มพัฒนาซูเปอร์วัคซีนที่จะต้านเชื้อไวรัสโคโรนาได้ทีเดียวหลากหลายสายพันธุ์ ที่เรียกว่าวัคซีนแพนโคโรนาไวรัส (pancoronavirus vaccine) เพื่อเตรียมไว้รับมือกับไวรัสโคโรนาอุบัติใหม่ ซึ่งจะมาอีกเมื่อไรก็ไม่รู้ แต่เท่าที่ดู ต้องมีมาแน่ๆ

เพราะการส่งต่อเชื้อจากสัตว์ หรือซูโอโนสิส (zoonosis) นั้นเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดโรคอุบัติใหม่ การขยายตัวของชุมชนเมืองและรสนิยมที่เปลี่ยนไปของมนุษย์ทำให้เราได้ประสบพบเจอและอาจจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์ป่ามากขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว บางทีก็อาจจะมาจากพวกชอบเลี้ยงสัตว์แปลก หรือพวกรสนิยมเปิบพิสดาร

และถ้าสัตว์เหล่านั้นมีเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ไปจนพร้อมกระโดดข้ามโฮสต์จากติดสัตว์มาติดคนได้ (host jumps) โอกาสที่เราจะเจอโรคอุบัติใหม่ที่ติดจากสัตว์รังโรคก็จะมีได้ตลอดเวลา

“ในสิบถึงห้าสิบปีข้างหน้านี้ เราอาจจะมีโอกาสได้เจอกับโรคระบาดแบบเดียวกับไวรัส SARS-CoV-2 อีกรอบ” แอนดรูว์ วาร์ด (Andrew Ward) นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสคริปส์ (Scripps Research) กล่าว

คำทำนายของแอนดรูว์มีเค้าของความเป็นจริงอยู่พอสมควร พอที่จะทำให้นักวิทยาศาสตร์และแพทย์หลายคนเริ่มกังวลได้ เพราะการระบาดใหญ่ของ SARS-CoV-2 ไปทั่วโลกในครั้งนี้ ทำให้เราประเมินตัวเองได้ชัดเจนว่าความพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่ของพวกเรานั้นแย่เพียงไร

และที่สำคัญ ไวรัสโคโรนาเป็นหนึ่งในไวรัสที่แพร่เชื้อได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้เกือบทุกชนิด ตั้งแต่ค้างคาว กระต่าย หมู มิ้ง ม้า แมว ลิง หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลก็ยังไม่เว้น

การอุบัติขึ้นมาเป็นโรคใหม่ของไวรัสในตระกูลนี้และการโดดข้ามโฮสต์จากสัตว์สู่คนจึงมีความเป็นไปได้สูง

 

ในปี 2017 แอนดรูว์และทีมวิจัยระดับหัวกะทิของสหรัฐอเมริกาอีก 2 ทีม ได้รวมตัวกันเขียนแผนงานวิจัยเพื่อขอทุนวิจัยพื้นฐานสำหรับการพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่ที่จะต้านไวรัสโคโรนาได้อย่างหลากหลาย

ซึ่งก็คือมีจุดมุ่งหมายจะพัฒนา “วัคซีนแพนโคโรนาไวรัส” ให้เป็นจริงขึ้นมาให้ได้นั่นเอง

ในเวลานั้น ภายใต้การบริหารประเทศของประธานธิบดีโดนัลด์ เจ ทรัมป์ (Donald J Trump) แม้ผู้ทรงคุณวุฒิจะประเมินให้ แผนงานวิจัยนี้ได้คะแนนดีเลิศ (outstanding) แต่มีความสำคัญต่ำ (low priority) ผู้ทรงคุณวุฒิเขียนว่า “ผลกระทบที่ได้จากการพัฒนาวัคซีนแพนโคโรนาไวรัสไม่น่าจะสูง” แอนดรูว์เล่า ด้วยงบฯ วิจัยที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย ทำให้ทีมหัวกะทิทั้งสาม (รวมแอนดรูว์ด้วย) จึงจำต้องกินแห้วไปก่อน

แม้จะแป๊กจากการขอทุน แต่แอนดรูว์และทีมก็ยังไม่ทิ้งความฝัน ทีมของเขา (และที่จริงยังมีอีกหลายสิบทีมวิจัยทั่วโลก) กำลังพยายามกระเบียดกระเสียรงบฯ วิจัย เอามาค่อยๆ เดินหน้าพัฒนาวัคซีนแพนโคโรนาไวรัสต่อ

 

หลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 แนวคิดเรื่องวัคซีนแพนโคโรนาไวรัสก็เริ่มได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น เริ่มมีกลุ่มวิจัยระดับมือเซียนอีกหลายทีมเข้ามาร่วมเล่นในสนามแห่งการพัฒนานี้ เทคโนโลยีมากมายเริ่มถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเอามาทดลองใช้ ตั้งแต่เทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอที่ล้ำยุค แบบเดียวกับวัคซีนชื่อดังของไฟเซอร์-ไบโอเอนเทค (Pfizer-BioNTech) และโมเดอร์นา (Moderna)

ไปจนถึงการผสมสูตรวัคซีนเป็นค็อกเทลจากซากไวรัสโคโรนาหลายๆ ชนิด ตามตำรับวัคซีนเชื้อตาย เช่นเดียวกับที่ใช้ในวัคซีนของซิโนแวค (Sinovac) และซิโนฟาร์ม (Sinopharm) หรือแม้แต่หาเป้าหมายใหม่บนโปรตีนหนามเพื่อใช้ในการกระตุ้นภูมิ

แต่ที่น่าว้าวที่สุด ก็คืองานวิจัยล่าสุดที่เพิ่งจะตีพิมพ์ในวารสาร Science เมื่อเดือนกุมภาพันธุ์ที่ผ่านมาของทีมวิจัยของศาสตราจารย์พาเมลา ยอร์กแมน (Pamela Bjorkman) ที่สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (California Institute of Technology) ที่ได้ออกแบบโปรตีนจิ๊กซอว์ให้สามารถมาเชื่อมต่อกันเองจนเป็นโครงสร้างกรงในระดับโมเลกุล (molecular cage)

ผิวของกรงถูกออกแบบมาให้ยึดติดกับชิ้นส่วนของโปรตีนหนามของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ที่พวกเขาสนใจจะกระตุ้นภูมิได้อย่างแม่นยำโดยการติดชิ้นส่วนโปรตีนเล็กๆ ที่เรียกว่า SpyCatcher ซึ่งจะสามารถยึดเกาะกับสายเปปไทด์สั้นๆ ที่เรียกว่า Spytag ได้อย่างจำเพาะเจาะจง

ในส่วนของ Spytag นั้น จะถูกเอาไปยึดติดไว้กับชิ้นส่วนของโปรตีนหนาม เมื่อเอาชิ้นส่วนนี้ไปผสมกับกรงที่มี SpyCatcher อยู่ มันก็จะเข้าไปยึดติดกันเองเป็นโครงสร้างวัคซีนที่มีโปรตีนหนามกระจายอยู่บนผิวได้ในแบบที่เธอต้องการ

แต่พาเมลาไม่ได้ใช้โปรตีนหนามทั้งก้อนเพราะขนาดที่ใหญ่จนเทอะทะของโปรตีนหนาม

เธอเริ่มวิจัยว่าที่จริงแล้ว ส่วนไหนของโปรตีนหนามกันแน่ที่เป็นเป้าหมายหลักของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

และจากการศึกษาโครงสร้างโดยการถ่ายภาพจุลทรรศน์อิเล็กตรอนที่อุณหภูมิเยือกแข็ง (electron cryomicroscopy) พาเมลาและทีมพบว่าบริเวณที่สำคัญและเหมาะสมที่สุดบนโปรตีนหนามที่จะเอามาใช้ในการกระตุ้นภูมิก็คือ “บริเวณจดจำโปรตีนตัวรับ” หรือ receptor binding domain (RBD)

บริเวณ RBD นี้คือส่วนของโปรตีนหนามที่ทำหน้าที่ในการยึดจับกับโปรตีนตัวรับในสัตว์ หรือคน ก่อนที่ไวรัสจะสามารถเข้าไปติดเชื้อในเซลล์ได้ (ในกรณีของไวรัส SARS-CoV-2 คือโปรตีน ACE-2)

 

พาเมลาผลิต RBD จากไวรัสโคโรนาหลายชนิดที่ก่อโรคในสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย เช่น ไวรัสโรคซาร์ส (SARS-CoV-1) ไวรัสโควิด-19 (SARS-CoV-2) ที่ก่อโรคในมนุษย์ ไวรัส RaTG13 ไวรัส SHC014 ไวรัส RmYN02 และอีกหลายชนิดที่ก่อโรคในค้างคาว และไวรัส Pang17 ที่ติดเชื้อในตัวนิ่ม แล้วติด Spytag เอาไว้ และหลังจากที่เธอเอาไปผสมกับโมเลกุลของกรง วัคซีนแพนโคโรนาไวรัสของเธอก็พร้อมทดสอบ

กรงของเธอจะมี RBD หลายชนิดเกาะอยู่บนผิว นั่นคือเมื่อร่างกายได้รับกรงนี้เข้าไป ก็เหมือนได้เจอกับชิ้นส่วนโปรตีนหนามของไวรัสโคโรนาหลากหลายสายพันธุ์ไปด้วย

ซึ่งในทางทฤษฎี น่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานไวรัส ไม่ใช่แค่สายพันธุ์เดียว แต่ทุกสายพันธุ์ที่ติดอยู่บนกรง

พาเมลาเดินหน้าต่อและเริ่มการทดสอบวัคซีนแพนโคโรนาไวรัสของเธอโดนการฉีดให้หนูทดลอง ผลปรากฏว่าหนูสามารถสร้างแอนติบอดี้ต่อต้านเชื้อไวรัสโคโรนาที่เธอใส่ลงไปได้

และเมื่อลองสกัดแอนติบอดี้มาลงทดสอบกับเซลล์ในหลอดทดลองพบว่าแอนติบอดี้จากหนูที่ได้รับวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อเข้าเซลล์ของไวรัสโคโรนาทุกตัวที่เธอใช้

และที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่งกว่านั้นคือมันกันการติดเชื้อของไวรัสโคโรนาอื่นบางชนิดได้อีกด้วย แม้ว่าจะไม่ได้มีการเอา RBD ของพวกมันไปติดไว้บนกรงแต่อย่างใด

เป็นไปได้ว่าไวรัสโคโรนาเหล่านั้นอาจจะมีโครงสร้างและกลไกการติดเชื้อที่คล้ายคลึงกันกับไวรัสโคโรนาที่เธอเอามาใช้กระตุ้นภูมิก็เป็นได้

 

ผลการทดลองวัคซีนแพนโคโรนาไวรัสที่น่าพึงพอใจของพาเมลาอาจจะทำให้หลายๆ คนตื่นเต้นและคิดว่าเราจะเอาชนะโควิด-19 ได้ในเร็ววัน

แต่ในความเป็นจริง ตราบจนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีวัคซีนแพนโคโรนาไวรัสใด ที่ผ่านเข้าไปสู่การทดสอบทางคลินิกในมนุษย์

และหนทางแห่งการพัฒนาของวัคซีนแพนโคโรนาไวรัสยังคงอีกไกลนักกว่าจะพัฒนาต่อไปจนถึงขั้นใช้จริงได้

แต่อย่างน้อย ก็พูดได้ว่าเราได้เริ่มก้าวไปข้างหน้าแล้วเพื่อเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับโรคอุบัติใหม่ที่อาจจะเข้ามาระรานพวกเร