การศึกษา/ฟังเสียงค้าน พ.ร.บ.การศึกษาฯ ‘หัวหน้า ร.ร.-ใบรับรอง’ ลดศักดิ์ศรีครู?

การศึกษา

ฟังเสียงค้าน พ.ร.บ.การศึกษาฯ

‘หัวหน้า ร.ร.-ใบรับรอง’ ลดศักดิ์ศรีครู?

 

เป็นกระแสขึ้นมาอีกรอบ หลังนายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) ออกมาเปิดเผยรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับล่าสุด ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

สาระสำคัญหนึ่งในร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว กำหนดชื่อตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาใหม่ จากปัจจุบันใช้ “ผู้อำนวยการโรงเรียน” มาเป็น “หัวหน้าสถานศึกษา”

และเปลี่ยนจาก “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ” เป็น “ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู” พร้อมยกเลิกใบประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา

ส่งผลให้ในอนาคตผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนหรือหัวหน้าสถานศึกษาไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตผู้บริหาร

ขณะที่ กมว.รับลูก เร่งยกร่างมาตรฐานตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาใหม่ เปิดกว้างให้ผู้ที่จบปริญญาโทสาขาอื่นหรือจบปริญญาตรีที่มีประสบการณ์สอนและการบริหาร เข้าสู่ตำแหน่งหัวหน้าสถานศึกษาได้…

 

ไม่ทันข้ามวัน เกิดแรงต้านทั้งจากองค์กรครูและนักวิชาการด้านการศึกษา ซึ่งกลุ่มที่ออกมาต้านเรื่องนี้เป็นกลุ่มเดิมที่เคยคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับเดียวกัน ที่เสนอให้ใช้ชื่อตำแหน่ง “ครูใหญ่” แทน “ผู้อำนวยการโรงเรียน” และเปลี่ยน “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ” เป็น “ใบรับรองความเป็นครู” กระทั่งกฤษฎีกาตีตก ส่งกลับให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เริ่มกระบวนการใหม่

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความไม่พอใจ เพราะทำให้ครู ผู้บริหารและคนแวดวงการศึกษารู้สึกว่าการปรับถ้อยคำดังกล่าวเป็นการไปลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นครู ซึ่งถูกยกให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง ขณะเดียวกันยังกังวลประเด็นสอดไส้ที่จะส่งผลให้สิทธิประโยชน์ที่เคยได้เคยมีในปัจจุบันหดหายไปในอนาคต

มองกันไปถึงขั้นว่า รัฐบาลไม่จริงใจ “ตั้งธง” ที่จะลดศักดิ์ศรี ลดคุณค่าความเป็นครู

พร้อมประกาศเคลื่อนไหว หากยังเดินหน้ากำหนดเรื่องดังกล่าวไว้ในกฎหมายการศึกษาอีก!!

 

ขณะเดียวกันองค์กรครู อาทิ เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) สหภาพครูแห่งชาติ (ส.ค.ช.) ชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ช.ผอ.สพท.) สมาคมผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.พท.) และองค์กรเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาทั่วประเทศยังเรียกร้องให้นายเอกชัยลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และประธาน กมว.เลยทีเดียว

โดยนายวีรบูล เสมาทอง ประธานสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) บอกชัดว่า ไม่เห็นด้วยเพราะเป็นการลดศักดิ์ศรี ลดสถานะทางสังคม แม้จะเปิดช่องให้เปลี่ยนคำเรียกอื่นได้ แต่เมื่อ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ซึ่งเป็นกฎหมายแม่กำหนดให้เรียกแล้ว กฎหมายลูกก็จะต้องออกกฎหรือระเบียบให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน

ส่วนการเปลี่ยนมาใช้ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครูแทนใบอนุญาตฯ นั้นก็อาจเปิดช่องให้คนที่ไม่ได้เรียนครูเข้ามาสอนได้

แล้วคนเหล่านี้จะมีจรรยาบรรณวิชาชีพหรือไม่

หากเป็นเช่นนั้น อาจทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนขาดความเชื่อมั่นต่อครูในอนาคต

 

ขณะที่นายอดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มร.นม.) บอกว่า อยากให้ถอย โดยเฉพาะกรณีที่จะเปลี่ยนใบอนุญาตฯ เป็นใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู หรือเปลี่ยนมาใช้ชื่อตำแหน่งหัวหน้าสถานศึกษา เพราะคำเหล่านี้อาจทำให้ครูไม่มีความเชื่อมั่นในวิชาชีพ เป็นการลดศักดิ์ศรีความเป็นครู แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกมายืนยันว่าไม่ทำให้กระทบสิทธิที่จะได้รับ แต่กระทบความเชื่อมั่น ดังนั้น อยากให้ถอย และปรับเปลี่ยนถ้อยคำใหม่ การทำสิ่งใดก็ตามต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นและเกิดการยอมรับ ยกเว้นมีเจตนาจะเปลี่ยนชื่อตำแหน่งและใบรับรองเพื่อลดเงินประจำตำแหน่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ

ส่วนการเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาใหม่ ไม่ต้องมีใบอนุญาตผู้บริหารสถานศึกษา และเปิดกว้างให้ผู้ที่จบปริญญาโททุกสาขา หรือผู้ที่จบปริญญาตรีแต่มีประสบการณ์สอนและการบริหารสามารถเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษาได้นั้น ส่วนตัวเห็นด้วย และพยายามต่อสู้เรื่องนี้ในแวดวงวิชาการมานาน จากประสบการณ์บริหารพบว่า ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการบริหารไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตทางการบริหาร เพราะมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพอยู่แล้ว เช่นเดียวกัน บุคลากรทางการแพทย์ที่มีใบอนุญาตฯ เพียงใบเดียว ก็สามารถขึ้นเป็นผู้บริหารโรงพยาบาลได้

“การกำหนดให้ผู้บริหารโรงเรียนต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหาร ส่งผลให้ครูต้องไปเรียนปริญญาโทบริหารการศึกษา กลายเป็นสิ่งที่พะรุงพะรัง ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ควรจะต้องยกเลิก เพราะความสำเร็จที่ผ่านมา ไม่ได้ชี้ชัดว่าคนที่เรียนบริหารการศึกษาหรือคนที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพบริหารจะประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะปัจจุบัน การจะบริหารโรงเรียนต้องอาศัยศาสตร์หลายแขนง โดยเฉพาะหน้าที่หลักของผู้บริหารโรงเรียนคือการบริหารหลักสูตรและการเรียนการสอน ดังนั้น ต้องให้คนที่มีประสบการณ์ด้านการเป็นผู้สอนที่ประสบความสำเร็จทางด้านวิชาการ และให้ผู้ช่วยและรองผู้อำนวยการที่ทำหน้าที่ตรงนี้มาก่อนเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ส่วนทักษะด้านการบริหารคน ด้านการประสานงานจะต้องเติมเข้ามาในภายหลัง” นายอดิศรกล่าว

ที่ผ่านมาไม่มีสิ่งใดการันตีได้เลยว่า ผู้ที่มีใบอนุญาตทางด้านบริหารซึ่งเชื่อมโยงไปถึงการเรียนปริญญาโทจะสามารถทำงานได้ประสบความสำเร็จ แต่กลับทำให้สถาบันการศึกษาเปิดสอนปริญญาโท สาขาบริหารการศึกษา ทำมาหากินกันเป็นล่ำเป็นสัน คนแห่ไปเรียนเพราะจบง่าย และรอสอบผู้บริหารกันอย่างเดียว แทนที่จะทำหน้าที่สอน ทำงานด้านวิชาการ วิเคราะห์หลักสูตรให้เชี่ยวชาญ

เป็นการบิดเบือนโครงสร้างการเรียนต่อสถาบันอุดมศึกษามายาวนาน

 

เท่าที่ดูจากข้อถกเถียงที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้ ยังไม่พบเรื่องใดที่เชื่อมโยงกับคุณภาพการศึกษา

ทั้งที่ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ถือเป็นกฎหมายสำคัญ ใช้เวลายกร่าง ฟังความเห็น ปรับแก้แล้วไม่ต่ำกว่า 4 ปี สาระสำคัญคงไม่ใช่มีแค่การปรับชื่อตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาหรือใบอนุญาตฯ เท่านั้น แต่หัวใจหลักคือคุณภาพการศึกษา ที่ตีความหมายกว้างไปถึงเรื่องหลักสูตร การปรับการเรียนการสอน ที่ต้องสอดคล้องกับการพัฒนาผู้เรียนในศตวรรษที่ 21

คงจะเป็นการดี หากทุกฝ่ายมองที่เป้าหมายหลัก คือคุณภาพการศึกษา ที่ถึงตัวผู้เรียนอย่างแท้จริง ไม่เสียเวลามาเถียงประเด็นยิบย่อยเกี่ยวกับผลประโยชน์ของครูและผู้บริหาร

จนกลายเป็นข้อขัดแย้ง ถ่วงให้กฎหมายการศึกษาฉบับสำคัญต้องล่าช้าออกไปอีก

เพราะหากทะเลาะกันจนเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรไม่ทันสมัยประชุมนี้ตามที่รัฐบาลส่งสัญญาณมา กฎหมายลูกซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน อย่างร่าง พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. … คงไม่มีวันได้คลอด

กระทบมากที่สุดคือคุณภาพการศึกษาชาติ และคุณภาพผู้เรียน ที่ต้องรอต่อไป

ดังนั้น หากเรื่องใดไม่ใช่สาระสำคัญ ก็ไม่ควรเสียเวลางัดข้อกันให้เป็นเรื่องเป็นราว!!